- ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘Metaverse’ ถูกพูดถึงในโลกดิจิทัลอย่างกว้างขวางเพราะแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กประกาศว่าจะลงทุนและพัฒนาตลาดนี้อย่างหนัก ถึงขนาดเปลี่ยนชื่อบริษัทตัวเองเป็น Meta ทำให้เมตาเวิร์สเป็นคำใหญ่ที่ทุกคนให้ความสำคัญในหลายธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- ลองจินตนาการว่าในขณะที่คุณกำลังนั่งอยู่ที่บ้าน แต่ก็สามารถเดินสำรวจทุกซอกทุกมุมของโรงแรมที่กำลังจะไปพักก่อนจะจองได้ นั่นล่ะหรือหน้าตาของการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งเมตาเวิร์สจะมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร อยู่ที่การจัดการอย่างเหมาะสม และการทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม
ปีที่ผ่านมาคำว่า ‘Metaverse’ ถูกพูดถึงในโลกดิจิทัลอย่างกว้างขวางเพราะแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กประกาศว่าจะลงทุนและพัฒนาตลาดนี้อย่างหนัก ถึงขนาดเปลี่ยนชื่อบริษัทตัวเองเป็น Meta ทำให้เมตาเวิร์สเป็นคำใหญ่ที่ทุกคนให้ความสำคัญในหลายธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนภาพจำจากแต่ก่อนไปมากหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่นับว่าก่อนหน้านี้เพิ่งจะปรับตัวได้จากการนำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับการท่องเที่ยว หรือการเปลี่ยนเมืองเป็นสมาร์ทซิตี้เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดในการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางและใช้ชีวิตได้ง่ายอย่างไร้กังวล คำถามก็คือ เมตาเวิร์ส จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวแค่ไหน คนจะออกเดินทางในโลกแห่งความจริงน้อยลงหรือไม่ คำตอบอาจไม่มีสิ่งใดตายตัว เพราะเหรียญมี 2 ด้านเสมอ
เมตาเวิร์ส คืออะไร สำคัญแค่ไหน และจะมาจริงไหม
เป็นเรื่องยากและซับซ้อนเกินไปที่จะอธิบายหลักการของ เมตาเวิร์ส ให้เข้าใจภายในระยะเวลาอันสั้น แต่อยากให้ทุกคนนึกถึงฉากการประชุมผ่านโฮโลแกรมในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars หรือการสร้างเมืองจำลองในเกม The Sims เพราะเมตาเวิร์สคือมิติคู่ขนานซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งโลกเสมือนจริงหรือโลกจำลองที่ทุกคนสร้างขึ้นมาก็ได้ แต่การทำงานของมันต้องมีเทคโนโลยีอื่นมาประกอบถึงจะสมบูรณ์แบบ เช่น
VR (Virtual Reality) การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแบบ 360 องศาผ่านการใส่แว่น รับรู้ผ่านการมองเห็น และได้ยิน ซึ่งกำลังพัฒนาให้ผู้ใช้สามารถสัมผัสและได้กลิ่นจริงๆ เช่น เราสามารถเดินเล่นที่เยาวราชผ่านการใส่อุปกรณ์สิ่งนี้แม้จะอยู่ที่บ้านของตัวเอง
AR (Augmented Reality) คือเทคโนโลยีที่ผสมระหว่างโลกจริงกับเทคโนโลยี ถ้ายังจำตอนที่เกมจับโปเกม่อนบูมใหม่ๆ เมื่อใช้กล้องโทรศัพท์ส่องไปยังสถานที่จริง จะปรากฏตัวละครในการ์ตูนออกมา AR มักใช้ร่วมกับการอธิบายรายละเอียดต่างๆ ของวัตถุ เช่น เมื่อเราส่องกล้องไปที่ตึกเก่า ก็จะปรากฏภาพถ่ายสมัยก่อนออกมาให้เห็นทันที
อันที่จริงคอนเซ็ปต์เรื่อง เมตาเวิร์ส ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาจากภาพยนตร์แนวไซไฟ และเกมออนไลน์หลายเจ้าก็สร้างเมืองจำลองของตัวเองขึ้นมาให้คนเล่นได้สวมบทบาทเป็นคาแรกเตอร์ต่างๆ ในโลกแห่งจินตนการ แต่นับจากนี้ไปเมตาเวิร์สอาจไม่ใช่แค่กิจกรรมสันทนาการ แต่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่คอยอำนวยความสะดวกในโลกยุคใหม่หลังโควิด-19 ปัจจุบันมนุษย์ได้ทำลายอุปสรรคด้านระยะทางลงให้ทุกคนในโลกใบนี้ได้ติดต่อกันอย่างไร้พรมแดน ทำไมต่อจากนี้ไป เราจะท่องเที่ยวแบบไร้ขีดจำกัดไม่ได้บ้างล่ะ มาถึงแล้วการเที่ยวแบบใหม่ที่ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป
ท่องเที่ยวไทย กลับไม่ได้ ต้องไปให้ถึง
การเติบโตของเทรนด์ที่เคยใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี อาจจะเร็วขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อโดยใช้เวลาเพียง 1-2 ปีเพราะมีแรงกระตุ้นจากโรคระบาดและเทคโนโลยีต่างๆ ที่พร้อมทำให้เป็นจริงได้ รวมทั้งผู้บริโภคในปัจจุบันที่ปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลได้เป็นอย่างดี และไม่ว่ากระแสเมตาเวิร์สจะมาหรือไม่ ธุรกิจการท่องเที่ยวก็ต้องปรับตัวและเจอกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่ดี ฉะนั้นการพยายามทำความเข้าใจเทรนด์ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ของตัวเองจะทำให้มิติของการท่องเที่ยวมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ระดับบุคคลหรือเอกชน แต่ผู้เล่นระดับรัฐก็ควรเริ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อตามให้ทันกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป
‘อินชอน’ กำลังเป็นเมืองต้นแบบของประเทศเกาหลีใต้ที่ถูกทำให้เป็น ‘สมาร์ท ซิตี้’ โดยใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สมาส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง ซึ่งมีส่วนผสมของเทคโนโลนี AR และ VR เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวให้สนุกขึ้นกว่าเดิม จากคลิปวิดีโอนี้
เราจะเห็นว่าแค่มีอุปกรณ์สื่อสารเพียงเครื่องเดียวก็สามารถท่องเที่ยวได้อย่างสนุก เพียงส่องกล้องไปยังถนนนก็จะปรากฏลูกศรว่าทางนั้นกำลังจะพาไปสถานที่ท่องเที่ยวไหน หรือถ้าหากอยากเห็นพัฒนาการทางสถาปัตยกรรม เพียงส่องกล้องไปที่ตึกก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีภาพจำลองของกิจกรรมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งวิถีชีวิตและเทศกาลต่างๆ เทคโนโลยีดังกล่าวยังเอื้อให้ทุกคนท่องเที่ยวได้ง่ายและลดข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร พวกเขาสามารถเลือกไกด์นำทางโดยปรับเป็นภาษาที่ต้องการ ก็จะมีตัวละครใหม่โผล่ขึ้นมาและอธิบายความสำคัญของสถานที่นั้นอย่างละเอียด
‘มิวนิก’ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่กำลังพัฒนาให้เป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ อย่างจริงจังโดยผู้นำของการขับเคลื่อนโครงการก็คือเทศบาลเมือง พวกเขาตระหนักดีว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเมืองพึ่งพาอุตสาหกรรมรถยนต์มากเกินไปจนเบียดเบียนพื้นที่สาธารณะซึ่งมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและขนาดของพื้นที่ การทำสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่เอาทุกอย่างเข้าในมือถือแล้วจบ แต่คือการวางแผนให้เมืองกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม ผู้คนอยากออกจากบ้านมาทำกิจกรรมข้างนอก โดยมีเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ต คอยอำนวยความสะดวก และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง เช่น รถโดยสารสาธารณะราคาถูกหรือไม่ก็ให้ทุกคนได้ใช้ฟรีไปเลย เพื่อสนับสนุนให้คนเดินทางได้ง่าย และยังเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบไร้อุปสรรค
การทำให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเข้าถึงทุกพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ใช้เวลานานเกินไปหากอยากเริ่มพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่ตอนนี้ ข้อได้เปรียบของประเทศนี้คือมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทรัพยากรเป็นอย่างมาก คุณค่าและวิถีชีวิตของผู้คนทั้ง 4 ภาคคือทรัพย์สินซึ่งมีมากพอที่จะเริ่มต้นหลายอย่างได้ทันที เมื่อความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้ว ความสะดวกสบายต่างๆ อาจตามเข้าไปในเร็ววันเหมือนอย่างที่การท่องเที่ยวในหลายจังหวัดนำพาถนนที่ดีและไฟฟ้าส่องสว่างให้มาถึงหลังจากที่ชาวบ้านรอคอยมาแสนนาน เมตาเวิร์สจะทำให้เราเที่ยวเมืองเก่าที่อยุธยาได้สนุกกว่าเดิม เพียงใส่แว่นแล้วเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ก็จะปรากฏภาพอยุธยาเมื่อ 300 ปีที่แล้วก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลาย วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม รวมทั้งงานศิลปะต่างๆ จะถูกบรรจุอยู่ในอุปกรณ์ VR โดยที่เราไม่ต้องบูรณะโบราณสถานให้เสียคุณค่า ตัวละครชื่อดังอย่างท้าวทองกีบม้าจะปรากฏออกมาพาเราชมทั่วเกาะพระนคร และอาจปิดท้ายด้วยเซ็ตอาหารชาววังที่เรากดดูข้อมูลทั้งส่วนประกอบและที่มาได้เมนูต่อเมนู
เช่นเดียวกับในเขตเวียงเชียงใหม่ น่าตื่นเต้นแค่ไหนถ้าเทศบาลจัดทำเส้นทางชมวัดในเขตกำแพงเมืองทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน เราจะมีโอกาสได้เห็นเจดีย์หลวงสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง เห็นผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินเลือกของอยู่ในตลาด และร่วมงานเทศกาลยี่เป็งโดยลอยโคมในโลกเสมือนจริง ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และลดการเกิดอัคคีภัยได้จริง ในอีกทางหนึ่ง ทั้งอยุธยา เชียงใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งเมืองเก่าสุโขทัยสามารถสร้างขึ้นมาเป็นสถานที่ในเกมให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับความสนุกจากภารกิจที่ต้องทำในเกม อาจเกิดการนัดรวมตัวกันที่ “วัดใหญ่ชัยมงคล” หรือ “วัดศรีชุม” ก่อนจะช่วยไปตีป้อมของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม แต่วิธีคิดในการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากความเข้าใจ เปิดใจ ไม่ยึดติด ไม่อย่างนั้นเทคโนโลยีแบบไหนก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นไม่ได้
เพื่อนใหม่ หรือ ภัยอันตราย สำหรับวงการท่องเที่ยว
ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาด บริษัททัวร์ก็ต้องเจอกับกระแสของความเปลี่ยนแปลง นักท่องเที่ยวยุคใหม่ชอบไปเอง เที่ยวเอง จองเอง หรือบางคนอาจจองแค่ตั๋วเครื่องบินและรถเช่า เพราะพวกเขารู้สึกว่าการเจอสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมีคุณค่าเสมอ ธุรกิจโรงแรมต้องปวดหัวกับการมาถึงของ Airbnb และต้องงัดโปรโมชั่นมาสู่กับ Online Travel Agency ที่ให้เรทการเข้าพักได้ถูกกว่า จะเห็นว่าการท่องเที่ยวมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โควิด-19 จึงเหมือนเป็นการล้างไพ่ครั้งใหญ่ในวงการ และเร่งให้การปรับตัวมาถึงเร็วมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า
เทคโนโลยีเมตาเวิร์สจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาคบริการและวิธีชำระเงิน แทนที่จะดูภาพตัวอย่างห้องพักแบบ 2 มิติ เราสามารถดูสภาพโรงแรมและห้องพักได้เหมือนไปถึงแล้ว สำรวจทุกซอกทุกมุมว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ก่อนตัดสินใจจองหรือชำระเงิน สำหรับคนที่ตั้งตัวเป็นผู้นำเที่ยวหรือวางแผนทริป พวกเขาก็สามารถเข้าไปดูสถานที่จริงก่อนได้จากเมื่อก่อนที่ใช้เพียงภาพถ่ายจาก Google Map เท่านั้น
การเห็นสภาพที่ท่องเที่ยวจริงทำให้เราประเมินได้ว่าเหมาะกับผู้สูงอายุหรือเด็กไหม เดินไกลกว่าที่คิดหรือเปล่า สถานที่จอดรถมีเพียงพอในช่วงเทศกาลไหม หรือความแตกต่างในแต่ละฤดูกาลเป็นอย่างไร เมตาเวิร์สยังช่วยลดข้อจำกัดในการท่องเที่ยวของคนบางกลุ่มได้จริง เช่น ผู้หญิงสามารถขึ้นไปสักการะพระธาตุได้ผ่านอุปกรณ์ VR ในวัดที่ไม่อนุญาตให้พวกเธอเข้าสถานที่ หรือผู้พิการก็สามารถมีประสบการณ์ท่องเที่ยวได้ทั่วโลกเหมือนกับเราทุกคน
แม้เมตาเวิร์สอาจทำให้ผู้ที่ไม่ปรับตัวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องตกงาน แต่ก็อาจสร้างอีกหลายโอกาสให้กับคนอีกจำนวนมาก ถ้าหากเราสามารถประชุมกันในโลกเสมือนนี้เป็นโฮโลแกรมได้ ทำไมเราจะจ้างงานคนในพื้นที่ห่างไกลให้มาทำงานในองค์กรของเราไม่ได้ล่ะ โรงแรมที่กรุงเทพอาจใช้เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในจังหวัดลำปางคอยดูแลผู้เข้าพักก่อนเดินทางมาถึงโรงแรม คุณตาอดีตมัคคุเทศก์ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่แตงสามารถนำเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ได้แม้ว่าตัวเองจะอยู่ที่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสกลนครอาจทำ MOU กับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของ UN เพื่อขอแรงสนับสนุนไกด์ในแต่ละภาษาโดยสามารถเป็นตัวกลางในการสื่อสารหรือพาเที่ยวทั่วจังหวัดผ่านอุปกรณ์แค่เครื่องเดียว – ความสำคัญจึงอยู่ที่ระบบการจัดการและการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ส่วนเรื่องอคติต่อเทคโนโลยีนั้นเป็นปัญหาระดับปัจเจกบุคคล แต่รัฐสามารถสร้างการรับรู้และรณรงค์ได้หากมองเห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ
อยากได้เพื่อนคู่คิด ต้องเป็นมิตรกับเมตาเวิร์ส
“อีกหน่อยคนไม่ต้องออกจากบ้านกันแล้ว” เป็นความคิดแบบสุดทางที่เกิดจากความกลัว เรายังเชื่อในการท่องเที่ยวที่ต้อง ‘ออกจากบ้าน’ ไม่ว่าหน้าตามันจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนก็ตาม อย่างที่เห็นว่าในหลายพื้นที่ตัวอย่างมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อผสมผสานกับการเที่ยวแบบดั้งเดิม ซึ่งความดั้งเดิมในบางแห่งก็เป็นประดิษฐกรรมที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เมตาเวิร์ส จะถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำได้หากภาครัฐเข้ามาจัดการให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ในทุกครัวเรือน ข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังหายสาบสูญอาจจะถูกบันทึกอยู่ในโลกคู่ขนาน เพียงแต่เราต้องเรียนรู้และรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเหรียญมี 2 ด้านเสมอ และการท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นกิจกรรมที่ทุกคนควรมีสิทธิได้สัมผัสไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นไหนหรือมีรายได้เท่าไหร่ก็ตาม
แหล่งข้อมูล:
https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-3-030-94751-4_20
https://smart-cities-marketplace.ec.europa.eu/sites/default/files/
https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2022
https://usa.inquirer.net/91663/metaverse
https://longitudedesign.com/metaverse-the-end-of-travel-as-we-know-it/
https://www.phocuswire.com/Metaverse-friend-foe-travel