About
RESOUND

ว่าด้วยวิชาปัดฝุ่น

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ…ว่าด้วยวิชาปัดฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ สร้างลมหายใจที่ยั่งยืน

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 16-02-2021 | View 2329
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปี 2562 เป็นปีที่เชียงใหม่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงทะลุเป็นอันดับ 1 ของโลกหรือเท่ากับ 170 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ซึ่งปกติค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.
  • ฝุ่น PM2.5 คือตัวการร้าย ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 40,000 คน
  • สภาลมหายใจเชียงใหม่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มชาวเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ เดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่นควันโดยเน้นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความยั่งยืน

เช้าตรู่วันที่ 12 มีนาคม 2562 เป็นวันที่เชียงใหม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 สูงทะลุเป็นอันดับ 1 ของโลก ท้องฟ้าในวันนั้นเปลี่ยนเป็นสีส้ม หมอกขาวปกคลุมทั่วเมือง มองไม่เห็นแม้แต่ดอยสุเทพ ส่วนก้อนเมฆถูกกลบด้วยฝุ่นละอองอณูจิ๋ว

ภาพเมืองเชียงใหม่ที่สวยงาม เป็นเมืองในฝันที่หลายคนอยากใช้ชีวิตบั้นปลาย กลับพังทลายลงยับเยิน พร้อมๆ กับ ‘ใจ’ ที่หมดศรัทธาในการแก้ปัญหาของภาครัฐ และปล่อยให้ชาวเชียงใหม่อยู่สู้ฝุ่นมายาวนานถึง 14 ปีเต็ม ที่น่ากลัวกว่านั้น คือจำนวนผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงลิ่วยิ่งกว่าโควิด-19 ถึงปีละ 40,000 คน ส่วนผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง จะมีอายุขัยเฉลี่ยลดลงปีละ 0.98

เมื่อการแก้ปัญหาจากภาครัฐคือความล้มเหลว เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ กอปรกับโครงสร้างบริหารจัดการที่มีความซับซ้อน และยากจะเปลี่ยนแปลง จึงก่อให้เกิดการรวมตัวของชาวเชียงใหม่ในชื่อว่า ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่นควัน เน้นกระบวนการให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยมี ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นประธานสภาฯ และพันธมิตรจากกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม คนในชุมชน ชนเผ่าในเมือง นักวิชาการ องค์กรธุรกิจ และศิลปิน

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

14 ปีที่เชียงใหม่เป็นเมืองอมฝุ่น

สภาลมหายใจเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2562 ปีที่เชียงใหม่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่สวยงามเหมือนทุกครั้ง เพราะในเวลานั้นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าน่าอยู่มากที่สุด อบอวลไปด้วยค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงถึง 170 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. (ค่ามาตรฐานปกติไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.)

“คนส่วนใหญ่คิดว่า PM2.5 ในเชียงใหม่ ถ้าช่วยกันดับไฟ ปัญหาน่าจะหมดไป แต่พอลงลึกกับมันจริงๆ กลับไม่ใช่ มันเกิดจากหลายเรื่อง เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีลักษณะการเคลื่อนไหว ไม่อยู่กับที่ ตั้งแต่ฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งสูงกว่าบ้านเราสามเท่า ฝุ่นพวกนี้เข้ามาตามกระแสลม ถ้าลมตะวันตกจะมาจากรัฐฉาน เมียนมา ถ้าเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ก็มาจากกัมพูชา ส่วนลมทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมาจากลาว” ชัชวาลย์ หรือ อาจารย์ชัช เล่าถึงสาเหตุของฝุ่นควัน ที่ไม่ได้เกิดจากการเผาป่าหรือการทำเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือเพียงปัจจัยเดียว

“สองคือการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและระบบคมนาคมขนส่ง แต่ไม่มีข้อมูลปรากฏ เพราะที่ผ่านมาเราใช้ Hotspot หรือดาวเทียมตรวจสอบเฉพาะจุดที่เกิดไฟป่า แต่รถยนต์กับโรงงานมีแต่ควัน ไม่มีการเผาไหม้ แล้วโรงงานเปิด 365 วัน รถยนต์ก็เช่นกัน ทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ก็เท่ากับเราได้ปล่อย PM2.5 แล้ว”

ทุกคนคือผู้สร้าง?

ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใคร แต่เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นร้ายทำลายโลก “ถ้าพูดตามตรง ปัญหาฝุ่นควันก็มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มันโตขึ้น เมืองขยายตัว ระบบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การก่อสร้างมากขึ้น จำนวนรถยนต์ก็สูงขึ้น จากระบบเกษตรที่เคยเป็นแบบยังชีพก็เป็นเพื่อการขาย ทุกสาเหตุของ PM2.5 เกิดจากทุกคนมีส่วนสร้าง เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือจะทำยังไงให้ทุกคนเข้าใจปัญหาแล้วเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น จอดรถให้ปิดเครื่องทันที โรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งเครื่องกรองเพิ่มดีไหม เพิ่มจำนวนรถสาธารณะ หรือรถยนต์เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแทน ส่วนเศษใบไม้แห้งแทนที่จะเผา ก็ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ” อาจารย์ชัช อธิบาย

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน ชายวัยเกษียณผู้นี้ย้ายมาทำงานและปักหลักที่เชียงใหม่ การทำงานในหมู่บ้านภาคเหนือ ทำให้เขาเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกับป่า จนปี 2550 ได้มีการเสนอประเด็นเรื่องฝุ่นควันในเชียงใหม่เข้าครม.เป็นปีแรกในสมัยที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเป็นรองนายกฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน แต่เรื่องก็เงียบไปหลังจากเปลี่ยนรัฐบาล อาจารย์ชัช เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม รักษ์สิ่งแวดล้อม มองเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันยังเป็นประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว และประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา

กิจกรรมของสภาลมหายใจเชียงใหม่

ฤดูกาลฝุ่นควัน = ฤดูท่องเที่ยวเชียงใหม่

ดอกไม้เมืองเหนือบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาว และก็เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่คึกคักของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่กี่ปีมานี้ กลับเป็นฤดูกาลฝุ่นครองเมือง ซึ่งทำหน้าที่ ‘ไล่แขก’ อยู่กลายๆ เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูกลับซบเซา นักท่องเที่ยวเงียบเหงาและเบาบาง ส่วนโครงการที่จะพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นฮับสุขภาพ คงต้องพับยาว เมื่อภาพลักษณ์ของเมืองอากาศดี ย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่ค่า PM2.5 ยังสูงลิ่วทุกปี โดยค่าฝุ่นในปี 2563 เท่ากับ 287 มคก./ลบ.ม. (วัดค่าเดือน เม.ย.) ซึ่งยังคงครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก

“สถานการณ์ฝุ่นควันทำให้เกิดฤดูกาลใหม่ในเชียงใหม่ที่เรียกว่า ‘ฤดูฝุ่นควัน’ ซึ่งจะเกิดช่วงไฮซีซั่น ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคธุรกิจ

“ที่สำคัญกว่านั้นคือสุขภาพของคนเชียงใหม่ บางข้อมูลที่เราไม่ได้รับรู้ เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ ซึ่งมาจากปัจจัยของ PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นมากจากปี 2562 ถึง 60,000 กว่าคน ส่วนปี 2563 พุ่งขึ้นมา 145,000 คน”

ลึกไปกว่านั้นคือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับ PM2.5 ในปีที่ผ่านๆ มา สูงทะลุ 40,000 คน ตัวเลขที่น่าตกใจนี้ เป็นจำนวนที่สูงกว่าโควิด แต่คนกลับไม่ค่อยตระหนัก อาจเพราะเป็นโรคที่ไม่ได้เห็นผลทันตา รวมทั้งสาเหตุการตายก็ไม่ได้ระบุชัดว่ามาจาก PM2.5

กิจกรรมสภาลมหายใจเชียงใหม่

“สมัยก่อน ระบบนิเวศเราดี ฝุ่นควันก็จะระบายอากาศได้ตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเกิดภาวะโลกร้อน การยกตัวของอากาศน้อยเพียง 1-2 กม. ฝุ่นควันในอากาศจึงถูกล็อกตัวอยู่ในแอ่งกระทะตามลักษณะภูมิประเทศของเชียงใหม่ ซึ่งแอ่งกระทะเชียงใหม่ลำพูนนั้นใหญ่มากนะ ทำให้อากาศกลุ่มหนัก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ PM2.5 ลงมากองอยู่ในแอ่ง โดยเฉพาะ ก.พ-เม.ย. จะมีลักษณะอากาศกดตัวต่ำ พอยิ่งเกิดไฟป่าในช่วงเวลานี้ ก็ยิ่งทำให้ฝุ่นควันทะลักลงมาเพิ่ม จากที่เต็มอยู่แล้ว ก็แทบกระอักเลย จนถึงสงกรานต์ อากาศจะยกตัวสูงขึ้นประมาณ 10-15 กม. ฝุ่นควันก็จะค่อยๆ ระบายไปได้”

เปลี่ยนจาก ‘บังคับ’ เป็นการมี ‘ส่วนร่วม’

อาจารย์ชัชเล่าว่า ที่ผ่านมาวิธีแก้ปัญหาของภาครัฐเป็นการแก้เฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ และมีลักษณะเป็นคำสั่งจากส่วนกลางลงมา ไม่ได้เข้าไปศึกษาหรือทำความเข้าใจร่วมกับชุมชน จนเกิดเป็นช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Zero Burning ประกาศห้ามเผาของรัฐ จึงใช้ไม่ได้ผลแม้แต่น้อย

“ปีที่แล้วมีการแจ้งความเผาป่าพันกว่าคดี แต่จับใครไม่ได้เลยเพราะเป็นการเผาแล้วหลบ ปีนี้จึงมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งต้นโดยผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ต้นปี 2563  จึงใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งเราเชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต”

“เราเปลี่ยนจากห้ามเผาเด็ดขาดหรือ Zero Burning มาเป็น ‘การบริหารจัดการเชื้อเพลิง’ มีการทำแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘Thai Air Quality’ เพื่อให้คนในพื้นที่ ‘จองเบิร์น’ หรือ ‘จองเผา’ ผ่านแอปฯ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช.เป็นผู้พัฒนาระบบ

“แอปฯ ตัวนี้จะบอกว่าวันนี้มีที่ไหนจองเผาเข้ามาบ้าง และมีคำสั่งให้กด ‘อนุมัติ’ หรือ ‘ไม่อนุมัติ’ ซึ่งฝ่ายวิชาการจะเป็นผู้เสนอข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณาจากอุณหภูมิ ความกดอากาศ ทิศทางลม ค่า PM2.5 ปีนี้ระบบเราพร้อมมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ 100% เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการใหม่ เราพยายามเชื่อมโยงแผนของชุมชน กับข้อมูลฝ่ายวิชาการ และทางจังหวัดเพื่อพัฒนาระบบให้ลื่นไหล แม้ว่าความเข้าใจของชาวบ้านในการใช้งานอาจมีข้อจำกัด แต่เราเชื่อว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น”

กิจกรรมของสภาลมหายใจเชียงใหม่

 

แก้ต้นเหตุ เพื่อความยั่งยืน

หนึ่งในความสำเร็จของ สภาลมหายใจเชียงใหม่ คือการรวมตัวกันของทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นควัน จนกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในภาคประชาชน อีกส่วนคือการลดช่องว่างระหว่างชุมชนกับภาครัฐ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอีกด้านที่ไม่เคยรู้ “เราเพิ่งรู้มาว่า ศูนย์ควบคุมไฟป่าของเชียงใหม่มีเพียง 13-14 แห่ง ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่และงบที่เพียงพอกับการดูแลป่านั้นมีเพียง 20% อีก 80% ที่เหลือ เขาดูแลกันไม่ไหว ปีนี้เรามีชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าไปช่วยเหลือ ในส่วนที่เป็นสุญญากาศหรือส่วนที่เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ไหว”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

สภาลมหายใจเชียงใหม่ เริ่มต้นทำงานอย่างจริงจังต้นปี 2563 โดยเน้นการแก้ปัญหาทุกต้นเหตุของฝุ่นควัน มีแผนระยะสั้น กลาง ยาว และแบ่งคณะทำงานออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น โซนเมือง จะศึกษาเรื่องคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง โซนเกษตรและพื้นที่ป่า จะลงพื้นที่ไปดูแนวเขตที่ทำกินกับป่าธรรมชาติ การเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชที่ยั่งยืน เรื่องการปลูกไร่หมุนเวียน และการจัดการป่าโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ฝ่ายธุรกิจ จัดการด้านการตลาด เช่น สนับสนุนการเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชที่ยั่งยืน จะต้องทำอย่างไร ซึ่งตอนนี้กำลังทำเรื่องปุ๋ยจากเศษใบไม้แห้งกัน นอกจากนี้ยังมี ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคสื่อสาร

“ปีที่ผ่านมา เราทำงานกันอย่างเต็มระบบ โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก หรือเป็นตัวตั้ง มีองค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยประสานงานในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ต้องให้คนในพื้นที่ทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง แล้วส่งต่อมาที่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดเพื่อทำการจองเผาหรือบริหารจัดการเชื้อเพลิง

“อย่างโซนใต้ (อมก๋อย ดอยเต๋า แม่แจ่ม ฮอด) ใบไม้แห้งช่วง ม.ค –ก.พ. โซนกลางเบากว่าโซนอื่นๆ ตรงกับเดือน ก.พ.-มี.ค. โซนเหนือ (แม่อาย เชียงดาว ไชยปราการ ฝาง) เริ่มตั้งแต่ มี.ค.-เม.ย.

“ปีนี้ทางจังหวัด ตั้งเป้าลดค่า PM2.5 ให้ได้ 25% หมายถึงลดจุด Hotspot การเผาไหม้ให้ได้ 3 แสนกว่าไร่ ปีที่แล้วพื้นที่ไหม้คือ 1.3 ล้าน ปีนี้เราหวังว่าจะลดเหลือ 1 ล้าน ปีหน้า และเหลือ 7 แสน 4 แสน 3 แสนในปีถัดๆ ไป แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีก แต่เราเชื่อว่ามันจะค่อยๆ ลดลงถ้าเราสามารถทำกระบวนการแบบนี้ได้อย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง และทุกฝ่ายร่วมมือกัน สถานการณ์ PM2.5 จะลดลงในอีก 4-5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ส่วนผลการทำงานปีที่ผ่านมา จะมีการสรุปบทเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้” หรือหลังผ่านฤดูฝุ่นในเชียงใหม่ไปแล้วนั่นเอง

เชียงใหม่ในฝัน

แม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองเปื้อนฝุ่นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลายเดือนที่เหลือ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าผู้คนเป็นมิตรที่สุดในโลกแห่งนี้ คือเมืองท่องเที่ยวที่สะอาดและสวยงามในสายตานักท่องเที่ยว มีป่าไม้เกือบ 80% ของพื้นที่ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 725 ปี เมื่อถามถึงเชียงใหม่ในฝันที่อาจารย์ชัชอยากเห็น เป็นแบบไหน ? คำตอบที่ได้คือ อยากเห็นเชียงใหม่เป็น ‘เมืองสีเขียวที่ยั่งยืน’

“เชียงใหม่เป็น ‘วนานคร’ หรือเมืองที่อยู่ติดป่า เป็นเมืองต้นน้ำลำธารขนาดใหญ่ เรามีดอยสูงสุดของประเทศถึง 3 ลูก คือ ดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก และดอยหลวงเชียงดาว ระบบเกษตรจึงควรเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ควรเป็นเกษตรที่ทำลายล้าง ด้านเศรษฐกิจ ควรเป็นระบบเศรษฐกิจสองฐาน ที่เอื้อกับทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะเราเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม มีสล่าเยอะมาก ซึ่งคนเหล่านี้คือต้นทุนสำคัญ ที่เด็กรุ่นใหม่ควรเรียนรู้ภูมิปัญญา สืบสานและสืบทอด

“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เชียงใหม่มีระบบบริหารจัดการด้วยองค์ความรู้และภูมิปัญญาของตัวเอง อยากเห็นเชียงใหม่ที่ยังรักษาความเป็นเมืองเก่าเอาไว้ แต่ก็อยู่ร่วมกับความใหม่ได้อย่างดี เชื่อว่าถ้าทำแบบนี้แล้วฝุ่นควันจะลดลงโดยอัตโนมัติ เพราะตอนนี้เมืองเป็นระบบเศรษฐกิจที่ทำลายล้าง เป็นระบบเศรษฐกิจที่สร้างไฟ ถ้าเปลี่ยนเป็นแนวนิเวศหรือ go green ทุกอย่างจะเปลี่ยนตาม ทั้งระบบเกษตร ป่า เมือง จะเริ่มเย็นลง พอเย็นลง ไฟก็ลด PM2.5 ก็ลดตามไปในตัว” อาจารย์ชัชทิ้งท้ายชวนให้คิด


โมเดลของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ถือเป็นต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง และหากได้ผลดี จะถูกนำไปใช้กับเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือ ที่กำลังประสบชะตากรรมฝุ่นควันเหมือนกัน

ภาพกิจกรรมในป่าจากเพจ สภาลมหายใจเชียงใหม่

Note to know

ชวนไปชม ‘นิทรรศการ Art for Air ศิลปะสู้ฝุ่น’ จากความร่วมมือของสภาลมหายใจเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรมเมือง และสเปซทางศิลปะอิสระ เป็นการนำเสนอมุมมองต่อปัญหาฝุ่นควันและโลกร้อนของศิลปินทั่วประเทศกว่า 60 ชีวิต ที่จะมาสร้างโครงการศิลปะในพื้นที่ทั่วเขตเมืองเก่า เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยใหม่เอี่ยม อ.สันกำแพง เริ่มตั้งแต่วันนี้ -30 เม.ย.2564

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.artforair.org

Tags: