About
BUSINESS

Incentive Insight

อินไซด์ธุรกิจไมซ์กับ กฤษณี ศรีษะทิน ผู้หญิงที่ลูกค้ายกย่องว่าเธอคือ Queen of MICE

เรื่อง นริสา ลี. Date 30-06-2023 | View 4392
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับกฤษณี ศรีษะทิน กูรูคนหนึ่งในธุรกิจไมซ์ที่เริ่มต้นชีวิตด้วยเลขศูนย์ จนคว้าตำแหน่งมาร์เก็ตแชมป์เปี้ยนออสเตรเลีย และลูกค้าชมว่าเธอคนนี้คือ Queen of MICE ตัวจริง

M I C E - ไมซ์ เป็นธุรกิจหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ประกอบขึ้นจากตัวอักษร 4 ตัวเข้าด้วยกัน M คือ Meeting การประชุมสัมมนาองค์กร I คือ Incentive Travel การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล C คือ Conference การประชุมวิชาชีพที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก และสุดท้าย E คือ Exhibition การจัดแสดงสินค้านานาชาติ รวมทั้ง E = Mega Event เมกะอีเวนท์

ไมซ์คือฟันเฟืองสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาล นักเดินทางไมซ์ก็คือนักเดินทางเชิงธุรกิจ คนกลุ่มนี้มาทำงานด้วยและหลังเสร็จสิ้นเจรจาธุรกิจแล้ว ก็มักเที่ยวตบท้ายเป็นทริปรางวัลของชีวิต มีสถิติน่าสนใจบอกว่า เทียบกันแล้ว การใช้จ่ายของนักเดินทางไมซ์มากกว่านักเดินทางทั่วไปถึง 3 เท่า!

สำหรับ กฤษณี ศรีษะทิน ...คนทั่วๆ ไปคงไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้เท่าไหร่หรอก แต่ในแวดวงธุรกิจไมซ์ เอ่ยชื่อ "คริส" ขึ้นมา เราว่าเกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ต้องอ๋อ…ปัจจุบันเธอเป็นอุปนายกสมาคมฝ่ายพัฒนาศักยภาพ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA (อ่านว่า ทิก้า) พ่วงด้วยตำแหน่งผู้ก่อตั้ง บริษัท Stream Events Asia ผู้เชี่ยวชาญการจัดงานไมซ์โดยเฉพาะทริปการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เจาะกลุ่มต่างชาติเป็นหลัก

เธอคือวิทยากรวิชาไมซ์ที่ได้รับเชิญไปบรรยายทั่วราชอาณาจักรอยู่เสมอจากหลายองค์กร เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังทีมสร้างสรรค์ตำราไมซ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเธอคือไมซ์กูรูคนหนึ่งที่หลายคนชื่นชม แต่อะไรก็ไม่เท่า "ลูกค้าบอกเราว่า Kris, you are Queen of MICE!" คริสพูดขึ้นระหว่างบทสนทนาของเรา เธอบอกว่านี่คือความภาคภูมิใจที่สุด

กฤษณี

กฤษณี

ONCE : เข้าสู่วงการไมซ์ได้ยังไง?

Kris : “ไม่เคยรู้จักไมซ์มาก่อนเลยในชีวิต คำว่าไมซ์ไม่เคยอยู่ในหัว พอเรียนจบจากศิลปศาสตร์ ซึ่งยุคนั้นมันเรียนครอบคลุมหมด แล้วเราชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เลยอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งก็ต้องไปเรียนเพิ่ม เราเลยไปเรียนการท่องเที่ยวต่อจากสถาบันแห่งหนึ่ง พอเรียนจบได้ใบประกาศก็สตาร์ทเข้าวงการนี้เลย ทำ reservation เป็นตำแหน่งแรกในชีวิตงานสายท่องเที่ยว

กฤษณี

กฤษณี

“ตอนนั้นเราทำตลาด FIT (ตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไป) เป็นหลัก ถึงเป็นเด็กใหม่เราก็ได้รับคำชมเชย ทำได้ไม่กี่ปีก็ได้รับโปรโมต และจากนั้นก็ได้รับความไว้วางใจให้เรามาทำ leisure business Group Series รับเป็นสิบๆ series ต่อปี ปีหนึ่งมาเป็นร้อยกรุ๊ปต่อปี รับเป็นสิบๆ กรุ๊ปต่อปี ปีหนึ่งมาเป็นร้อยกรุ๊ป ซึ่งถึงจะทำ FIT ก็จริง แต่เราก็ต้องมีความละเอียด ใส่ใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และได้รับเชิญจากบริษัทต่างชาติที่เราต้องดูแลลูกค้าของเค้าเชิญให้ไปดูงานและให้ข้อมูลกับพนักงานขายของเค้าและให้เข้าใจระบบการทำงานของทั้ง 2 ฝ่าย”

กฤษณี

ONCE : มาทำไมซ์จริงจังตอนไหน?

Kris : “พอเราได้ทำกรุ๊ปเริ่มต้น มันก็มีรายละเอียดเยอะนะ เลยเป็นพื้นฐานให้เรา จู่ๆ เจ้านายก็จะให้เราทำอินเซนทีฟกรุ๊ปๆ หนึ่ง เราบอกไม่ชอบเลย ไม่อยากทำ ยาก เจ้านายบอกว่ายากตรงไหน ไม่เห็นจะยาก หนึ่ง ทำตามที่ลูกค้าขอให้ได้ ยูก็สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้แล้ว เราเลยลองดูซึ่งก็รู้ว่ามันต้องครีเอทไอเดีย เซ็ตอัพอะไรต่างๆ มากมาย คิดว่าตอนนั้นนะที่เข้ามารู้จักอินเซนทีฟทัวร์จริงจัง แล้วก็รับกรุ๊ปออสเตรเลียเป็นกรุ๊ปแรก เขาประทับใจมาก ชมเราใหญ่ จากนั้นเลยทำอินเซนทีฟมาจนถึงวันนี้”

กฤษณี

กฤษณี

ONCE : จริงๆ แล้วอินเซนทีฟทราเวลคืออะไร?

Kris : “เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าอินเซนทีฟก็คือท่องเที่ยวนั่นแหละ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่มาเที่ยวอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกับธุรกิจของลูกค้าด้วย พูดง่ายๆ อินเซนทีฟทราเวลคือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ลูกค้าคือกลุ่มบริษัทต่างๆ ที่เขาวางเป้าให้พนักงาน ใครทำถึงเป้าที่กำหนดก็จะได้อินเซนทีฟมาเที่ยวเมืองไทย มานอนหรูอยู่สบายเหมือนเป็นรางวัลของชีวิต นี่คืออินเซนทีฟทราเวล

“อินเซนทีฟมันเป็นอย่างอื่นก็ได้ เป็นเงิน เป็นสิ่งของ ใบประกาศ ถ้วยรางวัล แต่การท่องเที่ยวเป็นรางวัลที่บูมที่สุด เพราะมันคือประสบการณ์ตรงที่ทุกคนได้สัมผัส เล่าได้ถึงลูกถึงหลาน นี่คืออินเซนทีฟยอดนิยมเลย”

กฤษณี

ONCE : อินเซนทีฟในยุคเดิมกับยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปไหม?

Kris : “แทบไม่เปลี่ยน อินเซนทีฟเป็นตัวเดียวในธุรกิจไมซ์ M I C E ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย อย่าง M C E จะเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น M ตอนช่วงโควิดเปลี่ยนเลยกลายเป็นการจัดประชุมแบบ virtual จัดแบบออนไลน์ ทั้ง Conference และ Exhibition ด้วย แต่ Incentive ไม่ใช่ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง ต้องได้เห็นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งเทคโนโลยีช่วยไม่ได้”

กฤษณี

กฤษณี

ONCE : สำคัญยังไงกับการท่องเที่ยว?

Kris : “แน่นอนอยู่แล้วว่ามันสร้างเม็ดเงิน มีประโยชน์ต่อวงจรธุรกิจท่องเที่ยว ต่อคนจัดทริป ออร์แกไนเซอร์ แล้วอินเซนทีฟไม่ใช่แค่เป็นเรื่องรางวัลจากการทำยอดขายตามที่บริษัทตั้งไว้อย่างเดียว แผนก HR ก็ทำได้ด้วยการสนับสนุนให้พนักงานช่วยกันลดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายให้บริษัท ใครทำได้ก็ให้รางวัล พาเขาไปเที่ยวได้เช่นเดียวกัน”

กฤษณี

“อินเซนทีฟกับการท่องเที่ยวเลยพึ่งพิงกัน ซัพพอร์ตกัน แล้วรายได้มากกว่าท่องเที่ยวทั่วไป เพราะมันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก ไม่ใช่แค่มาเที่ยว กิน นอน แล้วกลับ ทุกสเต็ปตั้งแต่ลูกค้าลงเครื่องบินมาต้องสร้างความพิเศษทุกจุด ปัจจุบันทัวร์ก็หันมาทำอินเซนทีฟเยอะขึ้นเพราะรายได้ดี ซึ่งการที่เราจะทำให้ได้ดีและมีรายได้ดี success ทั้งเราและลูกค้า มันมี factor ที่สำคัญมากนะ”

กฤษณี

ONCE : factor ที่ว่าคือ?

Kris : “หนึ่ง ความพร้อมของตัวเอง จะยอมรับความละเอียดของลูกค้าได้ไหม สามารถเปลี่ยนตัวเองในการทำงานกับลูกค้า เดินไปพร้อมๆ กันได้ไหม แล้วต้องเป็นคนรักการทำงานเป็นทีม นั่งคุยกัน เปิดใจไปด้วยกัน และสอง โปรดักส์ เรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ มีอะไรใหม่ๆ บ้าง เราก็จะคิดโปรแกรมน่าสนใจไม่ได้ คนทำไมซ์หรืออินเซนทีฟต้องเป็นคนเปิดใจกว้างมากๆ เป็นคน outgoing ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในออฟฟิศ เพราะเราจะไม่สามารถโน้มน้าวลูกค้าได้ว่าโปรแกรมนี้จะทำอะไรดี หรือเสนออะไรใหม่ๆ ให้เขาได้”

กฤษณี

ONCE : เรื่องยากที่สุดของอินเซนทีฟ?

Kris : “น่าจะเป็นเรื่องครีเอทีฟ คิดกิจกรรมให้ได้ ต้องตีโจทย์ของลูกค้าให้แตกแล้วมาดีไซน์โปรแกรมต่อว่าจะทำยังไง บางทีมันมีของเก่าอยู่แล้ว แต่เราจะใส่อะไรใหม่ๆ เข้าไปเพื่อให้เป็น new look เป็นอะไรใหม่ที่ลูกค้ารู้สึกว้าว เรื่องนี้ยากที่สุดแล้ว”

กฤษณี

ONCE : ช่วยเล่ากระบวนการทำงานอินเซนทีฟกรุ๊ปต่างประเทศให้ฟังหน่อย

Kris : “มันมี 2 แบบ แบบแรกกรณีผ่านตัวกลางที่เรียกว่า อินเซนทีฟเฮาส์ ซึ่งอยู่ในประเทศนั้นๆ เขารับโจทย์จากลูกค้าก็จะมาหาเรา คุยกันจนเข้าใจ เราก็ต้องเอาโจทย์นั้นมาตีให้แตก เพื่อรู้ว่าจะนำเสนอเดสติเนชั่นอะไร เลือกที่พัก ที่กิน กิจกรรม แล้วดีไซน์โปรแกรมออกมาให้ครบตามที่ต้องการ แล้วส่งกลับไปให้อินเซนทีฟเฮาส์เสนอลูกค้าพร้อมงบประมาณ ถ้าลูกค้าซื้อ เขาจะมาทำสิ่งที่เรียกว่า site inspection ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด จะได้งานหรือไม่ได้งานก็คือตอนนี้เลย แม้ลูกค้าจะเลือกเราแล้ว แต่ถ้าเราตกม้าตายตอน inspection ก็เขาเปลี่ยนใจไม่ใช้เราได้เหมือนกัน ตราบใดที่ลูกค้ายังไม่เซ็นสัญญา มันพลิกได้เสมอ แต่ถ้ามาแล้ว แฮปปี้ เซ็นสัญญา เราก็เตรียมรับการเดินทางมาของลูกค้าได้เลย ส่วนแบบที่สองคือไม่ผ่านอินเซนทีฟเฮาส์ ลูกค้าคุยกับเราตรง อันนี้ดีในแง่การสื่อสารที่จะเข้าใจกันง่ายขึ้น”

กฤษณี

ONCE : การทำ site inspection คือโปรแกรมเหมือนจริง?

Kris : “ใช่ เหมือนจริง แล้วเราสามารถ upselling ได้ด้วยระหว่างนี้ อะไรที่เป็นรายละเอียดเราเสนอขายเพิ่มเติมเข้าไปได้ ถามลูกค้าว่าโอเคไหม ถ้าเขาโอเค เราก็บอกมีค่าใช้จ่ายนะ ซึ่งถ้าลูกค้าอยากได้จริงๆ เขาจะจ่ายเพิ่ม ถามใครเป็นคนออกเงินในการทำ site inspection เรานี่แหละ เราจะทำให้เขาเห็นเลยว่าเวลคัมดริงก์แบบนี้ ออกไปข้างนอกแล้วมีอะไรพิเศษบ้าง พอมาถึงโรงแรม เข้าห้อง มีเวลคัมกิฟต์เป็นอะไร ถ้าเขาชอบเขาจะบอกเลยว่าเอาแบบนี้เลยนะถ้ากรุ๊ปฉันมา มันเป็นโอกาสที่ทุกคนจะขายได้อีก แต่พนักงานโรงแรมบางทีก็ลืมไป รู้ไหมว่าระหว่างทำโชว์เคสแบบนี้ในสิ่งที่คุณมี เป็นโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อเพิ่มได้ทั้งนั้นเลย”

กฤษณี

ONCE : หลายคนมองว่าทำทัวร์ได้ก็ทำอินเซนทีฟได้?

Kris : “ไม่จริงหรอก ทัวร์กับอินเซนทีฟมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ไล่ตั้งแต่ยานพาหนะที่จะรับลูกค้าเลย ทัวร์ก็คงไม่ซีเรียส แต่อินเซนทีฟนี่ไม่ได้ ถ้าลูกค้าเป็นเบนซ์ก็ต้องเอาเบนซ์หรือรถในเครือธุรกิจเขามารับ เอาแบรนด์อื่นมารับก็จบกัน แล้วเวลาพาลูกค้าออกไปเที่ยว อินเซนทีฟต้องคิดทุกจุด เที่ยวที่ไหน ร้านเป็นยังไง มีกิจกรรมไหม สร้างสตอรี่ให้ลูกค้าเพลิดเพลินระหว่างทาง แล้วพอส่งลูกค้ากลับโรงแรม ในห้องก็ต้องมีของที่ระลึกวางไว้เหมือนการส่งเขาเข้านอนด้วยความประทับใจ จะของเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับงบที่ลูกค้ามี นั่นคือกิมมิกที่เราต้องใส่เข้าไป”

กฤษณี

ONCE : คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในอาชีพหรือยัง?

Kris : “ถ้านับตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มต้นจากศูนย์จนถึงวันนี้ สำเร็จนะ คนรู้จักเราว่าเป็น Queen of MICE ลูกค้าเป็นคนตั้งให้เอง เราพอใจในสิ่งที่ทำทุกวันนี้ และอยากเป็นผู้ให้บ้าง อยากเป็นผู้สอน แชร์ประสบการณ์ที่ผ่านมา”

กฤษณี

ONCE : ทำอินเซนทีฟรวยไหม?

Kris : “รวย (หัวเราะ) เพราะทุกอย่างได้เงินหมด มันเป็นเงินทั้งนั้น เราต้องรู้จัก add value ซึ่งมันขายได้ทุกอย่าง ของที่ระลึกมีได้ทุกคืน ยิ่งถ้าลูกค้าเป็นบริษัทดังๆ ทุกอย่างต้องดีไซน์พิเศษหมด แต่คำว่ารวยมันไม่ใช่ทำแล้วรวยเลย กว่าเราจะมาถึงวันนี้ ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าเราจะเรียนรู้ เข้าใจลูกค้า สามารถเอาลูกค้าอยู่ซึ่งมันมีเทคนิคมากมาย เราผ่านมาหมด เคยร้องไห้ กดดัน เครียด มีหมดทุกแบบ ทุกทริปที่ทำพอลูกค้าแฮปปี้ ถึงขั้นที่เรียกพวกเราขึ้นไปบนเวทีบอกว่า ขอบคุณทีมเรา เขาจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีพวกเรา แล้วทุกคนก็ปรบมือเกรียวกราวกันทั้งห้อง โมเม้นท์นี้เราถือว่าเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตเลยนะ”

กฤษณี

กฤษณี

ONCE : วงการอินเซนทีฟไทยเป็นยังไงบ้าง?

Kris : “ตอนนี้ปัญหาใหญ่เลยคือขาดบุคลากร แล้วบุคลากรอินเซนทีฟหรือไมซ์เนี่ย ต้องใช้เวลาปั้นนานมาก ไม่เหมือนธุรกิจอื่น การปั้นคนคนหนึ่งให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ คิดราคาได้ สามารถ on site กับลูกค้าได้ เราว่า 3 ปีคืออย่างต่ำ แล้วการทำอินเซนทีฟมันต้องอาศัยใจรักจริงๆ บางทีทำงานไม่เป็นเวลาอีกด้วย”

กฤษณี

กฤษณี

กฤษณี

ONCE : อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากทำอาชีพนี้?

Kris : “หลายคนมองว่าเป็นภาพที่สวยงามพอเห็นเรามาถึงจุดนี้ แต่ก่อนจะถึงจุดนี้มันต้องฝ่าฟัน ต้องอาศัยการเรียนรู้ ประสบการณ์มากมาย ต้องถามตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะทำตรงนี้ไหม ใจรักไหม เป็นคนละเอียดรอบคอบหรือเปล่า อดทนได้ไหม คำที่คนในวงการไมซ์มักพูดว่าต้องอึด ถึก ทน ต้องเป็นอย่างนั้นเลย ลองถามตัวเองก่อน แต่บอกเลยว่าความสนุกมีแน่นอน เป็นประสบการณ์ที่เงินหาซื้อไม่ได้ และเวลาได้รับคำชมจากลูกค้า มันคือพลังที่ทำให้หัวใจเราพองโตเลยนะ (ยิ้ม)

Tags: