About
RESOUND

SAC Gallery

มองภาพนิเวศศิลปะผ่านแนวคิดบริหาร SAC Gallery ของเอิง​-จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เอิง – จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ สะสมชิ้นงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เติบโตและเรียนรู้บริบทสังคมผ่านโลกศิลปะหลายแขนงในต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาก็พาตนเองฝ่าเมืองหนาวกลับเข้าสู่แวดวงศิลปะไทยเพื่อดำรงตำแหน่งผู้บริหาร SAC Gallery แกลเลอรีเอกชนย่านสุขุมวิท
  • เพราะต้องการขับเคลื่อน Ecosystem โลกศิลปะไทย ทำให้เอิงมองเห็นว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าตนเองมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศนี้อย่างไร วันนี้ ONCE ชวนเอิงมาเล่ามุมมองการบริหารแกลเลอรี พร้อมเล่าถึงปัญหาที่คนในแวดวงศิลปะไทยยังคงพบเจอ แม้ว่าเราจะก้าวสู่ปี 2023 แล้วก็ตาม

ความหลงใหลศิลปะพ่วงด้วยรักการสะสมชิ้นงานของเอิงเกิดจากครอบครัวโดยเฉพาะ ‘ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ’ พ่อของเขาที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์และเป็นนักสะสมงานศิลปะมานาน ทั้งยังได้ก่อตั้งหอศิลป์เอกชนในย่านสุขุมวิทครั้งแรกโดยใช้ชื่อ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.) ระหว่างนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแกลเลอรีมาเรื่อยๆ จนเอิงรับช่วงต่อ ที่นี่ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น SAC Gallery เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยซึ่งเริ่มตั้งแต่การรากฐานการชมงานศิลปะ

จากวันแรกสู่สารพันการทำงานจวบเข้าปีที่ 10 เอิงเกริ่นเปิดประเด็นว่า หน้าที่ของเขาไม่ใช่เพียงแค่คัดเลือกผลงานจัดแสดงหรือโปรโมตเพื่อขายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผลักดัน Ecosystem แห่งโลกศิลปะไทยให้ได้ไปต่อในระดับสากล พร้อมกันคือต้องสร้างการตระหนักรู้ว่า “เราทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศศิลปะนี้ด้วยกันทั้งนั้น”

SAC Gallery

SAC Gallery พื้นที่เพื่อทุกคน

รากฐานการเรียนรู้โลกศิลปะ ข้อแรกที่ควรเริ่มต้นคือการออกแบบอาคาร SAC Gallery จึงเน้นความเรียบง่าย มีพื้นที่กว้าง เพื่อรองรับการจัดแสดงศิลปะ ตั้งแต่ภาพเพนติ้งไปจนถึงศิลปะจัดวาง พร้อมทั้งการเปิดให้นำเสนอทุกประเด็นเนื้อหาทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม

SAC Gallery

“จุดเริ่มต้นของ SAC Gallery คือการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่อาจนำเสนอเนื้อหาไม่ได้ซับซ้อนเท่าคนอีกวัย ข้อดีที่ตามมาคือการมอบความเฟรนลี่ให้คนดู โดยเฉพาะผู้ริเริ่มชมงานศิลปะ ถ้าเริ่มต้นมาที่นี่ คุณจะรู้สึกว่าเข้าถึงผลงานง่าย ใครๆ ก็มาชมได้ ที่นี่จึงเสมือน Pre – Gallery ที่เข้ามาช่วยฝึกสายตาการชมงานศิลปะขั้นพื้นฐานด้วยครับ”

SAC Gallery

แกลเลอรีที่ดีควรทำหน้าที่เสมือนเป็นนักบันทึกจดหมายเหตุ เพื่อจดบันทึกวิธีคิดและการทำงาน ตลอดจนถึงผลงานของศิลปินให้ปรากฏสู่หน้าประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยในอนาคตด้วย “ความร่วมสมัยมักถูกผูกไว้กับยุคสมัย ศิลปะร่วมสมัยมันรอไม่ได้นะ ถ้ามันไม่มีการจดบันทึกก็จะเกิดสุญญากาศทางวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้นๆ มาจดทีหลังมันก็จะไม่มีความร่วมสมัยแล้ว” เอิงบอก

SAC Gallery

SAC Gallery

SAC Gallery

ถามถึงการคัดเลือกศิลปิน เขาไม่ได้ดูแค่ไอเดียใหม่หรือประเด็นดี แต่เน้นดูความต่อเนื่องในการสร้างงาน เพราะสิ่งนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเทคนิคและแนวคิด นอกจากนี้ แกลเลอรียังต้องดูแลการทำงานของศิลปินโดยอิงตลาดศิลปะด้วยในบางครั้ง

SAC Gallery

“ถ้าศิลปินยังมีผลงานที่เป็นภาพจำไม่มากพอ เราต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาสร้างงานต่อได้โดยไม่เบื่อหน่ายไปซะก่อน เพราะในมุมของนักสะสม การที่เขาซื้องานจากศิลปินคนหนึ่งไป จู่ๆ ปีถัดมาศิลปินคนนั้นเลิกสร้างงานแล้ว ผลงานที่นักสะสมเก็บไว้ มูลค่าก็อาจจบที่ตรงนั้น หรือถ้าศิลปินเปลี่ยนแนวงานบ่อยๆ ก็ไม่มีข้อสรุปว่างานหลักที่บ่งบอกตัวเขานั้นคืออะไร”

“เรื่องปากท้องของศิลปินก็สำคัญ แกลเลอรีอย่างเราจะขายงานให้นักสะสมแบบตัดราคา หรือขายในราคาที่เอาใจนักสะสมอย่างเดียวไม่ได้ ไม่เช่นนั้นศิลปินจะไม่สามารถขยับราคาหรือเพดานคุณค่างานของตนเองได้ หน้าที่ของแกลเลอรีจึงต้องสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นต่อบุคลากรทุกฝ่ายในแวดวงศิลปะครับ”

SAC Gallery

เอิง – จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ

ภาษาหรือกำแพง?

การเกิดใหม่ของแกลเลอรีหลายๆ แห่งมีส่วนกระตุ้นให้คนในพื้นที่เข้าถึงวัฒนธรรมการชมงานศิลปะได้ง่ายขึ้น แต่คำบอกเล่านิทรรศการก็ดูเหมือนจะสร้างกำแพงอยู่กลายๆ เพราะในหลายๆ ครั้งที่อ่านปั๊บก็เริ่มสับสน นี่เราโง่หรือเขาใช้คำศัพท์เข้าใจยากกันนะ บางคนถึงกลับต้องทิ้งแพลนดูงานอาร์ต เพราะคิดว่าดูไปก็คงไม่เข้าใจ

การอธิบายความซับซ้อนของงานด้วยภาษาศัพท์ที่เข้าใจง่าย สื่อสารชัดเจน โดยไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ศิลปิน รวมถึงเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในเนื้องาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ความรู้ผู้ชม นับเป็นสิ่งที่เอิงให้ความสำคัญเสมอมา และเราเชื่อว่าสิ่งนี้น่าจะช่วยลดกำแพงถ้อยคำที่ว่า “ศิลปะเข้าถึงยาก” ได้

SAC Gallery

ขับเคลื่อนศิลปะไทยด้วยการ (ไม่) วิจารณ์กัน?

“ประเทศไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างประนีประนอม วงการศิลปะไทยก็ค่อนข้างเล็ก มีความเป็น Take it Personal วิจารณ์ปุ๊บ โกรธไม่มองหน้ากันเลยก็มี ผู้ใหญ่ไม่รับคำวิจารณ์เกิดเป็น Role Model ให้เด็กเห็นแบบนั้น ก็จะส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมที่ไม่วิจารณ์กันและกัน ขณะเดียวกันศิลปะถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์มาก จนเด็กรุ่นใหม่ที่อยากปูทางมาเป็นนักวิจารณ์ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีเสียงว่า ‘เธอเป็นใคร มีความรู้มาจากไหน ถึงกล้าวิจารณ์ฉัน’ กลายเป็นว่าเด็กรุ่นหลังไม่กล้าขยับไปไหน เพราะรู้สึกว่า จะทำอะไรก็ถูกเพ่งเล็งจากผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา” ไม่แน่ว่าระบบผู้อาวุโสที่ปลูกฝังให้เชื่อฟัง อาจไม่ต่างอะไรกับการถูกปิดตาให้เลือกมองเพียงด้านเดียว

SAC Gallery

ถ้าเป็นอย่างที่เอิงเล่า การจัดนิทรรศการที่ไร้เสียงสะท้อนจากผู้คน ยังนับว่างานนั้นๆ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนความคิดอยู่หรือเปล่า ก็ยังคงเป็นคำถามที่ค้างคาใจเราหลังจากได้ฟัง แต่เอิงก็มาไขข้อสงสัยในคราวต่อมา

“ผลงานศิลปะทุกชิ้นต้องการคนนอกเข้ามาดู เพื่อวิจารณ์และแสดงความคิดเห็น คนดูมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศศิลปะมากที่สุดเลยครับ อย่างปรากฏการณ์หนัง The Little Mermaid ที่คนดูจบแล้วกลับมาพูดถึงกันเยอะมากตามสื่อต่างๆ บทความวิเคราะห์ วิจารณ์ก็มี แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่เกิดขึ้นในวงการศิลปะ มันเกิดขึ้นน้อยและเป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ สื่อเองก็มีหน้าที่สำคัญในการผลักดันเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็นมักจะมาในเชิงเขียนโปรโมทนิทรรศการ ซึ่งไม่เกิดการวิจารณ์ ว่าสิ่งที่ศิลปินพยายามสื่อกับการแสดงออกนั้นมันสัมฤทธิผลไหม”

การจัดนิทรรศการในความคิดของเอิงเป็นเหมือนการนำเสนอชุดความคิดของศิลปินเพียงด้านเดียวผ่านเทคนิค แต่สุดท้ายความสมบูรณ์จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อตัวงานกลายเป็นพื้นที่เรียกผู้คนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การชมงานอย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลว่าจะชมงานศิลปะไม่รู้เรื่อง

ขณะเดียวกันในฐานะผู้บริหารแกลเลอรี เขาก็พยายามเติมส่วนที่ขาด ด้วยการกระตุ้นให้คนเบื้องหลังแสดงออกถึงมุมมองของตนในทุกครั้งที่ SAC Gallery จัดนิทรรศการ “ไดเรกเตอร์มีแง่มุมต่อภาพรวมอย่างไร คิวเรเตอร์มีความคิดเห็นต่องานและศิลปินในครั้งนี้อย่างไร ก่อนจะรวบรวมพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารให้ศิลปิน แม้จะไม่ใช่ความคิดเห็นเชิงวิชาการ แต่ก็สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้ศิลปินได้พัฒนาผลงานต่อในอนาคตได้”

• เบื้องหน้ามีงาน เบื้องหลังขาดคน

ในยุค 2023 วงการศิลปะบ้านเรากำลังครึกครื้นและเต็มไปด้วยศิลปินหน้าใหม่ๆ ซึ่งทยอยสร้างผลงานให้รับชมกันอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าจะมีการจัดนิทรรศการมากขึ้นในทุกๆ เดือน แต่ชะตากรรมของคนสร้างงานที่เหมือนถูกผูกติดไว้ในกับดัก เพียงเพราะ ‘ศิลปินไทย’ ไม่ถูกมองว่าเป็นอาชีพประจำ ไม่มีสวัสดิการรองรับ การขอวีซ่าไม่ผ่าน ก็นับว่าตัดโอกาสที่ศิลปินไทยจะได้ออกไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อมองหาสิ่งใหม่ในโลกที่ไม่คุ้นเคย

AC Gallery

SAC Gallery จึงได้ริเริ่ม Art Residency โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างศิลปินไทยในพำนักและศิลปินต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2017 ก็เพื่อลดช่องว่างของปัญหาที่ว่า แต่คงดีกว่านี้หากภาครัฐมองเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากพอที่จะเข้าแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อสิทธิ์ในตัวศิลปินมากขึ้น เฉกเช่นประเทศที่เห็นคุณค่าของศิลปะเป็นอันดับต้นๆ

SAC Gallery

นอกจากนี้ ปัญหาที่เอิงพยายามพูดมาโดยตลอดแล้วยังคงพูดต่อคือ ความขาดแคลนของบุคลากรในแวดวงศิลปะไทย ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนที่ควรได้รับการแก้ไข ทั้งคิวเรเตอร์ นักวิจารณ์ นักเขียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บผลงาน บริการอาร์ตเซอร์วิส ไปจนถึง Art Framing และ Art Handler ก็ยังแทบไม่ค่อยมีคนรู้จัก “ถึงขณะที่ว่ายังไม่มีคำภาษาไทยใช้เรียกอาชีพนี้เลยครับ” แม้ว่าเดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งเริ่มเปิดหลักสูตรเพื่อมุ่งผลิตบุคลากรทางด้านศิลปะแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทางออกของคนที่อยากไปรอดในสายนี้ก็คงต้องถ่อไปศึกษาต่อยอดความรู้กันที่เมืองนอก

SAC Gallery

ฟังๆ ดูแล้วก็นึกถึงวลี ‘ศิลปินไส้แห้ง’ หากว่าบ้านเรามองเห็นคุณค่าของศิลปะ หากว่าการเมืองดี ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนทุกอาชีพอย่างเท่าเทียม พลิกจุดอ่อนให้เป็นโอกาสต่อการแก้ไข บางทีวลีที่ว่าก็อาจเป็นแค่การอุปโลกน์ขึ้นมาเองโดยไม่มีพิษภัยอะไรเลยก็ได้

SAC Gallery

แต่ก็อย่างว่าล่ะทุกวันนี้แม้แต่ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงก็ยังต้องเป็นเดอะแบกให้ตัวเองอยู่เลย และนอกจากการบอกเล่าของเอิงจะเป็นเสียงสะท้อนของแกลเลอรีภาคเอกชนแล้ว เขาก็ยังหวังว่าการพูดคุยกับเราในวันนี้ จะเป็นอีกครั้งที่ความเดือดร้อนของคนในแวดวงศิลปะจะได้รับการมองเห็น เพราะ Ecosystem แห่งโลกศิลปะคงต้องพึ่งพาพวกเราทุกคน หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศิลปะไทยก็คงไปไกลในระดับโลก แต่ไฟที่เป็นดั่งจิตวิญญาณของผู้สร้างคงค่อยๆ ดับลงในไม่ช้าก็เป็นได้

SAC Gallery
ที่อยู่ : 160, 3 ซ. สุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
เปิด – ปิด : วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 11:00 – 18:00 น. (ปิดทุกวันอาทิตย์ – วันจันทร์)
โทรศัพท์ : 0-2258-5580 ต่อ 401
Facebook Page : SAC Gallery

Tags: