About
BALANCE

Are You Always Late?

ไปก่อนหรือไปสาย ทำไมเราจึงเป็นนักเดินทางแบบนั้น…นักจิตวิทยามีคำตอบ

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพประกอบ ANMOM Date 17-01-2023 | View 1081
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • การตรงต่อเวลากับการสายอธิบายได้ทางจิตวิทยาว่า เป็นกลไกจัดการความเครียดของแต่ละคน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
  • ทุกคนกังวลว่าจะไปสายกันทั้งนั้น แต่คนหนึ่งกังวลแล้วเลือกปลดความกังวลด้วยการไปถึงก่อนเวลา ขณะที่อีกคนเครียดแล้วเลือกวิธีหันเหความสนใจออกจากสิ่งที่ทำให้เครียดและผัดวันประกันพรุ่ง
  • บุคลิกภาพตรงต่อเวลาหรือไปสายยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เติบโตมาด้วยว่าให้คุณค่าเรื่องการตรงต่อเวลามากน้อยเพียงไร เช่น ญี่ปุ่นให้ค่าเรื่องตรงเวลามาก ขณะที่โมร็อกโกไปสาย 1 วันนั้นยังดีกว่าไม่มา เป็นต้น

เมื่อใกล้เวลาเดินทาง เครื่องบินจะขึ้น รถทัวร์จะออก รถไฟจะจากชานชาลา เรือจะแล่นจากท่า คุณไปถึงก่อนเวลาแล้วเดินทางชิลๆ หรือวิ่งแฮ่กไปแตะขอบประตูในวินาทีสุดท้าย

ท 3

ไปสาย = เส้นชัย

บางคนไปสายเพราะเหตุสุดวิสัยจริงๆ แต่ผู้โดยสารบางคนชอบไปสาย ในทางจิตวิทยาอธิบายไว้ว่า สำหรับนักเดินทางประเภทหลังนี้ ความตื่นเต้นบังเกิดตั้งแต่วินาทีที่วิ่งกระหืดกระหอบไปขึ้นรถลงเรือแล้ว บางรายถึงกับตั้งเป็นเป้าหมายไว้เลยว่าจะต้องไปสายให้ได้ เพราะการวิ่งผ่านเข้าไปในรถเรือก่อนที่ประตูจะปิดนั้น เปรียบดังการวิ่งเข้าเส้นชัย มันคือชัยชนะที่ทำให้หัวใจเต้นรัว

โดยมากแล้วเหตุที่ทำให้ไปสายนั้นเกิดจากแรงกดดันจากครอบครัว เพื่อนหรือคนร่วมทริปที่มักไปถึงก่อนเวลา กล่าวคือเมื่อเห็นเพื่อนร่วมทริปเตรียมตัวออกจากบ้านไปสนามบินก่อนเวลาขึ้นเครื่อง 2 ชั่วโมง แทนที่จะกระวีกระวาดรีบไปสนามบินบ้าง แต่คุณนักเดินทางสายเสมอจะเริ่มเครียด ความกังวลแล่นเป็นริ้ว…แล้วก็นอนต่อซะดื้อๆ สุดท้ายก็วิ่งหน้าตั้งไปขึ้นเครื่องเป็นคนสุดท้ายหลังจากสายการบินประกาศเรียกแล้วเรียกอีก

ท 1

Jonny Gerkin จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้โดยสารทั้งสองแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบชอบไปถึงก่อนเวลาหรือแบบชอบไปสาย ล้วนแต่มีปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือความวิตกกังวลขั้นรุนแรงต่อการเดินทาง หรือพูดง่ายๆ คือทุกคนกลัวไปสายกันทั้งนั้น แต่วิธีการที่ใช้รับมือกับความกังวลของตัวเองกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เช่น คนหนึ่งกังวลว่าจะตกเครื่อง จึงแก้ปัญหาด้วยการเตรียมการล่วงหน้า กะเวลาให้ไปถึงสนามบินก่อนขึ้นเครื่องไปเลย 3 ชั่วโมง แบบนี้ก็เรียกว่าตื่นตูมเกินไปนิด

ขณะที่อีกคนกังวลว่าจะตกเครื่องเหมือนกัน แต่กลไกในการปรับตัวเมื่อเผชิญกับปัญหานั้นกลับเป็นวิธีการที่ตรงกันข้าม คนประเภทนี้จะพยายามหันเหความสนใจของตัวเองออกจากสิ่งที่ทำให้เครียด และผัดวันประกันพรุ่งในสิ่งที่ต้องทำออกไป คุณหมอจอนนี กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้ใกล้เคียงกับคนที่ชอบทำร้ายตัวเอง เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกเครียดที่เผชิญอยู่ให้รู้สึกอย่างอื่นแทน เพื่อจะพาตัวเองออกไปจากภาวะความเครียดเดิมที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไปสู่ภาวะใหม่ของความตื่นเต้นเลือดลมสูบฉีดแทน

บางรายกลับรู้สึกด้วยซ้ำว่า กลไกการรับมือกับปัญหาด้วยวิธีนี้กลับน่าดึงดูดใจมากกว่าวิธีเตรียมตัวล่วงหน้าที่ไปถึงก่อนเวลาเป็นไหนๆ เสียงหัวใจเต้นรัวเป็นกลองในอกนั้นเป็นบทเพลงที่เสพติดสำหรับคุณนักเดินทางสายเสมอ

ท 2

วัฒนธรรมสร้างนิสัยตรงต่อเวลา/สาย

Jeffrey Conte นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การแห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโกสเตท สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การไปเร็ว-ไปสายเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพด้วยเช่นกัน คนประเภท A ที่ไม่ค่อยอดทนและทะเยอทะยานมักเป็นคนตรงต่อเวลา ขณะที่คนประเภท B ซึ่งมักจะชิลและขี้กังวลน้อยกว่ามักเป็นมนุษย์จอมสาย

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และวัฒนธรรมที่เติบโตมาให้คุณค่ากับการตรงต่อเวลามากน้อยเพียงไร ก็มีส่วนประกอบสร้างบุคลิกภาพของคนเราขึ้นมาได้ ตามผลสำรวจของเว็บไซต์เกม Mr. Gamez พบว่า ในญี่ปุ่นหากมาช้าแค่นาทีเดียวก็ต้องโค้งขอโทษขอโพยกันไปเลย 5 นาที เพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนอื่น หรือส่งผลเสียอื่นๆ ตามมาได้ แต่ถ้าสาย 30 นาทีในเม็กซิโกก็อย่าได้แปลกใจ ในเยอรมนี ‘การตรงต่อเวลา’ หมายถึงมาก่อนเวลานัด 10 นาที ถ้าเป็นที่ไนจีเรีย หากเวลานัดหมายคือบ่ายโมง แปลว่าจะมาตอนไหนก็ได้ระหว่างบ่ายโมงถึงบ่ายสอง แต่ถ้านัดหมายในบราซิล ต้องใส่คำว่า ‘นัดเวลาอังกฤษนะ’ เข้าไปด้วย ซึ่งหมายความว่าให้มาตรงเวลา ส่วนในโมร็อกโก การมาสาย 1 ชั่วโมงหรือ 1 วันเป็นเรื่องที่รับได้

ส่วนในสังคมไทย บางคนอาจเคยเจอเหตุการณ์ที่นัดกินข้าวกับเพื่อน พอโทร.ไปถามเพื่อนว่าถึงไหนแล้ว เพื่อนตอบว่าใกล้ถึงแล้ว แต่เสียงรอบตัวเงียบมากเหมือนยังอยู่บ้านอยู่เลย และสุดท้ายเพื่อนก็มาสายไป 3 ชั่วโมงและทุกคนก็กินข้าวต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นต้น

การพยายามทำความเข้าใจว่าต่างฝ่ายต่างก็คิดไม่เหมือนกันนั้น – เป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ในเมื่อฝ่ายตรงเวลาอาจคิดว่า “ทำไมต้องไปสายในเมื่อไปถึงก่อนเวลาได้” ขณะที่ฝ่ายจอมสายอาจคิดว่า “ก็แล้วทำไมต้องไปถึงก่อนในเมื่อไปสายก็ได้ไปเหมือนกัน”


ที่มา: https://www.theatlantic.com/health/archive/2019/05/psychological-reason-people
https://www.bbc.com/travel/article/20160711-the-nation-that-hates-to-be-late
https://www.dailymail.co.uk/travel/travel_news/article-3708645/Be-half-hour-late

Tags: