About
BUSINESS

Munie

Munie Eco Lifestyle เส้นใยผักตบชวาที่เปลี่ยนวัชพืชร้ายให้เป็นสินค้ารักษ์โลก

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนอ่านเรื่องราวของ Munie แบรนด์ที่มุ่งเน้น Eco Lifestyle ของ ‘นุ๊ก – วิลาสินี ชูรัตน์’ นักธุรกิจที่เชี่ยวชาญการตลาดกว่า 20 ปี พ่วงด้วยผู้บุกเบิกการนำผักตบชวา วัชพืชสร้างปัญหามาแปรรูปเป็นเส้นใย เพื่อตัดเย็บหมวก กระเป๋า รองเท้า สินค้าของแบรนด์ในดีไซน์คลาสสิกเรียบโก้ เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อต้องการยกระดับเศรษฐกิจพื้นถิ่นของไทยไปสู่ระดับสากล
  • ในวันที่ Munie เดินทางเข้าสู่ปีที่ 6 ในบทความนี้เธอจะมาถอดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นเคล็ดลับสำหรับใครก็ตามที่อินและอยากผลักดันธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทยไปด้วยกัน

เรามักได้ยินอยู่บ่อยมากว่า ‘ผักตบชวา’ เป็นวัชพืชน้ำที่ขยายพันธ์ุได้รวดเร็วมาก อีกทั้งยังกระจายอยู่ตามแม่น้ำ จนเข้าไปขัดขวางการสัญจรทางน้ำ แถมยังเข้าอุดตันทางไหลของน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา เจ้าวัชพีชร้ายตัวนี้จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ใครๆ ก็อยากพลิกโฉมความร้ายกาจให้เกิดเป็นคุณค่าและเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น

ยิ่งในสมัยนี้บ้านเราให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ธุรกิจและการตลาดบ้านเราเข้ามาหยิบจับวัสดุธรรมชาติมากมาย รวมถึงผักตบชวา ไปแปรรูปเป็นสารพัดสินค้าเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้คนมากขึ้น

ถ้าย้อนไปสัก 6 - 7 ปีก่อน ท่ามกลางธุรกิจ Fast Fashion ก็มี นุ๊ก ที่ขอสวนกระแสด้วยการลุกขึ้นมาสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ ด้วยการก่อตั้ง Munie แบรนด์สินค้าที่ใช้เส้นใยธรรมชาติจากผักตบชวา ภายใต้แนวหลัก Eco Lifestyle ทำให้เธอกลายเป็นผู้บุกเบิกการแปลงโฉมวัชพืชตัวร้ายนี้ไปโดยปริยาย

Munie

นุ๊ก – วิลาสินี ชูรัตน์

จาก Fast Fashion สู่ Eco Friendly

ก่อนเธอจะริเริ่มไอเดียเปลี่ยนโฉมวัชพืชตัวร้าย นุ๊กเคยทำธุรกิจการ์เมนต์ขายปลีก Fast Fashion มีมาก่อน กระทั่งภาครัฐเปิดตลาดการค้าเสรี ผู้คนเริ่มหันมาทำธุรกิจแบบเดียวกัน ทำให้เกิดคู่แข่งทางการตลาดมากขึ้น ความรู้สึกที่ว่าคงถึงจุดอิ่มตัว ทำให้นุ๊กเบนเข็มไปลองธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอยู่พักหนึ่ง

ในช่วงจังหวะเดียวกัน เธอเริ่มสนใจในเส้นด้ายธรรมชาติ พาให้นักธุรกิจมากประสบการณ์ได้พบกับโครงงานวิจัยเกี่ยวกับเส้นด้ายธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความตั้งใจจะสนับสนุนผู้ประกอบการของภาครัฐ หนึ่งในอาจารย์ที่รู้จักจึงได้ชักชวนนุ๊กให้เข้าร่วมทำวิจัยไปด้วยกัน

Munie

“ในโครงการเพื่อพัฒนาวิจัยเส้นด้ายธรรมชาติ มีวัสดุทั้งสับปะรด กล้วย มะพร้าว และผักตบชวาที่อาจารย์ให้เราเลือกเลยว่าอยากพัฒนาเส้นใยชนิดไหน” นุ๊กเลือกผักตบชวา สืบเพราะประสบการณ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอต้องนั่งเรือเจ้าพระยาไปเรียนอยู่บ่อยๆ แน่นอนว่าการสัญจรติดขัด ก็เพราะผักตบชวานี่ล่ะ ความอยากลดปัญหาที่ว่า ด้วยการเปลี่ยนวิถีวายร้ายของผักตบชวาให้เกิดเป็นมูลค่าที่สร้างประโยชน์แก่สังคมโลก จึงกลายมาเป็น Passion หลักสำคัญของเธอ

เข้าสู่ช่วงพัฒนาเส้นใยจากวัชพืชร้าย จนกลายเป็นผ้าผักตบชวา เธอก็ลองพาไปออกตลาดแฟร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยปี 2560 ซึ่งให้ผลตอบรับที่ดี กระทั่งหลังออกจากงานวิจัย นุ๊กนำต้นแบบการศึกษาเส้นใยผักตบชวามาพัฒนาต่อด้วยทุนของเธอเอง

ท่ามกลางกระแสตลาดบ้านเราในยุคนั้นยังไม่เกิดการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ การริเริ่ม Munie แบรนด์รักษ์โลกของนุ๊กจึงเกิดจาก Passion อันแรงกล้า และความตั้งใจจะสร้างความแตกต่างทางตลาดธุรกิจไทยนั่นเอง

 

Munie

Munie

Munie แบรนด์ผู้บุกเบิกการแปรรูปผักตบชวา

Munie หรือ มูนี่ เกิดจากการรวมตัวของตัวอักษร M – Mankind, U – Unity, N – Natural, I – Innovation และ E – Eco Friendly ที่เธอใช้เป็นกรอบกำหนดเป้าหมายของแบรนด์เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มมูลค่าผักตบชวาทางเศรษฐกิจ ด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์หมวก กระเป๋า และรองเท้าในราคาที่เข้าถึงง่าย

แพลนเริ่มแรกจึงวุ่นอยู่กับการนำต้นแบบเส้นใยจากพืชตัวร้ายมารื้อและทดลองอยู่หลายที และแล้วก็ยูเรกา! พบแล้วกับผ้าผักตบชวาที่ผสมฝ้ายสีขาวอย่างลงตัว เธอเดินสายต่อกระบวนการผลิต ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชนและโรงงานผลิตที่มีความเชี่ยวชาญในขั้นตอนต่างๆ หลายแห่งจากภาคอีสานบ้านเกิดของเธอ

Munie

กว่าจะมาเป็นสินค้าชิคๆ เก๋ๆ อย่างที่ได้เห็นกัน วิธีการนั้นก็ละเอียดพอควร เริ่มจากต้องเก็บผักตบชวาที่มีอายุกว่า 1 ปี เอาเฉพาะลำต้นยาวๆ มาล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วเอาเข้าเครื่องแยกเส้นใยด้วยการระเบิดไอน้ำให้กลายเป็นเส้นใย เพื่อมาปั่นกับฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย จากนั้นส่งให้ชุมชนอีกแห่งย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกเงาะ ใบมะม่วง มะพร้าว ประดู่ และวัสดุตามแต่ละช่วงฤดูกาล ก่อนจะส่งให้โรงงานแต่ละแห่งตัดเย็บหมวก กระเป๋า และรองเท้าด้วยดีไซน์เรียบง่าย แบบคลาสสิกสไตล์จะได้แมตช์เข้ากับทุกลุค สวมใส่ได้ทุกวาระโอกาสเลยล่ะ

Munie

Munie

ถ้าถามว่าลักษณะเด่นของผ้า Munie ต่างจากผ้าที่เกิดจากเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นอย่างไร ก็คงเป็นการที่เราสามารถมองเห็นเส้นใยเล็กๆ ของผักตบชวาได้ชัดเจน เนื้อสัมผัสแม้มีความขรุขระนิดๆ ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะเขามอบความรู้สึกเบาสบายให้ทุกครั้งเลย ที่สำคัญผักตบชวามีโครงสร้างค่อนข้างเหนียว ทำให้ผ้ามีความทนทานและ ระบายความชื้นได้ดีมากๆ

Munie

จุดแข็งที่ดีจะเอื้อต่อธุรกิจที่มั่นคง

นุ๊กตั้งใจจะผลักดันสินค้าจากวัสดุธรรมชาติเพื่อยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นไทยให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดสากล จึงได้วางกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกค้าฝั่งยุโรปเป็นหลัก ส่งผลให้มาตรฐานการสร้างแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเกิดจากการมองตลาดฝั่งนั้นเป็นหลักด้วย

Munie

“เวลาเราวางขายสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติอยู่แล้ว เราจะเก็บข้อมูลจากการสอบถามลูกค้าเพื่อเป็นเบสต่อการพัฒนาแบรนด์ ก็เห็นเลยว่าลูกค้าฝั่งยุโรปจะเลือกซื้อจากการฟังสตอรี่มากกว่ามองเรื่องความสวยงาม แล้วถ้าแบรนด์นั้นๆ บอกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นวัสดุธรรมชาติก็เท่ากับว่าคุณต้องกรีน 100% ไม่มีอะไรมาดัดแปลงทั้งนั้น เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก”

Munie

แม้ Munie จะได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์เส้นใยผักตบชวายุคบุกเบิก แต่เส้นทางที่กว่าจะค้นพบถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ (ซึ่งตอนนี้ก็พบบ้างประปราย) เธอต้องเผชิญสารพันอุปสรรค หลักๆ คือการลงทุนที่พุ่งสูง สินค้าของเธอเลยมีราคาสูงตามมา จนเมื่อภาครัฐหันมาให้การสนับสนุนธุรกิจตามหลัก BCG Model นุ๊กเลยปรับราคาลงมาแต่คุณภาพเท่าเดิม เพราะอยากให้คนไทยด้วยกันได้รู้ว่า บ้านเรามีของดีที่เจ๋งเหมือนกันนะ

Munie

เมื่อราคาเข้าถึงง่าย กลุ่มลูกค้าคนไทยก็กว้างขึ้น อุปสรรคที่ตามมาคือหลายคนคุ้นชินกับเนื้อผ้าที่นุ่มนิ่ม แน่นอนว่าถ้าเป็นนักธุรกิจบางคนอาจจะเปลี่ยนทิศทางการขายให้ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับนุ๊ก

Munie

Munie

“เป้าหมายของเราต้องชัดเจน เราไม่ได้มาขายความนุ่มของผ้า ความสากที่เกิดจากผักตบชวานั่นล่ะคือสิ่งที่เราขาย เราอยากพัฒนาสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา ดังนั้นสิ่งที่ทำคือต้องอธิบายคอนเซ็ปต์ให้ลูกค้าเข้าใจ พอเขาเห็นภาพเขาจะมองเห็นคุณค่าและเลือกซื้อสินค้าเอง”

Munie

ถอดบทเรียนจากนักธุรกิจรักษ์โลก

ความมากประสบการณ์ทางธุรกิจที่ทำให้พาแบรนด์ Munie เดินทางเข้าปีที่ 6 และดูเหมือนเส้นทางข้างหน้าก็ดูสดใสขึ้นเรื่อยๆ หลักสำคัญที่นุ๊กเชื่อมั่นมาตลอดคือ การตั้งกรอบเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราลงมือทำจากอินเนอร์

Munie

“การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมันไม่ใช่เรื่องของเทรนด์ ถ้าได้ลองศึกษาเรื่องราวของแบรนด์ต่างๆ ที่เลือกเดินในสายนี้มันไม่ได้สวยหรูเลย และหนทางไปสู่เป้าหมายหลักๆ ก็ไม่ใช่เรื่องของเงินและความสำเร็จ เพราะระหว่างทางมันลำบากมาก เราต้องตอบตัวเองได้ตั้งแต่วันแรกว่า ไหวไหมหากต้องลงชุมชน ลุยบนท้องถนนที่แสนลำบาก ห้องน้ำก็ไม่ได้สะดวก ดังนั้นมันต้องอินไปกับเรื่องพวกนี้ ถึงจะพาเราไปสู่ความตั้งใจหลักได้”

Munie

เธอนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนบอกเป้าสำเร็จของเธอ “การทำธุรกิจที่ฮีลใจผู้คน มันไม่ได้ตอบโจทย์เราในแง่ใส่แล้วสวยแล้วจบ แต่เรื่องราวของแบรนด์ถูกเล่าต่อ ทำให้รู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและยกระดับเศรษฐกิจจากฐานล่างจริงๆ ขณะเดียวกันเรารู้สึกได้ทำประโยชน์ให้กับผู้คน และกลุ่มชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มขึ้น เราว่ามันคือการตอบโจทย์ความยั่งยืนของเราแล้ว”

Munie

และวันนี้ที่แบรนด์รักษ์โลกจะผุดขึ้นมากมายในบ้านเรา นุ๊กมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะเท่ากับว่า หลายๆ ฝ่ายจะช่วยกันผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก และก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีหากว่าธุรกิจ Fast Fashion จะเข้ามาจับมือกับแบรนด์สีเขียวเพื่อสร้างคอลเลกชันที่ดีต่อโลกไปด้วยกัน “มันเป็นข้อดีมากนะ เรามองว่าสิ่งนี้จะช่วยขยับฐานการตลาดไทยให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในแต่ละด้านไปพร้อมๆ กันด้วย”

สำหรับใครที่สนใจสินค้าของ Munie สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ Facebook : Munie Eco Lifestyle / Instagram : munie_ecolifestyle และเว็บไซต์ : Munie ส่วนใครที่อยากเข้ามาดูสินค้าในสตูดิโอ สามารถอินบ็อกตามช่องทางดังกล่าวเพื่อนัดแนะเวลาล่วงหน้ากับนุ๊กได้เลย

Tags: