About
BALANCE

Happy Life

รีวิวชีวิต ‘ปูเป้ทําเอง’ ตัวมัมสายเกษตรอินทรีย์ เน้นพึ่งตัวเองในวิถีสโลว์ไลฟ์ที่เลือกได้

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 22-06-2024 | View 2178
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บุกถึงบ้านปูเป้ – สุพัตรา ไชยชมภู ผู้ก่อตั้งแฟนเพจและเจ้าของแบรนด์ ‘ปูเป้ทำเอง’ ชวนย้อนความหลังก่อนตกผลึกเป็นคนเมืองที่มีไลฟ์สไตล์อิงวิถีเกษตรอินทรีย์ และแบ่งปันสิ่งที่ทำจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนอยากมีชีวิตเรียบง่ายและมีความสุขเช่นเธอบ้าง

ต่อให้ประตูรั้วจะไม่มีป้าย ‘ปูเป้ทำเอง’ แขวนไว้ มั่นใจว่าแขกไปใครมาก็เดาได้ไม่ยากว่าต้องเป็นหลังนี้แน่ๆ เพราะมองเข้ามาก็เห็นกระถางน้อยใหญ่เรียงแถวหน้ากระดานตั้งซ้อนไล่ระดับยังกับอัฒจันทร์ต้นไม้ แถมยังมีบ้านไก่สูงโปร่งติดมุ้งลวด ไม่มีเค้าเล้าไก่หรือสุ่มไก่ที่เคยเห็นเลย

เล้าไก่ในภาพจำมักสกปรกและเหม็นขี้ไก่ลอยมาแต่ไกล บ้านไหนเลี้ยงไก่จึงต้องไว้หลังบ้านหรือไม่ก็ห่างจากตัวบ้านไปเลย แต่บ้านไก่ที่นี่กลับอยู่หน้าบ้าน เหมือนบอกเป็นนัยให้รู้ว่าเอาอยู่เรื่องความสะอาด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะมุ้งลวดที่ไม่เพียงช่วยกันยุงไม่ให้กัดตาไก่ แต่ยังกันแมลงวันไม่ให้เข้าไปตอมอาหารหรือตอมขี้ไก่อีกด้วย ว่าแต่ทำไมถึงไม่ได้กลิ่นขี้ไก่เลยล่ะ

ปูเป้ - สุพัตรา ไชยชมภู เจ้าของบ้านส่งยิ้มทักทายนำมาแต่ไกล เรายังไม่ทันได้ถามเรื่องกลิ่นขี้ไก่ให้หายข้องใจ เพราะมัวตื่นตาตื่นใจกับสวนขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยกระถางผักกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ แต่ที่ทำเอาอึ้งจนอดร้องว้าวออกมาไม่ได้ ก็คือชั้นวางสินค้าและอาหารแปรรูปออร์แกนิกในห้องรับแขกที่ทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นหน้าร้านแบรนด์ปูเป้ทำเองด้วย

ปูเป้ขอตัวเข้าไปในครัวก่อนกลับออกมาพร้อมโหลใส่น้ำอินฟิวส์ที่แช่ผักผลไม้สีสันสดใส เป็นเวลคัมดริงก์ที่ดื่มแล้วสดชื่นมากๆ ได้เวลาไปรู้จักสาวม้าเต่ออารมณ์ดีคนนี้กันแล้ว

ปูเป้ทำเอง

ชีวิตต่างจังหวัด…บ่มเพาะและปูพื้นการพึ่งตัวเองมาตั้งแต่เด็ก

ปูเป้เติบโตในครอบครัวชาวสวน ในสังคมของจังหวัดตากจากการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายายมาตั้งแต่แบเบาะ เพราะพ่อแม่หย่าร้างกัน ตั้งแต่เล็กเธอติดสอยห้อยตามตาเข้าป่าเข้าสวน เรียนรู้การเป็นแม่ค้าจากย่า และได้ปู่อดีตทหารเกษียณปลูกฝังระเบียบวินัยให้ สอนให้รู้จักรับผิดชอบ และฝึกให้ทำงานบ้านเป็นตั้งแต่ 7-8 ขวบ ด้วยการแบ่งให้หลานๆ ช่วยกันทำงานบ้าน ปูเป้ในวัยนั้นไม่รู้เหตุผลว่าทำไมต้องทำ รู้แต่ว่าทำแล้วสนุกและมีความสุขที่ได้ทำ

สมัยนั้นเด็กๆ มักแข่งกันออมเงินใส่กระปุกออมสิน “ปูเป้เป็นคนหยอดเก่ง (หัวเราะ) เพราะมีรายได้หลายทาง วันหยุดจะไปช่วยย่าขายของก็ได้เงิน พอกลับจากโรงเรียนจะเข้าสวนตัดใบเตย เก็บกะเพรา ใบบัวบก เอามากำเป็นมัดๆ หน้ามะม่วงก็สอยมะม่วงแล้วฝากย่าไปขายที่ตลาดตอนเช้ามืด แล้วก็รับจ้างป้าช่วยห่อขนมเทียนกับข้าวต้มมัด แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเทอม จะเข้ากรุงเทพฯ มาหาอาที่ทำร้านเวดดิ้ง ช่วยปักเลื่อมติดดิ้น เย็บผ้า ทำให้เย็บเสื้อผ้าเป็น พอมีเงินมากเข้า ย่าแนะนำให้เก็บเป็นทอง ก็เริ่มจากแหวนเฟื้องก่อนแล้วค่อยขยับเป็นทองสลึง ซื้อแล้วฝากย่าไว้ ถ้าไปวัด ย่าก็จะเอาทองมาให้หลานใส่”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

ปูเป้บอกเราว่า เธอชอบเงินตั้งแต่เด็ก ทั้งที่ยังไม่รู้จะนำไปใช้อะไร เลยไม่ค่อยได้เล่นซนกับเพื่อนๆ นอกจากช่วยย่าป้าอาแล้ว ใครจ้างให้ทำอะไรก็รับหมด ทั้งตีตารางหมอนฟักทอง ถักปลอกหมอนพระ ถักโครเชต์ชุดตุ๊กตา ปักเสื้อนักเรียน ซึ่งไม่เพียงได้เงินสมใจ ยังได้ทักษะงานฝีมือติดตัวมาด้วย จึงโดดเด่นทั้งงานเย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ร้อยมาลัย ส่วนด้านวิชาการก็ไม่น้อยหน้า เรียนดีขนาดที่สอบชิงทุนพระราชทานได้ ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวด้านค่าเล่าเรียนของตัวเอง เรียกได้ว่าการเรียนดี กิจกรรมเด่น เป็นตัวแทนโรงเรียนทำกิจกรรมต่างๆ การันตีความสามารถด้วยใบประกาศนียบัตรเป็นตั้งๆ

ปูเป้เลือกเรียน ปวช. ซึ่งเป็นสายอาชีพ เพราะตั้งใจไม่เอนทรานซ์ตั้งแต่แรก เมื่อเรียนจบจึงมาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะได้มีเวลาทำงานหาเงินส่งเสียและรับผิดชอบชีวิตตัวเอง โดยมีพี่สาวเบิกทางเข้ามาเรียนและทำงานหาเลี้ยงตัวเองอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างให้ก่อนแล้ว

ปูเป้ทำเอง

บททดสอบจริงรออยู่ที่กรุงเทพฯ

ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ปูเป้มีรายได้พิเศษตลอด เพราะทำงานทุกอย่าง โดยงานแรกอย่างเป็นทางการคือการเป็น PG (Promotion Girl) หรือพนักงานเชียร์สินค้า เธอย้อนเล่าให้ฟังอย่างสนุกว่า “เพื่อนพี่สาวเห็นหน่วยก้านแล้วชวนไปทำแต่ต้องสอบสัมภาษณ์ให้ผ่านก่อนนะ แล้วคนที่รอสัมภาษณ์มีแต่สาวๆ สวยๆ น่ารักๆ ส่วนปูเป้คิดว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกเพิ่งเข้ากรุงมา (ยิ้ม) เข้าไปถึงกรรมการให้ชิมเบียร์แล้วบอกว่ายี่ห้ออะไร”

‘ปกติคือดื่มอยู่แล้ว’ ประโยคบอกเล่าที่เราส่งไปแบบไม่ได้ตั้งใจให้เป็นคำถาม เพราะท่าทางคนเล่าไม่ได้มีความกังวลใด “เปล่า” คำตอบเธอทำเอาคนฟังร้องอ้าวเสียงหลงไปตามๆ กัน เจ้าตัวยิ้มก่อนเล่าต่อ “แต่ทำการบ้านและเก็งคำถามไปก่อนแล้ว รู้ว่าสินค้าเป็นเบียร์ เลยเตรียมชิมไปล่วงหน้า เลยบอกได้ว่าเบียร์ยี่ห้อนี้รสชาตินุ่ม อันนี้กลิ่นแรง สีจะเข้ม อันนี้รสแรงบาดคอ เพราะชิมมาหมดแล้ว”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

ในที่สุดปูเป้สอบสัมภาษณ์ผ่านฉลุย “พี่ที่พาไปสอบยังตะลึงเลย เพราะเขาพาเด็กไปหลายคน มีแต่ขาว สวย แต่งตัวดีแต่ไม่ผ่าน ในขณะที่ปูเป้กะเปิ๊บกะป๊าบ ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อตัวจิ๋วๆ ดันสอบผ่าน” แม้เจ้าตัวจะไม่ได้บอกแต่เราเชื่อว่าประสบการณ์การเป็นตัวแทนโรงเรียนทำกิจกรรมต่างๆ มาเยอะ บ่มเพาะความมั่นใจในตัวเอง และฝึกให้เธอรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และการทำการบ้านด้วยการศึกษาสินค้ามาอย่างดี คงจะได้ใจกรรมการไปไม่น้อย

งานนี้ทำตอนกลางคืนวันละประมาณ 5-6 ชั่วโมง ได้ค่าจ้าง 400 บาท แม้ช่วงแรกเป็นการทำแทนเฉพาะวันที่มีใครป่วยหรือลา แต่เดือนหนึ่งก็ยังได้เงินหลักหมื่น ส่วนการเดินทางในกรุงเทพฯ ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับสาวต่างจังหวัดเช่นปูเป้เลย “มีสมุดโน้ตติดตัวไว้จดว่ารถเมล์สายไหนไปไหน ระหว่างทางผ่านถนนอะไร สุดสายที่ไหน เข้าซอยนี้แล้วไปยังไงต่อ เขียนสายรถเมล์ไว้เยอะมากๆ โดยเฉพาะสายไหนบ้างที่ผ่านหน้าบ้านบ้าง และต้องระวังว่าต้องขึ้นฝั่งไหน ข้ามถนนหรือยัง (หัวเราะ)”

ด้วยบุคลิกยิ้มแย้ม ร่าเริง และใส่ใจในการบริการ ปูเป้ได้รับความเอ็นดูจากเจ้าของร้าน ช่วงหลังเลยมีรีเควสต์ให้ทำประจำที่ร้าน โดยจะเปลี่ยนร้านทุก 15 วัน ปูเป้เป็น PG อยู่ประมาณ 2 ปี จนวันหนึ่งนึกอยากลองเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ดูบ้าง ถึงจะทำงานตัวเป็นเกลียวหัวจะเป็นน็อตอยู่แล้ว แต่รายจ่ายเธอ ทั้งค่าเรียน ค่ากิน ค่าอยู่ จึงไม่ได้มีเงินเก็บมากพอที่จะใช้เป็นทุนรอนสำหรับเริ่มต้นกิจการได้

ปูเป้ทำเอง

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ

“สเกลการลงทุนของปูเป้ตั้งใจว่าจะลงทุนเท่าที่มี จะไม่หยิบยืมใครให้ตัวเองต้องเครียด แม้ในใจเคยแวบคิดว่า ถ้ามีทุนอีกสักก้อนคงดี แต่ถ้ามันเจ๊งละ จะหาเงินที่ไหนไปคืนเขา ฉะนั้น ทำเท่าที่ไหวดีกว่า”

นั่นจึงเป็นที่มาให้ปูเป้เริ่มถักโครเชต์ดอกมะลิ! การเป็น PG ได้เห็นว่าช่วงวันแม่ทางร้านจะแจกดอกมะลิให้ลูกค้า ไม่พูดพร่ำทำเพลง ปูเป้เริ่มลงมือถักล่วงหน้าข้ามปี ถักวันละ 3-4 ดอก สัญญากับตัวเองว่าต้องถักทุกวัน “ไม่รู้หรอกว่าจะขายได้ไหม แต่คิดไว้ก่อนว่าต้องขายได้ ถักเตรียมไว้ รอใกล้ๆ วันแม่ค่อยเอาไปเสนอขายที่ร้าน ไม่มีแผนสำรอง เพราะคิดอย่างเดียวว่าต้องขายให้ได้ เรารู้จักคนเยอะ ทำงานมานาน และเห็นว่าร้านสั่งดอกมะลิทุกปี เราแค่ทำมะลิเราให้โดดเด่นกว่า น่าซื้อกว่ามะลิกลีบพลาสติกที่ปั๊มกันมาก็พอ ยังไงซะมะลิเราถักจากโครเชต์ จัดเป็นช่อ สวยกว่าเห็นๆ”

จากคำบอกเล่า ช่วยให้เราเห็นความเป็นปูเป้ที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือการคิดแล้วทำเลย และเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง เธอยิ้มรับและอธิบายต่อว่า “จะทำอะไรต้องเชื่อมั่นก่อนว่ามันได้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่บนพื้นฐานว่าเราทำได้ แม้บางครั้งอาจเป็นสิ่งที่เราไม่มั่นใจ เพราะไม่เคยทำ แต่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำก่อนเสมอ ชอบไม่ชอบค่อยว่ากัน จะไม่ใช่คนลังเล ห่วง กลัว โน่นนี่ หรือกังวลไปก่อนล่วงหน้า คือจะไม่คิดเยอะและคิดนาน ถ้าอยากทำอะไรแล้วเอาแต่คิดอยู่นั่น ผ่านไปปีนึงก็ยังคิดอยู่ ปีที่สองก็ยังคิดอีก เลยไม่รู้ว่าทำได้หรือเปล่า แต่ถ้าคิดแล้วทำเลย ต่อให้ทำแล้วไม่ได้ จะได้ไปคิดทำโปรเจกต์อื่น เป็นคนที่กล้าเสี่ยงกล้าลุยแบบนั้นเลย เพราะเราไม่ได้ใช้เงินลงทุนเยอะ เน้นลงแรงทำสิ่งที่เราถนัดเป็นหลัก”

ปูเป้ทำเอง

ได้เงินทุนแล้ว ทีนี้จะขายอะไรดีล่ะ ปูเป้เลือกทำ ‘ถั่วสมุนไพร’ “ซื้อถั่วลิสงมาคั่วเองที่ระเบียงคอนโดเลย ใส่พริก ใบมะกรูด หอมเจียว กระเทียมเจียว ปรุงรสให้กินแล้วมันๆ นัวๆ ช่วงแรกทำแจกลูกค้าได้ลองชิมก่อน พอฟีดแบ็กดี ก็เสนอกับเจ้าของร้านโดยแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้เขา”

จากสาวเชียร์เบียร์เลยเปลี่ยนมาเป็นเจ๊เจ้าของถั่วสมุนไพร วางขายตามร้านอาหารที่เคยทำงาน บางร้านมีหลายสาขาก็กระจายไปทั่ว กิจการไปได้ดี ปูเป้ซื้อรถคันเล็กๆ ไว้วิ่งส่งถั่ว และชวนน้องๆ หน้าตาจิ้มลิ้มที่มหา’ลัยมาเป็นสาวเชียร์ถั่วให้ จังหวะที่กิจการถั่วกำลังรุ่ง มีรุ่นพี่มาชวนเป็นหุ้นส่วนทำร้านอาหารญี่ปุ่น ความที่อยู่ในแวดวงร้านอาหารเห็นว่าอาหารญี่ปุ่นขายดีมาก ขายได้ราคาและกำไรดี ปูเป้ตอบรับคำชวน แล้วเริ่มเฟดตัวออกจากธุรกิจถั่ว โดยยกกิจการให้ลูกน้อง

‘ถั่วกำลังขายดีทำไม่ถึงไม่ทำต่อล่ะ’ เราถามด้วยความสงสัย “อย่าลืมว่าถั่วเป็นสแน็ก จะมีช่วงที่ขายดี แล้วสักพักพอคนกินเริ่มเบื่อก็ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าลูกน้องเอาไปแล้วบริหารจัดการเองได้ ก็ยกให้เขาไป เราจะได้มีสมาธิกับธุรกิจอาหารญี่ปุ่นที่กำลังจะทำด้วย”

ปูเป้ทำเอง

ผีเสื้อราตรีโหยหาแสงตะวัน

ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ปูเป้ไปร่วมหุ้นด้วยนั้นถือว่ากิจการไปได้ดี แต่แล้วจู่ๆ หุ้นส่วนก็หายตัวไป ติดต่อไม่ได้ ปูเป้ในวัย 20 ปีในฐานะเจ้าของร่วม รับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร

“โชคดีว่าที่ผ่านมาเข้าร้านทุกวัน บางวันเชฟทำไม่ทัน เขาก็สอนให้ เลยเป็นลูกมือเชฟมาตลอด ช่วงที่เหลือแค่เรา เชฟ กับร้านที่ยังอยู่ ยังไงก็ต้องไปต่อ แต่เชฟดันมีปัญหากับร้านที่เราไปขายอีก สุดท้ายเชฟเลยต้องออกไป ปูเป้ก็ลุยเลย เป็นเชฟเองเลย เราหั่นแล่ปลาได้อยู่แล้ว ก็ให้มีเมนูที่เราถนัดและทำได้ก่อน พอฝึกฝีมือมากขึ้นค่อยเพิ่มเมนู ความที่เราเป็นร้านเล็กๆ ก็เลยทำเองเสิร์ฟเอง ก็ผ่านมาได้”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

เราว่าปูเป้ออกจะถ่อมตัวไปหน่อย เพราะร้านอาหารญี่ปุ่นที่ทำไม่เพียงผ่านวิกฤตหุ้นส่วนหาย เชฟลาออกมาได้ แต่ยังเติบโตและขยายสาขามาเรื่อยๆ จนเธอต้องตามพี่สาวกับน้องชายมาเสริมทัพ ปูเป้ทำธุรกิจนี้ร่วม 10 ปี ถึงค่อยๆ เฟดตัวออกมา แล้วยกกิจการให้พี่น้องไป เราถามถึงเหตุผลในการถอนตัวครั้งนี้ เพราะนี่ไม่ใช่สแน็กเหมือนถั่วสมุนไพรที่บูมง่ายคนกินเบื่อไวเหมือนครั้งก่อน

“ความที่มีหลายร้าน เราเป็นเจ้าของก็ต้องเข้าไปดูทุกร้าน ร้านไหนดีก็ต้องอยู่ช่วย แล้วปูเป้ทำหมด ไม่ว่าหน้าที่อะไร จะเชียร์ เสิร์ฟ เป็นเชฟ ทำได้หมด วันไหนร้านไม่ยุ่งก็จะได้นั่งชิลล์บ้าง แต่หลักๆ คือเริ่มเบื่อชีวิตกลางคืน หลายปีที่ผ่านมา เรานอนกลางวัน ตื่นตอนบ่ายเพื่อมาเตรียมของ แล้วเปิดร้านกลางคืน มารู้ตัวตอนเพื่อนชวนไปข้างนอก แต่งตัวไม่ถูกเลย เพราะมีแต่ชุดกลางคืนผ้าพลิ้วๆ บางๆ ที่ใส่ออกจากบ้านตอนกลางวันไม่ได้”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

ก่อนเฟดตัวออกมา พี่เจ้าของร้านอาหารท่านหนึ่งที่ได้ข่าวว่าก๊วนเจ้าของร้านอาหารที่เป็นเพื่อนๆ ของปูเป้กำลังแพลนจะไปเปิดร้านใหม่กัน พอรู้ว่าปูเป้คิดแค่จะเอาอาหารญี่ปุ่นตัวเองไปลงขายเหมือนเคย เลยพูดกับเธอสั้นๆ ว่า ‘อย่ารั้งท้ายคนอื่น’ “คำนี้ฟังแล้วเข้าใจเลย กลับมาคิดทบทวนอยู่วันสองวันว่าเราจะไปอีท่าไหนดี เงินเราก็มีแล้ว ศักยภาพเราก็มี ทำไมเรายังจะทำแค่เป็นซัปพลายเออร์อาหารญี่ปุ่นทำไม ไปเป็นหุ้นส่วนเลยสิ”

พอดีกับที่ก๊วนเพื่อนต้องการทุนเพิ่ม เลยมาชวนปูเป้ลงทุนด้วยกัน แม้การเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้จะสเกลใหญ่ขึ้น เงินลงทุนมากขึ้น แต่เมื่อคำนวณแล้วว่าไหว ปูเป้จึงตอบตกลง “แม้จะมีแค่ 3 หุ้น แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านคนหนึ่ง ความที่เราเป็นคนทำทุกอย่างอยู่แล้ว จะกี่หุ้น เราก็ทำเหมือนเดิม พอดีว่าร้านนี้เช่าบ้านมาเปิดร้าน ปูเป้เลยย้ายมาอยู่ชั้นบน ลูกน้องอยู่ชั้นล่าง ถ้ามีอะไรที่ร้าน เด็กก็ขึ้นมาตามได้ หุ้นส่วนก็อุ่นใจว่ามีเราสแตนด์บายอยู่ ส่วนเราก็ดีประหยัดค่าเช่า เลยไม่ได้รู้สึกว่าเราทำเยอะ คนอื่นทำน้อย เพราะแต่ละคนทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดมากกว่า”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

ปูเป้ยอมรับว่าผลตอบแทนที่ได้จากร้านนี้ไม่ได้เยอะ แต่เธอได้รับประสบการณ์กลับมาเยอะมากจากการได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านอาหารเต็มตัว “แม้หุ้นจะน้อยแต่ทุกคนรู้จักเราในฐานะปูเป้เจ้าของร้าน ไม่ใช่แค่เจ้าของธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ได้เจอผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพ เป็นคอนเน็กชันของเรา ได้รู้ว่าการสั่งอาหาร สั่งเครื่องดื่มเข้าร้านต้องดีลยังไง ต้องขอใบอนุญาตเปิดร้านที่ไหน ยังไง พยายามเข้าไปทำทุกกระบวนการเพื่อให้ตัวเองเกิดการเรียนรู้และเข้าใจ เพราะเป็นคนชอบรู้จริง มีอะไรจะได้ตอบได้อย่างมั่นใจและเต็มปากเต็มคำ ฉะนั้น ถ้าเกิดเรื่องอะไรที่ร้าน เรามั่นใจว่าทำถูกขั้นตอน จึงพร้อมให้ตรวจสอบได้”

ทุกอย่างดูลงตัว ร้านอาหารเข้าที่เข้าทางและอยู่ตัวแล้ว ร้านอาหารญี่ปุ่นก็มีพี่สาวน้องชายช่วยกันดูแล ทำงานภาคค่ำมานาน ถึงเวลากลับไปชีวิตปกติภาคกลางวันเหมือนคนอื่นเขาสักที

ปูเป้ทำเอง

ชีวิตภาคกลางวัน

“ช่วงนั้นกำไลหินกำลังอินเทรนด์ อยากได้นะ แต่ทำยังไงให้ได้หินและไม่เสียตังค์เปล่าด้วย เลยลงทุนซื้อหินมาร้อยเอง ใส่กะไหล่ทองบ้าง แล้วก็โพสต์ เพื่อนเห็นชมว่าสวย ก็อาสาไปรับพรีออเดอร์มาส่งให้ โดยบวกราคาเพิ่มอีกนิดหน่อย เราก็ร้อยหินทั้งวันทั้งคืน ร้อยเสร็จ โพสต์ขาย คนก็แห่ซื้อ ขายดีมาก ทำอยู่ประมาณ 2 เดือน ได้เงินหลักแสน”

คนฟังอย่างเราได้ยินก็ร้องโอ้โหเลย เจ้าตัวอมยิ้มก่อนเล่าต่อว่า “ตอนนั้นมีคนรู้จักเพิ่งถอยรถป้ายแดงมา เลยถามว่าไปปังอะไรมา เขาบอกขายกำไลหินมา ก็นึกในใจ เรากับเขาขายกำไลหินเหมือนกัน เราได้กำไรมาแสนนึง แต่เขาได้รถมาคันหนึ่งที่ซื้อด้วยเงินสดล้วนๆ ทำให้รู้ว่า เขาขายของกันอย่างนี้นี่เอง (หัวเราะ) เพราะเราตั้งราคาแบบไม่ได้ไปดูผู้คนเลยว่าเขาขายกันยังไงเท่าไหร่ อาศัยคำนวณต้นทุน แล้วบวกค่าแรงอีกนิดหน่อยตามสไตล์เรา เรียกว่าตั้งราคาตามความสบายใจของตัวเองเป็นหลัก”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

ทว่า นั่นนับเป็นรายได้เฉพาะกิจที่เข้ามาเป็นครั้งคราว แต่รายได้หลักของปูเป้ในตอนนั้นคือ การเป็นช่างสักคิ้ว “เรื่องของเรื่องคือเพื่อนทักว่าเราเขียนคิ้วสวยนะ ไม่ไปเรียนสักคิ้วล่ะ ซึ่งเพื่อนเป็นเจ้าแม่บิวตี้อยู่แล้ว เขาทักมาแบบนี้เราก็หูผึ่งสนใจเลย กลับมานอนคิดคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นไปเรียนสักคิ้วเลย ที่ที่เพื่อนแนะนำว่าเป็นสถาบันดังขึ้นชื่อเรื่องสอนสักคิ้ว ค่าเรียนรวมอุปกรณ์ทั้งหมด 1 แสนบาท ก็คิดเลยว่าจะได้ค่าเรียนคืนต้องสักคิ้วกี่คน”

ปูเป้เรียนสักคิ้วอยู่ 4-5 วัน ขณะเรียนยังไม่จบก็โพสต์ประกาศโปรโมชันสักคิ้วเพื่อหาลูกค้ารอไว้เลย “อาจารย์บอกเรตค่าสักอยู่ที่ครั้งละ 5 พันบาท ช่วงแรกเราคิดแค่ 2,500 แต่ 50 คนแรก คิด 2 พัน ถ้าคนที่ 51 คิด 5 พัน คนก็มาต่อคิวกัน แป๊บเดียวเต็มโควตา “มีนั่งเครื่องไปสักคิ้วให้เพื่อนสมัยเด็กที่แม่สอดด้วยนะ ไปอยู่ที่นั่น 2 สัปดาห์ สักไป 40 คน เพราะพอคนอื่นเห็นคิ้วเพื่อนเรา ก็แห่ตามกันมาอีก จนต้องให้รุ่นน้องที่กรุงเทพฯ ซื้อสีสำหรับสักคิ้วส่งไปให้”

หลังเรียนสักคิ้ว ปูเป้ก็เรียนแต่งหน้าเพิ่มเติม ช่วงนั้นปูเป้แพลนได้ว่าเดือนนี้อยากได้รายได้เท่าไหร่ แล้วก็เปิดรับคิวจองสักคิ้วตามจำนวนเงินที่ต้องการ ซึ่งการสักคิ้วสามารถล็อกวันเวลาได้ จึงเป็นช่วงที่มีเวลาว่างมากเป็นพิเศษ “ได้กลับมาใช้ชีวิตทำสิ่งที่ชอบ ยกจักรมาวาง เย็บโน่นเย็บนี่ ผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า ถุงผ้า โพสต์อวดบ้าง ขายบ้าง สนุกและมีความสุขที่ได้แต่งบ้าน เริ่มกลับมาทำกับข้าวกินเอง หลังกินฝีมือเชฟที่ร้านมาตลอด แล้วก็กลับไปปลูกผัก ชอบกินอะไรก็ปลูกอันนั้น เพราะพื้นที่จำกัด”

ปูเป้ทำเอง

โลกของ ‘ปูเป้ทำเอง’

ไม่คิดว่าการเป็นแม่งานในงานแต่งงานเพื่อนสนิท จะส่งปูเป้เข้าสู่วงการเกษตรอินทรีย์ เจ้าของเรื่องอารมณ์ดียิ้มรับ “เพื่อนให้ของขวัญที่เราช่วยงานแต่งด้วยการหนีบไปฮันนีมูนด้วย (หัวเราะ) แล้วคู่นี้เขาเลือกไปดูแปลงเกษตรอินทรีย์ เพราะเพื่อนเป็นเจ้าของนาข้าวออร์แกนิกที่กำแพงเพชร ส่วนเพื่อนเขยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่จันทบุรี”

ปูเป้ยอมรับว่า ไปแบบไม่ได้อินร่วมไปกับสองคนนั้น เพราะตัวเองเป็นเด็กต่างจังหวัด คุ้นเคยกับการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ไม่ตื่นเต้นกับปุ๋ยคอก แต่ชอบทำกิจกรรมและไม่ปิดกั้นตัวเองสำหรับการรับความรู้ใหม่ๆ ขากลับเพื่อนมาส่งที่กรุงเทพฯ โดยขนฟาง ดิน มูลไส้เดือน ต้นกล้าผัก ซึ่งเป็นของที่ใช้ตกแต่งในงานแต่งและเป็นของชำร่วยแจกแขกเหรื่อมาให้ จากนั้นปูเป้อยากกินอะไรก็จะปลูกเอง

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

“กลายเป็นกระแสฮือฮาว่า อยู่บ้านที่มีเพียงดาดฟ้าที่พอจะปลูกผักได้ แต่ทำไมปลูกผักได้งามขนาดนี้ ฟักทองห้อยย้อยเต็มระเบียง มะเขือเทศออกลูกดกแดงไปทั้งต้น ใช้ปุ๋ยอะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ พากันสงสัยกันใหญ่ ผลผลิตเยอะจนกินไม่ทัน ต้องเอามาแปรรูป ไม่ได้คิดจะขาย แค่อยากแชร์ปันสูตรให้เฉยๆ แต่กลายเป็นมีคนติดต่ออยากให้สอนทำนั่นทำนี่ เลยเปิดเป็นเวิร์กช้อปสอนทำสารพัดสิ่งตามแต่ที่คนเรียนสนใจ”

‘แล้วมาเป็นที่รู้จักได้ยังไง’ นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่เจ้าตัวก็ไม่คาดคิดมาก่อน “ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นปราชญ์ชาวบ้านของบุรีรัมย์ ได้ไปร่วมงานแต่งเพื่อนสนิทเรา แล้วเกิดถูกชะตาเรา ไปเขียนเอ่ยชมเราอย่างละเอียดถึงสิ่งที่เราทำในเฟซบุ๊กท่าน แล้วบอกด้วยว่าถ้าอยากรู้จักผู้หญิงคนนี้ให้ไปที่เฟซบุ๊กนี้…ปูเป้ไม่เห็นข้อความนี้หรอก เพราะไม่ได้เป็นเพื่อนกับท่านในเฟซบุ๊ก แต่แค่ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น หลังงานแต่งเพื่อนมีคนขอแอดเฟซมาเยอะมาก แต่ทุกคนเป็นเพื่อนของคนที่เรารู้จักก็เลยกดรับ”

ปูเป้ทำเอง

ปูเป้ทำเอง

พอได้กลับมาปลูกผักกินเอง ทำอาหารเอง ก็เริ่มอยากทำซอสปรุงรสใช้เองตามมา “เมื่อวัตถุดิบเราดี ปลอดภัยแล้ว ขาดแต่ซอสที่ยังซื้อใช้อยู่ ในฉลากก็บอกว่ามีสารโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด เลยอยากทำซอสเอง ด้วยทักษะการทำอาหารเลยไม่คิดว่ามันยาก หาสูตรในอินเทอร์เน็ตแต่มาปรับรสชาติให้เข้ากับความชอบของเรา ชอบเผ็ดก็ใส่พริก”

จากซอสเติมเต็มกับซอสมะเขือเทศก็ค่อยๆ ขยับไปของกินของใช้อื่นๆ ตามมาอีกเป็นพรวน เช่น ยาแก้ไอ ผงโรยข้าว ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู ไซเดอร์ กิมจิ ผักดอง สบู่ก้อน สบู่เหลว โฟมล้างหน้า แชมพู น้ำยาอเนกประสงค์ที่ครอบคลุมทุกการซักล้างในบ้านที่ล่าสุดลูกค้านำไปอาบน้ำสุนัขที่แพ้แชมพูหมา ก็ได้ผลดีเกินคาด นอกจากสนุกที่ได้ลองผิดลองถูกในการทำแล้ว ยังเป็นความท้าทายตัวเองว่าจะแปรรูปวัตถุดิบไปเป็นอะไรได้บ้าง

ปูเป้ทำเอง

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

แต่ก่อนจะได้วัตถุดิบไปแปรรูป หลายคนโดยเฉพาะเหล่าคนเมืองอาจถอดใจเพราะปลูกอะไรก็ไม่งอกงามอย่างปูเป้สักที นั่นเพราะหาดินคุณภาพดีที่เหมาะกับการปลูกพืชได้ยาก “ตอนโควิดปูเป้ประกาศในแฟนเพจกับแจ้งคนในหมู่บ้านให้มาแบ่งผักที่บ้านไปปลูก เพราะเรามีเยอะและอยากให้คนอื่นได้มีผักสด สะอาด ปลอดภัยกินอย่างเรา ซึ่งต่อมาได้ต่อยอดเป็นการขายผักยกกระถางให้เอากลับไปดูแลและเก็บกินต่อที่บ้าน

ปูเป้ทำเอง

“เดิมทีคนในหมู่บ้านมาขอแบ่งซื้อดินที่ปูเป้ใช้ เพราะเห็นเราปลูกอะไรก็งามลูกดกเต็มต้น เลยตักดินที่หมักเองอยู่หลังบ้านแบ่งให้ไป ซึ่งเราบอกสูตรและวิธีทำให้ไว้ในเพจ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสะดวกหมักดินอย่างที่เราทำ ประกอบกับความต้องการดินมีมากขึ้นจากการบอกปากต่อปาก เลยกะว่าจะรับดินของคุณลุงสุเทพ กุลศรี กูรูนักพัฒนาวิจัยดินมาขาย แต่ท่านบอกให้ปูเป้ทำเองเลยแล้วจะช่วยดูสูตรดินให้ เลยได้พัฒนาสูตรดินร่วมกัน”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

ดินพร้อมปลูกของปูเป้ไม่เพียงอำนวยความสะดวกในการปลูก แต่ความสมบูรณ์ของดินที่ได้จากการหมักบ่มด้วยวิธีธรรมชาติตามแบบฉบับของเกษตรอินทรีย์ มีทั้งจุลินทรีย์และแร่ธาตุอาหารจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปูเป้ถึงปลูกอะไรก็งอกงามไปหมด แต่เหนือสิ่งอื่นใด ปูเป้กระซิบบอกเราว่า “เมื่อดินดี มือใหม่หัดปลูกจะได้มีกำลังใจ”

ปูเป้ทำเอง

ส่งต่อแรงบันดาลใจอย่างไม่รู้ตัว

พอได้ย้ายมาอยู่บ้านหลังปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูกผักมากขึ้น ปูเป้ปรับสวนหย่อมหน้าบ้านเป็นแปลงผักอินทรีย์ ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน เมื่อผลผลิตมากเข้าจนกินไม่ทัน ก็นำไปแปรรูป เธอออกตัวว่าไม่ได้ทำเป็นทุกอย่างมาก่อน แต่อาศัยการค้นคว้าหาสูตรจากอินเทอร์เน็ตนี่ละ แล้วใช้ทักษะส่วนตัวปรับโน่นเปลี่ยนนี่ เมื่อทำบ่อยเข้าก็เริ่มจับทางถูก เจอเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ เลยโพสต์ลงเฟซบุ๊กตัวเองเพื่อแบ่งปันให้ไปลองทำตามกันดู โดยที่ไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้ตัวเองในเวลาต่อมา

ปูเป้ทำเอง

“สิ่งที่ปูเป้ทำ ช่วงแรกไม่สร้างรายได้หรอก เพราะไม่ได้ตั้งใจจะทำขาย แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดรายจ่ายประจำวันได้ ทำให้ได้พึ่งตัวเอง ตอนช่วงโควิด ปูเป้ไม่เดือดร้อนเลย เพราะมีทุกอย่างที่บ้านอยู่แล้ว อยากกินอยากใช้อะไร ทำเองได้หมด ทุกอย่างสะอาด ปลอดภัยแ ละดีต่อสุขภาพ เพราะเรารู้ที่มาที่ไปของสิ่งที่บริโภคเข้าไป และมั่นใจได้เพราะเราทำเองกับมือ เมื่อเราเลือกให้เป็น กินให้ถูก เราจะพึ่งพาตัวเองได้ตลอด”

ปูเป้ทำเอง

สำหรับการอยู่อย่างพอเพียงโดยเน้นการพึ่งพาตัวเองที่ปูเป้ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิตนั้น เจ้าตัวให้นิยามของตัวเองไว้ดังนี้

“1.มีความสุขกับเรื่องง่ายๆ ได้ตื่นนอนแบบไม่ต้องเร่งรีบทุกอย่าง ได้ทำงานที่เหมือนไม่ใช่งาน แต่เป็นการพักผ่อนและผ่อนคลายไปในตัว เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องทำไปนึกไปเมื่อไหร่จะเสร็จสักที เมื่อไหร่ที่รู้สึกแบบนั้นต้องหยุดพักแล้วหันไปทำอย่างอื่น ประสบการณ์ชีวิตทำให้ปูเป้เป็นคนรักตัวเองจากข้างใน จะไม่ยอมให้ตัวเองต้องเผชิญความเครียดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะเรารักตัวเองเกินกว่าจะทำร้ายตัวเองได้ลงคอซ้ำไปมาทุกวัน แต่จะสรรหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขทางกายใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นถ้าเราพึ่งตัวเองให้มาก อาศัยคนอื่นให้น้อย”

ปูเป้ทำเอง

“2.ใช้เวลาที่มีอยู่ในแต่ละวันให้เกิดประโยชน์ เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อยากให้ถามตัวเองว่า เงินที่มีพร้อมให้ทำอย่างนั้นได้หรือยัง ถ้ายัง ลองใช้เวลานั้นมาเพิ่มรายได้ดีไหม เพราะความเครียดจะลดลงได้ถ้าเรามีเงิน ปูเป้ไม่ได้บอกว่าเงินรักษาโรคเครียดได้ แต่ความมั่นคงทางการเงินช่วยให้โรคหลายโรคเกิดน้อยลงได้ โดยเฉพาะคนทั่วไปอย่างเราๆ อยากบอกว่าเข้าใจมากๆ สำหรับใครที่บอกว่าค่าใช้จ่ายมันลดลงไม่ได้แล้ว ไม่ได้บอกให้ลด แต่อยากให้รู้จักหารายได้เพิ่มต่างหาก และถ้าต้องทำเพื่อหารายได้เพิ่ม ก็ลองเลือกทำสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขไปด้วยสิ ได้สองเด้งไปเลย”

ปูเป้ทำเอง

ปูเป้ยกตัวอย่างพนักงานออฟฟิศที่มาขอสูตรทำน้ำผักน้ำสมุนไพร แต่บอกว่าไม่มีเวลาทำขาย เพราะทำงานออฟฟิศ เธอเลยแนะนำให้รับพรีออเดอร์ในออฟฟิศนั่นแหละ หรืออีกคนที่ทำงานโรงงานแต่ยังไม่กล้าลงทุนทำอะไร ได้แต่ทำโอทีไปก่อน ปูเป้ก็ให้ไอเดียทำข้าวกล่องส่งเพื่อนพนักงานที่เข้าออกกะนี่ละ เพราะแต่ละคนเลิกงานก็หิวโซกันทั้งนั้น ถ้าได้มีอาหารรอ ก็น่าจะแฮปปี้กัน ซึ่งกำไรมากกว่าค่าโอทีอยู่แล้ว แถมยังใช้เวลาน้อยกว่าการทำโอทีด้วย

ปูเป้ทำเอง

ปูเป้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า “การใช้ชีวิตทุกคนมีหมด แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่จะเยียวยาได้คือการพึ่งตัวเอง เมื่อไหร่ที่พึ่งตัวเองได้ เราจะป่วยน้อยลง เราจะไม่รอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่น เราจะหยิบจับได้เอง เราจะไม่ซึมเศร้า คนที่คิดว่าชีวิตไร้ค่า ยิ่งต้องลุกขึ้นมาทำ แล้วจะได้รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง เพื่อนเคยถามว่า เหงาไหม ก็ต้องตอบว่า เอาเวลาไหนมาเหงาก่อน (ยิ้ม) เป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้ แต่ไม่ได้ทำจนเหนื่อย เราจัดสรรได้ว่าแต่ละวันจะทำอะไร คนอื่นไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างที่ปูเป้ทำ ขอให้เลือกทำสิ่งที่ชอบและอยากทำก็พอ แต่ที่สำคัญกว่าคือต้องลงมือทำ เมื่อได้ลงมือทำถึงจะรู้ว่าทำแล้วชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็ลุยเลย แต่ถ้าไม่ ไม่เป็นไร ฉันทำแทนให้ได้ ชีวิตไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป”

ปูเป้ทำเอง

ประสบการณ์ที่ผ่านช่วงโควิดมาได้แบบไม่เดือดร้อนของปูเป้น่าจะพอยืนยันแนวคิดของเธอได้ “ทุกคนอยู่รอดได้ ถ้ารู้จักช่วยตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น คุณอาจจะมีเงินพร้อมที่จะซื้อหาโดยไม่ต้องเสียเวลามาทำ แต่การสอนลูกหลานแบบนั้น ไม่ได้ให้ภูมิคุ้มกันที่ดีกับเขา เพราะทักษะต่างๆ มันคือพื้นฐานการใช้ชีวิต คนที่มีพื้นฐานติดตัว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด จะเอาตัวรอดได้ และถ้าจังหวะโอกาสมา ความสามารถที่มีก็ทำให้เราคว้าโอกาสนั้นได้ มันไม่ได้วัดว่าคนทำซอสเป็นถึงจะรอด แต่มันคือภูมิคุ้มกัน เป็นการฝึกให้ตัวเองหนักแน่น มั่นใจในตัวเองว่าฉันทำได้ ไม่เหลาะแหละ หรือกลัววิตกไปก่อน จนไม่กล้าลงมือทำอะไร”

ปูเป้ทำเอง

เครดิตภาพ : FB Page ปูเป้ทำเอง

เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ และให้กำลังใจคนอื่นมาตลอด แล้วตัวเองล่ะชาร์จกำลังกายใจยังไง “สามีเลยค่ะ (ยิ้ม) อยากขอบคุณเขาที่ทำให้ปูเป้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีคู่ชีวิตที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ พร้อมซัปพอร์ตและให้กำลังใจเสมอ แค่ความภูมิใจในตัวเราที่เขาส่งมาให้ ปูเป้ก็อุ่นใจว่าเราจะจับมือกันไปด้วยกันด้วยวิถีชีวิตแบบพอเพียงได้อย่างเต็มหัวใจ”

ปูเป้ทำเอง

ไม่น่าเชื่อว่า เบื้องหลังแปลงผัก บ้านไก่ และชั้นวางสินค้าของปูเป้ มีเรื่องราวการใช้ชีวิต และทำให้เราเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตัวเองในมุมที่กว้างและง่ายขึ้นเยอะ ก่อนจากกันเราไม่ลืมถามว่าทำไมบ้านไก่ของเธอถึงไม่ส่งกลิ่นกวนใจ เจ้าตัวไม่ตอบแต่พาเข้าไปข้างในพร้อมกับชี้ให้ดูพื้น “ใช้ทรายปูพื้นแล้วกลบด้วยแกลบ ซึ่งมีคุณสมบัติดูดทั้งความชื้นและดูดกลิ่นได้ดี แต่ต้องกวาดทำความสะอาดทุกวัน แล้วขี้ไก่ก็เอาไปหมักทำดินปลูกต้นไม้ได้”

เอาล่ะ หายข้องใจละ เรากล่าวคำขอบคุณพร้อมคำอำลา พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ในใจว่า จะต้องกลับไปลองทำอะไรที่พึ่งพาตัวเองสักอย่างดูบ้างแล้วล่ะ

ปูเป้ทำเอง

ใครสนใจอยากพูดคุย ขอข้อมูลเพิ่มเติม อยากจองเวิร์กช้อป หรือติดต่อซื้อผลิตภัณฑ์ มีสารพัดสิ่งให้เลือกสรร
ตามไปส่องได้ที่
FB Page: ปูเป้ทำเอง
Line :@poopaetamayng
Tel.080-669-2469

Tags: