About
BALANCE

ที่ที่เคยคุ้นตา

ทำไมที่ที่เคยคุ้นตา จึงปลุกความทรงจำในอดีต

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ Date 08-03-2021 | View 7434
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • การจดจำเรื่องราวเก่าๆ ที่มีความคล้ายกับสภาวะปัจจุบัน อธิบายได้ด้วย ทฤษฎีผูกยึดตามสถานการณ์ (contextual-binding theory) หมายถึงว่า สมองจะเข้าไปรื้อค้นความทรงจำที่ใกล้เคียงกับบริบททางจิตในปัจจุบัน
  • การฉายหนังซ้ำของสมองไม่ได้จำกัดแค่ทางกายภาพ บางทีเกิดอารมณ์เศร้าอยู่ จู่ๆ ก็เกิดนึกถึงเรื่องเศร้าอื่นๆ ในชีวิตขึ้นมาได้เหมือนกัน
  • เซลล์จีโอแท็ก (geotag cell) หรือเซลล์ระบุพิกัด คือการที่สมองพยายามตีความและทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราโฟกัสกับสิ่งนั้น ไม่เว้นแม้แต่สถานที่

เชื่อไหมว่า สมองคนเราจดจำภาพในอดีตได้อย่างแม่นยำ และไม่ใช่แค่ภาพความทรงจำที่วาบขึ้นมาในห้วงความคิดเท่านั้น บางครั้งยังชวนให้เรากลับไปคุ้นเคยกับความรู้สึกเก่าๆ ที่คิดว่าลืมไปนานแล้ว

portorfino italy

ภาพจำยังชัดเจน

สามีภรรยาคู่หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทุกๆ ปีพวกเขาจะบอกลาลูกๆแล้วบินไปอยู่เมืองปอร์โตฟิโน่ในอิตาลีราวๆ ปีละ 1-2 เดือน ทุกครั้งที่ไป ก็จะเข้าพักโรงแรมเดิมและห้องพักเดิม

พวกเขารู้สึกสงบและปลอดภัยอย่างรวดเร็วทันทีที่ได้เปิดหน้าต่างห้องพักและนั่งมองวิวท่าเรือ ได้เห็นเรือจอดนิ่ง เรือบางลำแล่นออกจากท่า และเรือหลายๆลำทยอยกลับเข้าสู่ฝั่ง

ทุกวันนี้ที่เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้เพราะโควิด-19 แค่เห็นชื่อเมืองปอร์โตฟิโน่หรือเห็นรูปท่าเรือของเมืองนั้น สองสามีภรรยาก็รู้สึกสงบในใจลงได้บ้าง

portorfino italy

ขณะที่พระอาทิตย์ตกที่ริมทะเลหัวหิน ทำให้บางคนนึกถึงวันที่ขับรถมานั่งอกหักหลั่งน้ำตาคลุกเม็ดทราย ต้นมะขามคู่ยักษ์ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ทำให้บางคนนึกถึงวันที่ได้มาจัดงานแต่งงานใต้ต้นไม้คู่นี้ ไอหมอกบนดอยพุ่ยโคที่แม่ฮ่องสอนชวนให้นึกถึงช่วงเวลาโดนเพื่อนแกล้งจนเกือบตกหน้าผา ถนนในย่านเก่าเมืองภูเก็ตเตือนให้นึกถึงทริปแรกที่ออกเดินทางคนเดียว หรือขับรถผ่านร้านส้มตำเจ้าเด็ดที่เชียงใหม่ที่ต่อคิวยาวเป็นชั่วโมงเพื่อจะพบว่าไม่เห็นอร่อยดังคำเล่าลือ

hua hin

หรืออาจจะเป็นโรงเรียนเก่า บ้านหลังแรกของครอบครัว ตรอกแถวบ้านคุณยาย หรือแม้แต่ร้านหมอฟันที่แค่นึกว่าต้องไป ก็เสียวฟันเสียแล้ว ฯลฯ

เวลาผ่านไป แต่เมื่อกลับไปเยือนสถานที่ที่เคยไป เรื่องราวเก่าๆ ที่บางเรื่องก็เก่าเก็บเป็นสิบปี เรื่องที่คิดว่าลืมไปแล้ว ไม่น่าจำได้ ก็กลับวาบขึ้นมาเหมือนฉายซ้ำอีกครั้ง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สถานที่กระตุ้นเตือนความทรงจำหรือทำให้เรารู้สึกเหมือนที่เคยรู้สึกอีกครั้งได้อย่างไร

ความทรงจำกับความลึกลับของจิต

พฤติกรรมของสมองเช่นนี้อธิบายได้ด้วย ทฤษฎีผูกยึดตามสถานการณ์ (contextual-binding theory) นั่นคือการสืบค้นของสมองมนุษย์ก็ละม้ายคล้ายๆ กับการเสิร์ชกูเกิ้ล เรามีแนวโน้มว่าจะพบเจอในสิ่งที่กำลังค้นหา ใส่คีย์เวิร์ดอะไรเข้าไปก็เจอสิ่งที่มีบริบทเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ด โดยสมองจะเข้าไปรื้อค้นในความทรงจำที่ใกล้เคียงกับบริบททางจิตในปัจจุบันของเรา จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราจึงมักจะจำเรื่องราวเก่าๆ ที่คล้ายคลึงกับสภาวะที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ได้

เมื่อเรากลับไปยืนที่เดิม ที่ที่เคยคุ้นตา ที่ที่หัวใจคอยเรียกหา สมองจึงรื้อความทรงจำเก่าในตอนที่เราเคยมายืนอยู่ตรงนี้แล้วฉายซ้ำให้เราดูอีกรอบ เป็นอาการที่เรียกว่า ‘จู่ๆภาพเก่าๆ ก็วาบขึ้นมา’ นั่นเอง

มีการทดลองที่ยืนยันทฤษฎีนี้ของคณาจารย์คณะจิตวิทยาของ University of Stirling ในปี 1975 อาจารย์ให้นักดำน้ำจำคำศัพท์ทั้งบนบกและใต้น้ำ ผลที่ได้คือ พออยู่บนบก นักดำน้ำจะจำคำศัพท์ที่เพิ่งเรียนรู้ตอนอยู่บนบกได้ดีกว่า ขณะเดียวกันเมื่ออยู่ใต้น้ำก็จำศัพท์ที่เรียนรู้ตอนอยู่ใต้น้ำได้ดีกว่า

การฉายหนังซ้ำของสมองไม่ได้จำกัดแค่ทางกายภาพเท่านั้น บางทีเศร้าอยู่ จู่ๆ ก็เกิดนึกถึงเรื่องเศร้าอื่นๆ ในชีวิตขึ้นมาได้เฉยเลย เช่น นึกวาบภาพตัวเองตอนทะเลาะกับแฟนเก่าในทริปดำน้ำที่ตรัง หรือบางทีที่ดีใจก็นึกภาพตัวเองตอนเปิดกล่องของขวัญวันเกิดกับครอบครัวที่ร้านอาหารในเชียงใหม่ เป็นต้น

brain and memory

ความลึกล้ำของสมอง

ทีมนักประสาทวิทยาจาก University of Pennsylvania และ Freiburg University ทำการทดลองเรื่องความทรงจำเกี่ยวข้องกับสถานที่อย่างไรเมื่อปี 2013 โดยให้คนไข้ผ่าตัดสมองเล่นวิดีโอเกม ในภารกิจส่งของให้ไปถึงสถานที่ที่กำหนดไว้ คนไข้ต้องเดินทางผ่าน ‘สถานที่’ ต่างๆ ในเมืองเสมือนจริง(ที่อยู่ในเกม)

บางครั้งก็หลงทางบ้าง บางทีก็เดินวนผ่านที่เดิมบ้าง ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่คนไข้เดินผ่านสถานที่เดิม เซลล์ประสาทที่รับผิดชอบเรื่องการตอบสนองต่อสถานที่ก็จะทำปฏิกิริยาขึ้นมาทันที นักจิตวิทยาเรียกเซลล์นี้ว่า เซลล์จีโอแท็ก (geotag cell) หรือเซลล์ระบุพิกัด สมองพยายามตีความและทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเราโฟกัสกับสิ่งนั้นอยู่แล้ว ไม่เว้นแม้แต่สถานที่

memory

สรุปได้ว่า สมองถอดรหัสข้อมูลเชิงพื้นที่เข้าไปสู่เซลล์จีโอแท็กที่เชื่อมโยงกับความทรงจำเรื่องสถานที่ งานวิจัยนี้จึงอธิบายอาการโหยหาอดีตว่า ทำไมสถานที่ที่เราเคยคุ้นจึงดึงความทรงจำเก่าๆ ให้สว่างวาบขึ้นมาอีกครั้ง

ถ้าเกิดไปเที่ยวที่ไหนแล้วเผลออุทานว่า เวลาผ่านไปเร็วจัง รู้สึกเหมือนเพิ่งได้มาที่นี่เมื่อวานนี้ ก็อย่าตีอกชกหัวว่าตัวแก่ แต่เป็นความสำเร็จที่สมองจับสถานที่กับความทรงจำมาแมตช์กันได้อีกครั้ง


ที่มา

 

Tags: