About
BUSINESS

เจาะธุรกิจ SUNOVA

เจาะธุรกิจ SUNOVA เซิร์ฟบอร์ดอินดี้ฝีมือคนไทย ทำไมโตสวนกระแส แม้ในวิกฤต

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพ Annetology Date 07-06-2021 | View 5550
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ในขณะอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับผลกระทบที่หนักหน่วงจากโควิด-19 แต่ตลาดของเซิร์ฟบอร์ดกลับเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
  • โควิด-19 ไม่เพียงกระตุ้นให้คนที่อัดอั้นจากการเก็บตัวอยู่บ้านต้องออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งเท่านั้น แต่ด้วยธรรมชาติของการโต้คลื่นในทะเล ที่เป็นพื้นที่โล่งโปร่งและกว้างขวางก็เอื้อต่อวิถี New Normal เช่นกัน
  • SUNOVA เป็นแบรนด์เซิร์ฟบอร์ดสัญชาติออสเตรเลียน แต่มีโรงงานผลิตของตัวเองที่เขาหลัก จ.พังงา และมีแบรนด์ลูกชื่อ SUNS เพื่อสร้างฐานและตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย สำหรับมือใหม่ที่อยากลอง

‘ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ’

จะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ประโยคสั้นๆ แต่มากใจความนี้ยังคงใช้ได้ดี เพราะในขณะที่หลายคนหลากธุรกิจต่างกำลังเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากอันหนักหน่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ ยังมีบางอุตสาหกรรมกลับเติบโตสวนทางเศรษฐกิจ เช่นวงการเซิร์ฟโลก

ไม่ใช่แค่กระแสในบ้านเรา แต่ผลวิจัยของ Technavio บอกว่า ตลาดกระดานโต้คลื่นของโลกมีแนวโน้มจะโตถึง 2.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2563-2567 ขณะที่ยอดขายเซิร์ฟบอร์ดบางประเภทในตลาดค้าปลีกของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งกว่า 3,000 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพ.ค. ปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

SU.1

SUNOVA คือแบรนด์เซิร์ฟบอร์ดสัญชาติออสเตรเลียนที่มีเอกลักษณ์กระดานไม้เรียบง่ายแต่คลาสสิก มีโรงงานผลิตของตัวเองชื่อว่า The Board Factory อยู่ที่เขาหลัก จ.พังงา ก่อตั้งโดย Bert Burger (ออสเตรเลีย) Martin Jandke และ Klaus Christian Mueller (เยอรมนี) เป็นแบรนด์กระดานโต้คลื่นที่ผลิตเองขายเองหนึ่งเดียวในประเทศไทย (รายอื่นเป็นเพียง manufacturer รับจ้างผลิต) และมี SUNS เป็นแบรนด์ลูก ป้อนตลาดโลกทั้งออสเตรเลีย และยุโรป

แน่นอนพวกเขาได้รับอานิสงค์ครั้งนี้ ONCE มีโอกาสพูดคุยกับเอกนรินทร์ โยติภัย ผู้จัดการโรงงาน ถึงทิศทางธุรกิจ ซึ่งเขาบอกเลยปี 2020 ที่ผ่านมา มันคือปีทองของเซิร์ฟบอร์ดเลยทีเดียว

SU.12

เมื่อกระดานโต้คลื่นวิกฤตโควิด-19

“ช่วง 2 เดือนแรกของการเกิดโควิด-19 เราก็แย่เหมือนกัน ตอนนั้นเครียดมากเพราะออเดอร์หยุดชะงัก วัสดุอุปกรณ์ก็นำเข้าไม่ได้ผลิตไม่ได้ ต้องยอมลดเงินเดือนและสลับกันเข้างาน เป็นแบบนั้นอยู่ 3 เดือน” เอก ย้อนถึงช่วงเกิดการแพร่ระบาดและมีการล็อกดาวน์แบบไม่ทันตั้งตัว

แต่พอเข้าเดือนที่ 4 ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปหมด จากออเดอร์สะดุด กลายเป็นมียอดจองเข้ามาล้นหลามจนผลิตไม่ทัน ทำไม่ไหวและเกินกำลังการผลิตที่มีอยู่ เพราะโควิด-19 ไม่เพียงกระตุ้นให้คนที่อัดอั้นจากการเก็บตัวอยู่บ้านต้องออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง จนเกิดนักเซิร์ฟมือใหม่ขึ้นมากมาย แต่ด้วยธรรมชาติของการโต้คลื่นในทะเลที่เป็นพื้นที่โล่งโปร่งและกว้างขวางก็เอื้อต่อวิถี New Normal ขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่ได้ออกไปใช้จ่ายที่ไหนก็นำเงินส่วนนั้นมาซื้อบอร์ดสะสมเพื่อรอเปิดซีซั่นแทน ส่งผลให้ธุรกิจโตยิ่งกว่าเดิม

จากเคยมีลูกค้า Walk in เข้ามาซื้อที่โรงงาน 2 คน กลับเพิ่มเป็น 10 คน 40 คน และ 80 คน เป็นจำนวนทวีคูณในเวลาแสนสั้นอย่างเหลือเชื่อ เมื่อปกติตัวเลขทวีคูณมักจะเกิดเป็นไตรมาส แต่ครั้งนี้เอกบอกเราว่า เกิดขึ้นแบบเดือนต่อเดือนเลย โดยช่วงเปิดฤดูกาลโต้คลื่นปีที่แล้วมียอดจองเฉพาะเซิร์ฟบอร์ดอย่างเดียวยาวถึงเดือนต.ค.

SU.5

SUNS เปิดแบรนด์ลูก สร้างฐานคนไทย

ความแตกต่างระหว่าง SUNOVA กับ SUNS คือตัวบอร์ดของแบรนด์แม่จะเป็นไม้แบบเรียบง่ายและเน้น performance มาก ทำให้ราคาอาจสูงไปสำหรับนักโต้คลื่นที่ไม่ใช่มือโปร ขณะที่ SUNS เป็นไฟเบอร์กลาส ราคาถูกลงและมีสีสันให้เลือกเหมาะกับสาย Custom ตอบโจทย์คนไทยมากกว่า

“เราอยากให้คนไทยได้เล่น SUNOVA แต่มีเปอร์เซ็นต์การซื้อน้อยมาก จริงๆ ไม่ใช่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ แต่มีความอยากมากกว่า 1 อย่าง หากจะซื้อ SUNOVA ในราคา 2.7-3 หมื่นกว่าแล้วยังไม่จบ custom ไปมาปาเข้าไป 4 หมื่นกว่าบาทก็แพงเกิน พังขึ้นมาก็เสียดาย เลยเป็นที่มาของการมี SUNS ที่มีราคาต่ำลงมาหน่อย เพื่อให้มีพื้นที่ให้คนเล่นกับโปรดักต์มากขึ้นก็น่าจะดี เพราะคนไทยชอบ custom เป็นตลาดในระดับที่คนไทยซื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนคนที่มีกำลังซื้อสูงอยากได้ลายได้สีอย่างที่ต้องการก็จ่ายเพิ่มสำหรับบอร์ด SUNS ได้ในราคาไม่ถึง 2-3 หมื่น จากราคาปกติหมื่นกว่าบาท” เอก บอกถึงความต่างของทั้งสองแบรนด์

แต่เมื่อเปิดตัวในตลาดปรากฏว่าได้รับความสนใจจากต่างชาติไม่น้อยเช่นกัน โดยไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟบอร์ด ซัพบอร์ด ฟอยล์ หรือวินด์เซิร์ฟ ของ SUNOVA หรือ SUNS กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนล้วนเป็นฝีมือคนไทยทั้งหมด ภายใต้แนวคิดและการบริหาร Lean Manufacturing จากระบบ Toyota โดยมุ่งเน้นสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตและดำเนินงาน และปรับปรุงและพัฒนากระบวนการให้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางการยอมรับในระดับโลก

“มันดีมากๆ และราคาไม่แพงเกินไป ทนทาน และสวยงาม นี่มันดีเห็นๆ สำหรับทั้งครอบครัวเลย”

ส่วนหนึ่งจากรีวิวบอร์ด SUNOVA ของนักโต้คลื่นต่างชาติ

SU.3

SU.9

SU.10

ผลิตพอดีเพื่อดีพอ

ปัจจุบันตลาดหลักของ SUNOVA ยังคงเป็นต่างชาติ โดยมีออสเตรเลีย ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการโต้คลื่นและคับคั่งด้วยเหล่านักเซิร์ฟระดับโลกเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่สุดถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็เป็นยุโรปและอเมริกาอย่างละ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตลาดคนไทยอยู่ในสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์จากการเติบโตในช่วง 1-2 ปีล่าสุด

“ออเดอร์เยอะที่สุดของเราตั้งแต่แรกเริ่มจนตอนนี้ คือ ซัพบอร์ด เป็นยอดจองจากต่างประเทศแทบทั้งหมด เพราะในไทยตลาดซัพยังไม่ค่อยโตมากนัก ส่วนเซิร์ฟบอร์ดเพิ่งทำยอดขึ้นมาไล่เลี่ยกันตอนเราทำ SUNS เพราะเป็นโปรดักต์อีกเลเวลหนึ่งที่มีคนซื้อเยอะ แต่ความนิยมก็ยังไม่เท่าซัพ”

ยอดรวมการผลิตเฉพาะซัพและเซิร์ฟบอร์ด 3000-3200 ลำต่อปีอาจจะดูไม่เยอะเมื่อเทียบกับ Demand ที่สูงขึ้น แต่ก็เต็มกำลังการผลิตที่ SUNOVA สามารถรับได้แล้ว เมื่อผู้บริหารไม่มีแนวคิดจะฉวยโอกาสเพิ่มผลกำไรด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ

“ถ้าเราเพิ่มกำลังการผลิตอย่างปัจจุบันทันด่วนตามความต้องการของตลาด ปัญหาที่ตามมาคือบริษัทจะใหญ่เกินการควบคุม พอเกินการควบคุมคุณภาพก็จะมีปัญหา แล้วก็จะมีผลต่อภาพลักษณ์ เราไม่ใช่แบรนด์ที่เดินเข้าซูเปอร์มาร์เกตหรือช็อปแล้วหยิบได้เลย อาจจะหายากนิดนึง แต่สุดท้ายเมื่อได้มาแล้วรู้สึกคุ้มค่า นั่นแหละสไตล์เรา”

ผู้จัดการโรงงาน วัย 36 ปีกล่าวถึงเหตุผลที่บริษัทโตขึ้นเพียง 1.5 เท่านับตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 7 ปีก่อน

แตกไลน์สู่เซิร์ฟสเก็ต…น้องใหม่มาแรงแซงทุกสิ่ง

จะด้วยความบังเอิญหรือสถานการณ์พาไปก็ตาม ปีที่แล้วพวกเขาก็ได้เปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง “เซิร์ฟสเก็ต” กระดานติดล้อที่ออกแบบมาเพื่อการจำลองการโต้คลื่น หรือที่เรียกกันว่า เซิร์ฟบก ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความอยากรู้อยากลองของเอกนั่นเอง

“มันเริ่มจากผมได้ไปงานที่เซ็นทรัลเวิร์ดแล้วมีโอกาสได้ลองเล่นบอร์ด Carver โดยที่ยังไม่รู้จัก พอกลับมาก็ลองสั่งทรัคมาติด Deck ที่ทำขึ้นเองและมีคนมาขอซื้อ เลยลองหาทรัคแบบต่างๆ มาลองดูก่อนจะลงตัวที่ Curfboard ของเยอรมัน ซึ่ง Martin เป็นคนเอาเข้ามา เล่นแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเดียวกับเซิร์ฟ จนกลายมาเป็นโปรดักต์ใหม่ที่มีออเดอร์เข้ามาตลอดในตอนนี้”

SU.6

ด้วยกระแสฟีเวอร์หนักทั่วบ้านทั่วเมืองบวกกับความโดดเด่นของบอร์ดไม้และเหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพราะเล่นง่ายไม่ต้องใช้แรงเยอะ ทำให้บอร์ด SUNOVA เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมค่อนข้างเร็ว จนมีออเดอร์ล้นถึงขนาดทรัคที่นำเข้ามาหมดเกลี้ยง เพราะฉะนั้นใครที่ตั้งใจ Walk in เข้ามาเลิกคิดได้เลย เพราะเอก บอกว่า ตอนนี้ต้องซื้อกับตัวแทนจำหน่ายหรือพรีออเดอร์อย่างเดียว ซึ่งรอประมาณ 4-5 เดือน แต่ไม่เห็นด้วยกับการไปซื้อบอร์ดในราคาแพงเกินจริง

“ถ้าซื้อกับเรา ผมจะบอกเลยว่าห้ามเอาไปขายต่อ ยิ่งเอาไปบวกราคาแพงเกินจริงยิ่งไม่ชอบ ถ้าเจอผมจะแบนเลย นอกจากรุ่นที่ทำขึ้นเป็นพิเศษอันนั้นเข้าใจได้ เพราะผมทำมาเพื่อให้เล่นไม่ใช่เพื่อปั่นราคา” เอก ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานชมรมตะกั่วป่าเซิร์ฟสเก็ต ย้ำถึงนโยบายของแบรนด์ ที่ล่าสุดแตกไลน์เซิร์ฟสเก็ตออกมาในนาม SUNS เพิ่มด้วยลูกเล่นเป็น Skatesurfing คือออกแนวสเก็ตมากขึ้น แต่เล่นเหมือนเซิร์ฟ เหมาะกับการเล่น Ramp Bowl และ Street

SU.4

Work Life Balance พนักงานกับความสุข

นอกจากเรื่องของคุณภาพและ position ของตัวสินค้าแล้ว อีกอย่างที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ วิถีชีวิตและความสุขของพนักงานตามคอนเซ็ปต์ “ทำในสิ่งรักเล่นในสิ่งชอบ” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครเข้ามาแล้วเห็นพนักงานเล่นเซิร์ฟสเก็ตไปทำงานไป หรือชักชวนกันไปโต้คลื่น เพราะนั่นคือเหตุผลที่พวกเขาย้ายโรงงานจากชลบุรีมาอยู่ที่เขาหลักเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะต้องการอยู่ใกล้คลื่นที่เหมาะแก่การออกไปเซิร์ฟ

SU.8

“เราไม่ได้บังคับให้พนักงานเล่น แต่สิ่งที่เราผลิต เราเล่นและชวนทุกคนเล่น ใครที่เล่นเซิร์ฟจริงจัง บริษัทผลิตบอร์ดเขียนชื่อลูกค้าเป็นชื่อเขาลงระบบเป็นบอร์ดส่วนตัวฟรีๆ ถ้าเล่นตัวนี้แล้วพัฒนาอยากทดลองแบบใหม่ก็เอาไปลองได้ ถ้าอยากได้ตัวไหนปีต่อไปค่อยว่ากัน เซิร์ฟสเก็ตก็เหมือนกัน สั่งทรัคมาให้แล้วไปทำ deck กันมาเอง ก็เล่นกันทั้งโรงงาน”

ไม่เพียงแค่นั้นล่าสุดผู้บริหารยังอนุมัติงบประมาณ 4 แสนบาท เนรมิตพื้นที่หน้าโรงงานเป็นสนามเซิร์ฟสเก็ต เพื่อให้ทุกคนได้เล่นและเปิดเป็นลานสาธารณะให้เยาวชนและคนทั่วไปเข้ามาสนุกไปด้วยกัน นอกเหนือไปจากการสนับสนุนให้คนท้องถิ่นได้เข้าถึงอุปกรณ์และพัฒนาทักษะมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงกระแสแฟชั่นที่ผ่านมาแล้วจะผ่านไป ส่วนใครที่ยังเล่นไม่เป็นก็จะมีทีมงานคอยช่วยสอนและแนะนำตามแบบ SUNOVA สไตล์ คือ เล่นง่าย ปลอดภัยและท่าสวย

ผู้จัดการเอก ยังเผยด้วยว่า สำหรับใครที่อยากเห็นกระบวนการผลิตเขาทำกันอย่างไรสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานได้ตลอดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยถ้าเป็นช่วงปกติเราจะมีคนพาเดินชมโรงงานเลย

SU.11

“เรายินดีให้ทุกคนเห็นว่านี่คือโปรดักต์ที่คนไทยผลิตและขายอยู่ทั้งในและต่างประเทศ อยากให้เห็นว่าเราทำอะไรบ้าง มีวิธีการทำงานและสไตล์ของตัวเองแบบไหน หลายคนคงคิดภาพว่าโรงงานเข้ามาก็ทำงานๆ ถึงเวลาเลิกงานกลับบ้าน แต่ที่นี่ไม่ใช่ งานไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เรามองความสุขและสนุกควบคู่ไปด้วยกัน”

Tags: