About
BUSINESS

มูจิ ดิ เอ็มควอเทียร์

มูจิสาขาใหม่ใน ดิ เอ็มควอเทียร์ และแนวคิดแบรนด์เรียบง่ายแต่ทำให้เรา ‘รู้สึกดี’

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ Date 14-10-2022 | View 1079
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พูดถึงแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์อันแสนสุโก้ยแห่งแดนปลาดิบ MUJI ‘มูจิ’ ต้องติดอยู่ในท็อปลิสต์เป็นที่รู้จักแน่นอน เพราะหัวใจของ มูจิ คือ ความเรียบง่ายครองใจผู้คนมานับทศวรรษ ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น…มูจิ คือ ‘แบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์’ แต่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
  • เสาหลักค้ำชูแนวคิดของ ‘มูจิ’ คือ ทำประโยชน์ ด้วยการร่วมออกแบบสถานที่ต่างๆ ด้วย อาทิ ตกแต่งอาคาร 3 ของท่าอากาศยานนาริตะ สถานีรถไฟในเมืองฮิรากาตะ ออกแบบอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ซาโตะยามา ทรัสต์ ในจังหวัดชิบะ
  • นับตั้งแต่กำเนิดแบรนด์เมื่อปี 2523 จนถึงวันนี้ มูจิมีกว่า 1,000 สาขาทั่วโลก ครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรปในกว่า 31 ประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งล่าสุด ‘มูจิ’ ได้เปิดสาขาใหม่ใจกลางเมือง สาขาที่ 26 ณ ดิ เอ็มควอเทียร์ ภายใต้แนวคิด ‘New Concept Store’ เน้น ‘ความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ’

แม้โลกธุรกิจต้องหยุดชะงักไปบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ ‘มูจิ’ กลับโนสนโนแคร์ ตัดสินใจสวนกระแส เดินเกมรุกปรับทัพขยายสาขาเพิ่มขึ้น ปีละ 5 สาขา แถมยังขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้นอีกต่างหาก (พื้นที่มากกว่า 1,500 ตารางเมตร)

จะว่าไปก็นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “อาวุธหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สู้กับความไม่แน่นอนได้คือ ความยืดหยุ่น พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะสร้างคำตอบใหม่ๆ ให้ตัวเองและโลกใบนี้” ประโยคที่ว่าช่างเหมาะกับ ‘มูจิ’ จริงๆ โดยยึดหลักอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีแบรนด์ เรียบง่าย สู่ระดับโลก และที่สำคัญ มูจิอยากทำให้เรา ‘รู้สึกดีกับสินค้า’ นั่นเอง

muji 2

อกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด

ท้องถิ่นคืออนาคต

ใครก็ตามที่เป็นสาวกมูจิ คงรู้ดีว่าถ้าย้อนไทม์ไลน์ไปสัก 2 ปีที่ผ่านมา โมเดลมูจิในไทยโตไม่หยุด มีทั้งเปิดสาขาใหม่ รีโนเวทสาขาเดิม ปรับราคา และยังสร้างรูปแบบสาขาที่ใหญ่ขึ้นสบายขึ้น เน้นให้คนได้มาลองสัมผัสประสบการณ์จริง

ล่าสุด มูจิเพิ่งเปิดสาขาใหม่ บนชั้น 2 ของ ดิ เอ็มควอเทียร์ เรียกว่าใหม่ถอดด้ามเป็นสาขาแห่งที่ 26 ของไทย เจาะพื้นที่ย่านเศรษฐกิจและไลฟ์สไตล์คนเมือง เพราะพร้อมพงษ์ คือศูนย์กลางของย่านที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน แหล่งช็อปปิ้งชั้นนำทั้งชาวไทยและต่างชาติ สาขานี้จึงยกทัพสินค้ามากว่า 3,000 รายการ

และเหนืออื่นใด ในสาขาใหม่ที่ดิ เอ็มควอเทียร์นี้ เราได้เห็นความ Localization ของมูจิได้อย่างชัดเจน!

muji 16

Localization ยังไง นั่นคือ การนำไม้เก่ามาจากทั่วภูมิภาคในไทยมาผสมผสานการออกแบบตกแต่งภายในทั้งงานกรุผนัง เคาน์เตอร์ให้ดูอบอุ่น มองไปทางไหนก็สบายตา เน้นนำเสนอสินค้าท้องถิ่นทั่วไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนวัตถุดิบจากเกษตรกรไทย อาทิ เลม่อนดอย กล้วย กาแฟ และผลไม้เมืองหนาวแปรรูปในแบบอบแห้ง ฯลฯ

นั่นเพราะมูจิมีหลักคิดหนึ่งว่า ‘อนาคตเริ่มจากท้องถิ่น’ ยึดกฎ 3ข้อ ที่ว่า เคารพยำเกรงธรรมชาติ สำนึกถึงชุมชน และแข่งขันกับตัวเองไม่ใช่กับคู่แข่ง

muji 9

ใดๆ ในโซนอื่น

แต่ก่อนที่เราจะพาทุกคนซึมลึกกับปรัชญามูจิ อยากพาทุกคนไปชมหลายๆ โซนในบ้านหลังใหม่นี้ เริ่มด้วยโซนเครื่องใช้ในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ครบครันทั้งเครื่องใช้ เครื่องครัว อุปกรณ์ทำความสะอาดกลุ่มสินค้า Household เช่น ไม้ม็อบกับถังปั่นที่ขายดีสุดๆ ในภูมิภาค

muji 8

ถัดไปคือ โซน Interior Consultation Service บริการให้คำปรึกษาเรื่องการตกแต่งภายใน นอกจากนี้ ยังมี MUJI Green โซนต้นไม้กระถาง ไม้ประดับ รวมถึง Normal Shop เติมเต็มกรีนลีฟวิ่งของคนเมือง ด้วยต้นไม้กระถางที่เหมาะกับปลูกในบ้าน พร้อมให้บริการรีฟิล ลดใช้พลาสติก และยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ใช้เป็นประจำทุกวัน สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน โดยใช้พืชสมุนไพรไทยๆ อย่าง ‘มะคำดีควาย’ จากชุมชนที่ผลิตด้วยแนวคิด Zero Waste ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตจากจังหวัดเชียงใหม่ โซนนี้ดีแบบตะโกนจริงๆ

muji 15

muji 11

muji 17

muji 10

ส่วนโซนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดดเด่นด้วยคอลเลคชันใหม่ล่าสุดที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยเฉพาะประเทศไทย ดีไซน์ตามสภาพภูมิอากาศคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของการสวมใส่ นอกจากนี้ยังมี โซนมูจิ ลาโบ (MUJI Labo) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่ยึดติดกับเพศสภาพและสรีระ พร้อมกับมุมชิคๆ ของโซน MUJI Green ออกแบบลวดลายบนสินค้ากระดาษด้วยตัวเอง รวมถึงโซน Embroidery บริการปักผ้า หมวก กระเป๋า ถุงเท้าเป็นทั้งตัวอักษรและลายการ์ตูนลวดลายตะมุตะมิคาวาอิ ช่วยเพิ่มความเป็นตัวเองและความผูกพันกับสินค้าที่ซื้อไปใช้เพราะเราทำด้วยสองมือเราเอง พร้อมกับขยายพื้นที่โซน Coffee Corner สร้างสเปซแห่งการพูดคุย แฮงค์เอาท์มากขึ้น

มูจิ ก็คือ มูจิ

มาไกลจริงๆ สำหรับแบรนด์นี้ที่มีอายุแค่ 40 ปีนิดๆ ถ้าย้อนกลับไป ‘มูจิ’ ในไทย เริ่มเปิดกิจการครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2549 โดย “เครือเซ็นทรัล” ซื้อแฟรนไชส์เข้ามา และเปิดสาขาแรกที่ห้างฯ เซ็นทรัลชิดลม ต่อมาเมื่อ BOI เปิดโอกาสทางการค้ามากขึ้น จึงเป็นได้มีการร่วมทุนระหว่างบริษัท เรียวฮินเคคะคุ (株式会社良品計画) และเครือเซ็นทรัล โดยใช้ชื่อว่า บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด เพราะมองว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Strategic Market ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่จึงเป็นเหตุผลทำให้มูจิ ไม่รอช้าเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องถึง 26 สาขา (กันยายน 2565)

muji 1

Bento เมนูใหม่ สาขา ดิ เอ็มควอเทียร์

muji 6

ไอศกรีม เมนูใหม่ สาขา ดิ เอ็มควอเทียร์

muji 7

แต่ถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น จุดเริ่มต้นจริงๆ ของมูจินั้นก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม ค.ศ.1980 เริ่มต้นโดยจำหน่ายสินค้า 40 รายการ ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้บริษัทเซยู ‘Seiyu’ แถมยังเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ผู้คนต่างรัดเข็มขัด เซจิ ซึซูมิ ประธานห้างสรรพสินค้าเซบู ผู้เป็นลูกของผู้ก่อตั้งกิจการรถไฟ Seibu Railway และเจ้าของกิจการต่างๆ อีกหลายอย่าง ได้เกิดไอเดียอยากจะผลิตสินค้าเน้นความเรียบง่ายแต่มีคุณภาพ

muji 4

‘มูจิ’ มีชื่อเต็มๆ ว่า “มูจิรุชิ เรียวฮิน” (Mujirushi Ryohin หรือ 無印良品) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า ไม่มีแบรนด์ (No Brand) หรือมีความหมายว่า ‘สินค้าคุณภาพดีที่ไม่มียี่ห้อ’ เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถฉีกทุกตำราการตลาด เอาชนะความนิยมชมชอบมากมายและแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ขยายสาขาจนได้รับความนิยมไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ มูจิมีกว่า 1,000 สาขา ครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรป กว่า 31 ประเทศ มีสินค้ากว่า 7,000 รายการ ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องแต่งกาย อาหาร โรงแรม ยานยนต์ ฯลฯ และยอดขายในปี 2564 ที่ผ่านมา แม้มีโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก มูจิก็กวาดรายได้ไปกว่า 151,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

muji 14

จากความเรียบง่ายสู่ดีไซน์แก้ปัญหา

ทำไมถึงได้รับความนิยม? เพราะ ‘มูจิ’ จะไม่คำนึงถึงการใช้งานที่แตกต่างของคนหลากหลายวัย แทนที่จะออกสินค้ามาเฉพาะเพื่อคนวัยนั้นๆ แต่กลับออกแบบสินค้าชิ้นเดียวที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทุกวัย และอีกอย่างหนึ่งก็คือหน้าตาสินค้ามูจิรุ่นแรกจึงไม่มีฉลากห่อเยอะแยะ แถมปริ้นท์ฉลากแค่สีเดียว ประหยัด เพราะฉะนั้นความเรียบง่ายของแบรนด์มูจินั้น เริ่มแรกไม่ได้เกิดจากความมินิมอลเท่านั้น แต่เป็นความประหยัดและความตั้งใจที่จะนำสินค้าดีๆ ไปให้ผู้บริโภคในราคาย่อมเยา

muji 12

ในช่วงปี 2000 ‘มูจิเริ่มปรับอะไรบางอย่าง ขยับจากความปรารถนาที่จะทำ “สินค้าที่ดี” มาเป็นการสร้าง “ชีวิตที่ดี” ให้กับผู้บริโภคและสนใจเรื่องสังคมด้วย สินค้ามูจิจึงเป็นสินค้าที่ถูกดีไซน์เพื่อมาตอบโจทย์ปัญหาของผู้บริโภค หรือทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น เช่น เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายออร์แกนิกตัดเย็บพิเศษ ที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย ไม่อึดอัด ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้ผลิตก็ไม่ต้องโดนสารเคมีทำลายสุขภาพ เรียกได้ว่าเป็นมิตรกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งการดีไซน์แบบมูจินั้นไม่ได้มาจากการมองหาสินค้าที่จะออกแบบ แต่เฟ้นหาช่องโหว่ต่างๆ เช่นนี้ในชีวิตประจำวันของผู้คนแล้วเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้น โดยใช้ดีไซน์เข้าไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของคน และทำให้เรา ‘รู้สึกดี’

โดยส่วนตัวเราเองก็เชื่อว่า… ผู้คนที่หลงใหลจนกลายเป็นสาวกมูจิ คงไม่ได้ภักดีแค่ตัวสินค้าและการออกแบบเท่านั้น แต่น่าจะเพราะเกิดความศรัทธาจากธุรกิจที่ดีบวกกับวีถีชีวิตที่รู้สึกดีด้วย หรือคุณคิดว่าไง?

muji 18

อีกความธรรมดาที่ ‘รู้สึกดี’ : MUJI Hotel

พอพูดถึงโรงแรมมูจิ แน่นอน…เกิดจากไอเดียที่จะสามารถถ่ายทอดความพอดีอย่างมีเสน่ห์ โรงแรมมูจิสาขาแรกเปิดให้บริการครั้งแรกที่เมืองเซินเจิ้น ของจีน เมืองนิวลุคที่ปรับตัวเองไปสู่เมืองแห่งการออกแบบและศูนย์กลางของเทคโนโลยี ต่อมามูจิก็มีโรงแรมผุดขึ้นอีกในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและย่านกินซ่าในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

แนวคิดการทำโรงแรมของมูจิ ไม่หรูหราและไม่ราคาถูกแบบไม่มีเหตุผล แต่ชูจุดเด่นไว้อย่างน่าสนใจ คือ เป็นโรงแรมที่ไม่แบ่งระดับลูกค้าและอยู่เคียงข้างลูกค้าที่มาท่องเที่ยว เป็นโรงแรมที่เรียบง่าย แต่คุณภาพดี ใช้พื้นที่อย่างสร้างสรรค์และให้บริการที่รู้สึกดี เป็นโรงแรมในท้องถิ่นและเชื่อมโยงท้องถิ่นกับโลกไว้ด้วยกัน

หากคุณมีโอกาสได้ใช้บริการ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ข้าวของเครื่องใช้ในโรงแรมก็เป็นของมูจิ นี่เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าได้ลองใช้สินค้าทั้งผ้าปูที่นอน เตียง โต๊ะ โคมไฟ แปรงสีฟัน เครื่องใช้ในห้องน้ำ สกินแคร์ อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ

นอกจากโรงแรมแล้ว มูจิยังอยากพัฒนาเมืองในมุมต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย ไม่ว่าการเปลี่ยนโรงเรียนร้างเป็นโรงแรม สร้างรีสอร์ตน้ำพุร้อนเก่าร้างที่ซบเซาให้มีชีวิตชีวา กระตุ้นความคึกคักของอาคารพาณิชย์เก่าแก่ ย่านการค้าเดิมๆ ที่ไม่มีคนเดิน ออกแบบพื้นที่ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์สร้างแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกับศูนย์การค้า นี่คือ ปณิธานแบบธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในอนาคตของมูจิเลยทีเดียว

การดำเนินธุรกิจตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต เบื้องลึกความสำเร็จของแนวคิด ‘สินค้าคุณภาพดีไม่มียี่ห้อ’ และความมินิมอลของมูจิยังคงน่าติดตามว่า ต่อจากนี้จะมีโอกาสเปิดธุรกิจ Fresh Department โรงแรม และธุรกิจสถาปัตยกรรมไปยังพื้นที่อื่นๆ ในไทยอีกหรือไม่? เราเชื่อว่าหลายคนคงรออยู่…


ที่มา
http://bitly.ws/uWHN
https://www.muji.com/th/
https://www.facebook.com/muji.thailand
https://www.brandage.com/article/3970/MUJI-fresh-store
หนังสือ “แนวคิด คำคม ก่อเกิด MUJI” เขียนโดย บริษัทเรียวฮิน เคคิคะคุ

Tags: