About
BUSINESS

Sense of ‘SKA’

สงขลาเฮอริเทจ ธุรกิจเพื่อสังคมที่ชูศิลปวัฒนธรรมส่งต่อความทรงจำผ่านสินค้าที่ระลึก

เรื่อง ศรีวลี หลักเมือง Date 11-11-2023 | View 3908
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • มองธุรกิจสินค้าที่ระลึกไม่ใช่แค่สินค้า แต่คือการพัฒนาเมืองสงขลาผ่านโมเดลความคิดของ ‘สงขลาเฮอริเทจ (SKA Heritage)’ กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมในสงขลาที่มีมาสค็อตประจำแบรนด์ คือ ‘ดวงใจ นันทวงศ์’ หรือ ‘แมว’ พร้อมด้วยเครือข่ายนักออกแบบฯ ผู้ประกอบการ นักวิจัยอิสระ อาจารย์ในภาคใต้

สำหรับบางคน สินค้าที่ระลึกหรือของฝากคือมูลค่าทางความทรงจำไว้พึงระลึกถึง

อย่างน้อยสินค้าที่ระลึกที่ว่า เป็นหนึ่งในหมุดหลักของ ‘สงขลาเฮอริเทจ (SKA Heritage)’ กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมในสงขลาที่มีมาสค็อตประจำแบรนด์ คือ ‘ดวงใจ นันทวงศ์’ หรือ ‘แมว’ พร้อมด้วยเครือข่ายนักออกแบบฯ ผู้ประกอบการ นักวิจัยอิสระ อาจารย์ในภาคใต้ ที่มีหมุดหมายสำคัญคือการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งเปิดบ้านต้อนรับในเทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีค 2023 ไปเมื่อเดือนสิงหาคม

การออกแบบผลิตภัณฑ์ของฝาก-สินค้าที่ระลึกเป็นต้นทุนจากความตั้งใจชิ้นใหญ่ของสงขลาเฮอริเทจ ที่หยิบเรื่องราวใกล้ตัวอย่างศิลปวัฒนธรรมในสงขลาและพหุวัฒนธรรมในภาคใต้ เช่น โครงสร้างสถาปัตยกรรมของมัสยิดบ้านบน วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ศาลเจ้า ประตูเมืองสงขลา เล็กน้อยถึงกระทั่งของกินพื้นถิ่น ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยสำคัญคือ ‘การตระหนักรู้’ ในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมให้คนทุกวัยเชื่อมเข้าหากัน

ซึ่งการตระหนักรู้ที่เห็นผล จึงอาจต้องเริ่มจุดประกายจากวัย ‘เด็ก’ เลยยิ่งดี

สงขลา

ดวงใจ นันทวงศ์’ หรือ ‘แมว’

ครูพี่แมวและครูป้าแมวของเด็กๆ

“ว่าแต่ครูป้าแมวเป็นชื่อที่เด็กๆ นิยมเรียกกันใช่ไหมคะ” เราชวนถาม “ใช่ค่ะ ครูป้าแมว (หัวเราะ) ก็ลูกศิษย์ที่มาเรียนศิลปะและทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชนเรียกกันว่าครูป้าแมว (หัวเราะ)”

สงขลา

เหตุที่เราชวนพี่แมวคุยเรื่องนี้เป็นการอุ่นเครื่อง เพราะเรานึกย้อนไปถึงช่วงเทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีค ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของพี่แมวพากันเรียก ‘ครูป้าแมว’ หรือ ‘ครูพี่แมว’ ให้ได้ยินจนชินหู แม้แต่ผู้ปกครองยังคล้อยเรียกตาม

สงขลา

แต่เราถนัดเรียกว่า ‘พี่แมว’ เมื่อเรียกพี่ (ให้เหมือนกับว่ารู้จักกันมานาน) ก็อดคิดไม่ได้ว่าบทสนทนาระหว่างกันคงไม่เคอะเขินจนเกินไป แล้วก็เป็นอย่างนั้น น้ำเสียงที่สนุกสนาน จริงใจ และเสียงหัวเราะของพี่แมวพลอยให้การสนทนาพอครึกครื้น ถ้าชวนคุยเรื่องผลิตภัณฑ์หรือเวิร์กช็อปขึ้นมาเมื่อไร ‘แพสชั่น’ ที่มีจะพุ่งผ่านน้ำเสียงอีกทบทวี หากไม่เชื่อ ให้ลองชวนพี่แมวคุยเรื่องนี้ดู

สงขลา

บทบาทของครูป้าแมว เอ๊ย! พี่แมว นอกจากจะเป็นที่จดจำจากเวิร์กช็อปสอนศิลปะอย่าง ‘Artycat’ ให้เด็กๆ ในสงขลาและเปิดเวิร์กช็อปร่วมกับคนในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง พี่แมวคือสถาปนิก นักออกแบบฯ รวมไปถึงผู้จัดการของ ‘บริษัท สงขลาเฮอริเทจ’ เจ้าสำนักที่พาทีมทำงานด้านพัฒนาเมืองเมื่อ 3 ปีก่อน ตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2562 และได้จดทะเบียนเข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเมื่อต้นปีนี้เอง

สงขลา

ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์

เพราะเรารักสงขลา

ไม่ต้องว่าให้มากความ ชาวสงขลาคงคุ้นเคยกับชื่อ สงขลาเฮอริเทจ ที่มีทั้งกลุ่ม ‘ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม’ และ ‘กลุ่มองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม’ ทั้งสองกลุ่มแปะป้ายชื่อว่า ‘สงขลาเฮอริเทจ’ อย่างกับคลานตามกันมา ขณะที่เป้าหมายของพวกเขาคือ กลุ่มคนรักเมืองสงขลา ที่ก็คล้ายกันไม่มีเหลือ

สงขลา

พิมพกานต์ ปัจจันตวิวัฒน์

สงขลา

วสิน ทับวงษ์

“จริงๆ จะมีภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ชื่อว่า Songkhla Heritage Trust  แต่เราคือ ‘บริษัท สงขลาเฮอริเทจ’ เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เน้นการออกแบบเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมือง อย่างการออกแบบสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ในชุมชน เส้นทางการท่องเที่ยว กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ทีมออกแบบหลักในพื้นที่สงขลาจะมีพี่แมว อาจารย์บอย (ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์) และน้องพิม (พิมพกานต์ ปัจจันตวิวัฒน์) ส่วนผู้ดูแลฝ่ายประวัติศาสตร์คือ อาจารย์วสิน (วสิน ทับวงษ์) อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และน้องเวย์ (รสริน อ่อนพรม) ที่เป็นฝ่ายดูแลการสื่อสารในชุมชน

สงขลา

รสริน อ่อนพรม

“ช่วงแรกเราทำงานเรื่องเมืองและเรื่องชุมชนในนามนักวิจัยอิสระซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการประกอบการเพื่อสังคมที่สถาบันอาศรมศิลป์ แล้วมองเห็นปัญหาของคนที่ทำงานด้านเครือข่ายภาคประชาสังคม เราเลยคิดว่าสิ่งที่เรียนมาน่าจะเห็นลู่ทางเพื่อต่อยอดการทำงานได้ ทำให้สถาบันอาศรมศิลป์ โครงการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามาร่วมสนับสนุนการทำงานของเรา

“จุดประสงค์หลักคือ เราต้องการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมหรือสถาปัตยกรรมในพื้นที่ ในช่วงแรกเราทำงานร่วมกับชุมชนในย่านเมืองเก่าสงขลา เพราะเราเป็นคนในพื้นที่และทำงานกับคนในพื้นที่มาก่อนก็เลยทำงานค่อนข้างง่ายและสะดวก แต่ก็มีกลุ่มอื่นที่ทำงานร่วมกับชุมชนมาก่อนแล้ว ถือว่าเราเป็นคนส่วนน้อยมากที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพียงแต่บางงานเราได้มีโอกาสทำอย่างที่เห็น

สงขลา

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์

“จนช่วงหลังพี่แมวมีโอกาสขยายเครือข่ายการทำงานของผู้ประกอบการและนักออกแบบฯ ออกไปรอบๆ สงขลาหรือสามจังหวัดอยู่บ้าง นับเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ต้นทุนกันและกัน และส่งผลให้ธุรกิจของเราขยายกว้างขึ้น ชุมชนอื่นๆ ก็ได้รับการจ้างงานไปด้วย อย่างพี่บอล (เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ จาก Yala Icon) เป็นองค์กรธุรกิจจากสามจังหวัดที่อยู่ในเครือข่ายเรา พอรู้ว่าเป็นวัตถุประสงค์เพื่อสังคมก็จะแลกเปลี่ยนกัน ตั้งแต่เครือข่าย ช่างฝีมือ โดยเฉพาะงานช่างฝีมือจากฝั่งสามจังหวัดที่ค่อนข้างจะมีเยอะกว่าฝั่งสงขลา ต้นทุนและค่าแรงก็ยังถูกกว่า” พี่แมวอธิบายอย่างถ่อมตัว

สงขลา

‘สินค้าที่ระลึก’ ถึงเป็นงานออกแบบ
แต่ก็เห็นผลชัดและต่อยอดได้อีก

แม้การทำงานเรื่องเมืองโดยร่วมมือกับชุมชนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของสงขลาเฮอริเทจ ถึงตอนนี้จะขยายการทำงานไปได้ไกลกว่าย่านเมืองเก่าสงขลา อีกหนึ่งเป้าหมายของสงขลาเฮอริเทจคือการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว (ธุรกิจทัวร์) หรือการออกแบบเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ในเชิงธุรกิจ) แต่ปัจจุบันมีคู่แข่งที่ค่อนข้างสูง ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในโอกาสอีกสักหน่อย

สุดท้ายกลายเป็นว่าสิ่งที่สงขลาเฮอริเทจทำแล้วสนุกและทำได้ต่อเนื่อง จึงเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึก ที่ทำแล้วสนุกก็เพราะได้เจอกลุ่มคนในชุมชน เจอนักออกแบบฯ เครือข่ายอื่น ส่วนทำได้ต่อเนื่อง เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของสงขลาเฮอริเทจเพื่อช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์

“สินค้าที่ระลึกซึ่งเป็นตัวหลักออกแบบมาจากสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม อะไรก็ได้ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมของเมือง พยายามที่จะสื่อสารให้คนได้รับรู้ พี่แมวมองว่าชิ้นงานที่ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปลักษณ์ผ่านสินค้าที่ระลึกมันดูน่ารัก สื่อสารง่าย มองเห็นภาพ เข้าถึงได้ (น้ำเสียงตื้นตันภูมิใจ) ให้เขารู้สึกว่าสินค้าที่ระลึกมีคุณค่าสำหรับเขา มีคุณค่าสำหรับเมือง เข้าใจในงานสถาปัตยกรรม หรือเข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรม

“พูดในเชิงวิชาการคือ ‘สร้างการตระหนักรู้’ ตอนแรกพี่แมวก็ไม่เข้าใจหรอก จะตระหนักรู้อะไรกัน (หัวเราะ) แต่ตอนหลังก็คิดว่าเป็นการสร้างความทรงจำผ่านข้าวของสินค้าให้เข้าถึงง่าย เห็นแล้วรู้สึกว่า อันนี้ (สินค้าที่ระลึก) อยู่ตรงนี้ บางชิ้นเป็นโครงสร้างขององค์ประกอบในวัดกลาง ในมัสยิด (มัสยิดบ้านบน) มันมีคุณค่ายังไง มันมาจากไหน เขาก็จะไปตามต่อ”

สงขลา

ใช้การ ‘มอง’ สู่การจับต้องได้
ด้วย 5 แนวคิดผ่านสินค้าที่ระลึก 5 อย่าง

อย่างที่พี่แมวเล่าว่า สินค้าที่ระลึกเป็นการสื่อสารเรื่องราวขององค์ประกอบรอบตัวที่ ‘เข้าถึงง่าย’ ยกตัวอย่างว่า ถ้าพิจารณาภาพรวมของเมืองสงขลาในลักษณะความคิด ‘Visual Element’ ทางศิลปะด้วยการมอง (Visual) รูปทรง เส้นร่าง พื้นผิว ฯลฯ ผ่านองค์ประกอบพื้นฐาน (Element) อย่างเช่นโครงสร้างสถาปัตยกรรมในย่านเมืองเก่าสงขลา แล้วจำลอง Visual Element จนเกิดเป็นภาพร่างคร่าวๆ เพื่อนำไปสู่วิธีการออกแบบให้กลายเป็น ‘สินค้าที่ระลึก’ ซึ่งเมื่อเราสัมผัสสินค้าที่ระลึกก็จะเกิดการระลึกถึงสถานที่แห่งนั้น หรือเรียกอีกอย่างว่า เกิดการผุดขึ้นของ ‘ความทรงจำ’ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน สินค้าที่ระลึกจึงมีความหมายสำหรับบางคนก็เช่นนี้ เหมือนเช่นพิธีกรรมส่งต่อความทรงจำให้คนอื่นถือครองด้วยความเต็มใจ

จึงขอยกสินค้าที่ระลึกทั้ง 5 อย่าง ที่ออกแบบด้วยแนวคิดในลักษณะ ‘Visual Element’ ให้เห็นภาพชัดขึ้นน่าจะเข้าที

สงขลา

1. พวงกุญแจอิฐช่องลม
ผู้ออกแบบ : ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์

แนวคิด : จำลองจาก ‘ช่องลม’ ตามอาคารบ้านเรือนซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญในย่านเมืองเก่าสงขลา

ช่องลมตามอาคารบ้านเรือนพบเจอได้ตามย่านเมืองเก่าสงขลา เช่นถนนนครใน อย่างร้านสิน อดุลยพันธ์ หรือร้าน KOMO ตึกเก่ารีโนเวตบริเวณชั้นล่าง หากสังเกตขึ้นไปชั้นบนจะพบกับ ‘อิฐช่องลม’ สีเขียวเข้มที่คงความขลัง นอกจากนั้นบ้านเรือนและตึกบริเวณย่านเมืองเก่ายังคงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้อยู่มาก อย่างตรอกเล็กๆ ทางผ่านไปยังหอศิลป์สงขลาแห่งที่ 2 ถ้าลองแหงนหน้าก็จะได้ชื่นชมกับอิฐช่องลมผ่านทางสายตาได้แล้ว

สงขลา

2. พวงกุญแจโคมไฟ 8 เหลี่ยมนำโชค
ผู้ออกแบบ : ดวงใจ นันทวงศ์

แนวคิด : เครื่องรางนําโชคที่มีความเชื่อในเรื่องหน้าที่การงาน ภายในบรรจุผงธูปของศาลเจ้าหลักเมืองสงขลา แนวคิดนี้มาจากการนำผงธูปในศาลเจ้าหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จากบ้านเกิดของชาวจีนอพยพมาที่ไทยเพื่อพกติดตัวไว้เป็นเครื่องรางและระลึกถึงบ้าน

ผงธูปในศาลเจ้าจะให้ความรู้สึกถึงพลังและความอบอุ่น ถ้าใช้เวลาเดินสำรวจศาลเจ้าในย่านเมืองเก่าสงขลา ทั้งศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ผงธูปสีขาวขุ่นที่ตั้งกองพะเนินดูแล้วคล้ายกับเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนที่เข้ามากราบไหว้บูชา เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เมื่อชาวจีนนำผงธูปพกติดตัวไว้จึงเสมือนเป็นที่พึ่งทางจิตใจสำหรับพวกเขา

สงขลา

3. มินิโมเดลเมืองสงขลา
ผู้ออกแบบ : วงศ์วรุตม์ อินตะนัย

แนวคิด : สถานที่ท่องเที่ยวสําคัญในเมืองสงขลาที่นำคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดบ้านบน รถสามล้อ โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ฯลฯ มาจำลองเป็นมินิโมเดลขึ้นรูปด้วยเรซิ่นที่มีสีสัน ไม่ทิ้งรอยรูปเดิมของสถานที่จริงแม้แต่น้อย

ย่านเมืองเก่าสงขลาที่นอกจากจะคงไว้ซึ่งจุดเด่นของโครงสร้างสถาปัตยกรรมตามแนวอาคารบ้านเรือนแล้ว ความเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน มุสลิม ยังหล่อหลอมกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะหากใช้ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง เมื่อเดินเล่นบนถนนนางงามที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนก็อาจจะให้บรรยากาศที่พลุกพล่าน แต่เมื่อเดินทอดยาวผ่านวัดกลางไปจนถึงบริเวณถนนพัทลุงซึ่งก็คือชุมชนชาวไทยและมุสลิมจะให้บรรยากาศที่สงบเย็น แต่ไม่ว่าจะถนนเส้นไหนต่างก็กลืนกันอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

สงขลา

4. กระถางแคคตัส ประตูเมืองเก่าสงขลา
ผู้ออกแบบ : ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์

แนวคิด : ผลิตภัณฑ์ชุดปลูกต้นไม้ขนาดเล็กที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของเมืองสงขลา การออกแบบจึงเลือกนําเอาอัตลักษณ์ของเมืองเก่าสงขลา คือประตูเมืองและบ่อน้ำมาเป็นแนวคิด ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง

ประตูเมืองเก่าสงขลา ตั้งอยู่ระหว่างถนนนครในและถนนนครนอก ใกล้กับมัสยิดบ้านบน การนำสัญลักษณ์ของเมืองเก่าสงขลามาจำลองเป็นโมเดลกระถางต้นแคคตัสคล้ายการเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนได้หยุดแวะพักใต้ร่มไม้ที่พาดโฉบตามบ้านเรือนเพื่อสูดกลิ่นอายของอารยธรรมทางประวัติศาสตร์

สงขลา

สงขลา

5. หมอนเงือกหนู เงือกแมว (ไซส์มินิ)
ผู้ออกแบบ : ธนากร ศิวะนารถวงศ์

แนวคิด : การตีความเรื่องเล่าของ ‘เกาะหนูเกาะแมว’ ผ่านการ์ตูนเรื่อง ‘ทรายแก้วกับสีคราม’ เป็นตุ๊กตาหมอน
ไซส์มินิที่อยากให้การ์ตูนเรื่องนี้เข้าถึงง่ายด้วยการกอดหมอน

ธนากร ศิวะนารถวงศ์ หรือตี้ (Tee Art Studio) ศิลปิน NFT ชาวสงขลาที่วาดรูปขายบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ และนักออกแบบฯ ที่ทำงานร่วมกับบริษัท สงขลาเฮอริเทจ ตี้ชอบวาดการ์ตูนที่ใครเห็นก็ต้องชมว่าน่ารัก พี่แมวดึงความสามารถของตี้มาถ่ายทอดผ่านสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านตัวการ์ตูนที่สื่อสารได้ง่าย ตรงไปตรงมา เข้าถึงได้ และสัมผัสได้ผ่านการกอด คอลเล็กชั่นของตี้ถูกคาดคะเนแล้วว่าคงผลิตออกมาเรื่อยๆ เพื่อเชื่อมไปยังสื่อในเมืองสงขลาให้หลากหลายขึ้น

ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึกอื่นๆ ยังนำเสนอมิติทางวัฒนธรรมของอาหารพื้นถิ่น เช่น เครื่องแกงส้มและไตปลาแห้งปรุงสำเร็จ ‘นันทวัน’ การออกแบบแพ็กเกจจิ้งขนมไทยโฮมเมด ‘บ้านจงดี’ มีเรื่อยไปจนถึงแอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ ทั้งผ้าคลุมซิงกอร่าลากูน กระเป๋าผ้าปลาขี้ตัง (ปลาพื้นถิ่นในสงขลา) เสื้อยืดสกรีนลายสงขลา หรือสร้อยคอ ต่างหู ของใช้ที่แทรกเรื่องราวของศิลปะพื้นบ้านชั้นครู นั่นคือ หนังตะลุง-มโนราห์ ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่น ล้วนนำแนวคิดมาจากศิลปวัฒนธรรมในภาคใต้ผ่านการออกแบบเป็นสินค้าที่ระลึกเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม สงขลาเฮอริเทจเป็นธุรกิจประเภท ‘รับผลกำไร’ ที่ใช้สูตรปันผลกำไร 70:30 โดย 70 เปอร์เซ็นต์ คือผลกำไรที่นำไปฟื้นฟูอนุรักษ์ทางด้านอาคาร การจ้างงาน หรือส่งเสริมการประกอบการในชุมชน และอีก 30 เปอร์เซ็นต์นำกำไรมอบให้แก่ผู้ร่วมลงทุนเพื่อยืนพื้นการดำเนินงานระยะยาว

สงขลา

ทำงานเมือง
ต้องมองหาความถนัดของตัวเอง

ส่วนหมุดต่อไปของสงขลาเฮอริเทจ พี่แมวคาดหวังให้คนรุ่นหลังได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง แต่ควรตั้งต้นจากความถนัดที่ตอบโจทย์กับตัวเองได้จริง ที่ไม่ใช่แค่ความฮึกเหิมแล้วทำตามต่อกันเพียงเท่านั้น

“สงขลามีหลายกลุ่มที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ชัดเจน ทุกปีเราจะเห็นคนกลุ่มใหม่กลับมาต่อยอดธุรกิจที่บ้าน หรือมาเริ่มธุรกิจใหม่ที่บ้านเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด เราเลยรู้สึกว่าพวกเขาทำได้นี่นา ไม่ว่าจะอาชีพไหนหรือทำงานด้านไหนก็ดึงศักยภาพมาทำงานเมืองได้ พี่มองเห็นว่าคนกลุ่มใหม่รักบ้านตัวเอง ใครๆ ก็รักเมืองของพวกเขา

“แต่จริงๆ (นิ่งคิด) อยากเห็นการมีส่วนร่วมที่ทำตามความถนัดของตัวเอง เราได้เห็นแล้วว่าคนเข้ามามีส่วนร่วมที่จะพัฒนาเมือง ฟื้นฟูเมือง ทำกิจกรรมเมืองกันเยอะ แต่เราอยากให้ทุกคนใช้ความสามารถ ได้โชว์ศักยภาพที่ตัวเองถนัดจริงๆ มากกว่าทำตามๆ กัน พี่แมวอยากเห็นสิ่งนี้ เพราะถ้าเขาถนัด เขาจะยิ้มได้อย่างภาคภูมิใจ (หัวเราะ)

สงขลา

“อย่างกิจกรรมศิลปะก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทุกคนได้เป็นตัวเองและเข้าถึงง่าย ไม่จำเป็นต้องเก่งก็มีส่วนร่วมได้ ที่เริ่มจากให้เด็กๆ เป็นตัวกลางเชื่อมไปยังครอบครัว ซึ่งกิจกรรมศิลปะยังเชื่อมให้คนในชุมชน องค์กรภาครัฐหรือเอกชนได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ร่วมกันได้ด้วย เราก็พยายามที่จะทำต่อไป เพราะถ้าคนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะเห็นความสำคัญ แล้วก็จะช่วยกันดูแล”

สงขลา

สงขลา

สงขลา

เพิ่งจะคิดได้ว่า การนำคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมาแปรเป็น ‘สินค้าที่ระลึก’ ของสงขลาเฮอริเทจให้เข้าถึงและจับต้องได้ง่าย อาจคือหนึ่งในความทะเยอทะยานจากแรงจูงใจด้วย ‘Passion’ พร้อมกับ ‘Sense of Purpose’ ที่พุ่งเป้าเพื่อสิ่งอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่ต้องพยายามฝืนที่จะเป็นให้ออกจากขีดกรอบบางอย่างในวงล้อของตัวเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พี่แมว – ดวงใจ นันทวงศ์, พี่โจ้ – วิทวัส ทองเขียว
ขอขอบคุณภาพจาก : พี่แมวและสงขลาเฮอริเทจ
อ้างอิง : https://shorturl.asia/BC0sD
missiontothemoon.co/softskill-sense-of-purpose
https://www.matichonweekly.com/column/article_55577

ติดตามสงขลาเฮอริเทจ (SKA Heritage) ได้ที่ FB : SKA Heritage
IG: ska_heritage
โทร. 08-9466-6540

Tags: