About
RESOUND

Step by Step

เปิดฟลอร์กับสามสหายใน Swing Dance ผ่านความเพลินจากสเต็ปง่ายๆ แต่สนุกยาว

เรื่อง เบญญาภา ขวัญเมือง Date 11-02-2023 | View 1862
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกระแสย้อนยุคมากมายจากศตวรรษที่ 20 ที่ย้อนกลับมาเป็นความนิยมในสมัยนี้ การเต้น Swing Dance ก็เป็นหนึ่งในกระแสที่กลับมาฮิตในยุคเราอีกครั้ง หลายคนที่คงจะงงว่า Swing Dance คืออะไร เอาเข้าจริงก็แปลแบบตรงตัวว่า ‘การเต้นที่สวิงสวาย’ นั่นแหละ
  • ถ้าพูดถึงกระแสในประเทศไทย การเต้นแนวนี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แต่ที่อเมริกามีการรวมตัวกันเพื่อเต้น Swing ตั้งแต่ปี 1920-1950  ในผับหรือบาร์ Jazz ของอเมริกามักจะมีฟลอร์เต้นรำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง เพื่อให้ชายหนุ่มได้ชักชวนหญิงสาวมาออกสเต็ปร่วมกัน เป็นโมเมนท์น่ารักๆ ที่เรามักเห็นในหนังอยู่บ่อยครั้ง

ช่วงเวลาที่ผ่านมา Swing Dance ดูจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ฮิตที่สุด รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้บรรยากาศของกรุงเทพฯ กลับมาคึกคัก

เดิมที Swing Dance เป็นการเต้นที่ถูกพัฒนามาจากการเต้นรำกับดนตรีแจ๊ส ประเภทสวิง ในช่วงศตวรรษที่ 1920-1950 เป็นที่นิยมในหมู่ชาวแอฟริกันและอเมริกัน มีรูปแบบจังหวะที่เร็ว จะเต้นกันเป็นคู่ แบ่งเป็นผู้นำและผู้ตาม ซึ่งทั้งคู่สามารถปรับเปลี่ยนท่าเต้นได้ตามใจชอบ จะอิมโพรไวส์หรือด้นสดตามอารมณ์ก็ได้ แต่สำคัญคือต้องมีความเป็นทีมเวิร์กที่ดี เพื่อให้เปลี่ยนท่าทางได้อย่างลื่นไหล เป็นการเต้นด้นสดไปตามหัวใจอย่างแท้จริง

เราเลยอยากพูดคุยกับกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมย้อนยุคสุดเจ๋งครั้งนี้ว่า ทำไมอยู่ๆ สวิงแดนซ์ถึงกลับมาจับใจผู้คนอีกครั้ง สุ-สุไลมาน สวาเลห์, สมภพ กุละปาลานนท์, แพท-พิมพ์นรี ปิยะบุญสิทธิ สามเพื่อนซี้ในวงการเต้นสวิง...สุ เป็นครูสอนเต้นสวิงและอยู่เบื้องหลังการจัดอีเวนต์มา 8 ปี แพท สาวน้อยผู้หลงใหลในลีลาสวิงแดนซ์และคลุกคลีกับมันมานานถึง 7 ปี ส่วนคนสุดท้าย สมภพเป็นคนเบื้องหลังการจัดอีเวนต์สวิงแดนซ์มาเกือบสิบปี

พวกเขาจะมาเปิดบทสนทนาแห่งความสุขและเรื่องราวบนฟลอร์เต้นรำให้เราได้ฟังกัน อย่าลืมเปิดเพลง A Smooth One - Benny Goodman ระหว่างอ่านบทความนี้กันด้วยนะ!

Know Your Step

สุ-สุไลมาน สวาเลห์, สมภพ-กุละปาลานนท์,  แพท-พิมพ์นรี ปิยะบุญสิทธิ

• Swing dance เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นมั้ย ถ้าเทียบจากเดิม

สุ: เป็นที่รู้จักมากขึ้นนะ ตอนสุเริ่มเต้นมีนักเรียนอยู่ 8 คนในห้อง แต่ล่าสุดที่สอนมาช่วงก่อนโควิดก็ปีละหลายร้อยคนแล้ว

• คิดว่าอะไรทำให้คนหันมาสนใจการเต้น Swing dance มากขึ้น

แพท: มันอาจจะดูแปลกใหม่สำหรับวัฒนธรรมคนไทยหรือเอเชีย เพราะว่าวัฒนธรรมเราไม่ได้เหมือนต่างประเทศ คนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร ทำไมอยู่ๆ มาจับมือกันเต้น เลยมีคนเริ่มอยากรู้จักอยากมาลองเพิ่มมากขึ้น

สุ: เราว่าเพราะเป็นกิจกรรมที่ดูผ่อนคลาย ไม่ซีเรียส แล้วก็ยังได้ความสนุกด้วย อย่างที่บอกว่ามันทำให้เราได้เจอคนใหม่ๆ ได้ลองอะไรใหม่ๆ แล้วพอเราสนุกไปกับมันคนที่เราเต้นด้วยเขาก็จะสนุกไปด้วย เราคิดว่าตรงนี้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายๆ คน กล้าที่จะ Step Out of Comfort Zone ของตัวเอง อย่างงานสวิงในสวนเนี่ยเห็นได้ชัดเลยนะ เพราะว่าเราพยายามให้นักเต้นของเราไปเต้นกับคนที่มาครั้งแรก แล้วพอเขาได้ลองได้จับมือกัน หรือพลาดไปด้วยกัน มันก็สนุก ส่วนใหญ่คนจะฟีดแบคกลับมาว่าสนุกเพราะได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับใครไม่รู้ โดยที่ไม่ต้องพูดคุยกันสักคำ เต้นเสร็จปุ๊ป แยกย้าย เราก็ไม่รู้ว่าจะเจอเขาอีกมั้ย แต่มันจะจำได้ว่าความสนุกเคยเกิดขึ้นร่วมกับคนนี้

สมภพ: พอหลังๆ เริ่มมีอีเวนต์พับบลิคเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเมื่อก่อนก็จะมีงานปฐมเจดีย์ ตอนนี้ก็มีงานสวิงในสวนจัดมาสี่ห้าเดือนแล้ว ก็ทำให้คนได้เห็นว่าเพลงไม่จำเป็นต้องนั่งฟังอย่างเดียว คนทั่วไปคิดว่า แจ๊สต้องนั่งฟังเท่ๆ แต่จริงๆ เราสามารถขยับไปกับเพลงได้ด้วย จะขยับนิดๆ หรือเต้นแบบสนุกสุดเหวี่ยงเลยก็ได้

Know Your Step

• จริงไหมที่เขาบอกว่าเต้นไม่เป็นก็เต้น swing ได้

แพท: จริงและไม่จริง คือจริงๆ เต้นไม่เป็นก็เต้นได้ไม่มีถูกผิด แค่เอ็นจอยไปกับเพลงกับคู่เต้น แต่เราอาจจะไม่ได้รู้สึกถึงคอนเนคชั่นที่ต้องการสื่อสารกัน ซึ่งตรงนี้มันทำให้ Swing Dance สนุกขึ้น ทุกครั้งก่อนโซเชียลแดนซ์เราเลยมี Drop in workshop สอนก่อน 60 นาที ตั้งแต่พื้นฐานการสื่อสารกับคู่เต้น และทักษะการเต้นเบื้องต้น เพราะเราอยากให้ทุกคนที่มารู้สึกถึงความสนุกจริงๆ ของ Swing Dance

Know Your Step

• มองว่าความสนุกของ Swing dance อยู่ที่ตรงไหน

สุ:  แน่นอนว่าถ้าดูจากภายนอกคงมีคนสงสัยว่าทำอะไรกันทำไมกระโดดโลดเต้น ยิ้ม ดูแฮปปี้ แต่ถ้าได้ลองเต้นจะรู้สึกว่ามันเป็นการเล่นกับดนตรี เป็นการคุยกับคู่เต้นของเราโดยที่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นตอนนั้นเลย คือมันมีพื้นฐานนิดเดียว นอกเหนือจากนั้นคือเราครีเอตเอง บางทีถ้าเราสื่ออะไรไปแล้วถ้าเขารีแอคกลับมาทัน เลยทำให้รู้สึกว่า…เออสนุกว่ะ!! แล้วเรามองว่ามันเป็นการสื่อสารแบบหนึ่ง เพราะต่อให้พูดกันคนละภาษาแต่เราเต้นด้วยกันได้ แต่ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็ได้เป็นเพื่อนกัน อย่างเมื่อวานก็ได้เต้นกับคนที่มาจากแอลเอ แล้วเขาเต้นดีมาก มันก็คงจะเป็นแดนซ์ที่เราจำไปอีกนาน

มากกว่านั้นก็คงเป็นเรื่องของดนตรี บางทีพอเรารู้จุดพลิกอะไรสักอย่างในเพลง แล้วเราตัดสินใจที่จะเล่นกับเพลง เล่นกับคู่เต้นอะ ก็ต้องมาลุ้นอีกว่าเขาจะเล่นกับเราไหม แล้วถ้าเขาเล่นด้วยอะมันโคตรสนุกเลย

แพท: โดยส่วนตัวเราเป็นคนไม่เริ่มบทสนทนากับคนก่อน แต่พอมาเต้นมันเป็นการเข้าสังคมอย่างนึง โดยที่เราอาจไม่ต้องพูดกันเลย ไม่ต้องสื่อสารกัน คือเต้นเสร็จ จะขอบคุณ แยกย้าย หรืออยากจะคุยกันต่อก็ได้ มันเลยเป็นกิจกรรมที่เราชอบ ยิ่งถ้าเราเต้นอิมโพรไวส์แล้วเจอคนที่คลิกกับเรา ตอนเต้นด้วยกันจะยิ่งสนุกมาก

สมภพ: เรามองว่ามันเป็นกิจกรรมที่โคตรเพอร์เฟคสำหรับคนที่ชอบแฮงค์เอ้าท์ แต่อาจจะคุยไม่เก่ง อย่างบางคนเขินที่จะคุยกับคนที่ไม่รู้จัก แต่ว่ามาถึงก็ใช้การเต้นเป็นกิจกรรมในการสร้างเพื่อนใหม่ในหนึ่งเพลง บางคนเต้นเสร็จอาจจะคุยกันถูกคอได้เป็นเพื่อนกันต่อก็มี แล้วทุกครั้งที่ได้เต้นมันมีความสุข เหมือนได้ปลดเปลื้องความเครียดไปกับจังหวะของดนตรี

Know Your Step

• จุดไหนที่ทำให้เรารู้สึกนี่คือเสน่ห์ของ Swing Dance

สุ: คิดว่าวัฒนธรรม เพราะส่วนตัวชอบอะไรของยุคนั้นอยู่แล้วด้วย ทั้งดนตรี วัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากตอนนี้ เช่นวิธีที่เราขอเพื่อนเต้น ดนตรี การแต่งตัวของทั้งผู้ชายผู้หญิง แล้วแน่นอนว่าการเต้นมันทำให้เกิดความสัมพันธ์อีกอย่างที่สนุกเหมือนกัน อีกอย่างเราว่าดนตรีสวิงมันมันส์มากนะ  ไม่ใช่แค่ฟังเพลงแล้วมันส์…แต่เรายังขยับตัวไปตามจังหวะนั้นได้ด้วย

สมภพ: บางคนอาจจะชอบวัฒนธรรม ชอบแต่งตัว หลากหลายเหตุผลมาก บางคนไม่เน้นแต่งตัวเลย เต้นอย่างเดียวก็ได้ แต่เรามีสิ่งที่ยึดเหมือนกันคือ ชอบเพลงกับชอบเต้นมากๆ เราเลยใช้เวลาด้วยกันได้ เป็นจุดร่วมที่ไม่ต้องการอะไรมากมาย ขอแค่ให้ได้มาเต้นไม่ต้องพูดอะไรเลย…มันเลยเป็นอะไรที่เจ๋งมาก

แพท: เหมือนที่บอกไปตอนแรกว่ามันสนุกเพราะได้เต้น ได้อิมโพรไวส์ แต่บางทีเราแค่รู้สึกว่ามันเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเราไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม เราเต้นแล้วแฮปปี้ตลอด มันมีแต่ความสุขที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น อีกอย่างคือมันเป็นการเต้นที่แต่ละคนใส่สไตล์ตัวเองลงไปได้เต็มที่ พอมันมีความหลากหลายของแต่ละคน เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

Know Your Step

• ตอนเต้นเราต้องให้ความสำคัญกับอะไรที่สุด

สุ: สุคิดว่ามันต้องแบ่งเป็นสองถึงสามอย่าง หนึ่งคือต้องฟังเพลง แต่ในเวลานั้นเองเราก็ต้องทำความรู้จักกับคู่เต้นของเรา เพราะเราไม่รู้จักคนนี้เลย เราจะมีเวลา 15 วินาทีตรงอินโทรของเพลง ในการเริ่มจูนกันผ่านทางมือที่จับกันอยู่และการโยกตามเพลง เพื่อจะให้เขารู้สึกว่าเพลงนี้แล้วเราตีความแบบไหน เขาตีความแบบเดียวกับเราไหม พอเพลงมันเริ่มจริงๆ คู่เต้นก็จะมีคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ lead หรือส่งสัญญาณให้ว่าเราจะทำท่าอะไรต่อ เราจะ move ไปทางไหน เพื่อให้อีกคนที่ทำหน้าที่ follow ได้รับสาส์นนั้นและเคลื่อนไหวตาม ระหว่างที่เราขยับก็ต้องฟังเพลงอยู่ แล้วเราก็ต้องดูเขาด้วยว่าถ้าเขาเล่นอะไรมา เราจะเล่นกลับหรือไม่เล่นกลับ จะกวนหรือไม่กวน รวมๆ ก็จะเป็นมีเรื่องของดนตรี เรื่องของคู่ แล้วตัวเราเองว่าอยากจะทำอะไร

แพท: สำหรับเราที่เป็นฝั่ง follow เราก็ต้องพยายามที่จะรับสาส์นจาก lead ที่พยายามส่งมา ว่าเค้าต้องการลีดเราไปทางไหน และต้องดูว่าเขาจะชาเลนจ์อะไรเรามา เราจะตอบโต้ยังไง ถ้าเราเล่นไปด้วยกันมันก็จะสนุกมาก

Know Your Step

• เป็นไปได้ไหมที่เราจะมี Swing Festival เกิดขึ้นในอนาคต

สมภพ: เอาจริงๆ ก็อาจมีนะ เราอยากจะเอาวงดนตรีในเมืองไทยทั้งหมดสามวงมาเจอกัน เอามาแบทเทิลกัน มีนักดนตรีทั้งหมด 22 คน จัดตั้งแต่ทุ่มครึ่งยันเที่ยงคืนเลย (หัวเราะ)

สุ: ที่มันน่าสนใจเพราะว่า สมัยก่อนที่เขาเต้นกันอย่างที่นิวยอร์กเขาก็จะมี บอลรูมแดนซ์หลายๆ บอลรูม เหมือนผับสมัยเรานี่แหละ แต่สมัยนั้นเขาไม่มีดีเจไม่มีไฟฟ้าเลยต้องมีเครื่องดนตรี แล้วในบอลรูมยุคนั้นเขาเต้นกัน 4,000 คนต่อคืน ลองนึกภาพดูว่าจะต้องใช้เครื่องดนตรีเยอะขนาดไหน หนึ่งวงมีเครื่องดนตรี 20 ชิ้น แล้วในหนึ่งคืนเขาต้องใช้สองถึงสามวง แต่ภาพนี้มันหายไปตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลก พอร้านต่างๆ ไม่เงินมาจ้างนักดนตรีจำนวนมากได้เท่าเดิม วงแจ๊สก็ค่อยๆ เล็กลงเป็น หกชิ้น ห้าชิ้น หรือสามชิ้นแบบที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นโอกาสที่นักดนตรีจะได้เล่นกันยี่สิบชิ้นมันน้อยมาก แล้ววัฒนธรรมดนตรีแบบนี้เป็นสิ่งที่เราอยากทำให้มันกลับมา ก็อยากให้รอติดตามกัน

คงพูดได้ว่า ความสุขจากการได้เป็นตัวของตัวเองบวกกับจังหวะสนุกสนานของเพลงนี่แหละที่ทำให้การเต้นสวิงดึงดูดผู้คนให้เข้ามา ท่วงทำนองที่ใส่หัวใจและความรู้สึกลงไปในฝีเท้า ขยับร่างกายไปอย่างอิสระร่วมกับคู่เต้นตรงหน้า เป็นภาษากายที่ทั้งคู่ต่างแสดงตัวตนออกมาราวกับบทสนทนาระหว่างพวกเขากำลังเริ่มขึ้น แม้จะต่างเชื้อชาติ อาชีพ และอายุ แต่พวกเขามีใจรักในสิ่งเดียวกันคือ ‘เพลงแจ๊สและการเต้น’ นั่นเอง

ถ้าคุณชอบฟังเพลงแจ๊ส ชอบแต่งตัววินเทจ ชอบเต้น ชอบออกไปพบปะผู้คน ชอบความสนุกสนาน ชอบมองดูผู้คนยิ้มแย้ม หรืออยากแต่งเติมสีสันใหม่ๆ ให้ชีวิต Swing Dance เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ เลยล่ะ

Tags: