About
BALANCE

Restaurant Makeover

ส่องจิกซอว์ช่อง ‘Pear is Hungry’ กับชาเลนจ์ชวนคนรักษ์โลกด้วยวิธีง่ายๆ แค่ ‘กินหมดจาน’

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 10-11-2024 | View 456
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของช่อง Pear is Hungry กับทุกบริบทชีวิตที่ไม่เคยห่าง ‘อาหาร’ สู่การเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์เล่าเรื่องที่ตัวเองสนใจ และโปรเจกต์ล่าสุด Restaurant Makeover ชวนคนมาร่วมดูแลโลกด้วยวิธีง่ายๆ แค่ ‘กินหมดจาน’

พามาคุยกับอดีตพิธีกรสาวร่างเล็กคนเก่ง แพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ ผู้บอกเราว่า “ความทรงจำของแพรตั้งแต่เด็กยึดโยงกับของกินหมดเลย” คอนเฟิร์มได้จากชื่อ Pear is Hungry ที่เธอใช้ในวันที่อยากมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ก็บอกให้รู้เป็นนัยว่า เจ้าตัวสนใจเรื่องอาหาร

นับตั้งแต่ปี 2018 แพรผันตัวมาเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อาสาเล่าเรื่องอาหารผ่านช่อง Pear is Hungry ตลอด 7 ปีมานี้ เธอยอมรับว่า เนื้อหาในช่องไม่ได้มีแนวทางชัดเจน มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาเรื่อยๆ “การทำคอนเทนต์ของแพรเหมือนการต่อจิกซอว์ และจิกซอว์ตัวแรกได้มาตอนเข้าป่า” เธอว่าอย่างนั้น

จากป่าดอยหลวงเชียงดาวมาสู่กินหมดจานได้อย่างไรกันนะ...

Pear is Hungry

ความทรงจำกับอาหาร

“ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความตะกละของตัวเองหรือเปล่า ความทรงจำตั้งแต่เด็กเกี่ยวข้องกับอาหารหมดเลย” แพรบอกพร้อมเสียงหัวเราะตามมาเมื่อเราถามถึงความสำคัญของอาหารนอกเหนือจากการเป็นปัจจัย 4 สำหรับเธอแล้วคืออะไร

สาวเจน Y ย้อนเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ในครอบครัวกงสี “เวลาเล่นขายของ เล่นครูนักเรียน ญาติเราเยอะ เลยแตกรายละเอียดได้ มีครูห้อง 1 2 3 มีนักเรียนหลายคน แต่แพรไม่เคยอยากเป็นครูหรือนักเรียนเลย จะจองเป็นแม่ครัวโรงอาหารตลอด”

Pear is Hungry

หลังกลับจากโรงเรียน เมื่อถึงบ้านแล้วแพรเป็นต้องวิ่งเข้าครัวก่อนเสมอ เพราะมีหน้าที่ช่วยยกอาหารไปวางที่โต๊ะกินข้าว โดยระหว่างทางก็แอบหยิบชิมตลอด นานวันเข้า จากเด็กเสิร์ฟอาม่าก็ชวนหลานเข้าครัว สอนให้หัดทำไข่เจียว

แต่ถ้าเมนูแรกที่แกะจากสูตรเอง แพรเล่าว่า ได้มาจากการ์ตูนตาหวาน “ตอนนั้นอยู่ ป.3 หรือ ป.4 นี่ละ เป็นครั้งแรกที่ขอแม่ไปบ้านเพื่อน ชวนกันเปิดสูตรข้าวปั้นห่อไข่รูปดอกไม้ท้ายเล่มแล้วลองทำตาม” แม้สุดท้ายจะทำไม่สำเร็จ แต่ความสุขที่ได้ทำอาหาร กลายเป็นจุดเริ่มต้นฝันให้แพร “ใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็จะตอบตลอดว่า อยากเปิดร้านอาหาร”

“ป๊ากลัวลูกๆ กินแกงไทยแกงกะทิไม่เป็น เลยซื้อหมูหันมาเป็นตัวล่อ เป็นรางวัลให้คนที่กินแกง” นี่เป็นเหตุผลที่บนโต๊ะอาหารครอบครัวคนจีนบ้านแพร ก็มีแกงไทยวางเสิร์ฟด้วย ป๊าไม่ได้แค่สอนลูกๆ ให้กินอาหารไทยเป็น แต่ยังเปิดประสบการณ์อาหารและบ่มเพาะรสชาติความอร่อยให้ลูกๆ อีกด้วย อาหารป๊าหลายร้านต่อมากลายเป็นร้านดังขึ้นชื่อ เช่น ร้านข้าวแกงเจ๊กปุ้ย เจ้าดังแห่งเยาวราชที่มีเก้าอี้พลาสติกสีแดงให้ลูกค้านั่งกิน หรือร้านเจ๊ไฝ สตรีตฟู้ดไทยระดับมิชลินสตาร์

Pear is Hungry

“ตอนเด็กๆ แพรไม่รู้ความพิเศษของอาหารที่กินหรอก รู้แค่ว่าราดหน้าเจ๊ไฝที่ป๊าพาไปกินแพงกว่าที่เคยกินมา ป๊าบอกเขาใช้วัตถุดิบดี หรือข้าวแกงเจ๊กปุ้ยที่กินมาตั้งแต่เด็ก ก็รู้แค่ว่าร้านนี้ป๊าชอบ โตแล้วถึงรู้ว่า นี่ร้านดังเยาวราชเชียวนะ เป็นไง ป๊าเรา เจ๋งไหมล่ะ” แพรได้ทีขอขิงแทนป๊า

แพรมองย้อนกลับไปในชีวิตตัวเอง เธอเห็นอาหารอยู่ในบริบท “ความทรงจำของแพรยึดโยงกับของกินหมดเลย สถานการณ์ที่เกิดก็เกี่ยวกับครอบครัวทั้งหมด แพรเลยรู้สึกว่า จุดเริ่มต้นของการพูดคุยกันเริ่มต้นที่โต๊ะอาหาร ตอนตั้งเพจครั้งแรกมีคีย์เมสเสจว่า ‘อาหารจะทำให้เรารักกันมากขึ้น’เพราะอาหารเป็นตัวเชื่อมและขับเคลื่อนให้เกิดบทสนทนา การกินข้าวด้วยกันเป็นการอัปเดตชีวิตกัน”

Pear is Hungry

กว่าจะเป็น Pear is Hungry

เราขอให้แพรเล่าถึงหัวเลี้ยวหัวต่อการมาเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่ทำให้เธอได้กลับมาสนใจอาหารอีกครั้ง หลังทุ่มเทให้กับงานในวงการบันเทิงมานานนับ 10 ปี

“แพรตั้งโจทย์จากสิ่งที่ตัวเองสนใจเพื่อเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด ก็เจอว่านั่นคือเรื่องอาหาร แต่การทำงานออนไลน์ผ่านการลองถูกลองผิดมาทั้งนั้น ใครเคยติดตามช่องแพรที่ทำมาตั้งแต่ปี 2018-2024 เหมือนคนละช่องกัน (ยิ้ม)

“แพรไม่ได้มีแนวทางคอนเทนต์ชัดเจน ถึงจะตั้งโจทย์ไว้แต่ก็ต้องค่อยๆ สร้างค่อยๆ พัฒนาไป เพราะคนที่รู้จักและเข้าใจยากที่สุดก็คือตัวเราเอง เราเปลี่ยนทุกวัน ดังนั้น การทำแพลตฟอร์ม การเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ต้องหยิบยกความเป็นตัวตนข้างในมาสื่อสาร คอนเทนต์แพรเลยไม่หยุดนิ่งและไม่เหมือนเดิม ต้องบาลานซ์ตัวตนภายในและภายนอกให้ดี”

Pear is Hungry

แพรยังบอกอีกว่า การทำคอนเทนต์ของเธอเหมือนการต่อจิกซอว์ และจิกซอว์แรกเกิดขึ้นตอนเธอขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปกับแพร์รี่พาย – อมตา จิตตะเสนีย์ ยูทูบเบอร์สาวคนดัง ต้นแบบการปลูกผักฉบับคนเมือง

“เราไปอยู่ป่าต้นน้ำที่เชียงดาวกัน 5 วัน ไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้าเลย ทุกครั้งที่เข้าป่า แพรเห็นจุดเชื่อมโยงของทุกๆ อย่าง เช่น ถ้าสระผม ยาสระผมจากหัวเราไหลไปไหน ลงดิน ลงแม่น้ำ เจอปลา หรือการฉีดน้ำหอมเข้าป่า ส่งผลกับระบบนิเวศในป่าทั้งผึ้ง แมลง ดอกไม้ ครั้งนั้นทำให้แพรเห็นว่าทุกย่างก้าวที่เราเดิน มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหมดเลย”

Pear is Hungry

แพรกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองถึงรูปแบบการใช้ชีวิต และได้เจอหมุดหมายตัวเองว่า จะใช้ชีวิตแบบ Less Impact เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดให้น้อยที่สุดก่อน แล้วสื่อสารสิ่งนี้ในช่อง Pear is Hungry “แพรสนใจเรื่องโลกร้อนมาตั้งแต่เด็ก เพราะได้ชุดข้อมูลเรื่องนี้มา แต่เป็นการขับเคลื่อนด้วยความกลัว ได้ยินว่าสาร CFC จากแอร์จะทำลายชั้นบรรยากาศ เลยกลายเป็นคนกลัวการเปิดแอร์ แล้วก็บังคับให้ครอบครัวต้องทำตามเรา”

ถึงอย่างนั้นเธอยังย้ำถึงการทำคอนเทนต์ว่า “ทุกอย่างคือการลองถูกลองผิด แพลตฟอร์มแพรไม่ได้เป็นงานอดิเรกแต่เป็นงานเชิงธุรกิจ วันที่โลกอนุญาตให้พูดถึงเรื่องนี้ มีการตอบรับจากคนดู และการตอบรับจากลูกค้าเป็นเม็ดเงินที่เข้ามา แพรเมิร์ซวงกลม 3 วงนี้ คือ ความต้องการของตัวเอง การตอบปัจจัยจากคนดู และการตอบปัจจัยจากลูกค้า เพื่อให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารดำเนินต่อไปได้”

Pear is Hungry

ขยะอาหารในภูเขาขยะกองมหึมา

เราไม่รอช้า ถามหาจิกซอว์ตัวต่อมา แพรเล่าว่า มันคือคลิปการไปสำรวจกองภูเขาขยะของ Kong GreenGreen (ก้อง – ชณัฐ วุฒิวิกัยการ นักเล่าเรื่องสายรักษ์โลก) ได้เห็นว่าการแยกขยะกองมหึมานั้นทำไม่ได้จริง ทุกอย่างจบลงที่การฝังกลบ ก่อให้เกิดมลพิษต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซมีเทน ซึ่งครึ่งหนึ่งในกองขยะนั้นเป็นขยะอาหาร

“แพรโทร.หาก้อง ชวนมาทำอะไรเพื่อช่วยลด 50% ที่เป็นขยะอาหารนั้นกันเถอะ ก้องเอาด้วย เราหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม และใช้เวลาไม่ถึงเดือนสร้างชาเลนจ์ ‘กินหมดจาน’ ขึ้นใน TikTok”

Pear is Hungry

สิ่งที่แพรเล่าเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว 2023 กระแสตอบรับดีเกินคาด 15 วันของกิจกรรมมียอดรับชมสูงถึง 37 ล้านวิว!

“เราได้รับการรับรู้นะ แต่แอคชันได้จริงหรือเปล่า ไม่รู้ ปีนี้เราเลยต่อยอดมาเป็นโปรเจกต์ ‘Restaurant

Makeover’ ชวนพี่น้องผองเพื่อนอินฟลูเอนเซอร์และ KOLs สายกิน สายกรีน 50 คนมาแนะนำร้านอาหารที่ชอบทั่ว กทม. ส่วนร้านอาหารจะมีการพัฒนาระบบการจัดการขยะอาหารเบื้องต้น ให้ทางร้านช่วยแยกขยะอาหารเพื่อส่งต่อให้โครงการ ‘ไม่เทรวม’ ของ กทม.​ที่จะนำไปจัดการต่ออย่างถูกหลัก เป็นการสร้างระบบการจัดการเบื้องต้นก่อน”

ช่วงเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมาเป็นการเปิดตัวไกด์บุ๊กแนะนำ 50 ร้านอร่อยที่มีการจัดการขยะอาหารที่ดีบนเว็บไซต์ aRoundP พื้นที่ที่ใช้รวมโปรเจกต์ดีๆ ที่แพรชวนคนลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นด้านอาหารหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เมื่อลิสต์ 50 ร้านได้รับการสื่อสารออกไป หลังจากนั้นแพรชวนมาร่วมสนุกผ่านแคมเปญ ‘กินหมดจาน Challenge’ ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้

“จะกินที่ไหนเมนูอะไรก็ร่วมกินหมดจาน challenge ได้ แค่ (1) ถ่ายรูปหรือคลิปการกินหมดจาน (2) โพสต์ชวนคนมาร่วมกินหมดจานไปด้วยกัน ก็เป็นการช่วยโลกแล้ว (3) แต่ถ้ามาที่ร้านใน ‘กินหมดจาน Guidebook’ // แทคร้านด้วย ก็ได้รับโปรโมชันพิเศษไปเลย

Pear is Hungry

“ในการทำโปรเจกต์นี้เราคาดหวังที่แอคชัน ดังนั้นใน 50 ร้านจะมีการเก็บขยะอาหารไปคำนวณเรื่องคาร์บอนฟุตปรินต์ด้วย เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำร่วมกันส่งผลต่อโลกยังไงบ้าง”

แพรบอกเราว่า นี่คือวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ทันทีแต่ผลลัพธ์นั้นยิ่งใหญ่ เพราะแค่การกินอาหารให้หมดจาน ช่วยลดภาระขยะอาหารปลายทางได้เยอะมาก ยิ่งได้ทางร้านช่วยแยกขยะด้วย ขยะอาหารในกองภูเขาขยะที่ต้องถูกฝังกลบก็น่าจะลดลง เป็นการช่วยกันดูแลโลกรักษาสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ และทำได้จริง

Pear is Hungry

ไม่เป็นไม้บรรทัดวัดใคร

“แพรไม่ได้สายสิ่งแวดล้อมขนาดน้านนน” เจ้าตัวลากเสียงสูงเมื่อรู้ว่าหลายคนยกให้เป็นตัวมัมสายกรีน แพรยิ้มแล้วถือโอกาสชี้แจงว่า

“ท้ายสุดคนเราก็ต้องใช้ชีวิต มีบางจุดที่แพรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ถ้าวันไหนต้องออกกองถ่ายรายการ ทีมงานเตรียมข้าวกล่องให้ แพรก็กินได้ เพราะนี่คือการใช้ชีวิต แต่ถ้าเมื่อไหร่มีชอยส์ที่เลือกได้ แพรจะเลือกทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

“แม้แพรจะสื่อสารว่า มาใช้ชีวิต Less Impact กันเถอะ ก็ไม่ได้หมายความว่าแพรจะทำสิ่งนั้นได้100% ทุกชีวิตมีเงื่อนไขอยู่ เราไม่สามารถเลือกตัดสินใจได้ตามแบบแผนที่วางไว้ทั้งหมดตลอดเวลา อย่างแคมเปญกินหมดจานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความชอบกิน ขี้ตะกละ และขี้งกของแพรด้วย และแพรเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็น Changemaker ในรูปแบบนี้ได้ เลยชวนมาเอนจอยด้วยกัน แต่ใครที่ไม่พร้อมไม่สะดวกทำ ไม่เป็นไรเลย แพรแค่ตั้งใจแชร์และอยากชวนแต่ไม่ใช่การบังคับ”

ว่าแล้วแพรเล่าประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เคยอยากให้ครอบครัวมาร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยกัน

“อย่างที่แพรเล่าไปว่า ความกลัวตอนเด็กหลังได้ชุดความรู้เรื่องโลกร้อนมา เลยไปบังคับคนรอบข้างให้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการทะเลาะกัน แล้วคนที่ทะเลาะด้วยบ่อยสุดคือป๊า ป๊าไม่เก็ตว่าทำไมต้องทำ การไม่รับถุงพลาสติกทำให้แม่ค้ายุ่งยากขึ้นต่างหาก หรือการเอากล่องข้าวไปให้เขาใส่ เรากำลังสร้างความยุ่งยากให้คนอื่นหรือเปล่า ในขณะที่แพรมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันดีมันถูกต้อง

Pear is Hungry

“ตอนนั้นไม่มีใครแฮปปี้เลย พอโตขึ้น แพรค่อยๆ เรียนรู้ว่า การไปบังคับคนอื่นให้ต้องเชื่อไปกับเรา ไม่เกิดผลดีเลย และประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยโครงสร้างทางสังคม การจะใช้ชีวิตที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง สภาวะแวดล้อมต้องเอื้ออำนวย เอาง่ายๆ ว่า ถ้าเขายังลำบากต้องหาเช้ากินค่ำ พรุ่งนี้ยังไม่รู้จะมีอะไรให้กินไหม เป็นเรื่องปกติมากถ้าเขาจะไม่ได้สนใจเรื่องอื่นนอกจากการเอาชีวิตให้รอด”

นั่นทำให้แพรบอกตัวเองว่า จะไม่ตัดสินการใช้ชีวิตหรือการมีชอยส์ของคนอื่น เพราะเธอไม่อาจรู้เบื้องหลังชีวิตทุกคนได้ “แพรแค่แชร์สิ่งที่แพรเชื่อและทำสิ่งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ชีวิตแบบแพรไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนดี เพราะนี่แค่การเมกชอยส์ในการใช้ชีวิตของแพร ที่สำคัญแพรจะไม่ใช้สายตาเรามองเข้าไปหาใคร แต่จะมองจากจุดที่เขายืนอยู่ออกมาเสมอ”

สุดท้ายแพรบอกเราว่า แม้สิ่งที่สื่อสารออกไปถึงผลจากแคมเปญกินหมดจานนี้คือการบรรเทาปัญหาขยะอาหาร แต่เธอยืนยันว่า สิ่งแวดล้อมคือผลพลอยได้ “จริงๆ อยากให้คนมาร่วมกิจกรรมกันเยอะๆ เพราะยิ่งมีคนร่วมมาก ผลตอบรับส่งกลับไปที่สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เราไม่ได้นำด้วยสิ่งแวดล้อมเพราะคนจะมองว่าไกลตัว แพรใช้อาหารนำ เพราะมันคอนเน็กกับคนหมู่มากได้ในวงกว้าง”

เห็นไหมล่ะว่า อาหารอยู่ในทุกบริบทชีวิตแพรจริงๆ

Pear is Hungry

Pear is Hungry

ขอบคุณสถานที่ ร้าน Little Sunshine Cafe
เปิด : อังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์)
เวลา : 08.00-16.00 น.
ร้านนี้แนะนำโดย นุ่น – ศิรพันธ์ วัฒนจินดา “ร้านน่ารักมาก เหมือนเป็นดินแดนลึกลับย่านเพลินจิต เสิร์ฟอาหารสุขภาพที่รสชาติแซบถูกปากคนไทย แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย”

Tags: