About
BALANCE

Veggies Crazy

Organ by Smart Nine Farm ฟาร์มผักชาร์จพลังสุขภาพของชาวนนท์ คนกินฟีลกู๊ด คนขายใจฟู

เรื่อง Nid Peacock ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 03-04-2024 | View 2214
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนแวะร้านอาหารสุขภาพในฟาร์มผักออร์แกนิกย่านบางใหญ่ จ.นนทบุรี คุยกับ เต้ – อัญชรี อัสววิมล เจ้าของผู้ฉีกทุกกฎการทำธุรกิจ เพราะกำไรไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าใจที่อยากดูแลและส่งต่อสุขภาพดีให้คนกิน ด้วยการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีเลยให้ต้องกินอร่อย และทำร้านอาหารสุขภาพในราคาที่เข้าถึงได้

“เป็นคนชอบแปลงผัก ไปเที่ยวไหนก็อยากแต่จะไปดูแปลงผัก เหมือนผู้หญิงที่เห็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าสวยๆ แล้ววิ่งเข้าหา แต่เต้จะเป็นกับแปลงผัก เห็นแล้วสบายใจ ผ่อนคลาย และมีความสุข” เต้ – อัญชรี อัสววิมล เจ้าของฟาร์มผัก Smart Nine Farm และร้านอาหาร Organ พยายามถ่ายทอดความคลั่งรักแปลงผักของเธอให้เราฟัง

ระดับความหลงใหลในแปลงผักของเต้นั้นลามไปถึงไลฟ์สไตล์การเที่ยว เพราะเธอมักหนีบสามีตระเวนกางเต็นท์ตามโครงการหลวงในจังหวัดต่างๆ เพราะอยากลงแปลงเกษตร ขนาดไปญี่ปุ่น ก็ไม่ได้อยากไปเล่นสกี ดูภูเขาไฟฟูจิ หรือนอนแช่ออนเซ็นอย่างใครเขา แต่ตั้งใจไปเสาะแสวงหาว่าที่ไหนจะมีแปลงผักแปลงเกษตรให้ดูบ้าง แม้ต้องใช้ภาษามือในการสื่อสารก็ไม่เป็นปัญหา

เต้เล่าอีกว่า ครั้งหนึ่งขณะที่เธอชมแปลงผักปลอดสาร ก็นึกอยากชิมรสชาติผักสดๆ ดู แต่เจ้าของห้ามไว้เพราะมีการใช้สารเคมี ซึ่งต้องมีระยะเวลาพักผักก่อนเก็บ เหตุการณ์นั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เธอนึกอยากลองปลูกผักออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมีเลยดูสักครั้ง

นั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Smart Nine Farm แห่งนี้ และเต้จะเล่าพาเราย้อนกลับไป

Organ

มือใหม่หัดปลูกผัก

“เต้เคยเป็นพยาบาล ทำงานดูแลครอบครัวและพ่อแม่ จนวันที่เคลียร์หนี้สินทุกอย่างหมดแล้ว ก็คุยกับแฟนว่า ขอออกจากงานมาเป็นแม่บ้านดูแลเขานะ เพราะเขาทำงานหนัก เต้ขับรถไปส่งเขาที่ทำงาน ทำงานบ้าน ทำอาหาร แล้วยังมีเวลาว่าง เลยนึกถึงฝันที่เคยอยากมีแปลงผักของตัวเอง พอดีแฟนมีที่ดินที่บางใหญ่อยู่ 4 ไร่ เดิมเราตั้งใจถมที่แล้วปลูกป่า ปลูกผักผลไม้ไว้กิน เผื่ออนาคตอาจจะมาปลูกบ้านอยู่กันสองคน เลยเอามาลองปลูกผักก่อน”

ความชอบแปลงผักที่มีมาตั้งแต่เด็ก และชมแปลงผักคนอื่นมาก็ไม่น้อย เมื่อถึงเวลาลงมือทำเอง จะเป็นยังไงบ้างนะ

“วันแรกก็เป็นลมเลย (หัวเราะ) เกิดมาไม่เคยขุดดิน ขุดได้ไม่ถึงครึ่งเมตรก็หน้ามืดแล้ว” บทเรียนแรกมาถึงไวอย่างที่เต้ไม่ทันตั้งตัว แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่าเกษตรกรเขาทำงานกันช่วงเช้ากับช่วงเย็นที่แดดร่มลมตก ไม่มีใครทำตอนแดดเปรี้ยง

Organ

นับจากนั้น เต้ขับรถไปกลับ พระราม 9 – บางใหญ่ ทุกวัน เพื่อเนรมิตแปลงผักแรกในชีวิตที่มีผักโปรดหลายอย่าง ทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก ถั่วฝักยาว และมะเขือเทศ พอผลผลิตออกมาเยอะ ก็เก็บไปปันเพื่อนบ้าน

“มีแต่คนชม ผักอร่อยจัง ไม่เหมือนที่ซื้อกินเลย อย่างถั่วฝักยาวที่แฟนชอบกิน คนก็ชมว่าหว้านหวาน ไม่เหม็นเขียวเลย พอมีคนชมและชอบผักที่เราปลูกเองกับมือ มันภูมิใจเนอะ หัวใจพองโต เขาถามว่าปลูกขายไหม ขอซื้อได้หรือเปล่า เลยคุยกับแฟนว่าเราขอปลูกผักเป็นอาชีพได้ไหม เขาก็สนับสนุนเพราะรู้ว่าเป็นความสุขของเรา”

Organ

เต้ชวนพี่ชาย พี่สะใภ้ และญาติ รวมเธอด้วยเป็น 4 คน จากแปลงแรก 50 ตารางวา ขยายเป็น 1 งาน พร้อมกับการปลูกกระต๊อบไม้ไผ่ขึ้นเป็นที่พัก “พอมีกระต๊อบแล้วทิ้งแฟนเลย (ยิ้ม) ขอเวลาเขา 3 เดือนมาเซ็ตอัปทุกอย่างแล้วเรียนรู้กับมัน ตอนเย็นเป็นเวลาที่ปลูกผักสนุกมาก อากาศเย็นสบาย มีลมโกรกตลอด เราทำกันจนมืดค่ำทุกวัน”

แปลงผักจึงค่อยๆ ขยายเป็น 2 งาน และ 3 งานเต็มพื้นที่ปลูกในที่สุด

Organ

ปัญหาคือความสนุกที่ได้แก้

“เราปลูกผักสลัดเพิ่มตามเสียงเรียกร้องของลูกค้า ซึ่งใช้เวลาปลูก 45 วันถึงเก็บได้ แปลว่าเดือนนึงจะเก็บผักได้แค่รอบเดียว เลยต้องมาวางแผนการปลูกจะได้มีผักให้เก็บทุกสัปดาห์”

เต้เขียนตารางผักเทียบอายุการเก็บของแต่ละชนิด อิงจากช่วงอายุผักที่เก็บแล้วกินอร่อยที่สุด จากนั้นทยอยเพาะเมล็ดแล้วค่อยๆ ปลูกไล่กันไป เพื่อให้เก็บผลผลิตได้พร้อมกัน เพราะถ้าเพาะ – ปลูก – เก็บพร้อมกัน ผักบางชนิดอาจจะแก่ไปหรืออ่อนเกิน ทำให้ผักรสชาติผิดเพี้ยนได้

จัดลำดับการปลูกผักได้แล้ว ปัญหาเรื่องเสากางสแลนกันแดดกรองฝนก็มาจ่อรอติดๆ

“มีคนแนะนำให้ใช้เสาเหล็ก เพราะแข็งแรงคงทน แต่ราคาก็แรงตาม เสาเหล็กต่อแปลงปลูก 1 งาน ใช้เงิน 6-7 หมื่นบาท แต่ถ้าใช้ไม้ยูคาลิปตัสจะถูกลง แต่อายุใช้งานสั้นและผุง่าย แม้ว่าผักเราขายดีจริง แต่รายได้ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนั้น และเต้เองตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่าจะลงทุนให้น้อยที่สุด”

Organ

Organ

นั่นคือเหตุผลให้เต้เลือกใช้ไม้ยูคาลิปตัส พื้นที่ปลูก 1 งานเท่ากัน ลงทุนแค่ 2,500 บาท และใช้งานได้ถึง 2 ปีครึ่ง ถ้าเสาต้นไหนผุพัง ก็แค่เปลี่ยนใหม่

ทำฟาร์มผักได้ครบปี เต้ก็ทบทวนและประเมินการทำงาน พบว่า อุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่โรคหรือแมลงศัตรูพืชอย่างที่กังวล แต่กลายเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศที่อยู่เหนือการควบคุมต่างหาก

“ฝนทำให้แปลงเปียกตลอด แล้วที่นี่เป็นดินเหนียว พอเจอฝน ดินรัดตัวทำให้รากหาอาหารไม่ได้ กลายเป็นผักไซซ์มินิหมด ก็คุยกันในทีมว่า ทุกคนยืนยันว่าจะปลูกผักเป็นอาชีพ เต้เลยยอมลงทุนทำหลังคาโรงปลูก”

Organ

มีหลังคาโรงเรือนกันฝนได้แล้ว นึกว่าปัญหาจะหมดไป แต่ผักสลัดก็ยังโตได้ไม่เต็มที่อย่างที่หวังไว้ เกิดอะไรขึ้นนะ

“เราลืมว่า แม้ผักจะไม่โดนฝนจังๆ แต่น้ำใต้ดินยังเยอะอยู่ ทางแก้คือต้องยกแปลงขึ้นโต๊ะปลูก พี่ชายไม่อยากให้น้องเสียตังค์เยอะ เลยอาสาเชื่อมอ๊อกเหล็กทำโต๊ะปลูกให้ทดลองใช้ก่อน ปรากฏว่าในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ผักชนิดเดียวกัน การใช้โต๊ะปลูกให้ผลผลิตดีกว่าชัดเจนมาก แถมยังช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องนั่งยองๆ เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม และการยืนปลูกทำให้ปลูกเสร็จเร็วขึ้นด้วย เก็บผักแล้วก็ไม่ต้องไถบ่มดินรอกว่าจะกลับมาปลูกใหม่ได้เหมือนตอนปลูกกับพื้น เคาะแล้วคุ้มแบบนี้ เลยย้ายมาปลูกบนโต๊ะแทน”

Organ

แค่มองต่าง…วิธีรับมือก็เปลี่ยน

จากที่นึกสนุกอยากลองปลูกผักไม่พึ่งสารเคมีดู กลายเป็นฟาร์มผักในสเกลใหญ่ขึ้น ลงทุนมากขึ้น ความจริงจังนี้พลอยให้ความสุขสนุกในการปลูกผักลดลงบ้างไหม เต้พยักหน้าเข้าใจสิ่งที่เราคิด

“ส่วนตัวไม่นะ แต่พี่ชายเครียดมาก ก็บอกเขาว่า ‘เครียดทำไม ถ้าลองแล้วไม่เวิร์กก็แค่เปลี่ยนวิธีใหม่ คิดซะว่าเรากำลังเทกคอร์สเรียนวิชาปลูกผักกันอยู่ ทุนที่ลงไปก็คือค่าเรียน ยังไงซะก็ถูกกว่าค่าเรียนจริง’เต้มองว่าอุปสรรคคือการเรียนรู้

Organ

“อย่างผักสลัดช่วงแรกที่ปลูก ก็รดน้ำเช้าเย็นเหมือนผักสวนครัว แต่ลูกค้าฟีดแบ็กว่ากินแล้วขม แล้วแต่ละบ้านก็ขมต่างผักกัน เราก็เอ๊ะ ทำไมไม่ขมผักเดียวกันละ ต้องหาคำตอบให้เจอ เต้เด็ดผักสลัดชิมทุกวัน เช้าสายบ่ายเย็น จนเจอว่า ยิ่งแดดแรง ผักยิ่งขม แปลว่าอากาศร้อนมีผลให้ผักขม แล้วก็สังเกตเห็นว่าผักที่เด็ดมาตามขอบใบจะมียางออกมาด้วย เราก็จินตนาการสนุกๆ ในแบบของเราว่า ผักสลัดเป็นผักเมืองหนาว เจออากาศร้อนแล้วก็ปล่อยยางออกมา ยางก็เหมือนเหงื่อ ยิ่งร้อนมาก เหงื่อยิ่งออกเยอะ เลยทำให้ผักขม ลองปรับเพิ่มรอบรดน้ำ ด้วยการเปิดสเปรย์ช่วงกลางวันเพื่อคลายเครียดให้ผัก เหมือนให้ผักได้อาบน้ำชุ่มชื่นหัวใจ เท่านี้ผักสลัดก็หายขมแล้ว

“หรือตอนปลูกข้าวโพดใหม่ๆ ปลูกยังไงก็ไม่โต แปลว่าเรายังปรุงดินได้ไม่โอเค สารอาหารไม่พอ พอพี่ชายรู้ก็บอกเลยว่า ‘ใส่ยูเรียไหม งามเด้งแน่’ นี่คือปัญหาของคนทำเกษตรที่คุ้นชินกับการใช้สารเคมี แต่เต้ยืนยันไปว่าที่นี่จะไม่ใช่สารเคมีเด็ดขาด เราก็แค่เอาใหม่ ปลูกรอบหน้าปรุงดินใหม่ เพราะข้าวโพดต้องการสารอาหารมากกว่าผัก อัตราส่วนดินต้องแตกต่างกัน ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ลองทำ แล้วเรียนรู้ไป”

Organ

แล้วปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชล่ะ ที่นี่รับมือยังไง

“ซื้อตำราแมลงศัตรูพืชมาเลย แต่อ่านแล้วก็ไม่รู้จักอยู่ดี หน้าตาแต่ละตัวไม่เคยเจอเลย (ยิ้ม) ใช้สังเกตเอาว่า ฤดูนี้ ผักชนิดนี้ เราเจอตัวไหน แล้วค่อยกลับมาเปิดตำราดูว่ามันคือตัวอะไร กำจัดยังไง แต่บอกเลยว่าสุดท้ายแล้ว ปราบไม่ได้เลย เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็นตัวไหน มันก็บุกแปลงผักเราแล้ว ชีวพันธุ์ที่ฉีดพ่นไปก็แค่ระคายผิวมัน”

Organ

ฟังเหมือนเจ้าตัวจะถอดใจ แต่นั่นไม่ใช่นิสัยของเธอคนนี้ “ช่วงหน้าร้อน เพลี้ยไฟจะเยอะ เพราะมันชอบอากาศร้อน เราแค่ทำให้อากาศให้เย็นขึ้น เต้ใส่น้ำแข็งก้อนลงในถังน้ำ แล้วสเปรย์น้ำเย็นๆ ให้ผักบ่อยๆ ให้มันเกาะผักได้น้อยที่สุด แล้วมันไม่ชอบกกลิ่นฉุนใช่ไหม เขาใช้พริกมาปั่นผสมน้ำ แล้วกรองออกก่อนพ่นไล่เพลี้ยกัน แต่เต้รู้สึกว่าโหดเกิน บางคนก็แนะนำให้เอากาวสีเหลืองทาที่กระดาษให้มันมาเกาะ ก็ดูเจตนาฆ่าไปหน่อย ทำไม่ลง”

คนใจอ่อน ขี้สงสารคนนี้ เลยเลือกที่จะปลูกดอกไม้สีเหลืองแทน ไม่ก็ขอเลือกใช้วิธีเบสิกแบบง่ายๆ แต่ได้ผล อย่างการจับหนอนออกจากแปลงผัก

“ตำราบอกว่าหนอน 1 ตัว มีไข่เป็นพัน แล้วไม่มีอะไรกำจัดหนอนได้ เลยใช้มือนี่แหละจับ” เราส่งสีหน้าฉงนแทนคำถามกลับไป “ใครได้ยินก็บอกว่า จะเก็บหนอนหมดได้ยังไง แต่จริงๆ ทำได้ และก็ทำมาแล้ว พอกลางคืนหนอนจะออกมากันสลอนเลย เราก็ไล่เก็บเป็นแถวๆ แปลงนึงใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ทำสัก 3 วันก่อนนอน มันจบจริงๆ ลดประชากรหนอนได้เยอะ เต้ใช้วิธีนี้มาตลอด”

Organ

จากฟาร์มผักขยับมาร้านอาหาร

หลายปีก่อนละแวกฟาร์มยังไม่คึกคักหรือมีร้านรวงมากเช่นปัจจุบัน คนที่มาเยี่ยมชมฟาร์มส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าที่ตามมาจากในเมือง ขับรถกันมาไกล ทางเข้าก็ลึก ถนนหนทางก็ยังไม่สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ ลูกค้าเลยรีเควสต์ให้เต้เปิดคาเฟ่ จึงเป็นที่มาของร้าน Organ

“ตอนทำแปลงผัก ฝันอยากมีร้านขายผัก แรกๆ ยังมีแค่ตู้เย็นเล็กๆ ในฟาร์มที่ทุกเช้าเต้จะตัดผักสลัดใส่ไว้ ถ้าหมดก็คือหมด บางคนโวยวายบอกมาไกล ขอให้ตัดผักมาขายเพิ่มให้หน่อย ก็บอกเขาดีๆ ว่า ‘พี่เดินไปชิมก่อน เราไม่ได้อยากได้เงินเขา แต่อยากให้ได้กินผักอร่อยและประทับใจมากกว่า’ เขาก็ไปเด็ดชิม ถึงเข้าใจว่า เก็บผักตอนสาย ผักจะขม”

Organ

เสียงตอบรับจากลูกค้าที่ดีเกินคาด คุณแฟนของเต้ในฐานะผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการและพ่วงการเป็นสามีที่ตามใจศรีภรรยาเป็นที่สุด จึงให้สถาปนิกเขียนแบบให้ ออกมาเป็นตึกหลังโต มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร ช้อปขายผักและสินค้าเกษตรอินทรีย์ ห้องสอนเกษตร ทำเอาคนที่ชิลล์ยิ้มรับทุกปัญหา แก้ได้ทุกสถานการณ์อย่างเต้ถึงกับเครียด

“เครียดมากเลย เพราะเต้ไม่เคยทำคาเฟ่ ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน แค่อยากปลูกผักขายผัก แต่แฟนมองว่า ทำทั้งที ทำใหญ่ไปเลย ถ้าธุรกิจไม่โอเค ยังปล่อยเช่าได้ เขาคิดแบบนั้น หรือไม่ก็ทำเป็นบ้าน ห้องข้างบนก็ไว้เป็นห้องนอนเราก็ได้”

Organ

เต้เล่าบรรยากาศการเปิดร้านวันแรกว่า “ลูกค้าไม่รู้มาจากไหน มากันตู้มๆๆ พนักงานก็มีแค่เต้กับพี่ชาย สองคนพี่น้องช่วยกันรับลูกค้า เต้เลยเปิดเป็นโอมากาเสะ เพราะโรลไม่ทันแล้ว” เต้ยกโต๊ะยาวมาวางแล้วให้ลูกค้านั่ง แล้วก็โรลส่ง ให้ลูกค้านับกันเองว่ากินไปกี่คำ

เมื่อเสียงตอบรับจากลูกค้าดีเกินคาด ประกอบกับคนในพื้นที่เริ่มรู้จักร้าน เต้เลยขอเวลานอก 2 เดือนเพื่อเซ็ตอัปร้านอาหาร โชคดีของเต้เมื่อร้านอะลูมิเนียมที่ติดต่อให้มาทำครัวให้ เคยมีประสบการณ์ทำครัวให้โรงแรมมาก่อน เลยให้คำแนะนำและช่วยจัดการเซ็ตอัปครัวให้เต้เสร็จสรรพ

Organ

มาถึงหัวใจหลักของร้านอาหารนั่นก็คือเชฟ ใจเต้อยากได้รุ่นน้องที่รู้จักกัน แต่ติดที่สู้ค่าตัวไม่ไหว แล้วจู่ๆ ก็มีป้าขี่จักรยานมาที่ร้านแล้วขอสมัครเป็นแม่ครัว “บ้านป้าอยู่ใกล้ร้าน เต้ก็รับเลย​ (หัวเราะ) ขอแค่ทำกับข้าวเป็น เพราะเราเองก็ทำได้ กะว่ามาปรับจูนกัน แล้วอาหารออร์แกนิก ไม่เน้นรสจัดอยู่แล้ว”

อีกครั้งที่ต้องใช้คำว่า โชคดี เพราะป้าแม่ครัวขี่จักรยานคนนี้ไม่ธรรมดา เคยเป็นผู้ช่วยเชฟในครัวฝรั่งเศสมาก่อน เห็นว่าเป็นร้านใกล้บ้าน เลยคิดจะมาทำแก้เหงา เอากับป้าสิ! ครัวพร้อม เชฟพร้อม วัตถุดิบพร้อม เมนูมี ทีนี้ก็เป็นเรื่องการบริการแล้วล่ะ

เต้ยิ้มและเล่าว่า “ไม่คิดว่าประสบการณ์การเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน จะฝึกเราให้มีมายด์เซ็ตเรื่องเซอร์วิสมายด์ ปรับใช้รับลูกค้าว่าต้องเทกแคร์ยังไง ส่วนเรื่องจานชามอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร และความสะอาด เราเป๊ะอยู่แล้ว”

Organ

ฉีกกฎธุรกิจ

“เต้อยากทำอาหารออร์แกนิกที่ราคาไม่แพง อยากให้ทุกคนได้กินความเป็นออร์แกนิก ไม่ใช่เฉพาะคนมีตังค์เท่านั้นถึงได้กิน นี่คือโจทย์การทำร้านอาหารของเต้เลย ทุกเมนูใช้ผักในฟาร์มเราเป็นหลัก อยากให้มนุษย์เงินเดือนที่เงินเดือนไม่เยอะได้มีโอกาสกินอาหารดีๆ เขาจะได้กลับไปบอกพ่อแม่ให้ปลูกผักแบบนี้ขายสิ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงนะ อาหารที่ร้านเลยบวกเพิ่มจากต้นทุนแค่จานละ 20-30 บาท

“แรกๆ คนในร้านไม่เห็นด้วย มีประชดกลับมาบ้างว่า ‘งั้นก็ทำแจกเลยสิ’ ‘ให้กินฟรีเลยไหมล่ะ’ ถ้าทำได้ก็อยากอยู่นะ (หัวเราะ) เชฟแนะนำว่าต้องบวกอีก 30% จากต้นทุน แต่เต้ขายราคานั้นไม่ได้จริง ความรู้สึกเรามันแพง ไม่ได้อยากได้เงินคนอื่นเยอะๆ มันเกินไป แต่ไม่ว่ายังไงเต้ยังเอาใจตัวเองวัดก่อน เคยตั้งราคาเมนูนึงแพง คืนนั้นนอนไม่หลับเลย พอแฟนรู้ เขาก็บอกให้ทำในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เขาไม่ได้คาดหวังให้ร้านบูม หรือต้องรวยมีกำไร

Organ

แล้วร้านอยู่ได้จริงๆ ใช่ไหม เราถามกลับไป แม้เข้าใจเจตนารมณ์ที่ดีของเต้ แต่ในแง่การทำธุรกิจก็อดห่วงไม่ได้

“พูดด้วยความสัตย์จริงเลยว่า ณ ตอนนั้นไม่ได้สนใจกำไรขาดทุนเลย คือทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองมีความสุข” แล้วสามีทำธุรกิจได้ให้คำแนะนำยังไงบ้างไหม อีกครั้งที่ต่อมห่วงใยเรายังทำหน้าที่ต่อ “ไม่เลย (ตอบเสียงดังฟังชัดมาก) อะไรก็ได้ให้เมียมีความสุข (หัวเราะ) พอบอกเขาว่า เราทำบัญชีไม่เป็น ทำยังไงดี เขาพูดว่า คิดง่ายๆ สิ ต้นทุนคือเงินก้อนนี้ที่ใส่เข้ามา แล้วหน้าที่เต้คือคอยบริหารยังไงก็ได้ ไม่ให้ต้องควักเนื้อมาโปะเพิ่ม แค่นี้จบ

Organ

“ เต้ก็เลยทำร้านอาหารด้วยหลักง่ายๆ อย่างเขาว่านี่แหละ อย่าถามเรื่องหลักการสต๊อกของนะ ไม่รู้เรื่อง ทำยังไงก็ได้ให้มีของพอขายลูกค้า เดือนนี้ยอดขายเท่าไหร่ไม่รู้ ไม่เคยดูด้วย จะรู้อีกทีก็ตอนสิ้นเดือน หลังจ่ายเงินเดือนทุกคน ว่าเงินก้อนนั้นเหลือมากหรือน้อย แต่ตราบใดที่ยังไม่ต้องควักเนื้อ ก็โอเค”

กระทั่งวันที่สรรพากรมาเยือน เต้ถึงได้รู้ว่าราคาอาหารต้องบวก Vat ต้องนำค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื่อม มาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย พอเข้าปีที่ 2 ของร้าน Organ จึงปรับราคาอาหารขึ้นนิดหน่อย แต่กระแสความปังของร้านก็ยังต่อเนื่อง จนต้องเพิ่มโต๊ะ เพิ่มพ่อครัว เพิ่มพนักงานเสิร์ฟ แล้วโควิด-19 ก็มาเยือน…

Organ

“แอบขอบคุณในใจเลย เพราะโควิดช่วยให้มีเวลาได้หายใจหายคอ ได้วางระบบบริหารจัดการต่างๆ ในร้าน หลายร้านเอาพนักงานออก แต่ที่นี่ทุกคนยังได้อยู่ต่อ เต้คิดว่าสามารถจ่ายเงินเดือนทุกคนได้ถึงปีนึง ก็เอาเงินเก็บมาจ่าย”

ช่วงที่ร้านต้องปิดเพราะโควิด ขายได้แต่ดิลิเวอรี นอกจากช่วยกันปลูกผักแล้ว เต้ยังชวนพนักงานทำอาหารบริจาคส่งบุคลากรทางการแพทย์ เพราะมีผักเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว กลับกลายเป็นว่า นอกจากโควิดจะทำให้ผักขายดีมากจนปลูกไม่ทัน บางทีมีต้องพรากผักผู้เยาว์บ้าง ส่วนอาหารที่เต้ทำส่งโรงพยาบาล ก็มีคนมาขอร่วมสมทบทุน ร้าน Organ เลยทำอาหารส่งได้หลายโรงพยาบาลขึ้น และส่งได้ทุกสัปดาห์ เต้เล่าไปยิ้มไปด้วยความสุขใจเมื่อนึกถึง แล้วบอกเราสั้นๆ ว่า “เหมือนบุญหนุนนำ เราทำอาหารส่ง ก็มีลูกค้ามาอุดหนุนผักกันใหญ่เลย”

Organ

สุขนิยมในแบบของเต้

“คนเป็นมะเร็งเข้ามาขอบคุณที่ปลูกผักดีๆ ให้เขาได้กิน มีพื้นที่ให้เขาได้มีกำลังใจสู้ต่อ เชื่อไหมว่า วันนั้นความอิ่มเอมใจมันแวบขึ้นมาเหมือนเราได้ปฏิบัติธรรม และเขายังทำให้รู้สึกว่าเรายังเป็นพยาบาลนอกเครื่องแบบอยู่นะ เพราะเราได้ดูแลคนป่วยให้มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพกิน ส่วนคนที่ไม่ป่วย อาหารเราก็ช่วยให้เขาสุขภาพดี แข็งแรง

“เราเคยลำบากมาก่อน วันที่เรามีกิน เราไม่มีหนี้สิน เรามีเหลือเก็บแล้ว และแฟนก็ซัปพอร์ตด้วย อยากให้ทุกคนมากินอาหารร้านเราได้เรื่อยๆ เหมือนมากินข้าวบ้าน ไม่ใช่ต้องรอมื้อพิเศษหรือวันสำคัญถึงจะมาได้ ขอแค่ให้มากินแล้วมีความสุขก็พอ ส่วนใครอยากปลูกผักออร์แกนิก ที่ผ่านมาเต้ให้จับกลุ่มกันมา แล้วเปิดสอนให้ฟรีเลย อยากรู้อะไร สงสัยตรงไหน มาดูเองให้เห็นกับตา มาลงมือทดลองทำดูก่อนได้ที่ฟาร์มเรา ยินดีมากๆ ที่จะแบ่งปันความรู้นี้”

Organ

Organ

Organ

เต้ยังปันความสุขมายังพ่อค้าแม่ขายและกลุ่มผู้ผลิตด้วยกันด้วย โดยแบ่งปันพื้นที่ในร้านให้นำสินค้ามาฝากขายได้ ขอแค่เป็นของดี มีคุณภาพ และใส่ใจห่วงใยคนกิน ไม่ว่าจะวัตถุดิบในจานอาหาร หรือกระทั่งสินค้าที่วางขาย เต้จะต้องรู้ที่มาที่ไปของสิ่งนั้นจริงๆ เพราะเธอถือความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญ

“ที่ร้านจะรับปลาหมึกจากน้องชาวประมงพื้นบ้านที่มีวิธีทำปลาหมึกแบบโบราณ ลูกค้าชอบมาก และขายดีมาก ถ้าวันไหนปลาหมึกขายหมด เมนูนั้นก็ไม่ขาย บางช่วงไม่มีปลาหมึกมาขายเดือนกว่า ลูกค้าบ่นอุบ ก็จะบอกเขาว่า เราน่ะจะสั่งปลาหมึกเจ้าไหนมาขายก็ได้ ลูกค้าไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่เราพูดได้ไม่เต็มปากว่าปลอดจากฟอร์มาลินหรือเปล่า และเต้ก็จะไม่มีวันทำแบบนั้นเด็ดขาด

Organ

“ลูกค้าที่มาอาจเจอว่า บางเมนูถ้าวัตถุดิบหมด เราก็ปิดออร์เดอร์นั้นเลย อย่างคะน้าหมด ก็ไม่ขายราดหน้า ผักในอาหารทุกเมนูเราใช้ผักในฟาร์มเป็นหลัก และมีบางส่วนที่เราปลูกไม่ได้ อย่างแครอต กะหล่ำปลี ก็จะรับจากเครือข่ายที่รู้จักและไว้ใจได้ เราไม่ได้รับซื้อผักจากทุกเจ้าที่บอกว่าเป็นฟาร์มออร์แกนิก เพราะเต้ใช้ตัวเองการันตีคุณภาพให้ลูกค้าที่มาฝากท้องที่เรา

Organ

“ฉะนั้น ถ้าจานไหนที่เราใส่ผงชูรส อย่างยำส้มตำก็จะบอกแจ้งไว้ในเมนูเลยว่า จานนี้ใส่นะ ใครไม่อยากให้ใส่ก็แจ้งได้เช่นกัน แต่ถึงจะใส่ เราก็ใส่ในปริมาณที่กรมอนามัยกำหนดไว้ ส่วนตัวเต้มองว่าอาหารสุขภาพไม่ใช่อาหารจืดชืดหรือมีแต่ผักเท่านั้น แต่คืออาหารที่เรากินได้ในชีวิตประจำวัน แค่ใส่ใจเลือกวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ และปลอดภัย

Organ

Organ

“สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันเกินฝันไปเยอะ ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ขนาดนี้ ไม่เคยมองว่าตัวเองเก่ง แค่มีปัญหาอะไรก็แก้ไป และมีความสุขกับมันในทุกๆ วัน ในวันที่เรามีเหลือแล้ว ก็เกิดคำถามว่า แล้วจะยังไงต่อ ความสุขของเต้กับแฟนไม่ได้อยู่ที่การใส่ของแบรนด์เนม การใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อ แต่ความสุขของเราอยู่ที่การได้ทำในสิ่งที่รัก เพราะมันทำให้ใจเราฟูอย่างทุกวันนี้”

Organ

Smart Nine Farm คือ การทำฟาร์มอย่างฉลาด ส่วนคำว่า Nine หมายถึง การตามรอยพระราชดำริด้านการเกษตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยชูเรื่องดินที่เป็นทรัพย์ที่นำมาทำประโยชน์ได้ ส่วนโลโก้เป็นเลขเก้าไทย ส่วนฐานเป็นสีน้ำตาลสื่อถึงดิน ส่วนหางเป็นสีเขียวมีใบไม้ผลิออกมา แทนความหมายว่าเมื่อดินดี พืชก็จะเติบโต

Organ คือ ชื่อเครื่องดนตรีที่ได้ยินครั้งแรกในโบสถ์แล้วชอบมากเลยนำมาตั้งชื่อร้าน ตั้งใจให้คนมานั่งจิบกาแฟ ฟังดนตรี ชมสวนผัก บรรยากาศเหมือนกลับมากินข้าวบ้าน และเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพวัตถุดิบที่มาจากฟาร์มผักของเราเลยเป็น

Organ by Smart Nine Farm

Organ by Smart Nine Farm
ที่อยู่ : 56/4 ถ.สายเลียบคลองบางกระบือ ต.บางแม่นาง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
โทร. : 065-512-8808
FB : Organ by Smart Nine Farm
เวลาเปิดปิด : วันธรรมดา 08.00-19.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 07.30-19.00 น. ปิดทุกวันจันทร์

Tags: