About
BALANCE

พลัง 'แชร์'

พลัง ‘แชร์’ ในอดีต ที่รัฐต้องขยับ เรื่องเล่าของสะพานในเมืองวัลแคน

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพประกอบ ANMOM Date 25-01-2021 | View 1456
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • อมก๋อย อำเภอเล็กๆ ที่เหมือนโลกที่ถูกปิดและไกลห่างจากความเป็นเมือง กลับเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืนเมื่อพิมรี่พาย โพสต์คลิปลงโซเชียลมีเดียในวันเด็กปี 2021
  • ตัวอย่างพลังของสื่อนั้นมีมาให้เห็นตั้งแต่ในอดีต เช่นเรื่องเล็กๆ ของการสร้างสะพานแขวนในเมืองวัลแคน สหรัฐอเมริกา เมืองชนบทอันแสนแร้นแค้น ขาดการเหลียวแลจากภาครัฐด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า เพราะรัฐมี ‘ปัญหาที่ใหญ่กว่า’ แต่ใครจะรู้ว่าแค่จดหมายฉบับเดียวสามารถทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นถึงกับนั่งไม่ติด ต้องเข้าไปรีบแก้ปัญหาทันที

วันเด็กแห่งชาติประจำปี 2021 กลายเป็นวันที่ผู้ใหญ่ตื่นยิ่งกว่าเด็กที่สุดปีหนึ่งเท่าที่เคยมีวันเด็กมาในประเทศไทย…

เมื่อพิมรี่พาย นักธุรกิจออนไลน์หรือ ‘แม่ค้าออนไลน์’ ที่มีผู้ติดตามเกือบ 7 ล้านรายในเฟซบุ๊ค โพสต์คลิปวิดีโอชื่อว่า ‘สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง’ ซึ่งซิวยอดวิว 6 ล้านแบบชิลๆ ในสัปดาห์เดียว

เมื่อพิมรี่พายควักเงินส่วนตัว 5 แสนบาท บวกกับเงินบริจาคอีกเกือบ 3 แสน ซื้อแผงโซลาร์เซลล์ รองเท้า ทีวีและสร้างโรงเรือนเพาะชำให้เป็นของขวัญเด็กๆในหมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

เด็กๆ ได้เห็นแสงไฟฟ้าและได้ดูทีวีเป็นครั้งแรกในชีวิต…

เรื่องนี้น่าจะจบสวย แฮปปี้เอนดิ้งกันไปทุกภาคส่วน แต่แผงโซล่าร์เซลล์ของพิมรี่พายกลับสั่นสะเทือนหน่วยราชการไทยกันถ้วนหน้า ตั้งแต่ทำไมยังมีพื้นที่ในไทยที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า สิทธิของชาวพื้นที่สูงที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ลามไปจนถึงการเปิดข้อมูลว่าป่าในอมก๋อยจะกลายเป็นเหมืองถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้า แสงไฟจากโซล่าร์เซลล์ของพิมรี่พายส่องสว่างไปยังปัญหาระดับชาติเลยทีเดียว

เหตุเกิดที่วัลแคน…

อำเภออมก๋อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในทศวรรษที่ 1970 เมืองวัลแคนในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ทุรกันดารไม่แพ้หมู่บ้านเกิบแห่งอำเภออมก๋อยของไทยแลนด์ เดิมทีเป็นเมืองแห่งเหมือง แต่ 20 ปีผ่านไปมีชาวเมืองอาศัยอยู่แค่ 20 ครัวเรือนเพราะทนความเรื้อนของเมืองไม่ไหว

ความไม่เหมือนใครของเมืองวัลแคนมี 2 ประการคือ เมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำทัก มีแม่น้ำเป็นพรมแดนธรรมชาติ กั้นระหว่างรัฐเวสต์เวอร์จิเนียและรัฐเคนตั๊กกี้ อีกประการคือ ทางการลืมตัดถนนเข้าเมือง ใครจะข้ามรัฐต้องขับรถไปจอดแล้วเดินข้ามสะพานไม้ไป

เด็กๆ ต้องข้ามแม่น้ำทักเพื่อไปโรงเรียน แต่สะพานแขวนไม้ก็เก่าพะเยิบพะยาบ จนในที่สุดก็พังพินาศไป สะพานพังแล้วทำไง? เด็กๆ เลยต้องฝ่ากฎหมาย ปีนรั้วกั้นรางรถไฟ คลานไปใต้รถบรรทุกขนถ่านหิน จะไปโรงเรียนทีเหมือนฝึกรด. จนครั้งหนึ่ง มีเด็กคนหนึ่งต้องเสียขาไปข้างเพราะปีนๆ มุดๆ จะไปโรงเรียน

ชาวเมืองเลยแต่งตั้งกันเองให้เพื่อนบ้านที่ชื่อคุณจอห์น โรบิเน็ตต์ เป็นนายกเทศมนตรีไปเจรจาขอสร้างสะพานใหม่กับเจ้าหน้าที่ราชการเขตมิงโก ซึ่งตอบกลับมาว่า “มีปัญหาใหญ่กว่าที่ต้องแก้”

คุณจอห์นเลยไปคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งเคนตั๊กกี้และเวสต์เวอร์จิเนีย ซึ่งตอบกลับว่า ‘มีปัญหาใหญ่กว่าที่ต้องแก้’ เจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงของสหรัฐก็ตอบกลับว่า ‘มีปัญหาใหญ่กว่าที่ต้องแก้’ คุณจอห์นเลยเกิดพุทธิปัญญาว่า คู่แข่งที่แท้จริงของเขาคือ ‘ปัญหาใหญ่กว่า’ เหล่านี้นี่เอง ถ้าสะพานกลายเป็น ‘ปัญหาใหญ่กว่า’ ก็แปลว่า สะพานจะได้สร้างอย่างไว

เด็ดดอกไม้สะเทือนไปทั้งดาว!

เขียนจดหมาย การสื่อสารที่มีพลังในอดีต

คุณจอห์นเลยจัดแจงเขียนจดหมายถึงสถานทูตรัสเซียในกรุงวอชิงตัน บรรยายสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวเมืองวัลแคน และตบท้ายด้วยประโยคเด็ดที่ว่า ‘อเมริกาตกอับถึงขนาดไม่มีปัญญาสร้างสะพาน’

เท่านั้นเอง ทูตรัสเซียก็คว้าหมับโอกาสทองที่จะได้ตีแสกหน้าอเมริกา คู่ปรับตัวพ่อในยุคสงครามเย็น รัสเซียมีงบประมาณช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว สะพานเล็กๆ แค่นี้ ขนหน้าแข้งรัสเซียไม่ร่วงหรอก ว่าแล้วทางการรัสเซียก็ส่งนักข่าวไปลงพื้นที่เมืองวัลแคน เตรียมตีข่าวว่ารัฐบาลอเมริกาไร้น้ำยาดูแลพลเมืองตัวเอง ชาวอเมริกันยากไร้ถึงขั้นมาขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย

แต่ก่อนที่คุณนักข่าวจะไปเหยียบเมืองวัลแคน สถานทูตรัสเซียต้องขอไฟเขียวจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเสียก่อน ซึ่งก็สอบถามกันไปมาว่า ทำไมนักข่าวรัสเซียถึงอยากไปทำข่าวเมืองที่เกือบจะร้างอย่างวัลแคนกันล่ะ รัฐบาลมะกันเลยได้เบิกเนตรเรื่องสะพานเจ้าปัญหาที่ว่านี้

เมื่อต่อมอายทำงาน รัฐบาลกลางแจ้งรัฐเวสต์เวอร์จิเนียว่าให้สร้างสะพานที่เมืองวัลแคน เดี๋ยวนี้! รัฐก็จี้ไปยังเขตมิงโกว่าให้สร้างสะพาน เดี๋ยวนี้! เพียงไม่กี่ชั่วโมง คุณจอห์นก็ได้รับงบประมาณ 1.3 ล้านดอลล่าร์ (หรือเท่ากับ 5.2 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน) มาสร้างสะพานใหม่ในเมืองวัลแคน ชาวเมืองได้สัญจรข้ามรัฐกันเฉิบๆ สบายเท้าได้เสียที

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หากคุณจอห์นและพิมรี่พายใช้เทคนิคเดียวกันคือ ‘ขยับปัญหาบ้านๆ ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่! ต้องแก้ไข! ด่วน!’

 

อดีต-พลังเขียน ปัจจุบัน-พลังแชร์

พลังของการแขียนและการแชร์

ไม่ว่าจะเป็นปี 1978 หรือปี 2021 ปัญหาบ้านๆ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ต้องแก้ด่วนทันทีถ้าออกสื่อ ยุคนี้ยิ่งดี ทุกคนมีสื่อในมือ เรื่องที่สำคัญเร่งด่วนมากของเรา (แต่เป็นเรื่องที่คนอื่นมองข้าม) จะได้รับความสนใจได้มากขึ้น เป็นได้ตั้งแต่เรื่องหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ มีรถจอดขวางหน้าบ้าน ซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก จนถึงเรื่องหาบ้านให้น้องแมวจร

ปัญหาหรือเรื่องร้องเรียนใดๆไม่ได้ถูกส่งจากล่างขึ้นบนอีกแล้ว แต่แพร่กระจายรอบทิศทาง จนที่สุดแล้วผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล บริษัท ครอบครัว ปัจเจกบุคคล จะได้ร้อนอาสน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นทาง Facebook, Instagram, Line, WhatsApp, Youtube, TikTok, Tindr, Grindr หรือสักแอปในโลก

ปุ่ม ‘share’ คืออาวุธทรงพลานุภาพยิ่งกว่าขีปนาวุธเสียอีกในยุคนี้

Tags: