About
BALANCE

จิตวิทยาเซิร์ฟสเก็ต

จิตวิทยาเซิร์ฟสเก็ต…การเดินทางเผชิญหน้าความไม่เข้าท่าของตัวเอง

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพประกอบ ANMOM Date 13-04-2021 | View 4323
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เซิร์ฟสเก็ตคือกีฬาที่มีเส้นบางๆที่กางกั้นระหว่างความกลัวและความกล้า
  • เซิร์ฟสเก็ตทรงตัวง่ายกว่า เลี้ยวโค้งดีกว่าและเปลืองแรงน้อยกว่าสเก็ตบอร์ด จึงเป็นที่นิยมอย่างพรวดพราดเพราะความเล่นเป็นง่ายของมัน
  • งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า กีฬาที่ใช้การทรงตัวอย่างสเก็ตบอร์ดหรือเซิร์ฟสเก็ตให้ความพึงพอใจในตัวเอง ความสำเร็จและอิสรภาพ

ไม่ใช่แค่เมืองไทยที่เซิร์ฟสเก็ตกลายเป็นสเต็กจานร้อน ก่อนเคยเป็นที่นิยมในกลุ่มคนจำนวนนับนิ้วมือยังเหลือ มาวันนี้ลานสเก็ตผุดขึ้นใจกลางเมืองและตามห้างดัง กระทั่งดารา เน็ตไอดอล นักธุรกิจ พลเมืองไปจนถึงคณะผู้จัดอีเว้นต์ยังใช้เซิร์ฟสเก็ตเป็นจุดขาย

หลายปีก่อนจะกลายเป็นกระแส เพื่อนเก่าแก่คู่คนหนึ่งหัดไถแผ่นกระดานกว้างราวๆหนึ่งคืบในวัย 36 ปีและมีลูกหนึ่ง ผลปรากฏว่า ล้มหน้าฟาด หงายหลัง เข่าเลือดซิบ ศอกถลอกและเป็นที่หัวเราะคิกๆ ในสายตาผู้ผ่านมาพบ ‘ลุงป้าบ้ารึป่าว’ เขาและเธอในฐานะผู้ทรงตัวบนบอร์ดมาหลายปี บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้มาและเสียไปเพราะแผ่นกระดานแคบๆนี้ - สิ่งนั้นคือความกลัวและความกล้า

S 4

การทรงตัวบนความกลัวของตัวเอง

เบน ผู้เป็นสามีเริ่มออกไถก่อนเพราะอิทธิพลของซีรีส์ Project S ตอน SOS สเก็ต ซึม ซ่าส์ ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่ใช้การเล่นสเก็ตบอร์ดเพื่อเยียวยาโรคซึมเศร้า

ดูปุ๊บ เบนซื้อสเก็ตบอร์ดมาเล่นตามตัวละครปั๊บและพาตัวเองไปพบจิตแพทย์ตามแบบตัวละครในเรื่องเป๊ะ ไม่ใช่บ้าดาราหรือทำตามกระแสละคร แต่เบนที่ป่วยทางใจเพียงใช้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นพลังใจให้พาตัวเองไปเยียวยาก็เท่านั้น

“แค่ขึ้นไปยืนบนบอร์ดก็กลัวแล้ว” เบนบอก เขาเปิดคลิปยูทูบแล้วหัดเล่นเองทุกวัน จากสเก็ตบอร์ด เขายังลองเล่นลองบอร์ดที่แผ่นกระดานยาวกว่าและหัดเซิร์ฟสเก็ตที่กลายเป็นของกล้วยๆไปเลย “ตอนที่มันยังไม่ฮิตแล้วเราถือบอร์ดออกไปเล่นนอกบ้าน มันดูเห่ยมาก เพราะเราเริ่มเล่นตอนอายุ 36 และอยู่ในจังหวัด (เบนอยู่ต่างจังหวัด) ที่คนไม่เก็ตกีฬาชนิดนี้เลย คนมองว่าลุงมาเล่นอะไร”

เขาเล่น 100 ครั้ง พลาด 99 ครั้ง ทำถูกครั้งเดียว แต่เขาลุกขึ้นมาทำซ้ำและทำใหม่อีกรอบ นั่นคือความสำคัญของกีฬาชนิดนี้ ซึ่งเบนเรียกว่าสปิริตของนักเล่นบอร์ด

“การอยู่บนบอร์ดก็ห่วยอยู่แล้ว มันจะดูเก้ๆกังๆ แต่ก็ห่วยไปเหอะ ยิ่งตอนนี้ที่เซิร์ฟสเก็ตมันฮิต เรารู้เลยว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ คนอื่นเขาไม่ได้ใช้เวลาฝึกนานเท่าเรา ดูเหมือนทุกคนเก่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ใจเรายอมรับไปแล้วว่าไม่เป็นไร เราเห่ยก็ได้ เรายืนยันว่าจะเป็นตัวของตัวเองต่อให้คนอื่นจะมองว่าเราห่วยหรือเราเห็นว่าตัวเองห่วยก็ตาม

“สปิริตอีกอย่างคือ คนที่เล่นรู้อยู่แล้วว่าตัวเองออกไปทำสิ่งที่ไม่เข้าท่า แต่ก็เพื่อที่จะรู้สึกเคารพตัวเองและสนุกไปกับมัน ลองนึกดูว่าการเอาแผ่นสเก็ตไปเล่นกับราวบันไดหรือกระโดดลงบันได เรารู้อยู่แล้วว่าการเดินลงบันไดมันง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า เราอยากทำสิ่งนี้ต่อให้ใครจะมองว่าเราไม่เข้าท่าก็ไม่เป็นไร”

S 2

ไถออกไปจากพื้นที่ปลอดภัย

เอ ภรรยาของเบนก็หันมาเล่นสเก็ตบอร์ดตามด้วยเซิร์ฟสเก็ต ซึ่งทรงตัวได้ง่ายกว่า ไม่ต้องเหนื่อยเอาเท้าลงมาไถบ่อยๆ เลี้ยวโค้งเอี้ยวตัวได้ดังใจ แถมเสียงล้อไม่ครูดพื้นดังเหมือนสเก็ตบอร์ด เธอบอกว่า กีฬาชนิดนี้เหมือนเป็นใบสั่งยาสำหรับคนที่กลัวการออกนอกคอมฟอร์ทโซน

“ก่อนเล่นเซิร์ฟสเก็ต เราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองแบบสุดๆ ส่งผลไปหมดทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เรากลายเป็นคนที่ทำอะไรต้องเป๊ะมาก กลัวพลาด ไม่สนุกกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความกังวลสูงปรี๊ด”

surf skate

“แต่พอมาเล่นเซิร์ฟสเก็ต เรารู้สึกถึงความอิสระตอนอยู่บนบอร์ดและเริ่มเข้าถึงการท้าทายศักยภาพของตัวเอง การกล้าเสี่ยงทีละนิดๆและเผชิญกับการไร้ความควบคุมทีละหน่อย การล้มแล้วลุกเองบวกสายตาของคนรอบข้างที่มองเราแบบเฉยๆ ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องใหญ่ จริงๆแล้วมันก็เท่านี้เอง”

มีคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตบางกลุ่มมองว่ากีฬาชนิดนี้เป็นยากล่อมประสาท ค่าที่มันสนุกแล้วก็หนีโลกดี ซึ่งไม่ได้มีแค่กีฬาชนิดนี้ แต่บางคนก็ใช้ดนตรี หนังหรืออะไรอย่างอื่นเพื่อจะไม่เผชิญหน้ากับปัญหา

“บางคนไถสเก็ตไปเผชิญหน้ากับความเป็นจริง บางคนก็ไถสเก็ตหนีโลกแห่งความเป็นจริง แต่สำหรับเรามันช่วยเยียวยาได้มากถึงมากที่สุด” เบนแสดงทัศนะเป็นข้อสรุป

เซิร์ฟไปเพื่อ ไถไปทำไม

งานวิจัยของ Tim Seifert ด็อกเตอร์ด้านปรัชญาแห่ง Tim Seifert Memorial University of Newfoundland และงานวิจัยของ Michael Boyd นักจิตวิทยาการกีฬาแห่ง San Francisco State University ไปจนถึงงานวิจัยของ The University of Southern California (USC) พบว่า เมื่ออยู่บนแผ่นกระดานแคบๆติดล้อ สิ่งที่ได้มาก็คือ

ความพึงพอใจและความสำเร็จ

เมื่อทรงตัวได้หรือทำท่าต่างๆได้ ความพึงพอใจจะพุ่งกระฉูด ซึ่งจะตามมาด้วยความรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จจากการลงแรงทำสิ่งที่ยากได้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่นักวิจัยกล่าวว่า ทำให้ผู้เล่นติดใจ

ความท้าทายและการรู้สึกว่าควบคุมบางอย่างได้

การฝึกทรงตัวหรือทำท่าต่างๆบนบอร์ด หรือแม้แต่การหยิบบอร์ดออกไปไถทั้งที่รู้ว่ามันต้องมีเจ็บตัวกันบ้างล่ะน่า ผู้เล่นเป็นคนตัดสินใจเลือกสิ่งนั้นให้ตัวเองเอง เมื่อก้าวผ่านความกลัว เจ็บ อายไปได้ก็จะรู้สึกถึงการควบคุมบางอย่างในชีวิตตัวเองได้(บ้าง)

S 1

ความเป็นอิสระ

การฝึกเซิร์ฟสเก็ตคือกระบวนการอันโดดเดี่ยว เพราะกีฬาชนิดนี้เป็นเรื่องของการเล่นเอง-เจ็บเอง เล่นเอง-เป็นเอง ใครจะมาช่วยก็หาได้ไม่ หากวอกแวกแวบเดียว รู้ตัวอีกอาจไปจูบพื้นได้ง่ายๆ การตัดโลกภายนอกจึงเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกถูกตัดสิน ให้ความรู้สึกเป็นอิสระ ขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวเองมากถึงมากที่สุด

สังเกตไหม ไม่มีใครพูดว่าได้ออกกำลังกายร่างกายแข็งแรงเพราะเล่นเซิร์ฟสเก็ต แต่เพื่อนทั้งสองและนักเซิร์ฟบกทั่วโลกเห็นตรงกันว่า เซิร์ฟสเก็ตคือการคืนดีกับตัวเอง


ที่มา:
https://psicopico.com/en/el-surf-o-surfskate-y-sus-numerosos-beneficios-psicologicos/
https://news.sfsu.edu/news-story/study-suggests-skateboarders-offer-valuable-life-lesson-us-all
https://abc7.com/usc-study-skateboarding-garage-board-shop-research-benefits/5970105/
https://www.researchgate.net/publication/225123366_Intrinsic_Motivation_and_Flow_in_Skateboarding_An_Ethnographic_Study

Tags: