- การท่องเที่ยวแบบเนิบช้าได้อิทธิพลจาก Slow Food ที่ผู้คนบริโภคทรัพยากรภายในท้องถิ่น แต่เปลี่ยนจากเรื่องกินดื่มมาเป็นการท่องเที่ยว
- นักท่องเที่ยวยุคโควิด-19 และโลกร้อนตระหนักในวิกฤตใหญ่ของโลก จึงพยายามหาวิธีออกไปเปิดโลกไปพร้อมๆกับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
- คนเที่ยวได้ซึมซับวิถีคนในท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
World Tourism Organization (UNWTO) เปิดเผยรายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2021 เท่ากับ 4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าปี 2019 ราวๆ 72 เปอร์เซ็นต์ และน้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนจะมีโควิด 1 พันล้านคน แต่กลับกันสิ่งแวดล้อมกลับฟื้นตัวเร็วอย่างเห็นได้ชัด เต่าทะเลเพิ่มจำนวน หาดทรายสะอาด มลพิษทางอากาศสดชื่น
ธรรมชาติที่ดีขึ้นหมือนเป็นการตบเรียกสติว่า กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้โลกชอกช้ำมากเพียงไร ดังนั้นเมื่อมนุษย์กลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ก็ต้องไม่ใช่วิถีทางแบบเดิมๆ ที่อาจจะเป็นการไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด ไปหลายประเทศให้มากที่สุด ไปรีวิวที่พักใหม่ๆ ให้มากที่สุด
‘Slow Destination’ ก็ยังทำให้เราได้เที่ยวได้มากที่สุดขณะที่พยายามจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
เที่ยวมากที่สุดไม่ใช่การตามเก็บสถานที่ท่องเที่ยว ร้านฮิป จุดถ่ายรูปให้ได้มากๆ กลับจะเป็นการแช่อิ่มอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ อย่างเนิ่นนาน คล้ายๆ กับ Staycation ที่ฮ็อตฮิตขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ซึ่งไหนๆ ต้อง work from home จะอยู่ตัวเองไปไย ก็ไปส่งอีเมลประชุม Zoom กันตามรีสอร์ทดีกว่า
แต่ Slow Destination เป็นมากกว่าการแช่อยู่ในพื้นที่เดิมนานๆ มันคือการท่องเที่ยวที่อนุญาตให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตแบบที่คนในท้องถิ่นกิน อยู่และเป็นกัน
อย่างเวลาไปเยี่ยมเพื่อนที่หัวหินแล้วเพื่อนก็ต้องกูเกิ้ลหาเหมือนกันว่าที่กินที่เที่ยวฮิปๆ ในหัวหินมีที่ไหนบ้าง เพราะเพื่อนบอกว่า ถ้าไม่มีใครมาเยี่ยม วันๆ ชาวหัวหินเยี่ยงเราก็ไปซื้อของกินตลาดนัดหน้าปากซอย แล้วนานๆ ทีก็ขับรถไปซื้อกาแฟแก้วละร้อยในตัวเมืองบ้าง นอกนั้นก็สิงสู่อยู่แถวบ้านนี่แหละ
ส่วนเพื่อนชาวเพชรบุเรี่ยนถึงกับต้องทำ ‘แผนที่พาเพื่อนทัวร์เมืองเพชร’ ที่จะเอามากางยามแขกบ้านแขกเมืองมาหา จะมีร้านกาแฟเก๋ๆ ไว้กินวิวหาดชะอำทดแทนกาแฟที่ไม่อร่อย ร้านอาหารฟิวชั่นที่ตกแต่งร้านและจานอย่างวิจิตรที่ไม่ทำให้แบงค์พันปลิวจากกระเป๋าตังค์ทุกที
ครั้งหนึ่งที่ไปอยู่เมืองเพชรเกินสัปดาห์ เพื่อนเริ่มหมดมุข ร้านฮิปกิ๊บเก๋พาไปมาหมดแล้ว วันๆ ท้ายจึงเป็นการกินมื้อเช้าที่เพิงร้านตามสั่งใต้ต้นจามจุรีริมคลองชลประทานที่กินพุงกางในราคาหลักสิบ ต่อด้วยร้านกาแฟในซอยลึกที่ชงอร่อยมากแถมมีแมวให้เล่น ไปกินก๋วยเตี๋ยวหน้าตาจืดชืดแต่ซดเกลี้ยงไม่เหลือในตลาด กินบะหมี่หมูหมักนุ่มมากที่ร้านลุงริมกำแพง กินขนมหวานที่เพิงตรงข้ามศาลเจ้าจีน ร้านเหล่านี้จะมีชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซค์มานั่งโต๊ะข้างๆ เป็นระยะๆ ซึ่งถ้าเราไปที่ฮิปๆ ที่นักท่องเที่ยวไปกัน เราจะไม่ได้เห็นคนในพื้นที่มาใช้บริการกันหรอก เราใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรแต่กลายเป็นว่าทริปอยู่ยาวนั้นประทับใจสุดจนทำให้เราอยากกลับเมืองเพชร
เร แม็คโดนัลด์เคยพูดไว้ว่า สมัยหนุ่มห้องพักมีไว้เอากระเป๋าไปโยนไว้ แล้วออกไปตะลุยเที่ยวมันทั้งวันทั้งคืน แต่พอถึงจุดหนึ่ง อาจจะเพราะเที่ยวมาเยอะหรือว่าวัย เขาไม่ได้อยากไปเที่ยวที่ใหม่ๆ แต่อยากกลับไปเที่ยวเมืองเดิม ที่พักเดิม เจอผู้คนเดิมๆ และนั่งมองวิถีชีวิตเดิมๆ นั้น
The Future Laboratory องค์กรวิเคราะห์เทรนด์โลกในลอนดอน และ École hôtelière de Lausanne (EHL) โรงเรียนการโรงแรมชื่อดังในสวิตเซอร์แลนด์จัดให้ Slow Destinations เป็นหนึ่งในเทรนด์ร้อนมาแรงของปี 2022 ด้วย แต่ก็ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใดเลย คำนี้ปรากฏอยู่ตามบทความเว็บไซต์ท่องเที่ยวมาหลายปีแล้ว แต่ที่มันกลับมาเป็นเทรนด์แห่งปี 2022 อีกครั้งก็มีนัยยะสำคัญตรงที่
Slow Destination คือการท่องเที่ยวที่ควรจะทำกันในยุคโลกร้อนและโรคระบาด มนุษย์ควรจะหาทางทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
การท่องเที่ยวแบบเนิบช้าได้อิทธิพลมาจาการกินแบบช้าหรือ Slow Food ที่เริ่มขึ้นที่อิตาลีในยุค 1980 จุดประสงค์ก็คืออยากให้คนหันมาบริโภควัตถุดิบในท้องถิ่น จะได้ส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ ช่วยอนุรักษ์พืชพรรณและสัตว์ในท้องถิ่น และลดการขนส่งนำเข้าวัตถุดิบจากพื้นที่ไกลๆ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทาง Slow Destination ก็ใช้แนวคิดเดียวกันแต่เปลี่ยนจากเรื่องอาหารมาเป็นการท่องเที่ยว
Slow Destination จึงเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปด้วยในตัว คือสนับสนุนให้คนไป ‘ดำรงอยู่’ ไม่ต้องขวนขวายหาทำให้มาก แต่ตักตวงเวลาที่จะได้ทำเรื่องสามัญธรรมดาให้มากที่สุด
ไปซื้อยำทะเลที่ตลาดนัดไม่ต้องไปหัวหินก็ได้ไหมน่ะ แถวบ้านก็มี แต่เหตุผลหนึ่งที่คนออกเดินทางท่องเที่ยวก็เพราะจะได้เปลี่ยนฉากหลังของชีวิต ไม่ใช่การต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจกรรมในชีวิตเสมอไป เวลาไปเที่ยวเราไม่ต้องทำอะไรฉีกไปจากชีวิตประจำวันเราก็ได้ เช่น จะต้องไปปีนเขา ล่องแก่ง โดดสกายไดฟ์วิ่ง บางคนก็แค่อยากไปนั่งเหม่อๆ เวลาไปเที่ยว นั่นก็คือการหาสมดุลของบางคนที่ชีวิตประจำวันเขายุ่งเหยิงระเบิดระเบ้อมากอยู่แล้วก็เป็นได้
โจทย์ที่เพิ่มมาในยุคโลกร้อนและโรคระบาดก็คือ
เราจะเที่ยวอย่างไรให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อมสมประโยชน์กันอย่างสมดุล เพื่อจะได้กลับไปเที่ยวที่เดิมได้อีกครั้ง เพื่อจะเก็บสถานที่เหล่านั้นให้คนรุ่นต่อไปได้มาเที่ยวกันต่อ หรืออาจจะเพื่อให้ยังมีโลกให้มนุษย์ใช้ชีวิตกันได้ต่อไป
ที่มา:
• https://www.scmp.com/lifestyle/travel-leisure/article/3159925/travel-trends-2022-why-solo-sustainable-ethical-wellness
• https://blog.egecarpets.com/explore/travel-and-hospitality-trends-2022
• https://tourismteacher.com/slow-tourism/
• https://www.remoteyear.com/blog/what-is-slow-travel
• https://www.travlinmad.com/blog/slow-travel
• https://www.lsnglobal.com/big-ideas/article/27485/the-destinations-living-our-slow-tourism-future