- นักคิดรุ่นเก๋าและปรมาจารย์แห่งวงการนักออกแบบไทย ผู้ก่อตั้ง Propaganda เขาบุกเบิกเส้นทางการนำศิลปะมาอยู่ในเชิงพาณิชย์ได้จริง เป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้พี่พ้องน้องเพื่อนร่วมอาชีพกล้าที่จะคิดนอกกรอบแห่งขีดจำกัดทั้งหลายในการทำงาน
- ถอดสมการความสำเร็จของ ‘Mr. P’ ตัวการ์ตูนสัญชาติไทยแท้ ที่สร้างกระแสมิสเตอร์พีฟีเวอร์ เติบโตในตลาดสินค้าดีไซน์ที่กลายเป็นของขวัญของที่ระลึกสุดฮิตทั้งในและต่างประเทศมาแล้วทั่วโลก
- ก้าวต่อไปของชีวิตกับ ‘ธิตทาง’ บริษัทรับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานออกแบบและการสร้างแบรนด์ ที่หวังนำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่าครึ่งชีวิต ผ่านจุดผิดพลาดที่เคยผลิตสินค้าต้นทุนสูงจนขายไม่ออก เผชิญวิกฤตสต๊อกบวมเต็ม 3 โกดัง และชีวิตที่ก้าวผ่านความล้มเหลวแล้วพลิกผันกลับมาประสบความสำเร็จอย่างไม่ทันตั้งตัว เพื่อมาย่นปัญหาและย่ออุปสรรคให้ลูกค้า
หากคุณไม่ใช่คนในแวดวงคนออกแบบแล้วล่ะก็ ชื่อของคุณแก่ สาธิต กาลวันตวานิช อาจชวนให้ต้องหน้านิ่วคิ้วขมวดแบบไม่รู้ตัว แต่ใครจะรู้ หากได้รู้จักเขามากขึ้น คุณอาจพบว่าตัวเองกลายเป็น fc ตัวจริงของเขา เพราะที่บ้านมีข้าวของเครื่องใช้อันเกิดจากไอเดียของผู้ชายคนนี้อยู่หลายชิ้น ยิ่งถ้าคุณชื่นชอบงานดีไซน์ที่เก๋ไก๋ไม่เหมือนใครแล้วล่ะก็ สมมติฐานนี้จะเข้าเค้ามากขึ้นเลยทีเดียว
การออกแบบอยู่ใน DNA
ใครๆ เรียกขานเขาว่า “พี่แก่” ด้วยน้ำเสียงที่บ่งชัดถึงความเคารพนับถือและซูฮกในฝีมือ ยิ่งรู้สึกได้ว่า เขาคือขิงแก่ที่ร้อนแรงและแก่วิชาคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ สมกับที่ชีวิตคุณแก่พัวพันกับงานดีไซน์มาตลอด ตั้งแต่สมัยเรียนที่เน้นหนักกิจกรรมนอกห้องเรียนมากกว่านับหน่วยกิตตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ เขาคลุกคลีกับการทำหนังสือ และชอบวาดการ์ตูนมากถึงกับเคยมีงานแสดงภาพวาดการ์ตูนของตัวเองมาแล้ว เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นครีเอทีฟในบริษัทเอเยนซีชื่อดัง ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ใช่อาชีพสุดคูลในฝันของหนุ่มสาวเช่นในปัจจุบัน แต่ด้วยใจรักในงานดีไซน์เขาจึงไม่อยากปิดกั้นพลังความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ทำให้คุณแก่ออกมาเปิดบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ชื่อว่า Phenomena ขณะเดียวกันเขาตั้งบริษัท Propaganda ไว้เป็นที่ ‘ปล่อยของ’ งานดีไซน์สไตล์เก๋เท่ไม่ซ้ำใคร เพื่อพะยี่ห้อของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“การออกแบบคือ “กระบวนการ” เป็นการแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง หน้าที่ของนักออกแบบไม่ใช่แก้ปัญหาให้ตอบโจทย์ เพราะนั่นเป็นแค่การขายของ แต่ต้องทำยังไงที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับโจทย์ หรือยกระดับคำตอบไปสู่เลเวลอื่นๆ ดังนั้น งานดีไซน์จึงเป็นประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทำให้ผมค้นพบว่า การดีไซน์ไม่ใช่เรื่องของความงาม และไม่ใช่เรื่องของการตอบโจทย์หรือการขายของ แต่เป็นเรื่องของ Way Forward หรือการไปแสวงหาดินแดนใหม่ๆ ที่โลกนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน ไปสร้างตลาดใหม่ๆ ไปเติมเต็มความรู้สึกของคน การออกแบบจึงจะทำให้ทุกสิ่งในโลกดีขึ้น ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น”
“ความคิดดีๆ ไม่ได้เกิดจากการใช้เหตุผล เราแค่จับต้องความรู้สึกและสัญชาตญาณไม่ได้ ความคิดนั้นจึงถูกมองว่าไม่มีในโลก แต่ความไม่มีเหตุผลอาจก่อให้เกิดนวัตกรรม”
แค่ ‘คิด’ ก็ ‘ต่าง’ แล้ว
“เนื่องจากเราอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น แล้วเราชอบบ่นเรื่องข้อจำกัดเหล่านั้น แต่เมื่อผมไปอยู่ในวงการดีไซน์ ทำให้ทราบว่า ข้อจำกัดเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นตัวตั้งของความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเราจนมุมมากๆ จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ พอหลังชนฝาจะเกิดกระบวนการคิดอะไรบางอย่างจากความไม่มี และข้อจำกัดจะทำให้เรา unique เพราะปัญหาต่างกัน ถ้าเราเริ่มจากข้อจำกัด แล้วกระโดดตีลังกาออกมา มันเดินดุ่ยๆ ออกมาไม่ได้ เพราะทุกด้านคือกำแพง ทำให้ต้องปีน ต้องกระโดด ต้องโยนเชือก ต้องทำสารพัดวิธีเพื่อให้ออกมาให้ได้ ถ้าเข้าใจหลักการนี้จะไม่มีวันที่ความคิดจะตีบตัน จะไม่มีวันที่คิดไม่ออก แล้วเมื่อนั้น เราจะไม่กลัวใครมาก็อบปี้อีกต่อไป
“ความคิดดีๆ ไม่ได้เกิดจากการใช้เหตุผล เราแค่จับต้องความรู้สึกและสัญชาตญาณไม่ได้ ความคิดนั้นจึงถูกมองว่าไม่มีในโลก แต่ความไม่มีเหตุผลอาจก่อให้เกิดนวัตกรรม อย่างกล้องโพลารอยด์ เกิดจากความสงสัยว่าทำไมถึงถ่ายรูปแล้วไม่มีรูปออกมาเดี๋ยวนั้นเลย ซึ่งเป็นความคิดที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง แต่ความสงสัยนั้นก็ทำให้เกิดกล้องโพลารอยด์ขึ้นมา ดังนั้น จงคิดในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้จริง แล้วก็แค่ทำให้มันเป็นจริง กระบวนการทำงานสร้างสรรค์มีอยู่แค่นี้จริงๆ
“อีกกฎในการสร้างไอเดียใหม่ๆ คือ Connecting the Dots หรือการโยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้เชื่อมถึงกัน “ยกตัวอย่าง ถ้าเราออกแบบแก้วกาแฟ เราจะไปศึกษาแก้วกาแฟทุกใบบนโลกแล้วออกแบบให้แตกต่าง แต่ไม่ว่ายังไงเราก็ยังไม่ออกจากกรอบของแก้วกาแฟ ดังนั้นลองเปลี่ยนใหม่ โยงแก้วกาแฟกับกล้องถ่ายรูปได้ไหม หรือไปโยงกับไมโครโฟนได้ไหม ซึ่งไอเดียมันอาจไม่ถูกตั้งแต่แรก แต่พอผ่านกระบวนการคิดไป มันจะได้สิ่งที่อยู่นอกกรอบ จะได้สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือที่เรียกมันว่า นวัตกรรม”
เมื่อ Mr. P ครองใจคนทั่วโลก
ทั้งหมดมวลของทฤษฎีที่คุณแก่บอกเล่ามา จึงตกตะกอนเป็น “Mr. P” ตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์ยียวนกวนประสาทที่ปรากฏตัวอยู่ในข้าวของที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวัน จากโคมไฟ One Man Shy โคมไฟร่างผู้ชายเปลือยกายล่อนจ้อนมีเพียงฝาครอบที่ศีรษะ แล้วมีสวิตช์ปิดเปิดอยู่ที่อวัยวะเพศ กลายเป็นสินค้าขายดี ไม่เพียงในประเทศไทย แต่เสน่ห์ของ Mr. P ที่เป็นส่วนผสมลงตัวระหว่างบุคลิกภาพที่ไม่เข้าตา ทั้งไหล่ตก ก้นเล็ก พุงป่อง และหัวกลมโต กับความทะเล้นขี้เล่น สัปดนนิดทะลึ่งหน่อย กลายเป็นความน่ารักและความตลกที่เป็นความรู้สึกสากล ซึ่งคนทุกสัญชาติสัมผัสได้ จึงเรียกรอยยิ้มและสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้พบเห็นได้ในทันที
ความนิยมในสินค้า Mr. P โด่งดังไปไกลถึงต่างแดน ยืนยันด้วยออเดอร์สั่งตรงจากห้างดังอย่างแกลเลอรี่ ลาฟาแยต รวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่อเมริกา
คอลเลกชั่น Mr. P ที่ทยอยออกมาสร้างรอยยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะ มีทั้งที่ตัดเทปกาว พวงกุญแจ กล่องใส่ทิชชู่ ที่วางเทียน สายคล้องมือถือ แก้วกาแฟ ที่กั้นประตู ไม่เพียงเป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสินค้าที่ใครๆ ต่างเสาะหาเพื่อเป็นของฝากของที่ระลึกสุดเก๋ที่ไม่ซ้ำใครอีกด้วย
แต่ใครจะรู้ว่า “แท้จริงแล้ว Mr. P เกิดจากความโง่” นั่นคือความจริงจากปากคุณแก่
“ถ้าเราฉลาดเราจะไม่กล้าทำ เพราะเราตอบเรื่องดีมานด์และซัพพลาย เรื่องผลกำไรได้ผิดหมด แต่เราฝันใหญ่ไปแล้วจึงลงมือทำ สุดท้ายมันก็กลับมาสอนเราว่า เรากำลังก้าวผิดพลาดไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะโลกทั้งโลกมันกำลังเคลื่อนไปในทิศทางนี้ ทิศทางที่ขับเคลื่อนด้วยดีไซน์ ถ้านักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักการตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ได้ จะเป็นผู้ชนะ”
“ดีไซเนอร์และนักสร้างสรรค์ต่างรู้ดีว่า ปัญหาคือ บ่อทองของความคิด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสนุกของคนแก้ปัญหา”
‘ธิตทาง’ ต่อไป
“ตอนนี้เราผลิตสินค้า ส่งออก ทำการตลาด ทำแบรนดิ้ง รู้จักการดึงศักยภาพของดีไซเนอร์ การให้คุณค่าที่ยังประโยชน์แก่โลก การทำแบรนด์ Propaganda จึงเหมือนการลงทุนไปกับการเรียนรู้ เราได้ชุดความรู้ใหม่ที่สร้างขึ้นเอง สั่งสมขึ้นเอง ซึ่งระหว่างทางที่เราก้าวเดินกลายเป็นว่ามีหลายประเทศอยากรู้จัก อยากมาเรียนรู้ นั่นหมายถึง สิ่งที่เรากำลังทำ มีความหมายต่อประเทศชาติ ทุกวันนี้จึงไม่เน้นผลิตสินค้า แต่เป็นการให้บริการด้านที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานออกแบบ และการสร้างแบรนด์ ในชื่อบริษัท ธิตทาง ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างสร้างสรรค์ เช่น การออกแบบ Visual Ambience ให้อสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์คล้ายเป็นจิ๊กซอว์ส่วนที่ขาด ซึ่งเมื่อเติมเต็มเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนความรู้สึกทั้งหมด
“เรากำลังนำความรู้ด้านดีไซน์มารับใช้อุตสาหกรรม ซึ่งมันสามารถเข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม เพราะมันคือ Creative Solution ดีไซเนอร์และนักสร้างสรรค์ต่างรู้ดีว่า ปัญหาคือ บ่อทองของความคิด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสนุกของคนแก้ปัญหา โดยเฉพาะตอนนี้ที่ความรู้เรื่องดีไซน์หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Design Thinking ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น”
และนี่คือสิ่งที่คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะนำมาขบคิดกันต่อว่าเราจะก้าวไปอย่างไรให้ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง…