About
RESOUND

Scent and Style

มองโลกอีกใบของ ‘นุชี่ – อนุชา’ ผ่านพิพิธภัณฑ์น้ำหอมวินเทจ The Perfume Sanctuary

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 08-07-2023 | View 3431
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เยือน The Perfume Sanctuary เขตรักษาพันธุ์น้ำหอมเก่า พิพิธภัณฑ์น้ำหอมวินเทจเพื่อเก็บรักษาและเผยแพร่ศิลปะการปรุงน้ำหอม พื้นที่ส่วนตัวของผู้กำกับมากฝีมือ นุชี่ – อนุชา บุญยวรรธนะ
  • ที่นี่ไม่เพียงเปิดให้ผู้สนใจศาสตร์น้ำหอมได้เยี่ยมชม แต่เจ้าของยังใจกว้างจัดคลาสปันความรู้พร้อมเปิดโอกาสให้ได้ดมน้ำหอมวินเทจที่สะสมไว้อย่างไม่หวง
  • สัมผัสความคลั่งรักในน้ำหอมวินเทจที่เก็บสะสมมากว่า 500 ขวดตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมาของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องมะลิลาและอนธกาลผู้นี้ ทำให้เห็นถึงเรื่องราวมากมายเชื่อมโยงกันอยู่เบื้องหลังน้ำหอม อย่างที่ไม่คิดว่าแค่กลิ่นหอมจะบอกอะไรได้มากขนาดนี้

‘น้ำหอม’ ที่ใครหลายคนอาจมองว่าเป็นของหรูหราและฟุ่มเฟือย แต่สำหรับนุชี่ - อนุชา บุญยวรรธนะ แล้ว ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่พ่วงตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยนั้น เธอมองน้ำหอมเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่มีคุณค่า มีเรื่องราว มีโครงสร้าง มีเทคนิคการผลิต และใช้ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงใช้เก็บบรรยากาศของช่วงเวลา ความรู้สึกผู้คน และบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ได้ไม่ต่างจากภาพยนตร์เลย

แค่ไม่กี่ประโยคที่เธอพูดถึงน้ำหอมอันเป็นที่รัก ทำให้เรามั่นใจว่าบทสนทนาครั้งนี้สนุกแน่นอน

น้ำหอม

อะไรทำให้สนใจน้ำหอม

“การเป็นฟิล์มเมกเกอร์นอกจากต้องดูภาพยนตร์แล้ว ยังต้องเสพศิลปะอื่นด้วย ส่วนตัวชอบดูภาพเขียน ดูหนัง และดมน้ำหอม ซึ่งทั้งภาพเขียนและหนังเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงตัวเรา เลยเข้าถึงง่าย แต่น้ำหอมอาจเข้าถึงยากกว่าศิลปะอื่น เพราะคนที่จะชื่นชมต้องเข้าใจพื้นฐานน้ำหอมก่อน เราสนใจน้ำหอมอยู่แล้ว อยากรู้ว่าแต่ละกลิ่นปรุงขึ้นมายังไง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เลยเริ่มสะสม ingredients ที่ใช้ปรุงน้ำหอม พอได้ดมวัตถุดิบที่ใช้ปรุงแล้ว จะเข้าใจศิลปะการปรุงน้ำหอมชัดเจนขึ้น เลยเริ่มเก็บสะสมน้ำหอมวินเทจ เพราะข้อมูลความรู้ด้านน้ำหอมไม่ได้มาพร้อมกลิ่น เขาบรรยายว่ากลิ่นเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แต่เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Olfactory Memory (หน่วยความจำกลิ่น) ที่หลากหลาย จะไม่รู้ว่ากลิ่นที่ว่าเป็นยังไง จนกว่าจะได้เคยดม”

น้ำหอม

เริ่มจาก Ingredients อะไร

“เมื่อสัก 10-20 ปีก่อนการจะหา ingredients ที่ใช้ทำน้ำหอมมาดมแทบเป็นไปได้ยากมาก จะหาได้เฉพาะวัตถุดิบพื้นๆ อย่างสารสกัดจากธรรมชาติบางตัว เช่น หญ้าแฝก ไม้เซดาร์ ซิตรัสบางตัว ลาเวนเดอร์ แต่ถ้าเป็น ingredients ที่ใช้ผสมน้ำหอมจริงๆ ยิ่งเป็นวินเทจด้วย พวก Aroma Chemical (ส่วนประกอบน้ำหอม) ตัวพื้นๆ คูมาริน (Coumarine) ที่เป็นกลิ่นสังเคราะห์มารวมกันออกมาเป็นกลิ่นเฟิร์น ทั้งที่จริงๆ เฟิร์นไม่มีกลิ่น เราก็นึกไม่ออกแล้วว่าคืออะไร หรือสารที่ใช้ฟีนิลเอทิลแอลกอฮอล์ (Phenyl Ethyl alcohol) ที่ใช้ทำกุหลาบ เราก็ไม่เคยดม หรือ Musk ชนิดต่างๆ ก็เป็นชื่อทางเคมีหมดเลย

สุดท้าย ingredients แรกที่หามาดมคือ vetiver หรือหญ้าแฝก เข้าใจว่าคงจะเป็นกลิ่นเขียวๆ เหมือนหญ้าทั่วไป แต่จริงๆ แล้วเป็นกลิ่นดิน (Earthy Aroma) และการสกัดกลิ่นจะใช้ส่วนรากไม่ใช่ใบ เลยให้กลิ่นที่แตกต่างกันไปตามดินที่ใช้ปลูก แค่หญ้าแฝกตัวเดียวก็ศึกษาได้มากมายเลย เพราะมีหลายชนิด แต่ละที่มีโปรไฟล์กลิ่นให้ศึกษาได้เป็นเดือนเป็นปี แล้วยังศึกษาขยายไปยังน้ำหอมที่ปรุงจากกลิ่นหญ้าแฝกได้”

น้ำหอม

Ingredients ไหนที่หายากกว่าจะได้มาดม

“ที่จัดว่าหายากมากก็ต้อง อำพันทะเล (Ambergris) หรืออ้วกวาฬ เป็นกลิ่นที่มีค่ามีราคามากกว่าทองคำ แต่ต้องหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้นะ อย่างนิวซีแลนด์จะมี Ambergris หลายชนิด สีดำ สีเทา สีขาว สีทอง สั่งหลายๆ แบบมาดมให้รู้แจ้งเห็นจริงว่ากลิ่น Ambergris จากธรรมชาติเป็นแบบนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มขยายไปว่าน้ำหอมที่บอกว่าใส่ Ambergris เขาใส่ไปจริงหรือเปล่า อาจเป็นแค่การตีความ แล้วการตีความกลิ่นของ Ambergris เปลี่ยนไปยังไงบ้างในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมีเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไว้ด้วยนะว่า ทำไมกลิ่น Ambergris ในยุค 1930-1940 ถึงต่างกับ Ambergris ในยุค 2000 หรือน้ำหอมที่สร้างขึ้นมาทำไมถึงใช้แรงบันดาลใจจาก Ambergris ซึ่งจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ประวัติศาสตร์แฟชั่นและประวัติศาสตร์โลกในช่วงนั้นด้วย”

น้ำหอม

เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าทักษะการดมกลิ่นน้ำหอมของตัวเองก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

การที่เราสามารถ crack สูตรน้ำหอมโบราณได้มั้ง ว่าเขาทำแบบนี้นี่เอง คือเราไม่สามารถดมน้ำหอมแล้ว crack ได้ทันทีหรอก เพราะต้องดม ingredients ในน้ำหอมได้ครบหรือเกือบครบทุกตัว อย่างเช่น เรามี Shalimar น้ำหอมที่เป็นไอคอนกลิ่นหนึ่งของโลกอยู่ เป็นจุดกำเนิดแนวโอเรียนทัล หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าแนวแอมเบอร์ จริงๆ ingredients ที่ใช้ไม่ได้ทำให้นึกถึงโลกตะวันออกเลย เพราะใช้วานิลลา เครื่องหนัง เบอร์กามอต (bergamot – มะกรูด) แต่พอผสมออกมาแล้วเกิดจินตภาพถึงโลกตะวันออก พอได้กลิ่นตอนดมครั้งแรก รู้สึกว่ามีคุณภาพสูงมากนะ stunning มาก เป็นกลิ่นเครื่องหนัง วานิลลาที่ไม่เคยได้ดมมาก่อน เขาทำจากอะไรนะ ค่อยๆ ดมไป หัดดมแคสโทเรียม (castoreum) พูดไปแล้วฟังดูยึกยัก (เพราะเป็นกลิ่นจากต่อมเพศของตัวบีเวอร์ แต่ในศาสตร์น้ำหอมมันคือกลิ่นเครื่องหนัง) หรือกลิ่นวานิลลิน (Vanillin) แล้วเราจะพอเข้าใจได้ว่าสิ่งนี้ทำจาก ingredients เหล่านั้น

น้ำหอม

อยากให้เล่าถึงความลุ่มหลงในน้ำหอม

เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์น้ำหอมและมี Olfactory Memory มากพอจากการได้ดมน้ำหอมวินเทจที่สะสมเป็นคอลเลกชันมากขึ้น จะเชื่อมโยงกับน้ำหอมยุคปัจจุบันได้ทันทีว่า ต้นกำเนิดของขวดนี้มาจากกลิ่นไหนได้บ้าง จะแตกฉานถึงขนาดว่า ถ้าไปดมน้ำหอมตามเคาน์เตอร์แบรนด์ อืม…อ๋อ อันนี้รากมันมาจาก Shalimar แล้วเบลนเดอร์แปรเปลี่ยน note ให้เป็นกลิ่นนี้ วันๆ จะหยิบน้ำหอมที่สะสมไว้มา 5-6 ขวด แล้วก็ดมเทียบกัน ซึ่งแต่ละขวดมาจากต่างยุคต่างสมัย บางขวดอายุเป็นร้อยปีมาเทียบกับยุค 1990 หรือ 2000 จะเห็นวิวัฒนาการน้ำหอมแต่ละกลิ่น

น้ำหอม

น้ำหอมเปรียบเสมือนแคปซูลกาลเวลา การดมน้ำหอมแต่ละขวด กลิ่นจะแคปเจอร์ทั้งประวัติศาสตร์ ความรู้สึกของผู้คน ศิลปะการปรุงเอาไว้ด้วย การได้ดมน้ำหอมขวดหนึ่งก็คลี่สิ่งเหล่านี้ออกมา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำความเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน สร้างแรงบันดาลใจให้ได้มหาศาล เป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุข รื่นรมย์ไปกับน้ำหอม

น้ำหอม

ช่วยขยายความการบันทึกประวัติศาสตร์ของน้ำหอมหน่อย

ยกตัวอย่างน้ำหอมแพงในยุค 60 70 คือแบรนด์ Amouage ของสุลต่านโอมานมีดำริให้ทำน้ำหอมเพื่อเฉลิมฉลองศิลปะการปรุงน้ำหอมแบบ Middle East ให้ใช้ ingredients ที่แพงที่สุด ใส่ลงมาไม่อั้น เพื่อใช้มอบเป็นของขวัญจากพระองค์ยามไปเยือนต่างแดน หรือมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนประเทศโอมาน จึงเป็นน้ำหอมที่เป็นหน้าเป็นตาของโอมาน หรือน้ำหอมซุซุโร น้ำหอมที่แพงที่สุดของญี่ปุ่น ออกมาในปี 1970-80 ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูมาก คนจึงสามารถซื้อน้ำหอมในราคา 5 หมื่นเยนที่เทียบกับปัจจุบันประมาณเกือบ 3 หมื่นบาทได้

น้ำหอม

อีกตัวอย่างน้ำหอมที่อยากพูดถึงคือ Red Moscow น้ำหอมสำหรับสหภาพโซเวียตในช่วงยุคสงครามเย็น ที่ต้องการประกาศความเจริญรุ่งเรืองของชาติคอมมิวนิสต์ เลยคิดผลิตน้ำหอมนี้ออกมาสำหรับชาวโซเวียต ใช้ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นความ Mass Market แบบคอมมิวนิสต์

เรื่องราวเหล่านี้อยู่เบื้องหลังความหอมของน้ำหอมที่เมื่อเราศึกษาจะพาย้อนไปถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมในยุคนั้นได้ด้วย

น้ำหอม

ทำไมต้องเป็นน้ำหอมวินเทจ

เราเน้นสะสมกลิ่นของน้ำหอม เพื่อศึกษากลิ่นในแต่ละยุค เพราะงั้นเลยต้องพยายามหากลิ่นที่เก่าหรือใกล้เคียงกับต้นกำเนิดให้มากที่สุด เช่น น้ำหอมขวดหนึ่งอยู่ในยุค 1920 ก็ต้องหาน้ำหอมที่มาจากยุคใกล้เคียงที่สุด ต้องดูว่าจะหามาได้ยังไง โดยดูก่อนว่าแหล่งควรอยู่ที่ไหน อย่างที่รู้กันว่าแหล่งน้ำหอมที่สำคัญของโลกคือฝรั่งเศส แต่ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว เพราะไปอยู่ในมือนักสะสม อาจต้องรอเจ้าของเสียชีวิตแล้วทายาทนำออกมาขาย เราก็ต้องไปหาดูน้ำหอมช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ช่วงปี 1910-1920 จะมีที่อเมริกาเยอะ เพราะตอนนั้นอเมริกาเริ่มเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในโลก แบรนด์น้ำหอมจากยุโรปเริ่มไปเปิดตัวที่นั่น เราจึงพอหาซื้อน้ำหอมยุคนั้นได้ที่อเมริกา หรือจะหาซื้อในเว็บไซต์การประมูลก็มี อีเบย์ก็มีน้ำหอมโบราณหลุดมาบ้าง แต่ต้องดูให้เป็นว่าน้ำหอมโบราณ ขวดต้องเป็นยังไง บางทีต้องไปเปิดโกดังเพื่อให้ชิปปิ้งไปส่งที่ต่างประเทศ เพราะเขาไม่ส่งมาให้ที่ไทยก็มี

น้ำหอม

ปริมาณน้ำหอมที่ได้มา

ความที่เน้นเก็บสะสมกลิ่น นอกจากดูต้นกำเนิดออริจินัลของน้ำหอมแล้ว ก็ดูฟอร์มของน้ำหอมที่มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ Eau de Cologne (EDC) Eau de Toilette (EDT) Eau de Parfum (EDP) และ Extrait de Parfum เราต้องเก็บ Extrait เพราะเป็นรูปฟอร์มของน้ำหอมที่เข้มข้นที่สุด และใช้ ingredients ที่ดีที่สุด น้ำหอมที่เก็บสะสมเลยเป็นขวด Extrait ทั้งหมด โดยมากจะเป็นไซส์เล็ก เพราะรูปแบบการใช้เป็นการแต้ม ฉะนั้นเหลือมาน้อยก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่ถ้ามาเป็นขวดใหญ่ มั่นใจได้ว่าเป็นน้ำหอมโบราณแน่นอน เพราะไซส์ 50 หรือ 100 ml ตั้งแต่ยุค 1960 ลงมา ไม่มีการทำไซส์นี้แล้ว อย่างน้อยก็แค่ 30 ml ที่ใหญ่ที่สุดแล้ว มีการสลักก้น สลัก stopper (จุก) พยายามจะเก็บสิ่งเหล่านี้มา

น้ำหอม

น้ำหอมวินเทจมีหมดอายุไหม

น้ำหอมไม่มีวันเน่าเสีย เพราะเบสคือแอลกอฮอล์ เลยไม่เน่าไม่เสีย แต่เสื่อมสภาพลงได้ด้วยแสง ความร้อน ความชื้น และอากาศ ถ้าเก็บไม่ดีก็มีเสื่อมสภาพบ้าง น้ำหอมที่ได้มาก็ต้องมาเช็กคุณภาพก่อน ส่วนใหญ่คุณภาพยังดีมากๆ สัก 90% หรือ 80% ขึ้นไป โดยมากที่หายไปคือแค่ Top Note เพราะธรรมชาติ Top Note หมดไปก่อนอยู่แล้ว แต่ยังใช้ดมเพื่อศึกษาโครงสร้างของพื้นฐานน้ำหอมได้อยู่ ด้วยการเทียบกับน้ำหอมปัจจุบันที่ Top Note ยังเหลือเยอะกว่า เราก็จะพอทำความเข้าใจว่า composition หรือองค์ประกอบของมัน บาลานซ์เป็นอย่างไร ในขณะที่น้ำอบน้ำปรุงของไทยมีเบสเป็นน้ำ เพราะใช้เพื่อคลายร้อน จึงไม่ใส่น้ำมันเพราะจะเหนอะหนะ จึงเน่าเสียได้

น้ำหอม

อะไรทำให้นึกอยากแบ่งปันสิ่งที่สู้อุตส่าห์ทุ่มเทศึกษาค้นคว้ามา

น้ำหอมเป็นศิลปะที่ค่อนข้างลึกลับ หาคนที่จะเข้าใจได้ยาก เพราะต้องใช้เวลาศึกษา ไม่สามารถเข้าใจได้ถ้ายังไม่เคยดม ingredients ซึ่งมีมากกว่าพันชนิด ต้องค่อยๆ ดม ค่อยๆ ศึกษาถึงจะพอเข้าใจได้ว่า น้ำหอมปรุงขึ้นแบบนี้ มีความโดดเด่นจุดนี้ ไม่ดีตรงนั้น อันนี้ดีกว่าอันนั้น ประกอบกับเริ่มสะสมน้ำหอมวินเทจได้พอสมควร เริ่มมีตัวอย่างมากพอ เลยคิดว่านำมาแบ่งปันความรู้ดีกว่า

น้ำหอม

อีกส่วนที่สำคัญคือตลาดน้ำหอม Niche ของไทยเติบโตขึ้นมากๆ ต่างชาติเริ่มให้ความสนใจ มีเสน่ห์มากเพราะยังไม่ถูกครอบงำด้วยระบบธุรกิจ เพราะน้ำหอมจะมีเรื่องธุรกิจเยอะ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัดด้วยต้นทุนและข้อจำกัดทางการตลาด ซึ่งน้ำหอมไทยยังไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งนั้นมากนัก นอกจากนี้ เรายังมี perfumer เก่งๆ เกิดขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ สร้างสรรค์น้ำหอมที่แปลกแหวกตลาด กลิ่นประหลาด กลิ่นทดลองออกมา และผู้บริโภคก็ไม่ได้อยากใช้น้ำหอมซ้ำๆ เริ่มมามองน้ำหอมเหล่านี้มากขึ้น

น้ำหอม

เมื่อมีคนทำ เราก็ควรจะสร้างคนเสพด้วย และการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ได้ประโยชน์ทั้งคนทำคนเสพ คือคนทำเข้ามาดมน้ำหอมโบราณ มีโอกาสศึกษาน้ำหอมคลาสสิก เห็นถึงการพัฒนาน้ำหอมในแต่ละยุค ก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ส่วนคนเสพมาศึกษาที่นี่ก็จะเข้าใจการเสพน้ำหอมเชิงศิลปะมากขึ้น ดังนั้น ถ้ามีคนทำน้ำหอมแปลกๆ ออกมา ก็มีคนที่พร้อมจะเข้าใจ ไม่อยากให้เป็นเหมือนวงการหนังไทย ที่ไม่มีการสร้างฐานคนดูที่หลากหลายให้มากพอ ทำให้พอสร้างหนังแปลกแตกต่างก็เจ๊ง เพราะไม่มีคนเสพ การจะสร้างหนังไทยให้แปลกใหม่เลยเป็นเรื่องยาก ในที่สุดก็สู้หนังต่างชาติไม่ได้ วนเวียนวนอ่างซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

น้ำหอม

ส่วนตัวเลยมองว่าจำเป็นต้องสร้างให้ผู้สร้างงานมีแรงบันดาลใจที่หลากหลาย มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ แล้วผู้เสพก็มีสิทธิ์เข้ามาเรียนรู้และชื่นชมกับศิลปะนี้ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นประโยชน์ทั้งคนเสพ รวมถึงคนวิจารณ์น้ำหอมด้วย ไม่ใช่วิจารณ์กันมั่วๆ ซั่วๆ จะได้มีความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ได้ดมตัวอย่างให้ชัดแจ้งเห็นจริงถูกต้องตามหลักมากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาวงการน้ำหอมบ้านเรา

น้ำหอม

ก้ามข้ามความ ‘หวง’ มาได้ยังไง ทั้งความรู้ที่ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้า และน้ำหอมที่ต้องเสาะหามาด้วยความยากลำบาก

คนช็อกเหมือนกันที่เห็นเราเปิดคลาสจัดเวิร์กช็อป แล้วให้ดมน้ำหอมที่สะสมไว้ เพราะถ้าไปมิวเซียมน้ำหอมต่างประเทศ ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่จะเปิดให้ดมนะ อย่างมากก็คือดูขวดแล้วถ่ายรูปไว้ เว้นจะไป Osmothèque ที่ฝรั่งเศสอาจจะพอมีน้ำหอมสูตรใหม่ให้ดมบ้าง

น้ำหอม

อาจเพราะเราเก็บสะสมน้ำหอมวินเทจเพื่อศึกษากลิ่น ต้องเปิดดมอยู่แล้ว เลยไม่ได้หวงว่าต้องเก็บเข้ากรุ ห้ามใครแตะต้อง มองว่าน้ำหอมของเราจะเกิดประโยชน์สูงสุดถ้าทุกคนได้ดม จึงออกแบบคลาสเป็นการบรรยายแล้วเปิดโอกาสให้ดมขวดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคลาสนั้นๆ ไม่ได้อยากให้แค่มาชมขวดน้ำหอม คิดว่าคอลเล็กชันนี้มีไว้ให้คนดม ก็ควรได้ทำหน้าที่นั้น นี่จึงเป็นเหตุผลให้ค่าเข้าชมอยู่ในราคาย่อมเยาที่สุด นั่นคือพันเดียว ซึ่งแทบไม่ได้อะไร เพราะบรรยายก็ 3-4 ช.ม.แล้ว ยังเปิดตัวอย่างให้ดมน้ำหอมและ ingredients อีกไม่เกิน 35 กลิ่น แน่นอนว่า เปิดดมแล้วย่อมมีพร่องมีหมดไป ก็ต้องไปหาซื้อหาประมูลเก็บเข้ามาใหม่ ซึ่งน้ำหอมเหล่านี้ก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ยินดี

น้ำหอม

อย่างที่บอกว่าเราทำวงการหนังมา เห็นสภาพที่เกิดขึ้นกับวงการหนังไทย เราคิดว่าวงการน้ำหอมก็เป็นศิลปะที่เรารักเหมือนกัน ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ตั้งใจส่งเสริมวงการน้ำหอม พยายามทำให้นักวิจารณ์น้ำหอมพัฒนาด้วย อยากให้ร่วมกันพัฒนาศิลปะแขนงนี้

The Perfume Sanctuary
G Village 16/78 ซ.ลาดพร้าว 18 แยก 3จตุจักร กรุงเทพฯ
โทร.095-361-5796 facebook : The Perfume Sanctuary

Tags: