- เสียงที่วุ่นวายกลายเป็นมลพิษอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เกิดบนท้องถนนเท่านั้น หากที่สนามบินก็มีสภาวะนี้ด้วยเช่นกัน
- ความพลุกพล่าน จอแจในสนามบินที่ busy มากๆ ทำให้มีเสียงประกาศตีกันวุ่นวาย และเป็นสาเหตุที่กวนใจผู้โดยสาร หลายสายการบินทั่วโลกเลยขานรับแนวคิด Silent Airport ไม่ใช่ทำให้สนามบินเงียบกริบไปเลยนะ แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ผู้โดยสาร ลดมลภาวะทางเสียง ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย
- สนามบินปลอดเสียงเป็นอย่างไร ตอนนี้มีสนามบินไหนในโลกลงมือทำแล้วบ้าง ONCE มีคำตอบ…
หากไม่นับผลกระทบจากโควิดที่ทำให้การท่องเที่ยวตกอยู่ในสภาพชะงักงัน น้อยคนนักจะวาดภาพสนามบินสักแห่งเป็นพื้นที่แห่งความเงียบสงบมากกว่าความจอแจพลุกพล่านในชั่วโมงเร่งสำหรับการเดินทางพร้อมเสียงประกาศจากสายการบินแทบตลอดเวลา กระนั้นก็ตามท่าอากาศยานนานาชาติหลายแห่งทั่วโลกกำลังประกาศตัวเป็น "Silent Airport"
สนามบินปลอดเสียงอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากสนามบินหลักทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชียและออสเตรเลียต่างพากันปรับนโยบายการประกาศภายในอาคารผู้โดยสารเพื่อลดมลภาวะทางเสียง
ที่สำคัญแนวคิดนี้มีโอกาสทำให้คุณ “ตกเครื่อง” ได้โดยไม่รู้ตัว!
แบบไหนคือ Silent Airport
นิยามของ silent airport ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากเสียงรบกวนเลย แต่จากปกติที่เคยได้ยินเสียงประกาศซ้ำๆ ทุก 5 นาทีบ้าง ต่างคนต่างประกาศแข่งกันจนแทบไม่รู้เรื่องบ้างหรือประชาสัมพันธ์ยิบย่อยต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะถูกยกเลิกไปทั้งหมด
เพราะฉะนั้นสนามบินในกลุ่มนี้หลักๆ จะไม่มีการประกาศเรียกขึ้นเครื่อง แจ้งเครื่องลง จุดรับกระเป๋าหรือแม้แต่การเรียกครั้งสุดท้ายสำหรับผู้โดยสารที่ล่าช้า ยกเว้นประกาศสำคัญหรือกรณีฉุกเฉิน เช่น เด็กสูญหาย เที่ยวบินมีปัญหาหรือล่าช้า เป็นต้น บางแห่งถึงขั้นห้ามประกาศทุกอย่างในจุดนั่งรอทั่วไป มีการปิดไมโครโฟนทั้งหมดที่ประตูผู้โดยสารขาออกในประเทศและอนุญาตให้ใช้อย่างจำกัดที่ประตูขาออกระหว่างประเทศเท่านั้น
Angela Gittens ผู้อำนวยการสภาท่าอากาศยานนานาชาติ (ACI) บอกถึงที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ว่ากลุ่มสนามบินและสายการบินต้องการสร้างบรรยากาศเงียบสงบและผ่อนคลายโดยไม่มีเสียงรบกวนจากประกาศใดๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ไม่มีความเครียดระหว่างรอเครื่องทั้งที่อยู่ในห้องรับรอง ร้านขายสินค้า รวมถึงโซนอาหารและเครื่องดื่ม
ตอบโจทย์ wellness-wellbeing
เสียงรบกวนที่น้อยลงยังไปสอดรับกับกระแส wellness ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ เมื่อมีผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐ เมื่อปี 2013 พบว่าการได้รับความเงียบ 2 ชม.ต่อวันจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเซลล์ในฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นส่วนสมองที่เกี่ยวกับความจำ อารมณ์และการเรียนรู้ ก่อให้เกิดสติและการทบทวนตนเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดี
ข้อมูลนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเอมี ซัลลิแวน นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกันที่อธิบายเพิ่มเติมว่าความเงียบช่วยให้เรามีเวลาสำรวจตนเองและเพิ่มความตระหนักในสิ่งสำคัญมากที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงนี้ถือว่ามาถูกทางเมื่อผลสำรวจความพอใจของผู้โดยสารส่วนใหญ่ออกมาในแนวชื่นชม โดยเฉพาะคนที่คิดว่าพวกเขาควรมีสิทธิ์เข้าถึงสถานที่ที่เงียบสงบและต้องการเวลาในการอ่านหนังสือ พูดคุยกับเพื่อนร่วมทาง ทำงานและฟังเพลงโปรดอย่างสบายใจโดยไม่มีอุปสรรคทางเสียงมารบกวนตลอดเวลา เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีและลดความเครียดในวันพักผ่อน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากปักหมุดอยากมาเยือนมากกว่าแค่มาขึ้นเครื่อง
ในทางกลับกันผู้โดยสารเองก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากคุณเคยชินกับรอฟังเสียงประกาศเรียกครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องแล้วเดินช้อปเพลินจนลืมเช็กเวลาหรือไม่ได้ตรวจสอบหน้าจอสำหรับอัพเดตข้อมูล คุณอาจพลาดเที่ยวบินเหมือนกับ Patrick Bury ที่ต้องควักกระเป๋าซื้อตั๋วใหม่จากสนามบินบริสตอลในอังกฤษไปดับลินหลังรอประกาศเรียกขึ้นเครื่อง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายไปแล้ว
นวัตกรรม…นำทาง
อีกตัวแปรหนึ่งที่มีส่วนทำให้กระแส silent airport ไหลลื่นและได้รับความนิยมคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้สนามบินนำแนวทางนี้ไปใช้ได้ง่ายขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น นวัตกรรมคีออสก์ InfoGate ในสนามบินเฮลซิงกิของฟินแลนด์ ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีสโลแกนการท่องเที่ยวว่า “Silence, Please” สำหรับให้บริการข้อมูลและการนำทางภายในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงประกาศ ผู้โดยสารสามารถสนทนาแบบโต้ตอบผ่านวิดีโอเจ้าหน้าที่ในภาษาที่เลือกได้ นอกจากนี้ยังสามารถสแกน พิมพ์และแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมทั้งดูเส้นทางและเวลาเดินทางโดยประมาณเพื่อไปยังจุดหมายได้อีกด้วย
ยังไม่รวมโปรแกรมจัดการเรื่องภาษาของ AviaVox ในเนเธอร์แลนด์ที่สร้างระบบให้คอมพิวเตอร์สามารถพูดได้ราวกับเจ้าของภาษาช่วยลดปัญหาการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนจากเสียงประกาศได้ดี
ขณะที่ปัจจุบันหลายสนามบินมีแอปเป็นของตัวเองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการอัปเดตสถานะเที่ยวบิน การเรียกครั้งสุดท้าย แผนที่อาคารผู้โดยสารแบบโต้ตอบ ข้อมูลสภาพอากาศและคำแนะนำด้านความปลอดภัย พร้อมด้วยคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของสนามบินที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นตราบใดที่ผู้โดยสารมีสมาร์ทโฟน ข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการล้วนอยู่ในมือแล้ว
เช็กลิสต์สนามบินปลอดเสียง
สำหรับ silent airport ที่ใกล้ตัวมากที่สุดหนีไม่พ้นเจ้าของตำแหน่งสนามบินที่ดีที่สุดในโลกหลายสมัยอย่าง ชางงี สิงคโปร์ ที่ประกาศจะไม่มีการเรียกครั้งสุดท้ายสำหรับผู้โดยสารไปประตูทางออกขึ้นออก รวมทั้งหยุดการตามตัวสำหรับผู้โดยสารบางคน ซึ่งนอกจากจะสร้างบรรยากาศเงียบสงบและผ่อนคลายในวันที่มีผู้โดยสารพลุกพล่านมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผู้รับสารเน้นเฉพาะประกาศสำคัญเท่านั้น
“ด้วยจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน การยังคงความถี่ของการประกาศจะยิ่งสร้างมลภาวะทางเสียงมากขึ้นและเป็นการรบกวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ข้อกังวลอย่างหนึ่งคือผู้โดยสารอาจให้ความสนใจต่อเสียงประกาศน้อยลง ซึ่งจะทำให้การประกาศที่สำคัญยิ่งแย่ลงไปอีก” Ivan Tan โฆษกหน่วยงานบริหารสนามบินชางงีสิงคโปร์ (CAG) กล่าว
ในระดับเอเชียยังมี ยักษ์ใหญ่ดูไบ พร้อมด้วยสนามบินกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) เดลี เจนไน มุมไบ เคมเปโกว์ดา (อินเดีย) นอกจากนี้สนามบินนานาชาติเคปทาวน์ (แอฟริกาใต้) แคนคูน (เม็กซิโก) โออาร์ แทมโบ (แอฟริกาใต้) และปุนตาคานา (สาธารณรัฐโดมินิกัน)
ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังอยู่ในโซนยุโรป นำโดยสนามบินนานาชาติอัมสเตอร์ดัมชิปโฮ (เนเธอร์แลนด์) บาร์เซโลนา (สเปน) เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) บริตอลและลอนดอน ซิตี้ (อังกฤษ) ไอนด์โฮเวน (เยอรมนี) และล่าสุดเวนิส มาร์โคโปโล (อิตาลี) ที่เพิ่งเข้าร่วมแนวคิดนี้เมื่อเดือนมี.ค. ปี 2020
จะว่าไปแล้วการไม่มีเสียง “โปรดทราบ โปรดทราบ บลาๆๆๆ” ที่ไม่จำเป็นออกไปบ้างก็ไม่น่าใช่เรื่องใหญ่ เพราะทุกวันนี้ผู้โดยสารมีสมาร์ทโฟนกันทั้งนั้น มากกว่านั้นคือไม่ต้องเสียอารมณ์เมื่อโดนขัดจังหวะดูหนังฟังเพลงหรือคุยงานระหว่างรอขึ้นเครื่องอีกต่างหาก
ที่มา
https://www.euronews.com/travel/2021/11/23/the-future-of-stress-free-travel-silent-airports-are-appearing-all-over-the-world
https://www.vanemag.com/airport-wellness-trend
https://edition.cnn.com/travel/article/silent-airports/index.html