About
TRENDS

Pink Dollar ที่ทรงพลัง

LGBTQ+ กับ Pink Dollar ที่ทรงพลังในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพประกอบ ANMOM Date 21-06-2021 | View 3628
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นเดือน Pride Month เดือนที่รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • ปัจจุบัน ชาว LGBTQ กลายเป็นกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่ทรงพลัง และเป็นกลุ่มที่มีสถิติการเดินทางและกำลังซื้อสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากมีการก่อตั้งสมาคมท่องเที่ยวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และความเสมอภาคทางสังคม
  • ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชาว LGBTQ จะไม่ใช่กลุ่ม Niche Market อีกต่อไป แต่จะเป็น Major Market โดยคาดการณ์กันว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มนี้ประมาณ 180 ล้านคนในปี 2030

คาดการณ์กันว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มนี้ประมาณ 180 ล้านคนในปี 2030

คนส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้วว่า LGBT คือ Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) และ Transgender (กลุ่มข้ามเพศ) แต่หลายปีมานี้มีตัว Q หรือ Queer (กลุ่มที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดเรื่องเพศและความรัก) เพิ่มเข้ามาเป็น LGBTQ หรือบางครั้งอาจเคยเห็นเขียนว่า LGBTQ+ หมายความว่า ยังมีอีก แต่ทั้งหมดคือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ

L 1

ก่อนจะมีกฎหมายรับรองการแต่งงานในเพศเดียวกันเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ชาว LGBTQ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมาหลายทศวรรษ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยถูกเลือกปฏิบัติ ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง จนนำมาสู่เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ในนิวยอร์ก เมื่อปี 1969 ที่ชาวเกย์ลุกขึ้นต่อสู้กับตำรวจและความอยุติธรรมในสังคม เป็นที่มาของ Pride Month เดือนมิ.ย.ของทุกปีหรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

L 2

แต่ปัจจุบันแนวโน้มทางสังคมและการเมืองโลกเปลี่ยนไป ยอมรับและเคารพในความแตกต่างกันมากขึ้น นั่นทำให้ชาว LGBTQ กล้าออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศและมีบทบาทในตลาดกว่าที่เคย โดยเฉพาะแวดวงการท่องเที่ยวที่กลายเป็นตลาดทรงพลัง เมื่อข้อมูลล่าสุดปี 2019 ของ LGBT-Capital.com ระบุ จีดีพีของกลุ่ม LGBTQ ทั่วโลกอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

L 12

จุดเริ่มต้น LGBTQ tourism

ว่ากันว่าการเดินทางของกลุ่ม LGBTQ เริ่มบุกเบิกในปี 1973 เมื่อบริษัท He Travel ในสหรัฐ ได้จัดโปรแกรมทัวร์แกรนด์ แคนยอน เฉพาะชาวเกย์เป็นครั้งแรก และเริ่มเติบโตขึ้นในช่วงปี 1970-1980 สะท้อนได้จากจำนวนรีสอร์ทเกย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือ เมอร์ลิน บีช โฮเทล ซึ่งมีการโฆษณาว่าเป็น รีสอร์ทเกย์ชั้นนำของอเมริกา ในนิตยสารเกย์ระดับประเทศ

L 13

ขณะที่ฝั่งยุโรปก็มีเกาะมิโคนอส (Mykonos) ของกรีก เป็นปลายทางสุดโปรดของชาวสีรุ้งยุคนั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันจากทัศนคติเสรีนิยม สนุกได้กับปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แถมรวมเหล่าเซเลบไว้อย่างพร้อมเพรียง

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกช่วงหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อมีการก่อตั้ง IGLTA หรือสมาคมท่องเที่ยวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า IGTA (International Gay Travel Association) ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น International Gay and Lesbian Travel Association และ International LGBTQ + Travel Association ในปี 1997 และ 2019 ตามลำดับ โดยในบรรดาสมาชิกผู้ก่อตั้งที่ทรงอิทธิพล คือ Kevin Mossier ผู้ก่อตั้ง RSVP Vacations บริษัทล่องเรือของชาวเกย์แห่งแรกของโลก นับตั้งแต่นั้นมา อุตสาหกรรมนี้ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง

L 9

ค่านิยมเปลี่ยน ดันตลาด LGBTQ โต

ขณะที่โลกค่อยๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยคำว่า “ความเท่าเทียมกันในสังคม” จนส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงชุมชน ผู้คนเริ่มยินดีกับคู่รักเพศเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าสถิติการเดินทางและกำลังซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพราะมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น

นอกจากนี้ในการสำรวจความเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ ของททท. ยังมองว่า การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการสร้างความผูกพันระหว่างคู่รักผ่านการสร้างสรรค์ประสบการณ์ดีๆ ร่วมกัน นอกเหนือปัจจัยหลักอย่าง การพักผ่อน หลบหนีจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน และการมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ จากจุดหมายปลายทางนั้นๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มนี้ประมาณ 180 ล้านคนในปี 2030 สอดคล้องกับโพลสำรวจความเห็นของ Ipso-Mori ที่บอกว่า ชาวเกย์ในสหราชอาณาจักร จะใช้เวลาในทริปพักผ่อนเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี มากกว่าผู้ชายทั่วไปถึง 2 เท่า

L 6

LGBTQ จึงไม่ใช่ Niche Market ของการท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่เป็น Major Market ที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ ทั้งในแง่ของการออกแคมเปญดึงดูดความสนใจ และการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม

เช่นล่าสุด แอคคอร์ (Accor) ผู้นำด้านโรงแรมและการบริการระดับโลก ได้ประกาศความร่วมมือกับ IGLTA เพื่อพัฒนาการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ สร้างความมั่นใจในประสบการณ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับพวกเขา พร้อมกับการสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมภายในองค์กรและสังคม

“การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความเชื่อมั่นของแอคคอร์ในด้านการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ และการให้บริการอย่างเท่าเทียมสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน เป้าหมายของเราคือการสร้างสภาพแวดล้อมโรงแรมที่ทำให้แขกของเรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ และภาคภูมิใจ ไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางไปที่ใดในโลก” การ์ธ ซิมมอนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอคคอร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กล่าว

Pink dollar ทรงพลัง

ถึงไม่บอกก็คงพอจะคาดเดากันได้ว่า Pink dollar คือเม็ดเงินของกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้จับจ่ายใช้สอยไปกับสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มชายหญิง

รายงานการวิจัยของ Out Now Consulting 2018 พบว่า กลุ่ม LGBTQ ทั่วโลกใช้จ่ายไปกับการเดินทางรวมกันถึง 218 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยยอดสูงถึง 63.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยเติบโตร้อยละ 1.9 ต่อปี ตามด้วย บราซิล 26.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตัวแทนเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น รั้งอันดับ 3 ด้วยตัวเลข 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอังกฤษ 11.7 พันล้านดอลลาร์ อยู่อันดับ 5

ตัวเลขเหล่านี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อพวกเขาคือหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากการเปิดเผยขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO)

L 10

ทุกๆ ปี Pink dollar ยังช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ระหว่างเทศกาล Pride month ประจำปี ซึ่งถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางของชาว LGBTQ เมื่อผลสำรวจก่อนเกิดโควิด-19ไม่นาน บอกว่า กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง เดินทางข้ามเมืองเพื่อเข้าร่วมงานสำคัญนี้ในรอบ 12 เดือน

ทั้งนี้ งานใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวสีรุ้งที่นิวยอร์ก เมื่อปี 2019 มีผู้เข้าร่วมงานถึง 5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลไพรด์ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงภูเก็ต ที่จัดต่อเนื่องมา 16 ปีแล้ว

กฎหมายคู่ชีวิตหนุนทริปฮันนีมูน/ครอบครัว

นอกจากการท่องเที่ยวแบบคู่รัก ก๊วนเพื่อนและอีเวนต์แล้ว ทริปฮันนีมูลและการเที่ยวแบบครอบครัวคือตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในกลุ่ม LGBTQ เมื่อหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายรับรองการแต่งงานในเพศเดียวกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเดิมเป็นชาติแรกเมื่อปี 2001 ปัจจุบันมีถึง 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงคอสตาริกา ที่เพิ่งเป็นชาติแรกในอเมริกากลางเมื่อพ.ค.ปีที่แล้วที่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานในเพศเดียวกัน โดยไต้หวันเป็นชาติเดียวในเอเชีย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิตเช่นกัน

L 3

ทั้งนี้ โปรแกรมฮันนีมูลของชาวสีรุ้งถือเป็นหนึ่งในการเติบโตมากที่สุดของตลาดท่องเที่ยว เห็นได้จากยอดจองที่เพิ่มขึ้น 279 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากการรายงานของ The Guardian และเมื่อการแต่งงานได้รับความนิยมในหมู่ LGBTQ มากขึ้น ความคิดในการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ก็ตามมาด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันเด็กประมาณ 3 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามีพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ และ 77 เปอร์เซนต์ของกลุ่มมิลเลนเนียล หรือ Gen Y ในสหรัฐ เป็นพ่อแม่อยู่แล้วหรือกำลังพิจารณาจะมีลูกในอนาคต ด้วยจำนวนครอบครัวชาวสีรุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดการเดินทางแบบครอบครัวของกลุ่มนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ไทยติดอันดับประเทศดีสุดสำหรับชาวสีรุ้ง

นอกเหนือจากความสวยงามของจุดหมายปลายทางและประสบการณ์แปลกใหม่แล้ว ปัจจัยหลักๆ ที่มีความสำคัญสำหรับนักเดินทาง LGBTQ คือ ความปลอดภัยและการต้อนรับอย่างเป็นมิตรกับพวกเขา โดยการเป็น Gay-friendly destination ไม่จำเป็นต้องจัดงานเฉพาะกลุ่มแบบ Pride Parade หรือสื่อสัญลักษณ์สีรุ้ง แต่การยอมรับและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นต่างหากคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ

“ผมจะไม่ไปในที่ที่ผมไม่ได้รับการยอมรับในฐานะเกย์คนหนึ่ง” ส่วนหนึ่งจากผลสำรวจความเห็นนักท่องเที่ยว LGBTQ เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางที่เลือก

L 5

อาจไม่ถึงกับเซอร์ไพรส์ แต่หลายคนคงยังไม่ทราบว่าเมืองไทยถูกจัดอยู่ใน 8 ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับชาว LGBTQ ในปีนี้ จากการรายงานของเว็บไซต์ worldrainbowhotels.com ร่วมกับ สเปน อุรุกวัย นิวซีแลนด์ แคนาดา ฝรั่งเศส ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์

ประเทศไทยถูกพูดถึงว่าเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางคู่รักเพศเดียวกันหรือกลุ่มข้ามเพศมาอย่างยาวนานและเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่ให้การต้อนรับมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แม้ว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับคู่สมรสเพศเดียวกัน แต่ก็มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศไม่น้อย รวมทั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็มีความพยายามในการผลักดันเรื่องความเสมอภาค และยังเปิดตัวรายการ Drag Race Thailand

นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังติดอันดับท็อป 5 Destination สำหรับทริปฮันนีมูนของชาวเกย์จากเว็บเดียวกัน ขณะที่ โคเปนฮาเกน (เดนมาร์ก), นิวซีแลนด์, โตรอนโต (แคนาดา), ปาล์มสปริงส์ (สหรัฐ) และ ซิตเกส (สเปน) คือ 5 อันดับแรกสถานที่เป็นมิตรกับเกย์มากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Lonely Planet ในปีนี้

ที่มา
http://www.lgbt-capital.com/
https://www.businessdestinations.com/
https://www.lonelyplanet.com/

 

Tags: