ท่องเที่ยวเพื่อ ‘ฟื้นสร้าง’
ขั้นกว่าของความยั่งยืน Regenerative Tourism ท่องเที่ยวเพื่อ ‘ฟื้นสร้าง’
- Regenerative Tourism การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน คือการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและวิถีชุมชน
- Regenerative Tourism ต่อยอดมาจากโปรแกรมการรับรองอาคารสีเขียว LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ระบบการให้คะแนนเพื่อประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างของ U.S. Green Building Council (USGBC) องค์กรในสหรัฐอเมริกา
- จุดประสงค์ของ Regenerative Tourism ไม่ใช่แค่ชะลอความเสื่อมพัง แต่ต้องฟื้นสร้างให้ทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวดีขึ้นเรื่อยๆ ให้คนรุ่นต่อๆ ไป
หลังยุคโควิด-19 แนวทางการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปเป็นขั้นกว่าของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพราะแค่ชะลอความเสื่อมพังยังไม่พอ Jonathon Day ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ศึกษาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแห่ง Purdue University สหรัฐอเมริกากล่าว แต่ตอนนี้ต้องใช้การฟื้นสร้างให้ทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป
ที่พักสไตล์ฟื้นสร้าง
Fogo Island Inn ที่พักขนาด 29 ห้องตั้งอยู่ในรัฐนิวฟันด์แลนด์ แอนด์ ลาบราดอร์ ประเทศแคนาดา อันเป็นจุดที่อยู่ทางตะวันออกสุดของทวีปอเมริกาเหนือ
ดีไซน์ในสไตล์คอนเทมโพรารี เพดานสูงโปร่ง กรุกระจกใสโดยรอบ สร้างความรู้สึกว่าโลกภายนอกและโลกภายในอยู่ใกล้ชิดกันแค่กระจกกั้น แต่ความพิเศษของโรงแรมแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ดีไซน์
Fogo Island Inn เป็นทรัพย์สินของชุมชน รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของโรงแรมจะหมุนเวียนกลับมาใช้จ่ายในชุมชนเพื่อปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติและอนาคตอันยั่งยืนของเกาะโฟโก
ด้วยความที่คนในพื้นที่เป็นเจ้าของ พนักงาน คนครัว คนสวน ไปจนถึงไกด์ทัวร์ ซึ่งเรียกว่า Community Hosts พวกเขาจึงกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะแนะนำบ้านของตนให้แขกได้ทำความรู้จัก พวกเขารู้จักทุกซอกมุมของเกาะโฟโก รู้ว่าเบอร์รีต้นไหนให้ผลดกรสอร่อย รู้ว่าหินก้อนไหนเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด และรู้จักวิถีชาวประมงผู้คนแถบนอร์ทแอตแลนติกเป็นอย่างดี
พวกเขาจะบอกคุณว่านิวฟันด์แลนด์มี 7 ฤดูกาล จึงมาเที่ยวเกาะโฟโกได้ตลอดปีโดยซึมซับเสน่ห์ของพื้นที่ในมุมที่แตกต่างกันไป ทั้งฤดูร้อนแบบอุ่นๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ฤดูหนาวหิมะขาวโพลนในเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ฤดูน้ำแข็งอัดตัวแน่นเป็นแผ่นหนาในเดือนมีนาคม ฤดูใบไม้ผลิความหวังในเดือนเมษายน – พฤษภาคม ฤดูล่าปลาในเดือนมิถุนายน ฤดูเก็บเบอร์รีในเดือนกันยายน – ตุลาคม และปลายฤดูใบไม้ร่วงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งน้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งครั้งแรกของปี
Fogo Island Inn คือหนึ่งในคอลเล็กชันโรงแรมรีสอร์ทของ Regenerative Travel ตัวแทนจองที่พักที่คัดเฉพาะที่พักแบบ Regenerative Tourism ที่ต้องผ่านเกณฑ์คัดกรองต่างๆ เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ในที่พักนั้นๆ สุขภาวะของพนักงาน กิจกรรมต่างๆ ที่แขกเข้าร่วมได้ ไปจนถึงแหล่งอาหารในท้องถิ่น
คอลเล็กชันที่พักแบบฟื้นสร้าง
เกณฑ์อันละเอียดยิบย่อยเหล่านี้ทำให้ Regenerative Travel มีสมาชิกทั่วโลกเพียงไม่กี่โรงแรมเท่านั้น ได้แก่ ที่พักสไตล์แคมป์ซาฟารี Cherero ในแทนซาเนีย, Andronis Concept Wellness Resort บนเกาะซานโตรินี กรีซ, The Datai Langkawi ในมาเลเซีย รวมไปถึงสมาชิกในแถบแคริบเบียน ทั้ง Tortuga Bay Puntacana Resort & Club ในสาธารณรัฐโดมินิกัน, Rockhouse Hotel และ Skylark ในเมืองเนกริล ประเทศจาเมก้า
Jade Mountain ที่พักบนเกาะเซนต์ลูเซีย ตัวโรงแรมอยู่แถวลา ซูฟริแยร์ ภูแบบไฟกรวยภูเขาไฟสลับชั้น (Composite cone หรือ Stratovolcano) ปากปล่องลาดเอียงมาที่ฐานมากเพราะหินหนืดไหลออกมา และด้วยความหนืดจึงไหลไปไหนไม่ได้ไกล หินหนืดจึงทับถมผสมกับหินที่แข็งตัวจากการปะทุครั้งแล้วครั้งเล่า
Nick Troubetzkoy ที่พักแห่งนี้เป็นของสถาปนิกชาวรัสเซีย-แคนาดา ซึ่งออกแบบในสไตล์โอเพ่นแอร์ เปิดรับแสงและอากาศเพื่อช่วยลดการใช้แสงเทียมจากหลอดไฟและเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งจะได้ชมความงามของ The Pitons เทือกเขาแฝดและทะเลแคริบเบียนได้เต็มๆ
พนักงานเกือบทั้งหมดเป็นคนพื้นเมืองบนเกาะ ทางโรงแรมสร้างระบบกักเก็บน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำจนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 6.9 ล้านลิตรที่คนในพื้นที่และคนในโรงแรมได้ใช้สอย และยังสร้างระบบบำบัดน้ำเสียอีกด้วย ยามว่างยังสามารถเดินไปเยี่ยมชม Emerald Estate Regenerative Farm สวนพืชพรรณที่ปลูกแบบ regenerative agriculture ฟื้นฟูบำรุงสุขภาพของดินโดยเพิ่มสสารอินทรียวัตถุในดิน พืชเด่นประจำสวนคือโกโก้ ซึ่งทางโรงแรมจะนำเม็ดโกโก้มาผลิตเป็นช็อกโกแลตให้แขกได้ดื่มด่ำรสชาติกันสดใหม่แบบ bean-to-bar นอกจากนี้ Jade Mountain ยังเป็นโรงแรมแห่งแรกของเซนต์ลูเซียที่ผ่านมาตรฐาน LEED
ขั้นกว่าของความยั่งยืน
Regenerative Tourism คือการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน คือการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและวิถีชุมชน ซึ่ง Regenerative Tourism มีรากฐานมาจาก โปรแกรมการรับรองอาคารสีเขียว LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ระบบการให้คะแนนเพื่อประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างของ U.S. Green Building Council (USGBC) องค์กรในสหรัฐอเมริกา
Bill Reed สถาปนิกแห่ง Regenesis Group ในแมสซาชูเซ็ตต์และนิวเม็กซิโกซึ่งใช้แนวทางการออกแบบแบบฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2538 กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่พยายามลดการใช้พลังงาน หาพลังงานทดแทนมาใช้นั้นคือ “วิธีการให้ตายช้าลง” แต่ถ้าใช้แนวทางฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนก็หมายความว่า เมื่อคุณกลับออกไปแล้ว แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ต้องดีกว่าตอนที่คุณค้นพบมัน
นอกจากการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรม ยังต้องปรับสมดุลจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยว เน้นคุณภาพของการท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้นวัตกรรม ดิจิทัล เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ
หัวใจไม่ได้อยู่ตัวที่พักเท่านั้น นักท่องเที่ยวก็มีบทบาทสำคัญใน Regenerative Tourism ด้วยการตระหนักว่า ทริปท่องเที่ยวของคุณมีราคาที่ต้องจ่าย และคนที่ต้องจ่ายไม่ใช่แค่คุณ เป็นต้นว่า ก่อนจะซื้อเสื้อยืดจากร้านขายของที่ระลึก มันอาจเป็นงานแฮนด์เมดของช่างฝีมือในท้องถิ่นหรือมาจากช่างตัดเย็บในโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานราวกับโรงงานนรก ถูกกดค่าแรง มีกระบวนการผลิตที่สร้างมลพิษ ฯลฯ
การที่นักท่องเที่ยวอุดหนุนธุรกิจแบบไหนก็คือการตอกย้ำว่าอยากให้ธุรกิจแบบใดคงอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน
ที่มา: https://www.travelweekly.com/Caribbean-Travel/Insights
https://travelandleisureasia.com/what-is-regenerative
https://www.nytimes.com/2020/08/27/travel
https://www.regenerativetravel
https://fogoislandinn
https://www.jademountain.com