

Comfort Binding
หลังประตูสีแดงของ ‘Somewhere Bookshop’ กับการเป็นสเปซเบาใจเพื่อ ‘คุณคนอ่าน’
- คุยกับ ‘เติร์ก- บริษฎ์ พงศ์วัชร์’ นักเขียนและอดีตวิศวกรที่ตกหลุมรักหนังสือ จนเปิดร้าน Somewhere Bookshop ที่มัดรวมหนังสือซึ่งทำงานกับ ‘ส่วนลึกหัวใจ’ พร้อมปรารถนาที่อยากลดกำแพงการอ่านลง ให้ทุกคนเข้าถึงหนังสือง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเก่งมาจากไหน
‘สวัสดีคุณ เราร้านหนังสือประตูสีแดงๆ’
ประโยคที่อ่านจบแล้วราวกับมีเสียงอันคุ้นเคยออกมาจากตัวหนังสือ เสียงนุ่มทุ้มที่มักเล่าเรื่องราวของหนังสือหลายเล่ม ทั้งสุข เศร้า เหงา และหนังสือที่อาจทำให้คุณใจเต้น
เจ้าของเสียงน่าฟังที่ว่าคือ เติร์ก- บริษฎ์ พงศ์วัชร์ เจ้าของร้านหนังสืออิสระย่านท่าพระอย่าง Somewhere Bookshop & Home Cafe หรือที่หลายคนติดปากเรียกชื่อแบบสั้นๆ ว่า Somewhere Bookshop แต่ไม่ใช่แค่การเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระเพียงเท่านั้น เติร์กยังเป็นนักเขียนที่ออกหนังสือมาแล้ว 3 เล่มกับสำนักพิมพ์ P.S. Publishing ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นนัก (ชอบ) อ่านหนังสือที่อยากสร้างพื้นที่เล็กๆ ไว้สำหรับ ‘คุณคนอ่าน’ ที่หลงใหลในหนังสือเช่นเดียวกัน
เปิดประตูสีแดงๆ เข้าไปในร้าน เราไม่ได้คาดหวังกลิ่นหนังสือเหมือนห้องสมุด เพราะเห็นว่าด้านในมีโซนคาเฟ่และเครื่องชงกาแฟอยู่ แต่แทนกลิ่นกาแฟจะฟุ้งๆ กลับเป็นกลิ่นกระดาษของหนังสือที่อบอวลทั่วชั้น 1 ของร้านแทน
เราเดินสำรวจหนังสือสักพัก บทสนทนากับเติร์กที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานดีจึงได้เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่การตั้งไข่ของร้านหนังสืออิสระในยุคโควิด-19 แพสชันของเติร์กที่มีต่อการทำร้านหนังสืออิสระ จนไปถึงความโดดเดี่ยวของเติร์กที่หนังสือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวอันมั่นคงที่สุดในชีวิต
หากคุณคือผู้รักหนังสือที่กำลังรู้สึกเศร้า เหงา หรือโดดเดี่ยว ลองมารู้จักกับนิสัยใจคอของร้าน Somewhere Bookshop ผ่านบทความนี้ดูก่อน เผื่อว่าสักวันหนึ่งหนังสือในร้านอาจจะเรียกหาคุณ และรอให้คุณได้แวะเข้ามาสะท้อนตัวเองผ่านการอ่านหนังสือสักเล่ม
From Nowhere to Somewhere
บทสนทนาของเราเริ่มต้นขึ้นที่ชั้น 2 ของร้าน เดิมที ONCE ไม่ได้รู้มาก่อนว่าที่นี่มีพื้นที่ให้ขลุกตัวอยู่กับหนังสือถึง 2 ชั้น เพราะปกติแล้วเรามักเห็นภาพมุมต่างๆ ของชั้น 1 ปรากฏอยู่ในแอคเคาต์อินสตาแกรม @somewhere_bookshop_homecafe เสมอ
ชั้น 2 ถือเป็นห้องสมุดสำหรับเติร์ก เพราะหนังสือส่วนใหญ่ในชั้นนี้ไม่ได้วางเพื่อขาย แต่เป็นหนังสือของเติร์กเองที่อยากแชร์ให้ทุกคนได้เข้ามาอ่าน มีหนังสือหลายประเภทเรียงรายบนตู้ของชั้น 2 ทั้งงานวรรณกรรม หนังสือภาษาอังกฤษ และอื่นๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม non-fiction
“หนังสือที่ชั้น 1 เป็นหนังสือสำหรับขายก็จริง แต่ผมอยากให้ทุกคนเข้ามาที่นี่ด้วยความสบายใจและรู้สึกสะดวกใจกว่านั้น ไม่อยากให้เป็นร้านที่เดินเข้ามาแล้วต้องซื้อหนังสือ เพราะบางท่านไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักอ่านขนาดนั้น Somewhere Bookshop เลยเรียกทุกคนว่าคุณคนอ่านมากกว่า”
หนังสือของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของมนุษย์ จิตวิญญาณ และความรู้สึกภายใน ซึ่งทุกเล่มในชั้น 1 ล้วนมีเล่มตัวอย่างให้ทุกคนได้ลองเปิดอ่าน โพสต์อิตถูกแปะไว้บนหน้าปกหนังสือแทบทุกเล่ม เพื่อให้คุณคนอ่านทุกคนได้สำรวจว่าทั้ง ‘คุณ’ และ ‘หนังสือเล่มนั้น’ ได้เรียกหาซึ่งกันและกันไหม หรือหนังสือเล่มนั้นเป็นกุญแจใจไขความรู้สึกของคุณเองได้หรือเปล่า หากว่าใช่ Somewhere Bookshop ก็อยากเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ทุกคนใช้เวลากับหนังสือสักเล่มยาวๆ ได้โดยไม่ต้องเขิน ส่วนเรื่องการซื้อขายให้เป็นเรื่องถัดไป หากคุณตกหลุมรักหนังสือเล่มนั้น
เชื่อว่าหลายคนรู้จักร้าน Somewhere Bookshop ผ่านอินสตาแกรม @somewhere_bookshop_homecafe ที่เมื่อเปิดคลิปมา เรามักได้ยินประโยคอันคุ้นเคยที่ว่า
‘สวัสดีคุณ เราร้านหนังสือประตูสีแดงๆ’
และเรื่องราวหลังจากประโยคนี้ก็ได้พาทุกคนเข้าไปรู้จักโลกของหนังสือหลายเล่ม ราวกับทุกคนมีเพื่อนคอยอยู่ข้างๆ ในห้วงความรู้สึกเดียวกัน จนทำให้หลายคนอยากจะไปนั่งอ่านหนังสือที่นี่ด้วยตัวเองสักครั้ง
“ผมอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่ทุกคนมาเศร้าด้วยกันได้ โดดเดี่ยวด้วยกันได้ Somewhere Bookshop ไม่ใช่สถานที่ที่เร่งรัดให้แผลของคุณหายไวๆ เพราะเราเข้าใจว่า บางครั้งความรู้สึกมันกัดกินเราไปถึงหัวใจ กัดกินจิตวิญญาณข้างในที่การไปดูหนัง การไปกินเหล้า การไปฟังเพลง หรือการตื่นมาก็ไม่ได้ช่วยลบความรู้สึกเหล่านั้นให้จางลงไปได้เลย”
Somewhere Bookshop ไม่ได้เพิ่งเริ่มเปิดร้านพร้อมๆ กับคอนเทนต์ที่เราเห็นบนอินสตาแกรม แต่การเดินทางของร้านหนังสือประตูสีแดงๆ เริ่มต้นตั้งแต่กว่า 3 ปีที่แล้วต่างหาก
“ถ้าพูดถึงร้านหนังสือ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงร้านหนังสือแบบในห้าง ซึ่งผมไม่ได้อยากให้ออกมาในรูปแบบนั้น ร้านหนังสือที่มีผลต่อผมมากๆ คือร้าน Fathom Bookspace เป็นร้านหนังสืออิสระที่ทำให้ผมได้เข้าใจว่า ต้องดีไซน์พื้นที่ของร้านหนังสือยังไง ดีไซน์การคัดเลือกหนังสือที่ร้าน จนถึงการจัดอีเวนต์ด้วยครับ”
ถ้านับย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว จะตรงกับช่วงโควิด-19 พอดี ไม่ต้องเดาก็คงรู้ว่า การทำร้านหรือสร้างธุรกิจในช่วงนั้น ล้วนต้องเจอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งนั้น ในช่วงแรกของ Somewhere Bookshop จึงยังคงไม่เบ่งบานมากนัก กระทั่งเดือนสิงหาคม 2023 ที่ผู้คนได้เริ่มค้นพบและรู้จัก Somewhere Bookshop จากความคิดของเติร์กที่เพียงอยากแนะนำตัวกับทุกคน ให้ได้มารู้จักนิสัยใจคอและรสนิยมการเสพงานเขียนของ Somewhere Bookshop
“ผมอยากลดกำแพงของการอ่านลง หนังสือหลายเล่มที่ผมเลือกมา ตัวละครในนั้นก็ไม่ได้เก่งหรือฉลาดมาจากไหน เรื่องราวส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเล่าโดยคนฉลาด ผมแค่อยากจะบอกว่า ถ้าคนเราจะโง่ในความรัก ก็โง่ไปด้วยกันนี่แหละ เหมือนกันกับคนที่มาอ่านหนังสือที่นี่ เขาไม่จำเป็นต้องอ่านเก่งหรือเป็นนักอ่าน แค่รู้สึกอยากใช้เวลากับหนังสือก็เพียงพอแล้ว”

นอกจากใช้เวลากับหนังสือแล้ว ที่นี่ยังมีกาแฟและขนมที่ทำให้การอ่านหนังสือไม่รู้สึกเหงาเกินไป และไม่ได้มีแค่หนังสือของเติร์กที่ให้ทุกคนได้ยืม แต่ยังมีพื้นที่ให้คุณคนอ่านที่แวะเวียนมาร้านได้เขียนความรู้สึก ณ เวลานั้นๆ ลงไปด้วย
“โน้ตทุกแผ่นที่คนอ่านเขียนและแปะไว้ที่ร้าน เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเขา ทั้งต่อตัวเองและ Somewhere Bookshop ด้วย ผมรู้สึกว่า บางครั้งมนุษย์เราได้สำรวจตัวเองหรือสำรวจใครบางคน แต่ไม่มีพื้นที่ที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง พื้นที่ตรงนี้ก็พร้อมโอบรับความทรงจำของคุณคนอ่านเอาไว้ครับ”
From Only One to Everyone
กว่าจะเดินทางมาถึงวันที่ Somewhere Bookshop สร้างคอมมูนิตีเฟรนด์ลี จนทำให้ร้านหนังสือเป็นเพื่อนคุณนักอ่านที่มีความหลงใหลในสิ่งเดียวกันได้ เราแอบจินตนาการถึงเติร์กที่ยังไม่มีเพื่อนร่วมทางบนสายการอ่าน จนได้เข้าใจว่า เพราะอะไรเติร์กถึงเข้าใจความโดดเดี่ยว และไม่อยากให้ใครโดดเดี่ยวเพียงลำพังในแบบที่เขาเคยเป็น
“Somewhere bookshop มีความหมายสำหรับผมในแง่ของความโดดเดี่ยว เพราะผมรู้สึกโดดเดี่ยวมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาต่อการปฏิสัมพันธ์กับโลก ไม่รู้จะเริ่มบทสนทนายังไง ในขณะที่เพื่อนๆ ไปเตะบอลตอนพักเที่ยง แต่ผมมานั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องคนเดียว เพราะผมรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีหนังสืออยู่ใกล้ตัวครับ”
ไม่เพียงแค่เติร์ก แต่เชื่อว่าทุกคนที่รักในการอ่านหนังสือ ล้วนมีภาพฝันถึงการมีห้องสมุดหรือร้านหนังสือเป็นของตัวเอง (ผู้เขียนเองก็อยากเปิดร้านเช่าหนังสือการ์ตูนเช่นกัน) แม้ฝันที่ว่าอาจไม่ใช่ความฝันตามอาชีพยอดนิยมของคนในสังคม แต่เป็นฝันกลางๆ ที่ถ้าวันหนึ่งมีโอกาส หนอนหนังสืออย่างเติร์กต้องรีบคว้าโอกาสนั้นมากอดไว้
การค้นพบโอกาสในการทำตามฝันกลางๆ คือการที่เติร์กเคยเขียนหนังสือและส่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ P.S. Publishing อยู่ก่อนแล้ว จึงไม่แปลกที่ภายในร้านจะมีหนังสือจากสำนักพิมพ์ P.S. Publishing อยู่หลายเล่ม ซึ่งหนังสือของเติร์กที่ตีพิมพ์มีทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ WALTZ เต้นรำในวอดวาย, We Should All Go to Hell เราทุกคนควรลงนรก, และ Somewhere Bookshop
แต่หลังจากการตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกๆ ไป เติร์กเข้าสู่ลูปการเป็นพนักงานประจำคนหนึ่ง ซึ่งทำงานห่างไกลจากผู้คน เพราะงานวิศวกรเกี่ยวกับ oil&gas ทำให้เติร์กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเรือ และห้วงเวลานั้นทำให้เขาได้ตกตะกอนถึงความรู้สึกภายในของตัวเอง กระทั่งในวันที่จังหวะชีวิตและคำถามในใจของเขาเริ่มลงตัว Somewhere Bookshop จึงเป็นคำตอบในตัวตนของเติร์ก
“หนังสือทำให้ผมกลับมาเชื่อใจผู้คนได้อีกครั้ง ทำให้ผมไม่โดดเดี่ยว และการมีอยู่ของ Somewhere Bookshop ทำให้ผมได้เห็นผู้คนแวะเวียนมาที่นี่ แม้บางคนอาจจะมาแค่ครั้งเดียว แต่ทุกการสบตากับใครสักคน มันตอกย้ำความเชื่อใจของผมว่า ผู้คนยังมีความสวยงามอยู่ คนเรายังมีรักต่อกันได้อยู่ และทำให้ผมเชื่อว่า ตัวผมไม่ได้อยู่คนเดียวด้วย”
นอกจากการแวะเวียนมานั่งอ่านหนังสือ และแลกเปลี่ยนความทรงจำผ่านข้อความบนโพสต์อิต Somewhere Bookshop ยังจัดอีเวนต์ Book Club ให้คุณคนอ่านได้มาเจอและพูดคุยกันอยู่หลายครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า Book Club ของที่นี่ไม่ใช่การมานั่งวิเคราะห์หนังสือประหนึ่งเป็นนักวิชาการ แต่มาแชร์กันว่า หนังสือเล่มนั้นที่คุณหยิบมาอ่านทำงานกับความรู้สึกข้างในของคุณยังไง หรืออะไรในหนังสือที่สะท้อนตัวตนบางอย่างของคุณ
แต่ถ้าใครไม่ใช่สายเล่าความรู้สึกผ่านคำพูด ที่นี่ก็มีอีเวนต์เขียนกวี ให้เหล่าคนชอบเขียนได้มาแลกเปลี่ยนฝีปากกากัน
“ผมอยากทลายภาพจำว่า บทกวีต้องมานั่งแต่งโคลงสี่สุภาพ หรือกลอนแปดไหม ผมตอบเลยว่าไม่ใช่ บทกวีในหนังสือคือ การเขียนถึงความรู้สึกในไม่กี่ประโยค แต่ทำงานกับคนอ่านไปอีกนานแสนนาน ทุกคนเขียนกวีได้ผ่านการสังเกต ผ่านความละเอียดลออที่เรามีต่อชีวิต”
หนังสือสำหรับเติร์กจึงเป็นโลกที่เติมเต็มจิตวิญญาณ โลกที่ร้านหนังสืออิสระสามารถเป็นเพื่อนกับคนอ่านได้จริงๆ โดยที่มองการซื้อขายเป็นปัจจัยถัดไป ใครอ่านมาจนถึงตรงนี้ ONCE คงไม่ต้องอธิบายให้มากความก็เข้าใจได้ว่า Somewhere Bookshop มีความหมายต่อเติร์กและคุณคนอ่านทั้งขาประจำและขาจรไม่น้อยเลย
“การเขียนหรือการอ่านหนังสือทำให้ตัวเรารู้สึกได้ว่า เท้าเราอยู่ติดพื้น ตัวเรายังมั่นคง เราเองยังหายใจ เพราะบางครั้งความกล้าหาญที่สุดของคนเราคือ การตื่นมาในแต่ละวันแล้วยังได้หายใจ ได้กิน ได้เดิน หรือได้ทำงาน ผมมองว่าคนเราตระหนักรู้สิ่งเหล่านี้ได้ ผ่านการอ่านหนังสือจริงๆ ครับ”

Somewhere Bookshop & Homecafe
เวลาทำการ : พฤหัสบดี-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 20.00 น.
ที่อยู่ : ซอยเพชรเกษม 12 (MRT ท่าพระ ทางออก 3)
หมายเหตุ : ไม่มีที่จอดรถ
Instagram : somewhere_bookshop_homecafe