It’s Thai Southern Cocoa!
Singora Chocolate ช็อกโกแลตพรีเมียมจากสงขลา กับอนาคตเมืองโกโก้ของไทย
- สำรวจ Singora Chocolate ในวันที่ราคาโกโก้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในฐานะแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตที่ชูสงขลาหลากมิติ ตั้งแต่วัตถุดิบธรรมชาติ ภูมิปัญญาดั้งเดิม จนถึงผู้คน
โกโก้คือพืชเศรษฐกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในปี 2567 ทำสถิติราคาสูงกว่า 300 บาท/กิโลกรัมเมล็ดแห้ง มากกว่าปีก่อนหน้า 3 เท่าตัว
ปีนี้จึงเป็นปีทองของเหล่าผู้ประกอบการวงการโกโก้ ผลิตภัณฑ์จากการศึกษาวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลายปีจะเฉิดฉาย เพดานราคาวัตถุดิบจากคนต้นน้ำอย่างเกษตรกรก็จะสูงขึ้น
แม้ Singora Chocolate มีอายุเพียง 5 ขวบ แต่ นุ๊ก-ณรงค์ฤทธิ์ ผลห้า พัฒนาสายพานการผลิตของตัวเองมาเกือบ 10 ปีแล้ว หันมาปลูกโกโก้แทนยางพาราบนที่ดินของตัวเอง ขวนขวายความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างประเทศ จากนั้นเชื่อมความสัมพันธ์กับเกษตรกร ภาคการศึกษา และหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายคือผลักดันสงขลาเป็นเมืองโกโก้ที่สำคัญของประเทศ
ณ วันนี้ แบรนด์ปลุกปั้นช็อกโกแลตบาร์แท้ 100% พิมพ์ลายเงือกทองตามรูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์คู่จังหวัดสงขลา ทั้งสอดแทรกการอนุรักษ์วิธีทำน้ำตาลดั้งเดิมของภาคใต้ เสริมด้วยแนวคิด Zero Waste และต่อยอดเป็นวัตถุดิบเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
แบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตไทยที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว และในวันที่ Singora Chocolate บรรลุเป้าหมาย ไม่เพียงคนไทยเท่านั้นที่จะซื้อ แต่ชาวต่างชาติก็ต้องสนใจเป็นแน่!
Bean To Bar To Beauty
โกโก้พันธุ์ไหนมีโกโก้บัตเตอร์ปริมาณมาก โกโก้นั้นมีแต้มต่อที่ดีกว่า
โกโก้บัตเตอร์คือเนยธรรมชาติสกัดจากโกโก้ ในทางรสชาติ มันเสริมความหอมละมุน ในทางคุณประโยชน์ มันคือสารสำคัญที่มักโผล่บนฉลากเครื่องสำอาง และในกระบวนการผลิต มันช่วยให้บดโกโก้ได้ง่าย
ทางภาคใต้มีโกโก้พันธุ์ชุมพร 1 อุดมไปด้วยโกโก้บัตเตอร์ หากเทียบกับโกโก้ภาคเหนือหรือพันธุ์ IM1 ซึ่งมีโกโก้บัตเตอร์น้อยกว่ามาก โกโก้ภาคใต้จึงเหมาะสำหรับนำมาแปรรูปหรือต่อยอดมากกว่า
“ในกระบวนการผลิตช็อกโกแลตแท้ จะไม่มีกระบวนการไหนที่เอาโกโก้บัตเตอร์ออกเลย แถมต้องใส่เพิ่มเข้าไปด้วย เราจะสกัดโกโก้บัตเตอร์จากของเหลือทิ้งมาใส่”
นอกจากเนื้อโกโก้ ซึ่งเป็นแหล่งโกโก้บัตเตอร์หลัก นุ๊กรีดสกัดเอาไขมันธรรมชาตินี้จากส่วนอื่นมาเพิ่มเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์โกโก้แท้ 100% ต่างจากช็อกโกแลตเทียมตามท้องตลาดที่เกิดจากผงโกโก้ผสมน้ำมันปาล์ม ซึ่งทำร้ายสุขภาพไม่น้อย ส่วนโกโก้นิบส์ (Cocoa Nibs) ของแบรนด์อยู่ในกลุ่มซูเปอร์ฟู้ด (Superfood) หรืออาหารที่อัดแน่นด้วยคุณค่าทางโชนาการเชียวล่ะ
สิ่งหนึ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโกโก้บัตเตอร์ นั่นคือมอยซ์เจอไรเซอร์ชั้นดี และเป็นไขมันจากพืชที่มีมูลค่าสูงที่สุด นุ๊กจึงไม่พลาดจับตลาดความงามด้วยความร่วมมือของคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวลิปบาล์มโกโก้ชุ่มผิวเป็นสินค้าด้านความงามตัวแรก
ผู้ประกอบการรายย่อยและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่คือตัวกระตุ้นสำคัญ ผลลัพธ์และผลกำไรจะตบเท้าตามกันมา ต้นทุนทางธรรมชาติของท้องถิ่นก็มีแววโตทันเทรนด์ตลาดที่ใครๆ ก็ถามหาความออร์แกนิกและสนับสนุนชุมชน
Minimizing Cost & Waste
นุ๊กบีบต้นทุนการผลิตลงเท่าที่จะทำได้ เริ่มต้นจากการคัดเลือกเครื่องจักรมาใส่ในสายพานการผลิต เพราะเขาเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือพูดอีกอย่าง นี่คืองานถนัด
“ตอนนั้นในประเทศไทยยังไม่มีใครแปรรูป เลยต้องไปศึกษาจากเมืองนอกทั้งหมด มาเลเซียกับสิงคโปร์ทำ Bean To Bar คือแปรรูปโชว์ให้ดูเลย เราดูแล้วรู้ว่าเครื่องจักรนี้หาได้จากไหน อะไรที่ใช้แทนกันได้”
เมื่อสั่งพัฒนาต้นแบบและผลิตกับโรงงานในประเทศแทนการนำเข้า เครื่องจักรบางตัวก็ได้มาในราคาถูกกว่าต้นแบบต่างประเทศถึง 10 เท่า จากหลักแสนบาทเหลือหลักหมื่นบาท
พอแปรรูปวัตถุดิบได้เอง ก็คุมต้นทุนได้ คุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ และที่สำคัญคือหลักการทำธุรกิจที่นึกถึงแหล่งผลิต รายได้ที่หลั่งไหลเข้ามาจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการ แต่ไหลย้อนกลับไปสู่เกษตรกร
“ตอนนี้เราไม่ได้เป็นคนตั้งราคาซื้อเองด้วยซ้ำ ลุงจะขายเท่าไหร่ก็มาคุยกัน ถ้าคำนวณแล้วเรายังมีกำไรพอจะไปต่อได้ เราก็รับซื้อในราคานั้น เราเคยรับซื้อราคาสูงที่สุดในประเทศมาแล้วด้วย คนซื้อเมล็ดสดกันกิโลกรัมละ 25 บาท เราซื้อ 33 บาท”
เราให้ราคาค่อนข้างสูงได้ เพราะแปรรูปเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ แล้วขายช็อกโกแลตกับเมล็ดโกโก้ในเกรดพรีเมียม ทั่วไปขายประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท แต่เราขายได้ถึง 250 บาท”
และเพราะดูแลเองทั้งกระบวนการ แบรนด์จึงกล้าการันตีว่าเข้าใกล้วลี Zero Waste มากขนาดไหน
“กระบวนการผลิตของเราแทบไม่มีของเหลือทิ้งเลย เปลือกโกโก้ก็เอามาอบแห้งทำเป็นภาชนะ ใส่เทียนหอม อาหารหรือไอศกรีมได้ เปลือกเยื่อหุ้มก็เอามาทำคราฟต์โซดากับชา นี่คือสองส่วนหลักที่เหลือทิ้งเยอะ เราหาวิธีนำกลับมาใช้ได้หมด”
แม้แต่อุปสรรคใหญ่หลวงในวงการโกโก้อย่างเปลือกโกโก้ Singora Chocolate ก็ก้าวข้ามมาได้ ปลายทางการเป็นแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตชั้นนำของประเทศจึงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
From Centuries of Local Wisdom
โกโก้มีรสสเปเชียลตีไม่ต่างจากกาแฟ นี่คือความสนุกของโกโก้ที่คนไม่ค่อยรู้ โกโก้ในสงขลาให้กลิ่นนัตตี้และคาราเมล แถม Singora Chocolate พิเศษขึ้นไปอีกเนื่องจากติดกลิ่นหอมควันอยู่หน่อยๆ
“โซนสทิงพระมีตาลโตนดเป็นล้านต้นเลย เราก็จับวัตถุดิบนั้นมาใส่ ไม่ใช้น้ำตาลทราย เราเป็นช็อกโกแลตจากน้ำตาลโตนดเจ้าแรกของประเทศ กลิ่นควันก็มาจากน้ำตาลโตนดที่ผ่านการเคี่ยวเป็นวันๆ”
นอกจากกลิ่นแล้ว รสชาติและคุณประโยชน์ก็เสริมจุดแข็งให้ช็อกโกแลตเช่นกัน น้ำตาลโตนดดีต่อสุขภาพ มันค่อยๆ ปล่อยความหวานจึงไม่ทำระดับน้ำตาลพุ่งปรี๊ดในทีเดียว และมันถนอมด้วยสารกันเสียธรรมชาติอย่างไม้เคี่ยม ซึ่งมีสารแทนนินที่ส่งผลถึงรสชาติอีกตะหาก
เหล้าเป็นสินค้าชุมชนที่น่าสนใจ ญี่ปุ่นก็ยกเหล้าเป็นของดีประจำจังหวัด แถมหลายจังหวัดก็แข่งกันด้วยนะ สำหรับเหล้าสงขลาของนุ๊กนั้นเต็มไปด้วยรสชาติ วัตถุดิบ และน้ำพักน้ำแรงของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ยังไม่นับว่าร่วมมือกับมหาวิทยานเรศวรเพื่อพัฒนายีสต์สูตรเฉพาะสำหรับคงกลิ่นหอมของน้ำตาลโตนด แทนการใช้ยีสต์อุตสาหกรรมที่กลบกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์จนจางหาย
“ตอนนี้เราทำงานกับเกษตรกรโกโก้หลายร้อยคน ฝั่งน้ำตาลราว 40-50 คน ถือว่าได้อนุรักษ์การทำน้ำตาลดั้งเดิม และจะทำเหล้าน้ำตาลโตนดให้เป็นสินค้าพรีเมียม
เหล้านี้ชาวบ้านทำมาหลายร้อยปีแล้ว เราอยากให้มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนและจะ Top Up กลับไปสู่เกษตรกรที่ปีนต้นตาลโตนด มันจะช่วยเกษตรกรได้อีกเยอะเลย”
นุ๊กกำลังจะใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานอีกต่อหนึ่ง “เรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีเก็บน้ำตาลโตนด คนไม่ต้องปีนขึ้นไปบนต้น อยากให้เขาทำอาชีพนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ และอยากเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจ เกษตรกรที่ปีนต้นตาลโตนดอายุประมาณ 50-60 ปีกันหมดแล้ว ใกล้จะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว”
ถ้าเปรียบ Singora Chocolate และภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นคน คงเห็นภาพหลานจูงมือคนรุ่นปู่ย่าตายายที่อายุมากกว่าตัวเองถึง 10 เท่าเดินเข้าตลาดยุคใหม่อย่างน่าประทับใจ หวังว่าธุรกิจรุ่นเยาว์นี้จะเติบโตอย่างแข็งแรง ป้องกันไม่ให้ภูมิปัญญาเก่าแก่สูญหายไปตามกาลเวลา
To Be The Capital Of Cocoa
ทำไมถึงเปลี่ยนจากยางเป็นโกโก้ เราถามหลังรู้ว่านุ๊กเลือกทำไร่โกโก้หลังตัดต้นยาง
เกริ่นก่อนว่ายางพาราให้น้ำยางดีที่สุดในช่วง 30 ปีแรก พอครบกำหนดตัดก็ต้องปลูกใหม่ จังหวะเวลาเหมาะเจาะกับช่วงที่ราคายางดิ่งลงจนน่าเป็นห่วง นุ๊กเลยตั้งโจทย์ว่าคราวนี้ต้องแปรรูปได้เอง
“เราไม่สามารถแปรรูปเอง เราก็ต้องขายเป็นน้ำยางสดตามราคาตลาด เราไม่สามารถคุมราคาได้”
คำตอบของโจทย์การแปรรูปคือ โกโก้
“เราชอบช็อกโกแลต มาเลเซียปลูกโกโก้เยอะ สวนของเราอยู่ใกล้ด่านก็เลยมีโอกาสข้ามไปซื้อช็อกโกแลตบ่อย กินเยอะจนชิน”
นุ๊กเสริมมุมศักยภาพของตลาดโกโก้ว่า “กลุ่มลูกค้ากว้างอยู่แล้ว กินได้ตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้ใหญ่ ความต้องการโกโก้สูงมาก ไทยนำเข้าโกโก้ปีละ 5,000 ตัน ตลาดสุขภาพเริ่มให้การตอบรับดีแล้ว เขาวิ่งหาโกโก้แท้ เขาเลือกกินมากขึ้น และโกโก้จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย”
Singora Chocolate ถือว่านำหน้าแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตในจังหวัดเดียวกัน ส่วนในภาพรวมระดับประเทศหรือระดับนานาชาตินั้นก็เริ่มเปิดตัวได้ดี แบรนด์ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมงาน THAIFEX 2024 งานรวมสินค้าและอาหารกว่า 45 ประเทศ เปิดโอกาสให้ดีลธุรกิจได้โดยตรง จบงานเตรียมแพ็กวัตถุดิบหรือสินค้าส่งออกได้เลย
วงการโกโก้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไปเต็มๆ ความแห้งแล้งทำให้ทั่วโลกขาดแคลนวัตถุดิบ ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมองหาแหล่งวัตถุดิบเสริม จังหวัดสงขลาที่มีโกโก้เพียง 1,000 ไร่ ก็เป็นตัวเลือกที่ได้รับความสนใจไม่น้อย
“ลูกค้าจีนสนใจโกโก้เรา ฝรั่งมาชิมช็อกโกแลตก็บอกว่า Fantastic เป็นรสชาติที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน เพราะมีกลิ่นคาราเมล กลิ่นควัน”
สงขลาจะเป็นม้ามืดในวงการโกโก้ แบรนด์ใหม่ๆ ส่อแววจะเปิดตัวเพิ่มขึ้น เครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็งกำลังจับกลุ่มกันเพื่อแปรรูปสินค้า การเป็นเมืองโกโก้ของประเทศไทยคงใกล้เข้ามามากขึ้นแล้ว
ติดตามข่าวสารและสินค้าใหม่ได้ทาง Singora Cocoa ช็อคโกแลตเมืองสงขลา