About
BUSINESS

In Crisis

ทั่วโลกพยุงร้านอาหารกันอย่างไร เสียงสะท้อนจากคนไทยในต่างแดน

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 02-07-2021 | View 2418
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • การประกาศห้ามไม่ให้นั่งกินในร้านที่เกิดขึ้นกลางดึกที่ผ่านมา เหมือนฟ้าผ่าลงบนธุรกิจร้านอาหารแบบตั้งตัวไม่ทัน เพราะทุกคนกำลังเตรียมตัวที่จะเปิดร้านกันอีกครั้ง สัญญาณของการมีรายได้เข้ามาช่วยพยุงเพื่อความอยู่รอดเริ่มมีแสงสว่างรำไร แต่แล้วก็ดับวูบลง นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันเผ็ดร้อนในโลกโซเชียล
  • ขณะเดียวกันอีกฟากหนึ่งของโลก ธุรกิจร้านอาหารในหลายประเทศกำลังเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนประสบชะตากรรมเดียวกัน และภาครัฐก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือแบบเต็มที่ หลากหลายรูปแบบ วิธีการตามระบบพื้นฐานของประเทศนั้นๆ
  • เราชวนไปฟังเสียงสะท้อนของคนไทยในหลายประเทศ ร่วมกันเล่าว่าเมืองที่เขาอยู่นั้น มีวิธีช่วยพยุงธุรกิจร้านอาหารให้รอดไปได้อย่างไรในวิกฤตโรคระบาดที่น่าจะยืดเยื้อยาวนาน

ต้องยอมรับว่าธุรกิจร้านอาหารมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แทบจะเรียกได้ว่าร้านอาหารคือสีสันหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจนี้ก็ได้รับผลกระทบมายาวนานจนเริ่มแบกกันต่อไม่ไหว เพราะมันหนักหน่วงมาอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานจากสมาคมร้านอาหารของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีสถานประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 110,000 แห่ง ต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ส่วนแรงงานหายไป 2.5 ล้านคนในอุตสาหกรรมร้านอาหาร

S 19

ส่วนในไทย เรื่องนี้ก็กำลังร้อนแรง เพราะที่ผ่านมาบรรดาร้านอาหารเริ่มแบกภาวะขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำอีกมาโดยตลอด ยิ่งเมื่อมีมาตรการห้ามนั่งกินที่ร้านออกมาแบบไม่ทันตั้งตัวล่าสุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดในพื้นที่ควบคุมรวม 10 จังหวัดเป็นเวลา 30 วัน ยิ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง

แน่นอนว่าธุรกิจร้านอาหารหลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาแบบเดียวกัน เราจึงอยากชวนคุณไปเปิดมุมมองจากต่างประเทศ ผ่านเสียงสะท้อนของคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ว่ามาตรการของแต่ละประเทศนั้นเขามีวิธีพยุงธุรกิจร้านอาหารร่วมกันฝ่าวิกฤตไปได้อย่างไร

S 4

เซี่ยงไฮ้…มาไวจบไว ไม่ง้อเยียวยา

หลังจากจีนเป็นจุดเริ่มต้นในการแพร่ระบาดของโควิด-19 สุภารัตน์ เทียนปั่น ต้องปิดกิจการร้านอาหาร Thaiphoon ภายในห้างตามประกาศล็อกดาวน์ของเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ช่วงเดือนก.พ. ปี 2020 ซึ่งช่วงแรกประชาชนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้เลย แต่ละหมู่บ้านจะมีตั๋วสำหรับออกไป ถ้ากลับมาไม่มีตั๋วห้ามเข้า แต่ปิดได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีการคลายล็อกให้กลับมาเปิดแบบสั่งกลับบ้านได้

S 2

สถาปนิกสาว วัย 41 ปีที่มีกิจการร้านอาหารเสริมจากงานประจำ บอกว่า ตอนนี้ที่เซี่ยงไฮ้ ถือว่ากลับมาแทบจะปกติแล้ว หลังจากคุมเข้มอยู่ประมาณ 1-2 เดือนในช่วงแรก ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายให้นั่งกินในร้านได้ แต่ยังต้องรักษาระยะห่าง และมีการใช้ QR code สำหรับติดตามตรวจสอบข้อมูล และเริ่มกลับมาเปิดได้ปกติตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปีที่แล้วเป็นต้นมา

S 3

“ที่นี่รัฐไม่ได้มีมาตรการเยียวยาสำหรับร้านอาหาร มีเพียงประกาศขอความร่วมมือลดค่าเช่าในโซนต่างๆ ซึ่งตอนนั้นห้างลดราคาให้ 20-30% เพียงแต่ว่าเขาสามารถควบคุมได้เร็ว มีมาตรการที่เข้มข้นและชัดเจน ให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการรอเจอเคสแล้วถึงออกมาตรการควบคุม จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยกเว้นประเภทผับ บาร์ ที่มีข้อจำกัดเรื่องการชุมนุมของผู้คน” ต้อง เล่าให้ฟัง

S 5

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการระบาด ร้านของสุภารัตน์ มียอดรายได้ตกลงประมาณ 30-40 % เพียงแค่เดือนเดียว แต่หลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะเธอสามารถเปิดร้าน Hidden Thai Bistro เพิ่มขึ้นอีกและได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แม้ว่าจะไม่มีมาตรการเยียวยาอื่นๆ จากภาครัฐในตอนนี้ แต่ที่ผ่านมาเธอก็พอใจกับความเข้มข้นในการควบคุมการแพร่ระบาด เข้มงวดในการตรวจสอบ และการจัดการเรื่องวัคซีนอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้แบบไม่ยืดเยื้อของรัฐบาลจีน

S 12

มาตรการ To go…ไม่มีคำว่าเต็ม

ศุภวัฒน์ คาสโตร์ เจ้าของร้าน The Star Thai & Sushi Venice ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ยอมรับว่า หลังมีการประกาศล็อกดาวน์เมื่อช่วงเดือนมี.ค.ปีที่แล้วและอนุญาตให้ร้านอาหารขายได้เพียงแค่สั่งกลับบ้าน ทำให้หลายร้านจำต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะร้านสไตล์บุฟเฟต์ ซึ่งเน้นการนั่งกินในร้าน และร้านเปิดใหม่ที่ยังมีฐานลูกค้าไม่มากนัก แต่โชคดีที่เขาไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคนรู้จักเยอะ มีฐานลูกค้ามากอยู่แล้ว

“หลังจากสั่งปิดร้านไป 2 สัปดาห์ เพราะมีเพื่อนติดโควิด ก่อนมีประกาศล็อกดาวน์ ร้านก็กลับมาเปิดขายแบบ To go อย่างเดียว จากเดิมลูกค้าหลักนั่งในร้าน 90% และสั่งกลับแค่ 10% แต่กลับกลายเป็นว่าโทรศัพท์ดังไม่หยุด ยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของรายได้ช่วงก่อนโควิดอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเป็นร้านเล็กๆ แค่ 50-60 ที่นั่ง เมื่อปรับเป็น To go ก็สามารถขายได้มากกว่า ไม่มีคำว่าร้านเต็ม และยังคงมาตรฐานและคุณภาพของอาหารจนมีการพูดต่อกันปากต่อปาก รวมทั้งผมให้เยอะด้วย ทั้งการแจกหน้ากากอนามัยในช่วงที่หายากและแถมอาหารให้กับลูกค้าอยู่เสมอ”

เชฟไมค์ เล่า โดยหลังจากนั้น 2 เดือนกว่า รัฐก็เริ่มผ่อนคลายโดยเปิดให้นั่งกินในร้านได้ 25% และ 50% ตามลำดับ รวมทั้งมีการปลดล็อกช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.ปีที่แล้ว

ที่ฟลอริดา นอกจากรัฐพยายามเร่งการฉีดวัคซีนและปลดล็อกโดยเร็วที่สุดเพื่อให้เศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อแล้ว ยังมีโครงการ Paycheck Protection Program หรือ PPP loan เพื่อบรรเทาทุกข์จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กแบบไม่ต้องจ่ายคืน เพื่อให้นายจ้างนำเงินไปใช้ในกิจการและจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างได้ พร้อมอนุโลมให้ปรับพื้นที่ให้บริการแบบเอาต์ดอร์ได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งเชฟไมค์ไม่ได้ยื่นขอใช้มาตรใดๆ เนื่องจากร้านอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา

“ปัญหาของผมคือ ต้องทำงานเอง บางทีลูกน้องก็ไม่มาทำงานเพราะรัฐให้เงินช่วยเหลืออยู่ตลอด ตอนนี้ทุกคนเข้ามานั่งกินในร้านตามปรกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ทางร้านยังให้พนักงานใส่หน้ากากอยู่ ส่วนลูกค้าบางคนก็ใส่ หรือถ้าใครที่ฉีดครบโดสแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากก็ได้” เจ้าของร้านซึ่งคว้ารางวัลอาหารไทยและซูชิยอดเยี่ยมของเมืองมาตลอด 5 ปีล่าสุด กล่าว

S 6

อานิสงส์เงินหนุน ช่วยขับเคลื่อนร้านใน ดี.ซี

ความช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาอาจไม่ถึงกับเยอะมาก แต่ก็ไม่น้อยไปในมุมมองของ ภานุวัฒน์ ภคภูมิพิสุทธิ์ เจ้าของร้าน Siriwan Thai Restaurant ในวอชิงตัน ดี.ซี. หลังได้ใช้บริการในส่วนของ PPP loan ซึ่งมีดอกเบี้ย 1% แต่สามารถยื่นขอยกหนี้ได้ (forgiveness) และได้รับการลดค่าเช่าครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือนจากเจ้าของที่

หนุ่มไทยในวัย 40 ปี เผยว่า เมื่อยื่นเรื่องพร้อมแนบเอกสารการจ่ายเงินเดือนพนักงานถูกต้องตามเงื่อนไข ก็จะมีการจ่ายเงินเข้ามาในบัญชีให้เลย อาจไม่เยอะมากมาย แต่ก็ดีกว่าไม่ให้อะไรเลย เพราะตลอดช่วง 4-5 เดือนที่มีมาตรการไม่ให้นั่งกินที่ร้าน ได้รับผลกระทบจริงๆ 2 จาก 3 ร้านที่มีอยู่ ทั้งยอดขายตกและต้นทุนสูงขึ้นจากการขายแบบซื้อกลับบ้าน และยังต้องแบกอีก 1 ร้านเพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่ถึงปี

“นโยบายให้เงินช่วยคนตกงานของที่นี่ โดยดูจากฐานเงินเดือนที่เคยได้ ถือเป็นข้อดีที่ช่วยให้คนยังมีเงินจับจ่ายใช้สอย เป็นผลพลอยได้ให้กับร้านอาหารในอีกทางหนึ่ง บวกกับการได้รับวัคซีน ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ที่นี่ไวมาก ทั้งการจัดสรรและนัดหมายเข้ารับการฉีด ซึ่งบางครั้งสามารถวอล์กอินเข้าไปได้เลย ช่วยให้ยังประคับประคองร้านมาได้ใน 1 ปี อาจจะไม่เหลือกำไร เพราะเราไม่ได้อยู่ในทำเลที่ดีนัก แต่อยู่บนพื้นฐานร้านที่ยังอยู่ได้ พนักงานอยู่ได้ โดยมีการพูดคุยกันตรงๆ จัดสรรการทำงานตามความเหมาะสม”

นอกจากนี้ เขาเล่าต่อว่า ยังมีกองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร (Restaurant Revitalization Fund หรือ RRF) มูลค่า 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สามารถยื่นขอเงินชดเชยรายได้ที่หายไปจากการเปรียบเทียบยอดขายกับปีก่อนหน้าเกิดโควิด-19 ซึ่งไม่จำเป็นต้องคืนหากใช้ในกิจการและจ่ายพนักงาน แต่อาจไม่ได้ทุกร้าน และที่สำคัญ น่าจะเป็นความโชคดีของวอชิงตัน ดี.ซี คือ ผู้คนพยายามช่วยเหลือสนับสนุนกันเองอีกแรง ต่างพยายามช่วยโฆษณา ช่วยสนับสนุนร้านอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์กลายเป็น Food Desert จากการที่ร้านพากันทยอยปิดกิจการ ก็ช่วยได้มากทีเดียว

S 10

อีกคนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐคือ ทรงเกียรติ สุขมากอนันต์ เจ้าของร้านอาหาร The Thonglor SF ในซานฟรานซิสโก, แคลิฟอร์เนีย หลังมีโอกาสได้ใช้ PPP loan แล้วสองรอบ โดยรอบแรกขอ forgiveness เรียบร้อยแล้ว ส่วนก้อนสองรอให้ถึงกำหนดจ่ายก่อนค่อยยื่นขอ ซึ่งเจ้าตัวคาดว่าไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด

“จำนวนเงินที่ขอกู้ได้จาก PPP loan จะคำนวณจากยอดค่าแรงเฉลี่ยต่อเดือน สมมติในปี 2019 จ่ายไป 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นำมาคูณด้วย 2.5 เท่า ส่วนรอบสองจะคูณด้วย 3.5 ส่วนตัวล่าสุด RRF (กองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร) ตัวนี้จะได้เยอะหน่อย ขึ้นอยู่กับรายได้ของร้าน มีวิธีคำนวณโดยเอายอดขายในปี 2019-2020-PPP รอบแรก-PPP รอบสอง เหลือเท่าไหร่จึงเป็นยอดเงินที่จะได้รับ ซึ่งหากได้เงินช่วยเหลือส่วนนี้มาก็น่าพอใจ เพราะได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศมากเช่นกัน หลังจากเพิ่งเริ่มเปิดให้นั่งกินในร้านเมื่อปลายปีที่แล้ว”

S 9

อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้าน The Thonglor SF เผยว่า ตอนนี้เหมือนกองทุนจะโดนระงับอยู่ หลังต้องขึ้นศาลเพราะถูกฟ้องเรื่องความยุติธรรมในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยส่วนตัวได้ยื่นผ่านแอปพลิเคชันไปแล้ว แต่เงินยังไม่เข้ามา ขณะที่เพื่อนบางคนก็ได้รับแล้ว พร้อมอัปเดตบรรยากาศของเมืองว่า ถ้าดูจากสภาพแวดล้อมคนเดิน ยังไม่ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 อาจเพราะร้านอยู่ในย่านกลางเมืองที่มีนักเดินทางแวะเวียนมาไม่ขาดสาย โดยปริมาณนักท่องเที่ยวมีเพียงแค่ 10-20% เท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงยอดขายถือว่าดีขึ้นมาในระดับเกือบเท่าเดิมซึ่งอยู่ที่ 80% แล้ว

S 17

เมลเบิร์นปล่อยแคมเปญช่วยเป็นระยะ

การติดอันดับท็อป 10 ประเทศปลอดภัยที่สุดในโลกในยุคโควิด-19 จากการจัดอันดับในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ออสเตรเลียมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น เช่น เจอเคสหนึ่งก็ล็อกดาวน์ทันที และช่วงล็อกดาวน์ออกจากบ้านได้ไม่เกิน 5 กม. จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ปลา-สิริพร เลี่ยมทอง เจ้าของร้าน JING JING ในเมลเบิร์น บอกว่า ที่นั่นมีมาตรการช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารค่อนข้างโอเค

S 16

ความช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “เงินทุนเป็นก้อน” ผ่านแคมเปญต่างๆ ในมูลค่า 5,000 – 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 1.2-2.4 แสนบาท) ต่อครั้ง โดยแต่ละรัฐมีนโยบายส่วนตัวในการช่วยเหลือไม่เท่ากัน ซึ่งปลาได้รับความช่วยเหลือประมาณ 8 รอบ มูลค่า 24,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5.75 แสนบาท) กับ “เงินสนับสนุนการจ่ายค่าแรงแทนเจ้าของธุรกิจ” แต่ก็มีเงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพนักงานประจำมาแล้ว 1 ปี โดย 6 เดือนแรกได้รับคนละ 750 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อสัปดาห์ หลังจากนั้นเหลือ 600 ต่อคน/สัปดาห์ และล่าสุด 500 ต่อคน/สัปดาห์

“ความช่วยเหลือเรื่องค่าแรงนี่ มีตั้งแต่เดือนเม.ย.-มี.ค.ปีนี้ ส่วนนโยบายก็มีการปรับตามสถานการณ์ อย่างตอนแรกกินระยะเวลา 6 เดือน ต่อมาเมื่อมีเคสอีก ก็ขยายต่ออีก 3 เดือน ทุกอย่างจัดการผ่านออนไลน์และไม่ยุ่งยาก แต่ความโชคดีของร้านอาหารไทย คือ ด้วยลักษณะของอาหารไทยเหมาะกับ Take away อยู่แล้วจึงไม่กระทบเท่าคาเฟ่ หรือ Fine dining นอกจากนี้ยังลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน ลดความคาดหวังจากลูกค้า เนื่องจากคนในเมลเบิร์นค่อนข้างมีมาตรฐานสูง ทำให้รายได้ยังโอเค วิกฤตครั้งนี้ยังทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในธุรกิจรูปแบบ Take away การปรับตัวเข้ากับเทคโนยี การนำแอพลิเคชันต่างๆ เข้ามาในธุรกิจ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป”

S 15

“ปัญหาที่ร้านอาหารตอนนี้ไม่ใช่โควิด-19 แต่เป็นเรื่องแรงงานที่หายาก ส่วนหนึ่งเพราะการปิดประเทศ ขณะที่คนท้องถิ่นก็ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จึงไม่มีคนทำงาน เปิดทุกวันไม่ได้ เพราะต้องจัดสรรเวลาให้พนักงานได้พักด้วย”

ลอนดอนเนอร์ Happy เสียภาษีไม่สูญเปล่า

ขณะที่คุณเกตุ เจ้าของร้านอาหารไทยในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ค่อนข้างพอใจกับมาตรการเยียวยาของรัฐที่ช่วยเรื่อง Cash Flow ได้ดีและให้ความช่วยเหลือมากมายตั้งแต่ประกาศล็อกดาวน์จนถึงตอนนี้ ไม่ต้องเผชิญสถานการณ์ลำบากทั้งพนักงานของร้านและผู้ประกอบการ ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ยังพยุงธุรกิจกันได้อยู่

“ทุกคนแฮปปี้ รู้สึกภูมิใจว่าเงินที่จ่ายภาษีไปมีประโยชน์”

ทั้งนี้ เมืองผู้ดีมีนโยบายช่วยเหลือร้านอาหาร ทั้งการช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 80% ช่วยเงินสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เดือนละ 2,000 ปอนด์ ลดหย่อนภาษีจาก 20 เหลือ 5% ยกเว้นภาษีธุรกิจเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมคุ้มครองผู้เช่า โดยมีคำสั่งเจ้าของที่ไม่มีสิทธิ์ไล่ผู้เช่าจนถึงเดือนม.ค.ปีหน้า หากมีปัญหาไม่สามารถชำระได้ และในส่วนของร้านอาหารไทยในผับ ช่วงที่ปิดกิจการก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าแต่อย่างใด ขณะที่ปีที่แล้ว มีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (2%) ให้ธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยวงเงินสูงสุด 50,000 ปอนด์ต่อราย สามารถผ่อนได้ 6 ปี การกู้ไม่ยุ่งยาก เพราะต้องการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ

“นอกจากสินเชื่อ มาตรการต่างๆ ยังคงมีอยู่จนถึงตอนนี้ และจะลดลงเมื่อยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ 19 ก.ค.นี้ โดยจะยังช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานแต่ลดลงเหลือ 60-70% เนื่องจากหลังปลดล็อกช่วงแรก ทางร้านอาจยังไม่มีลูกค้ามากนัก แต่จะสิ้นสุดในเดือนต.ค.”

สำหรับตอนนี้ ร้านอาหารในลอนดอนเปิดให้นั่งกินในร้านได้แล้ว แต่นั่งร่วมโต๊ะได้ไม่เกิน 6 คน หากไม่ได้มาจากบ้านเดียวกัน และยังต้องใส่หน้ากากเมื่อลุกออกจากโต๊ะ โดยตอนนั่งอยู่ที่โต๊ะสามารถถอดออกได้ ส่วนบ้านเดียวกันนั่งได้ถึง 10 คน แต่ถ้าอยากจัดปาร์ตี้เป็นกลุ่ม ที่ไม่ได้มาจากบ้านเดียวกัน สามารถนั่งนอกร้านในพื้นที่โล่งด้วยกันได้ถึง 10 คน

S 1

เมืองน้ำหอมช่วยพยุงธุรกิจ

สำหรับคาเฟ่และร้านอาหารในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกอย่างฝรั่งเศส กลับมาเปิดพื้นที่ให้นั่งกินด้านนอกของร้านได้แล้วตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากมายก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง 80% เงินช่วยเหลือ 10,000 ยูโรสำหรับธุรกิจร้านค้าที่ต้องปิดตัวลง รวมถึงธุรกิจที่มีพนักงาน 10-50 คนและสูญเสียรายได้อย่างน้อย 50%

นอกจากนี้ยังอนุญาตให้เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เลื่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม และค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ภาษี ค่าเช่า รวมไปถึงแจ้งขอคืนภาษีได้ พร้อมนโยบายปรับโครงสร้างหนี้โดยมีรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน และไม่มีบทลงโทษสำหรับบริษัทหากเกิดผิดนัดชำระหนี้กับคู่สัญญาที่เป็นรัฐ

รัฐบาลยังออกนโยบายจูงใจให้เจ้าของห้องเช่า/บ้านพัก ให้เว้นค่าเช่าสำหรับผู้เช่าเป็นเวลา 1 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม แลกกับการได้ลดหย่อนภาษี 30% ของรายได้ที่หายไป

โคเปนเฮเกนเยียวยา ยืมภาษีไม่เสียดอก

ในขณะที่เจ้าของร้านอาหารทั่วโลกจำนวนไม่น้อยกำลังกุมขมับกับการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด รานี อุดทุมธิสาร เจ้าของร้าน Ranees ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กลับตื่นเต้นกับยอดขายทะลุเป้ามากที่สุดในชีวิต หลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อกดาวน์รอบสอง เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

“ตั้งแต่เปิดร้านมา 14 ปี ไม่เคยขายดิบขายดีเท่านี้มาก่อน เหมือนคนอัดอั้นและออกมาใช้เงินกันเต็มที่ ขายดีทุกวันไม่ใช่เฉพาะช่วงสุดสัปดาห์” เจ้าของร้านวัย 50 ปีเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส หลังต้องขาดทุนมาหลายเดือนช่วงขายแบบ Take away อย่างเดียวตอนล็อกดาวน์ ซึ่งมี 2 รอบ คือ ก.พ.-มิ.ย. และธ.ค. – มี.ค.

คุณรานี บอกว่าส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตความฉลาดให้รัฐบาลที่ออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการจ่ายเงินช่วยคนตกงาน และการสนับสนุนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยจ่ายเงินเดือนลูกน้อง ประมาณ 85 % และอีก 15% นายจ้างจ่าย ช่วยค่าเช่า หรือให้ยืมเงินภาษีที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ออกมาใช้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและไม่มีเงื่อนไขเวลาในการชำระคืน

“เมื่อคนตกงานได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ ก็มีกำลังออกมาจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจก็ได้ทั้งเงินหมุนเวียนจากรัฐและผู้บริโภค คนก็ไปจ่ายภาษี เงินก็เข้ารัฐให้นำออกมาใช้ในระบบอีก เป็นวงจรของมันไปแบบนี้ จึงค่อนข้างพอใจกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ให้เลย 90% เพราะช่วยได้มาก แม้เงินที่เขามาจะไม่เต็ม 100 แต่ก็ช่วยหมุนให้ระบบมันไหลลื่นพยุงธุรกิจได้ บวกกับคนที่นี่ก็พยายามสนับสนุนกัน ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19”

S 8

S 7

บางเสียงที่เราสะท้อนออกมาให้ได้ยินกันนี้ ก็เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เห็นว่า ในสถานการณ์เลวร้ายของโควิด-19 ทุกประเทศต่างก็มีมาตรการเยียวยาต่างๆ เพื่อช่วยพยุงให้ธุรกิจร้านอาหารอยู่รอดกันได้อย่างไร ขณะเดียวกันการเร่งฉีดวัคซีน(คุณภาพสูง)ให้มากที่สุด เร็วที่สุด คือสิ่งที่ต้องทำด่วนที่สุด เพราะนั่นน่าจะเป็นคำตอบใช่ที่สุดแล้วในเวลานี้

Tags: