- โควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ทำให้เกิดแนวคิดการท่องเที่ยวในปี 2022 นี้ คือการเดินทางไปยังสถานที่ที่ต้องไปสักครั้งก่อนตาย มากกว่าการเที่ยวแบบกินหรูอยู่สบาย รวมถึงเป็นทริปครอบครัวหรือทริปเพื่อนฝูง
- เมื่อมนุษย์เราไม่อาจหยั่งรู้วันตายของตัวเองได้ล่วงหน้า ฉะนั้น จงอย่าผัดวันประกันพรุ่ง มีสิ่งใดที่อยากทำก็จงทำเสียเมื่อยังมีโอกาส ซึ่งหมายรวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
ชื่อเรื่องตอนนี้คือประโยคที่มีหลายคนพูดให้ได้ยิน ส่วนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ และอย่างน้อยหนึ่งคนไม่อยู่แล้ว เพราะเหตุใดการตระหนักในความแน่นอนของชีวิตจึงทำให้คนอยากออกเดินทาง
‘เที่ยวตอนนี้’ ไอเดียเพื่อท่องเที่ยวแห่งปี 2022
หนึ่งในกระแสท่องเที่ยวของปี 2022 หรือจะเรียกว่าเป็นยุคใกล้หลังโควิดก็คือ ผู้คนสัมผัสถึงความเร่งด่วนที่ต้องออกไปเที่ยว เดี๋ยวนี้
เพราะไม่ได้ไปเที่ยวมานานก็ใช่ แต่มากกว่านั้นเป็นเพราะโควิด-19 ได้เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ‘ถ้า…(เหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นฉับพลัน)…., ฉันน่าจะ….(สิ่งที่คิดไว้ว่าอยากทำแต่เอาไว้ก่อนมาตลอด)….’
ถ้าเกิดมีโรคระบาดใหม่โผล่มาอีก ถ้าเราโดนล็อกดาวน์ ถ้าประเทศนี้ไปบุกประเทศนั้นขึ้นมา ถ้าฉันติดโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนแล้วไม่กี่วันก็ตาย ฯลฯ
ประโยค If Clause จินตนาการถึงเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่งผลทางจิตวิทยาให้ผู้คนบอกตัวเองว่า
ถ้าไม่เที่ยวตอนนี้แล้วจะให้เที่ยวตอนไหน เพราะดูจากวิกฤตโลกร้อน สงคราม และโรคระบาดแล้ว คนยุคนี้เริ่มกลัวว่าอาจจะไม่ได้แก่ตาย
แบบสอบถามของ Expedia ที่สอบถามนักเดินทาง 12,000 คนจาก 12 ประเทศ ได้ข้อสรุปว่าปี 2022 จะเป็นปีที่ผู้คนวางแผนท่องเที่ยวทริปครั้งใหญ่และทุ่มทุนจ่ายไปจุดหมายปลายทางที่อยู่ใน ‘สถานที่ที่ต้องไปเที่ยวก่อนตาย’ มากกว่าจะไปเที่ยวหรูอยู่สบายหรืออัพเกรดตั๋วเครื่องบิน
สอดคล้องกับเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบิน Amadeus ที่บอกว่า คำค้นหาจุดหมายปลายทางยอดนิยม ได้แก่ แทนซาเนียเพิ่มขึ้น 36% เพตรา นครสีกุหลาบที่ประเทศจอร์แดนบวกเพิ่ม 22% และมาชูปิกชูกระฉูดขึ้นกว่า 50% นอกจากนี้ยังมีเกาะแก่งนานาในมหาสมุทรอินเดียและทวีปแอนตาร์กติกา
กระแสท่องเที่ยวมาแรงของปีนี้อีกหนึ่งอย่าง ก็คือ Friendcations การเดินทางพร้อมครอบครัวและเพื่อนๆ หรือว่าเป็นการเดินทางไปหาครอบครัวและเพื่อนๆ หลังจากที่รักษาระยะห่างทางสังคมกันมานับปี
เราไม่ได้เป็นอมตะ
ในยุค 1920 L’Intransigeant หนังสือพิมพ์หัวหนึ่งในปารีสมักจะส่งคำถามไปยังคนดังหลากหลายวงการ และนำคำตอบมาตีพิมพ์ เช่น ถามว่า ‘คุณคิดว่าการศึกษาในอุดมคติสำหรับลูกสาวคุณจะเป็นอย่างไร’ หรือ ‘มีคำแนะนำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาการจราจรของกรุงปารีส’
ในฤดูร้อนปี 1922 ทางหนังสือพิมพ์คิดคำถามใหม่ คราวนี้แต่งสถานการณ์เป็นฉากๆ เลยว่า
นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันประกาศข่าวว่าโลกจะถึงจุดจบในไม่ช้า หรืออย่างน้อยพื้นที่ขนาดใหญ่ของทวีปจะถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดก็จะเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกฉุกเฉินยิ่ง ความตายคือชะตากรรมอันแน่แท้ของชาวโลกหลายร้อยล้านคน หากคำคาดการณ์นี้ได้รับการยืนยันว่าจะเกิดขึ้นจริง คุณคิดว่าข่าวนี้จะสร้างผลกระทบใดกับผู้คนในด้านของเวลาที่เหลืออยู่และในช่วงเวลาแห่งกลียุค และคุณจะทำอะไรในโมงยามท้ายๆ ของชีวิต
คนดังที่ส่งคำตอบมาเป็นรายสุดท้ายก็คือ Marcel Proust นักคิด นักเขียนคนสำคัญแห่งยุคซึ่งตอบว่า
‘ผมคิดว่าชีวิตคงจะดูมหัศจรรย์ขึ้นมาในบัดดล หากว่าเราโดนข่มขู่ด้วยความตายดังที่คุณกล่าวมา ลองคิดดูว่าสิ่งที่อยากทำ ทริปเดินทาง ความรัก การศึกษาต่างๆ นานาที่ชีวิตซุกซ่อนไปจากเรานั้น จู่ๆ ก็กลับมองเห็นได้อย่างชัดแจ้งขึ้นมา…
แต่ขอให้การข่มขู่นี้ไม่เคยจะเกิดขึ้นไปตลอดกาลเถิด แล้วชีวิตจะกลับมางดงามอีกครา! อา…หากว่ากลียุคไม่เกิดขึ้นในหนนี้ เราจะไม่พลาดไปชมแกลเลอรีใหม่ที่ลูฟวร์ ไม่พลาดไปหาคนรัก ไม่พลาดออกเดินทางไปอินเดีย
ถ้าไม่มีกลียุค เราก็คงไม่ทำอะไร เพราะเราก็จะกลับไปอยู่ใจกลางชีวิตปกติธรรมดา ซึ่งความเพิกเฉยนั้นเข่นฆ่าความปรารถนาให้ดับดิ้น และไม่ควรเลยที่เราต้องมีกลียุคเพื่อจะกลับมารักชีวิตในวันนี้ คงเพียงพอแล้วกระมังที่จะลองใคร่ครวญกันว่าเราคือมนุษย์ และความตายก็อาจมาเยือนเราในค่ำนี้’
Alain de Botton นักปรัชญาชาวอังกฤษเชื้อสายสวิสตีความคำตอบของพรูสต์เอาไว้ในหนังสือ How Proust Can Change Your Life อย่างยืดยาว ซึ่งสรุปได้ว่า ถ้ารู้ตัวว่าจะตายตอนไหนแน่ๆ คงไม่มีใครเสียเวลาทำเรื่องไม่จำเป็น แต่เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร เราจึงหลงลืมไปว่าเราไม่ได้เป็นอมตะ เราจึงเพริศไปกับเรื่องที่คิดว่าสำคัญ แต่เรื่องที่สำคัญจริงๆ กลับละเลย เพิกเฉยหรือผัดวันประกันพรุ่ง
หรือสั้นกว่านั้นคือ
‘’ชีวิตสั้น อยากไปไหน อยากทำอะไรให้รีบทำ”
อ้างอิง :
• https://www.cnbc.com/2022/01/21/the-biggest-2022-travel-trend-go-big-spend-big-on-bucket-list-trips.html
• https://fs.blog/marcel-proust-newpaper/
• https://www.scribd.com/book/492025685/How-Proust-Can-Change-Your-Life