About
BUSINESS

Phuket Voice

เสียงภาคธุรกิจคนภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวเมืองนี้ต้องเดินไปอย่างไรถึงยั่งยืน

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 09-06-2023 | View 1674
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ฟังเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจภูเก็ตที่ต้องการเห็นทิศทางที่ชัดเจนของเมือง ในฐานะไข่มุกแห่งอันดามันที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยมากมายมหาศาล วันนี้และอนาคต ภูเก็ตควรก้าวเดินอย่างไรเพื่อไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

กลายเป็น ‘ทอล์กออฟเดอะทาวน์’ เลยทีเดียวสำหรับจังหวัดภูเก็ต หลังผลการเลือกตั้งส.ส. ออกมาเซอร์ไพรส์เป็นส้มทั้งเกาะ หนึ่งเดียวของภาคใต้ที่สะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

นอกจากกระแสด้อมส้มฟีเวอร์แล้ว หลายคนมองว่าเป็นผลจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ภูเก็ตซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ต้องเจ็บหนักและผิดหวังกับการแก้ปัญหาของขั้วอำนาจเก่าที่ทำได้ไม่ดีพอ ONCE เลยอยากชวนมาฟังเสียงของคนในแวดวงท่องเที่ยวในพื้นที่ว่า พวกเขาอยากเห็นทิศทางการท่องเที่ยวในรูปแบบไหน และคาดหวังการพัฒนาอย่างไร เพื่อตอบโจทย์คนภูเก็ตอย่างแท้จริง

ภูเก็ต

• รัฐมนตรีที่เข้าใจการท่องเที่ยวในมิติโลก

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มองว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวจะดีได้ต้องมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล หากการเปลี่ยนผ่านราบรื่นก็น่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ในทางกลับกันหากมีปัญหาต้องหยุดชะงัก ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 สถานการณ์ คือ เป็นเกมของรัฐสภาก็ยังไม่เป็นไร แต่หากมีการลงถนนกันอีกจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศของประเทศ จึงอยากให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยดีเพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีด้วย

ขณะเดียวกันก็อยากให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ความยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่มิติด้านสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงมิติของสังคม การกระจายรายได้และความรับผิดชอบด้วย ซึ่งอาจจะไปโยงกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวระดับประเทศว่าต้องการเห็นอะไร กลุ่มท่องเที่ยวมวลชน (Mass Tourism) หรือกลุ่มท่องเที่ยวเฉพาะ (Niche Tourism) ที่มีเรื่องการพำนักอาศัยยาวขึ้น จ่ายมากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องมากเหมือนก่อน แต่มีความสมดุล

“ผมว่ายุทธศาสตร์เรื่องนี้สำคัญ คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวต้องมีความเข้าใจเรื่องท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะเรามีคู่แข่งในระดับโลกเยอะ ต้องเข้าใจเรื่องปัจจุบันและอนาคตของการท่องเที่ยวในมิติของโลกให้มาก และมองในเชิงการสร้างคุณภาพมากกว่าแค่เรื่องปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา แน่นอนเราไม่ได้ปฏิเสธว่ามันต้องจำนวนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการก็อยู่ไม่รอด แต่ต้องสมดุลให้ได้ระหว่างจำนวนกับคุณภาพ” หนึ่งในคีย์แมนของวงการท่องเที่ยวภูเก็ตฝากถึงว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คนใหม่

ภูเก็ต

• การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อีกเสียงที่เห็นอยากเห็นการปรับโฟกัสเรื่องการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือ ชานน วงศ์สัตยนนท์ ทายาทรุ่นสามของโรงแรมเครือเมอร์ลินและคณะกรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้

“ตอนนี้ภูเก็ตมีปัญหาเรื่องโอเวอร์ทัวร์ริซึ่ม โอเวอร์ซัพพลายค่อนข้างเยอะ เราต้องรับจำนวนนักท่องเที่ยวเต็ม Capacity หรือ Over Capacity ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติโดยรวม จึงอยากให้มีการโฟกัสเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ออกเป็นนโยบายให้โรงแรมเชื่อมกับโรงบำบัดน้ำเสีย หรือต้องมีเครื่องบำบัดน้ำเสียของตัวเอง และมีการควบคุมในหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การอนุญาตสร้างโรงแรม มีการตรวจสอบมากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อภูเก็ตในระยะยาว”

การเน้นตลาดคุณภาพที่ไม่ใช่กลุ่ม Budget หรือ Mass คือสิ่งที่เขาอยากเห็น หลังจากช่วงปี 2019 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมาก มีผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาเป็นครอบครัวและอยู่เป็นเวลานาน จับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่นค่อนข้างมาก ถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ดี เป็นประโยชน์ในระยะยาวสำหรับคนท้องถิ่น ควรรักษาและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายด้านนี้

ภูเก็ต

• พัฒนาเรื่องคมนาคม

“สิ่งที่อยากได้มากคือการพัฒนาด้านคมนาคม ที่ผ่านมามีแต่คำพูดแต่ไม่มีการกระทำเกิดขึ้น เรื่องนี้คือปัญหาและหัวใจหลักของการท่องเที่ยวเลย คุณจะตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5 ล้านคนหรือกี่ล้านคนไม่ว่า แต่ถ้าการคมนาคมไม่มีการพัฒนา มันก็เป็นเรื่องยาก” เสียงสะท้อนจาก เผด็จ วุฒิชาญ ผู้ก่อตั้งหม่อเส้งมิวเซียม (Moh Seng Museum) และโรงแรมหวู (WOO Gallery & Boutique Hotel)

ด้วยหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวคือความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมที่ดี เขามองว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการโฆษณา เพราะหากโครงสร้างพื้นฐานไม่ตอบสนองความต้องการเพียงพอ การท่องเที่ยวก็ไปไหนไม่รอด ตรงกันข้ามหากการคมนาคมดีขึ้น เช่น มีรถไฟรางเบา สร้างถนนเพิ่ม ไม่เพียงจะช่วยลดปัญหารถติด หากยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

เผด็จ เล่าว่าที่ผ่านมาได้เคยเสนอแผนให้จังหวัดและ อบจ. เกี่ยวกับถนนเส้นใหม่ที่มีเส้นทางจะทำได้ กว้าง 50 เมตร ยาว 22 กิโลเมตร ตัดตรงจากสนามบินมายังหลังธนาคารกรุงศรีฯ ในตัวเมือง ยกเป็นทางต่างระดับ หรือเก็บค่าผ่านทางก็ได้ เพื่อแก้ปัญหารถติด ส่วนใครไม่สะดวกในการจ่ายค่าบริการ ก็สามารถใช้เส้นทางปกติได้ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา

ภูเก็ต

นอกจากเรื่องคมนาคมแล้ว การจัดเวทีการประชุมนานาชาติ หรือตลาด MICE ก็เป็นเรื่องที่อยากให้มีการส่งเสริมมากขึ้น แต่สุดท้ายก็โยงมายังเรื่องศักยภาพด้านคมนาคมที่เป็นหัวใจสำคัญอยู่ดี

สอดคล้องกับความต้องการของ ฉลอง ลอยสมุทร เจ้าของกิจการ SURF STEP CAMP ที่อยากเห็นการพัฒนาด้านขนส่งสาธารณะ เพราะรถบริการสาธารณะที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ เช่น จากสนามบินมาหาดกะตะ ต้องใช้เงินถึง 1,000 บาทในการใช้บริการแท็กซี่ ขณะที่สมาร์ตบัสก็ไม่ครอบคลุมภาพรวมทั้งหมดของภูเก็ต

“เราอยากได้สาธารณูปโภค เช่น รถสาธารณะ มันจะแก้ปัญหาภาพลักษณ์แง่ลบของแท็กซี่ด้วย ที่ผ่านมาแก้ไม่ได้เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามีทางเลือกอย่างเช่น สมาร์ตบัส รถรางเบา หรือการขนส่งที่หลากหลายขึ้น ปัญหาเรื่องแท็กซี่ก็จะไม่เกิดขึ้น ไม่ต้องบ่นกันเรื่องราคาแพง ไม่ต้องทะเลาะกับคนขับ การแก้กับคนมันไม่ตอบโจทย์ ต้องแก้ในระบบ เช่น ถ้าเรามีปัญหาเรื่องแท็กซี่ ก็ต้องแก้เรื่องการขนส่งมวลชน”

ภูเก็ต

• ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ในฐานะเจ้าของร้าน Torry’s Ice cream ร้านไอศกรีมพรีเมียมโฮมเมดในย่านเมืองเก่าที่ตั้งใจถ่ายทอดวัฒนธรรมความเป็นภูเก็ตผ่านไอศกรีม ทอร์รี วงศ์วัฒนกิจ อยากเห็นการผลักดันการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม เล่าสตอรีเกี่ยวกับย่านเมืองเก่า วัฒนธรรม ความเป็นมาของภูเก็ต มากกว่าการโปรโมตเฉพาะป่าตอง หรือปาร์ตี้ไลฟ์สไตล์

“จริงๆ แล้วเรามีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างดี อยากให้โฟกัสการท่องเที่ยวในด้านนี้อย่างจริงจัง เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พร้อมกับปลุกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวมีความเคารพ รับผิดชอบต่อแหล่งท่องเที่ยวและสังคมมากขึ้น ตระหนักถึงการช่วยกันดูแลรักษา ไม่ใช่เอาทุกอย่างมาทิ้งไว้”

ปัญหาของย่านเมืองเก่าตอนนี้คือเรื่องขยะที่ไม่มีถังขยะสาธารณะชัดเจน กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวเอาขยะไปวางหน้าบ้านคนในชุมชนทุกวัน เขามองว่าจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางจุดทิ้งขยะอย่างชัดเจน หรือการพัฒนาเรื่องความยั่งยืน โดยการรีไซเคิล ลบความคิดของนักท่องเที่ยวที่รู้สึกว่าจะทำอะไรก็ได้ เพราะนี่คือประเทศไทย!

ภูเก็ต

• ขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง

วีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิงป่าตอง บอกว่า ตอนนี้คาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพอสมควร หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลเดินไปได้ไม่เต็ม 100 เท่าที่ควร ซึ่ง ณ วันนี้เสียงของประชาชนได้ตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังแอบกังวลว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมีปัญหา เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมา เสียงอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลและมีการลงถนนเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะพังอีก

วันนี้ภูเก็ตถือเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก แต่การคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ตอบโจทย์อย่างที่ควรจะเป็นในมุมมองของ วีรวิชญ์ เช่นเดียวเวลาเปิด-ปิดของบาร์และสถานบันเทิงที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

“เราอยากให้มีการขยายเวลาเปิด-ปิดผับบาร์ (ถึงตี 4) เพื่อต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทุกวันนี้ก็มีการเปิดเกินเวลาอยู่แล้วแต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากทำให้ถูกกฎหมาย ก็ได้นำเงินส่วนนี้มาจ่ายให้กับประเทศชาติดีกว่า”

ยกตัวอย่างตามกฎหมายกำหนดปิดตี 2 พอขยายเวลาเป็นตี 4 ก็ขยายการเก็บภาษีเฉพาะพวกบาร์เบียร์หรือสถานบันเทิงต่างๆ และได้นำภาษีนั้นมาใช้พัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ เขายังอยากให้มีการปรับภาพลักษณ์ด้วยการจัดระเบียบต่างๆ ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแท็กซี่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

ภูเก็ต

• เขตเศรษฐกิจพิเศษ

“อยากให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” รุ่งอรุณ ช่อมณี ผู้ประกอบการร้านอาหาร The Kitchen Patong, Mojo Patong และอีกหลายร้าน บอกความปรารถนาเมื่อเราถามถึงทิศทางของเมืองท่องเที่ยวชื่อดังก้องโลกที่อยากเห็น

เพราะเธอมองว่าการท่องเที่ยวคืออาชีพหลักของคนภูเก็ตที่ต้องการการบริหารจัดการแบบพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี เวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง อาชีพบริการ เนื่องจากปัจจุบันกฎเกณฑ์บางอย่างไม่ตอบโจทย์วิถีทางของเมือง ทำให้ต้องเผชิญปัญหาเสียค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะเยอะมาก แต่หากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พวกเขาสามารถบริหารจัดการตัวเองและสามารถเปิดเสรีในกิจการหรืออาชีพบางอย่างที่เคยถูกจำกัด เช่น กาสิโน หรือเซ็กเวิร์กเกอร์แบบถูกกฎหมาย รวมถึงการขยายเวลาเปิด-ปิดผับบาร์ให้เหมาะกับบริบทที่เป็นอยู่โดยไม่ต้องแลกกับการเสียค่าใช้จ่ายนอกระบบ แต่นำทุกอย่างเข้าระบบเพื่อนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่นได้ต่อ

“บริบทของภูเก็ตอาจไม่เหมือนกับหลายๆ จังหวัดในประเทศ เมื่อนโยบายทุกอย่างมาจากส่วนกลาง หลายอย่างไม่เข้ากับพื้นที่ และด้วยภูเก็ตสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงอยากให้ดูแลจัดการตัวเองในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งเพื่อขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยวและพัฒนาไปไกลกว่านี้ และอาจมีการกำหนดเรื่องภาษีอย่างไรก็ว่ากันไป”

ภูเก็ต

• ยกระดับท่องเที่ยวชุมชน ควบคุมทุนต่างชาติ

การท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นเทรนด์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ แต่ประเสริฐ ฤทธิ์รักษา ประธานท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง จ.ภูเก็ต บอกว่า ที่ผ่านมามีการส่งเสริมเรื่องการตลาดและประชาสัมพันธ์น้อยมาก แม้จะการยื่นขอภาครัฐมาหลายปีแล้วก็ตาม การตลาดเป็นปัญหาหลักของการท่องเที่ยวชุมชนที่ยังไม่ทั่วถึง ชุมชนต้องวิ่งกันเอง ทำกันเองทุกอย่าง บางชุมชนขาดศักยภาพ บางชุมชนก็ไปได้นิดๆ หน่อยๆ ไม่สุด เพราะลูกค้าไม่รู้จัก ไม่มีข้อมูล

ภูเก็ตเรามีนักท่องเที่ยวอยู่รอบตัวเยอะมาก แต่เขาบอกว่ากลับไม่สามารถดึงเข้ามาในชุมชนได้ ไม่มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนจริงๆ เป็นรถที่วิ่งผ่านหมู่บ้าน ผ่านไปแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลัก เอาควันพิษ อุบัติเหตุ อะไรต่อมิอะไรเข้ามาแต่ไม่ใช่รายได้ หลายชุมชนเจอปัญหาแบบนี้เยอะมาก

“เราอยากเห็นการสนับสนุนและยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น พร้อมกับจำกัดนักท่องเที่ยว เน้นกลุ่มคุณภาพ และควบคุมการสร้างโรงแรมใหม่ เพราะทรัพยากรถูกทำลายไปเยอะมาก เวลาฝนตกก็มีปัญหาน้ำท่วม เพราะก่อสร้างจนคลองธรรมชาติหายไปหมด จากกว้างเป็นแคบ จากป่าสมบูรณ์กลายเป็นภูเขาหัวโล้น”

“ยิ่งตอนนี้รัสเซียกับจีนมาสร้างโรงแรม วิลล่าเยอะมาก จนเจ้ากิจการที่เป็นคนภูเก็ตเองได้รับผลกระทบ  ตอนนี้โรงแรม ร้านอาหาร ทัวร์ เรือ หรือแม้กระทั่งรถรับส่งก็เป็นของเอเยนต์ต่างชาติทั้งนั้น เข้าอีหรอบเดิม (เหมือนเดิม) คือทัวร์ศูนย์เหรียญ กลายเป็นคนภูเก็ตได้รับผลประโยชน์น้อย อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะมาขอให้เน้นคุณภาพ พักในโรงแรมที่มีอยู่แล้ว และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เช่น นำโปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนเข้าไปอยู่ในโรงแรม”

ภูเก็ต

เช่นเดียวกับ เชาวิศร์ ประดับศรีเพชร กรรมการ Andaman Passion ที่มองว่า “ท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศ เงินที่เข้าประเทศก็อยากให้ไปถึงคนไทยและชาวบ้าน ไม่อยากให้ไปกระจุกอยู่ที่ต่างชาติแล้วก็ขนเงินกลับบ้านเขา”

เจ้าของบริษัทเรือนำเที่ยว บอกว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ถือว่าโอเค แต่อยากให้มีมาตรการดูแล ควบคุมกิจการต่างชาติ หรือทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เขามาใช้ทรัพยากรบ้านเรา แต่เงินกลับไปเข้าเขาทั้งหมด ทั้งที่มันควรจะมาถึงคนไทย และน่าจะเป็นรายได้จำนวนมหาศาลที่จะนำมาพัฒนาประเทศ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นได้

ภูเก็ต

• มาตรการราคาแท็กซี่ที่ชัดเจน

ในฐานะของผู้ประกอบการแท็กซี่ที่ถูกมองภาพรวมในเชิงลบ ยุพารัตน์ ภักดีวงศ์ อยากให้มีมาตรการควบคุมราคาค่าบริการที่ชัดเจน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ให้คนในท้องถิ่นอยู่ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการแอปพลิเคชันที่ไม่ควรทำราคาถูกจนเกินไป หรือแท็กซี่ท้องถิ่นที่ตั้งราคาโหดเกินไป

“เข้าใจว่าโลกต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงและแข่งขัน ใครก็อยากเข้ามาทำมาหากิน แต่ก็ควรมีมาตรการควบคุมดูแลที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ต้องตีกัน ไม่ต้องทะเลาะกัน ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวก็ไม่เสีย”

เธอยอมรับว่า ปัญหาของแท็กซี่ท้องถิ่นในภูเก็ตคือการมีคิวของแต่ละพื้นที่ ทำให้ไปส่งแขกแล้วต้องตีรถเปล่ากลับตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่สามารถเปิดมิเตอร์รับขากลับได้อิสระเหมือนบริการแอปพลิเคชัน บวกกับระยะทางจากสนามบินไปแต่ละที่ก็ค่อนข้างไกล แต่ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องอิทธิพลที่มีอยู่จริง โดยก่อนหน้านี้เคยมีการปรับราคากันมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการควบคุมอย่างจริงจังก็กลับมาเหมือนเดิม เช่นเดียวกับรถป้ายดำที่ปล่อยให้เข้ามาวิ่งได้ มันไม่ยุติธรรมกับแท็กซี่ถูกกฎหมาย

“กว่าจะได้ใบขับขี่ประเภทสองมา เราต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ต้องเสียภาษีแพงกว่ารถทั่วไป อยากให้ดูแลสิทธิของพวกเราด้วย เมื่อมีมาตรการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ปัญหาก็จะไม่เกิด”

Tags: