- ผลสำรวจในอเมริกาพบว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จะมีการเดินทางท่องเที่ยวแบบโรดทริปเพิ่มขึ้น เพราะให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวกว่าการเดินทางสาธารณะ
- โรดทริปช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นได้ เพราะถูกสถานการณ์บังคับให้กลุ่มคนต้องอยู่ด้วยกันในรถคันเดียวกันเป็นเวลานาน
- ระหว่างที่ไปโรดทริปด้วยตัวเองไม่ได้ ออกไปผจญภัยผ่านหนังโรดทริปไปพลางๆ ที่เราหยิบมาเป็นตัวอย่างเล่าสู่กันฟัง
ในยามที่กายหยาบจำต้องอยู่กับที่ ก็อาศัยหนังตระกูล Road Trip ให้อวตารตัวเองไปเป็นตัวละคร แสร้งว่าได้ออกเดินทาง…บ้าง
เมื่อล้อหมุน เรื่องราวก็มา
Sigmund Freud เสนอแนวคิดของ ‘The return of the repressed’ สิ่งที่โดนกดไว้จะปะทุกลับมาเสมอ การที่คนโดนบีบให้อยู่บ้านเป็นเดือนเป็นปี จึงปะทุออกมาในรูปของผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันที่ว่า
เมื่อคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ผู้คนจะอยากท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มขึ้น และรูปแบบการเดินทางยอดนิยมก็คือโรดทริป ขับรถไปเที่ยวในประเทศ จะได้เที่ยวไปจอดพักไป รู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวกว่าเดินทางด้วยเครื่องบิน
เมื่อเวลานั้นยังมาไม่ถึง การส่อง Netflix ไล่ดูหนังโรดทริปช่วยชะลออาการปะทุลงไปได้บ้าง ซึ่งหนังโรดทริปไม่ว่าเรื่องใดล้วนมีจุดร่วมละม้ายกัน เช่น ตัวละคร (อย่างน้อย 2 คน) ตกอยู่ในสถานการณ์บังคับให้ต้องอยู่ในพาหนะเดียวกันเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มี ประเด็นสำคัญจึงอยู่ระหว่างการเดินทางที่อาจจะเจอ…
• หนุ่มหล่ออย่าง Brad Pitt ที่ทำเอาสองสาวเพื่อนซี้เห็นแล้วถึงกับลืมสามีกับแฟนหนุ่มไปเลย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโรดทริปครั้งนี้ตามมาด้วยเหตุไม่คาดฝัน จนสองสาวที่เดิมตั้งใจว่าจะขับรถหนีชีวิตจำเจแค่แป๊บๆ กลับต้องขับรถตุหรัดตุเหร่ไปเรื่อยๆ ชนิดลืมทางกลับบ้าน (= ชีวิตเดิม) ไปได้เลยใน Thelma & Louise
• พี่ชายที่ไม่เคยรู้ว่ามีและเป็นออทิสติก เมื่อพ่อที่ห่างกันไปนานเสียชีวิต ทิ้งมรดกไว้ให้ 2 อย่างคือ เงิน 3 ล้านเหรียญกับรถบิวอิคคันงาม น้องชาย (Tom Cruise) ซึ่งได้รถไปแต่ดันโลภอยากได้เงินด้วย จึงไปรับตัวพี่ชายออทิสติก (Dustin Hoffman) ออกจากสถานดูแลเพื่อจะมาดูแลเอง (จะได้งาบเงินดูแลที่พ่อทิ้งไว้ให้พี่) โดยมากแล้วเพื่อนร่วมทางจะค่อยปรับตัวกันไประหว่างเดินทางด้วยกัน แต่ถ้าเพื่อนร่วมทางไม่อาจเปลี่ยนแปลงตนเองได้ (ด้วยสภาวะทางร่างกายที่เป็นข้อจำกัด) เช่น พี่ชายไม่ยอมขึ้นเครื่องบินเด็ดขาดโดยยกสถิติอุบัติเหตุของทุกสายการบินมาอ้าง พี่ชายที่ต้องมีขวดเมเปิลไซรัปวางมุมขวาของโต๊ะก่อนแพนเค้กจะมาเสิร์ฟ ไม่งั้นจะไม่กิน ฯลฯ จนน้องร่ำๆ อยากทิ้งพี่อยู่หลายหน สองพี่น้องจะทิ้งกันหรือจะไปต่อดูได้ใน Rain Man
• พ่อที่กำลังจะผ่าตัดแปลงเพศ แต่เพิ่งรู้ว่ามีลูกชายวัยรุ่นที่ติดคุกอยู่ ความโกรธเกรี้ยวที่รู้สึกว่าโดนพ่อทิ้ง แถมพ่อก็ดันกลายเป็นแม่ไปเสียอีก สรุปว่าฉันมีแม่ 2 คน? ฉันกำลังจะเป็นผู้หญิงทั้งร่างกายจิตใจอยู่วันสองวันนี้แล้ว แต่ฉันมีลูกชายขี้ฉุนอายุ 17 สรุปว่าฉันต้องทำตัวเป็นพ่อหรือเป็นแม่ดี? ความสับสนแบบนี้มีเต็มระหว่างที่พ่อ (หรือแม่) กับลูกชายขับรถจากนิวยอร์กเพื่อกลับบ้านที่แคลิฟอร์เนียใน Transamerica
ล่าสุดซีรีส์เกาหลีเรื่อง Monthly Magazine Home กลายเป็นซีรีส์กึ่งโรดทริปที่ดูสนุกมาก เมื่อนางเอกนักเขียนเข้าทำงานเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารบ้านซึ่งพระเอกเป็นเจ้าของ ความหัวหมอของพระเอกคือตัวเองทำธุรกิจอสังหาฯ เลยมาซื้อนิตยสารหัวนี้เพื่อจะได้เอาบ้านที่ตัวเองจะขายลงคอลัมน์เสียเลย
ความโรดทริปเกิดขึ้นเป็นพักๆ เมื่อพระนางต้องขับรถไปทำคอลัมน์ ทำให้ทั้งคู่ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่ถูกกันจำต้องเดินทางไปทั่วเกาหลีเพื่อไปถ่ายรูปบ้านสวยเก๋ที่ควรค่าแก่การลงนิตยสาร นักเขียนพยายามมองหาบ้านที่น่าอยู่ ขณะที่ท่านผู้บริหารมองหาบ้านที่น่าจะขายได้ นางเอกทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่ไม่มีสมบัติพัสถานใดเป็นชิ้นเป็นอัน มิพักต้องพูดถึงการเป็นเจ้าของบ้านที่แทบจะเป็นความฝันใฝ่ที่ไร้ความสำเร็จ ส่วนซีอีโอดิ้นรนทำงานทุกอย่างจนสร้างตัวเป็นเศรษฐีอสังหาฯ ได้ แต่ไร้บ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง ค่าที่ต้องย้ายออกทุกครั้งที่มีคนมาซื้อบ้าน
โรดทริปในซีรีส์เรื่องนี้มีจุดหมายปลายทางเป็นบ้านของคนอื่นเสมอ โดยที่ตัวพระนางสะท้อนความยากลำบากของคนหนุ่มสาวยุคนี้ที่การมีบ้านเป็นของตัวเองคล้ายว่าจะฝันละเมอ แม้นพยายามออมเงินหนักหนาแต่ดูเหมือนว่าเงินจะหลุดลอยไปง่ายดายกับค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้ แต่ความหนักอึ้งทั้งมวลถูกเคลือบไว้ด้วยความตลกที่ดูเอาเพลิน อันเป็นชั้นเชิงการเคลือบซ้อนเรื่องราวอย่างแนบเนียนสไตล์ซีรีส์เกาหลี
การเดินทางที่บังคับให้คนสนิทกันเร็วที่สุด
Roger Ebert นักวิจารณ์หนังผู้ทรงอิทธิพล (และเป็นผู้ล่วงลับ) มองว่า หนังโรดทริปเป็นดั่งการเปรียบเปรยถึงการเดินทางเข้าสู่สัมพันธภาพภายใน ซึ่ง Andy Luttrell ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง Ball State University ในสหรัฐฯ ขยายความว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
• โรดทริปคือการตกหลุมรักเพื่อนร่วมทาง Mere Exposure Effect คือหลักการที่ว่า ยิ่งได้เห็นสิ่งนั้นบ่อยๆ เราจะยิ่งชอบมัน เช่น เปิดเพลงเดิมๆ ซ้ำๆ เข้าไป เดี๋ยวคนก็ชอบ ในระหว่างโรดทริปที่เราต้องเห็นหน้าคนเดิมๆ อยู่นั่น ก็เป็นไปได้ที่เราจะชอบคนคนนั้นไปเอง
• โรดทริปคือการที่หมู่คณะมีจุดหมายร่วมกัน Intergroup Contact คือหนึ่งในวิธีการที่จะลดอคติระหว่างกันเมื่อทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วม เมื่อนักเดินทางในโรดทริปที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน เช่น เราจะไปเชียงใหม่ จะเปิด Google Map จะถามชาวบ้าน จะรถเสีย ยางแตกอย่างไร คณะเชียงใหม่นี้ก็จะร่วมกันฝ่าฟันไปจนได้ เป็นต้น
• โรดทริปคือการได้เพื่อนใหม่คอเดียวกัน จากงานวิจัยกว่า 100 ชิ้นพบว่า เราชอบคนที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองและเราชอบคนอื่นมากขึ้นเมื่อเราเปิดเผยตัวตนแก่เขา (Mutual Self-Disclosure) ซึ่ง Arthur Aron นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดแนะนำเทคนิคเป็นเพื่อนกับคนอื่นแบบไวๆ ด้วยวิธี ‘กว้างไปแคบ’ กล่าวคือให้เปิดบทสนทนาว่าด้วยเรื่องจิปาถะทั่วไป เช่น เธอเป็นคนที่ไหนเหรอ แล้วค่อยๆ เขยิบยิงคำถามไปเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เช่น มีแฟนแล้วยัง ข้อมูลต่างๆ ที่หลั่งไหลมานี้จะช่วยให้เราคัดกรองความเหมือนและความต่าง ซึ่งมีผลการวิจัยอีกเช่นกันที่ว่า มิตรภาพในวัยผู้ใหญ่จะจืดจางไปเมื่อคนสองคนมีความต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยเพศไปจนถึงสถานะทางสังคม แต่ถ้าเราเจอคนที่มีอะไรเหมือนเรามากๆ (Similarity-Liking Effect) เราก็ยิ่งชอบพอเขาง่ายขึ้น
• โรดทริปคือการมีประสบการณ์ร่วม การได้แชร์ประสบการณ์บางอย่างร่วมกันยิ่งทำให้ประสบการณ์นั้นตราตรึงยิ่งขึ้น อาการคล้ายๆ กรี๊ดดาราอยู่คนเดียวก็ได้อารมณ์ประมาณหนึ่ง แต่พอไปเข้าด้อม เจอติ่งที่กรี๊ดดาราคนเดียวกันความติ่งในตัวยิ่งกระฉูด การมีเพื่อนร่วมทริปที่ได้ผจญเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยกันมา เป็นคนที่เราสามารถสะกิดต่อมความทรงจำ ‘แกๆ จำได้ไหม ตอนนั้นน่ะที่…’ ทำให้ทริปนั้นประทับจิตยิ่งขึ้น เพราะมีคนที่ผ่านอะไรมาเหมือนๆ เราและเข้าใจกันโดยไม่ต้องเท้าความ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คุณแอนดี้เรียกว่า Road Trip Effect ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้คนที่อยากจะชวนกันออกไปย่ำถนนมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
ที่มา:
https://www.prnewswire.com/news-releases/2021-is-the-year-of-the-road-trip-harvest-hosts-study-reveals-americans-are-ready-to-travel-but-not-by-plane-301217185.html
https://www.cnbc.com/2021/03/30/heres-what-post-pandemic-travel-might-look-like.html
http://socialpsychonline.com/