About
BALANCE

อุทยานแห่งความเงียบ

The Quiet Parks พาไปรู้จัก ‘อุทยานแห่งความเงียบ’

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพ ANMOM Date 11-01-2022 | View 1960
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Zabalo River แม่น้ำในป่าแอมะซอน ประเทศเอกวาดอร์คืออุทยานแห่งความเงียบแห่งแรกของโลก
  • Quiet Parks International องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมีเป้าหมายที่จะ #savequiet อนุรักษ์ความเงียบในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในธรรมชาติ เมืองและชุมชน
  • ความเงียบไม่ใช่สภาพไร้เสียง แต่เป็นสภาพไร้เสียงสังเคราะห์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อให้หูได้สดับสุ้มเสียงธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์
  • พื้นที่แห่งความเงียบที่นับวันยิ่งหายากขึ้นจะกลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบใหม่ที่ทั้งบำบัดสุขภาพของมนุษย์และของโลก

หวี่ หวี่ หวี่ จิ๊บ จิ๊บ จิ๊บ แคว้ก แคว้ก แคว้ก ปู๊ ปู๊ ปู๊

Gordon Hempton นักนิเวศวิทยาอะคูสติกบันทึกเสียงเหล่านี้มาจากลุ่มแม่น้ำซาบาโลทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเอกวาดอร์ บางเสียงดังเสียดอากาศแสบแก้วหู บางเสียงล่องลอยไกลมาจากยอดไม้ หากไม่ค่อยได้เห็นตัวเจ้าของเสียงนัก เพราะเจ้าพวกลิงค่างบ่างชะนีและนกนานาพันธุ์ในแถบนี้ค่อนข้างจะขี้อาย

ทัศนียภาพทางเสียงหรือเสียงที่ผสมผสานจากเสียงในสภาพแวดล้อมนี้ กอร์ดอน เฮมพ์ตันเรียกว่าเสียงแห่งความเงียบสงบที่ปราศจากเสียงมนุษย์สร้าง ไม่ใช่ความเงียบที่หมายถึงการไม่มีเสียง

และไม่ใช่ความเงียบงันวิเวกวังเวงโหวงจากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองแต่อย่างใด

Q 1

ความเงียบคือสุดยอด rare item

ลองไปฟังเสียงแห่งความเงียบฝีมือการบันทึกเสียงของคุณกอร์ดอนได้ที่ https://onesquareinch.org/ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่คุณกอร์ดอนก่อตั้งขึ้นก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Quiet Parks International

พื้นที่หลายล้านไร่รอบๆ แม่น้ำซาบาโล ในประเทศเอกวาดอร์แห่งนี้ ชาวโคฟานอันเป็นคนพื้นเมืองราว 1,200 ชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์และพืชพรรณนานามาหลายศตวรรษแล้ว และที่นี่จะเป็นบ้านอันเงียบสงบของพวกเขาต่อไปอีกนาน เมื่อองค์กร Quiet Parks International ซึ่งกอร์ดอน เฮมพ์ตันเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จดทะเบียนให้แม่น้ำซาบาโลเป็นอุทยานธรรมชาติแห่งความเงียบแห่งแรกในโลกเมื่อปี 2019

เสียงนกร้องบอกอะไรเรา

“เสียงนกร้องเป็นตัวบ่งชี้ว่าพื้นที่นั้นๆ เป็นถิ่นที่อยู่อันอุดมสมบูรณ์ หมายถึงว่าพื้นที่นั้นมีอาหาร น้ำและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงลูกนกเล็กๆ ในรัง” กอร์ดอนกล่าว “เมื่อไรที่ค้นพบพื้นที่ที่ปราศจากมลพิษทางเสียง เราก็ได้ค้นพบแล้วซึ่งสถานที่ที่ระบบนิเวศเพียบพร้อม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกจัดการตามธรรมชาติโดยพืช ก๊าซออกซิเจนถูกผลิตเพื่อสัตว์และพวกเรา-เหล่ามนุษย์”

Q 5

มลพิษเสียง-นักฆ่าที่ถูกมองข้าม

เสียงที่แตะหรือดังกว่า 85 เดซิเบลก่อให้เกิดอันตรายต่อหูได้ โดยแหล่งกำเนิดเสียงที่สร้างอันตรายต่อสุขภาพอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เช่น เครื่องตัดหญ้า (90 เดซิเบล) รถไฟใต้ดิน (90-115 เดซิเบล) และคอนเสิร์ต (110-120 เดซิเบล) เครื่องบินทะยานขึ้น (120 เดซิเบล) สว่าน (100 เดซิเบล) ทั้งนี้ Dr.Thomas Münzel จาก Mainz University Medical Centre กล่าวว่าเสียงที่ดังเกิน 60 เดซิเบลก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้แล้ว ดังนั้นเสียงรถที่โดยทั่วไปแล้วมีระดับความดังที่ 70 เดซิเบลก็ใช่ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

รายงานเรื่องมลพิษทางเสียงในยุโรปประจำปี 2020 ของเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area หรือ EEA) เปิดเผยว่า มลพิษทางเสียง โดยเฉพาะเสียงยวดยานพาหนะในการจราจรคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้าน

หากอยู่ในสภาพเสียงดังติดต่อกันนานๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ หงุดหงิด นอนหลับไม่สนิท การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้รับผลกระทบ (เช่น มีอาการความดันโลหิตสูง หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ ฯลฯ) เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดหรือคอร์ติซอล ซึ่งเป็นตัวทำลายเส้นเลือด) ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางเสียงเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 48,000 รายต่อปี และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 12,000 ราย นอกจากนี้ยังประเมินว่าผู้คน 22 ล้านรายมีภาวะหงุดหงิดรำคาญรุนแรงและเรื้อรัง และ 6.5 ล้านรายมีภาวะผิดปกติในการนอนหลับ นอกจากนี้เสียงอากาศยานยังทำให้เด็ก 12,500 รายมีภาวะการอ่านบกพร่อง

Q 4

ในปี 2017 Mimi Hearing Technologies จัดทำดัชนีวัดการได้ยินโลก (World Hearing Index) โดยทำการทดสอบการได้ยินของผู้ใช้งาน 200,000 รายทั่วโลก รวมทั้งนำข้อมูลเรื่องมลพิษทางเสียงจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ร่วมกับ Sintef องค์กรวิจัยในนอร์เวย์ พบว่า มีความเชื่อมโยงกัน 64% ระหว่างการสูญเสียการได้ยินกับมลพิษทางเสียง

เมืองกวางโจวในประเทศจีนครองอันดับ 1 เมืองที่มีมลพิษทางเสียงเลวร้ายที่สุดจาก 50 เมืองใหญ่ทั่วโลก ตามมาด้วยไคโร ปารีส ปักกิ่งและเดลี โดยเมืองซูริกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์คือเมืองที่มีมลพิษทางเสียงน้อยที่สุด

องค์การอนามัยโลกยังสรุปด้วยว่า มลพิษทางเสียงคือสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากเป็นอันดับ 2 รองจากมลพิษทางอากาศ

Q 2

ราคาของความเงียบ

ตราประทับว่าสถานที่นั้นๆ เป็น ‘อุทยานความเงียบ’ จาก Quiet Parks International ไม่เพียงช่วยปกป้องธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์จากการใช้และการพัฒนาที่ดินของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีผลบังคับให้อากาศยานต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินไม่ให้บินผ่านพื้นที่แห่งความเงียบเหล่านี้ด้วย

กอร์ดอน พบว่า ธรรมชาติช่วยลดความเครียดและมีพลังบำบัดร่างกาย จิตใจ กระทั่งจิตวิญญาณและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นสิ่งที่สดับยินได้ยากขึ้นทุกทีในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักร ทาง Quiet Parks International จึงพยายามลงทะเบียนสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งพื้นที่ธรรมชาติและเมืองให้เป็นอุทยานความเงียบแห่งใหม่ๆ

นอกจากอุทยานธรรมชาติแห่งความเงียบแห่งแรกที่แม่น้ำซาบาโล ประเทศเอกวาดอร์ ก็ยังมี ‘อุทยานความเงียบในเมือง’ ซึ่งอุทยานแห่งชาติหยางหมิงซาน เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแห่งแรกในหมวดนี้

‘เส้นทางเดินเท้าแห่งความเงียบ’ เช่น ทางเดินในป่าบนหมู่เกาะควาร์เคน ประเทศฟินแลนด์

‘ชุมชนแห่งความเงียบ’ ที่กรีนเมาน์เทนฟาร์มในรัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ด้วยพื้นที่ 923 ไร่ที่เต็มไปด้วยป่าไม้เนื้อแข็ง ทุ่งหญ้า ลำธารและมีบ้านพักเพียง 52 หลัง ใครเห็นว่าที่ใดเงียบจริง ไร้เสียงมนุษย์สร้าง ก็เสนอชื่อไปให้ทาง Quiet Parks International ให้มาทำการประเมินได้

ทั้งนี้ เพราะความเงียบก็มีมูลค่า เมื่อการได้ประทับตราเป็นอุทยานแห่งความเงียบยังมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะดึงดูดให้ผู้คนที่แสวงหาความเงียบมาชโลมโสตประสาท เช่น โปรแกรมเดินอาบป่าที่อุทยานธรรมชาติซิงตรา กัชไกช์ที่ประเทศโปรตุเกส โปรแกรมฝึกโยคะนิทราขณะฟังเสียงธรรมชาติของ EcoNIDRA™ หรือเข้าพิธีชงชาที่เมืองเนเดอร์แลน ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งฝึกนั่งเฉยๆ แล้วฟังคลื่นไป 2 ชั่วโมงรวดที่คอสตาริกา…ที่มีทางเลือกให้เปิดฟังเสียงและรับชมภาพธรรมชาติทางเวอร์ชวลไปพลางระหว่างที่เดินทางไปตัวเป็นๆ ไม่ได้


ที่มา: https://www.vox.com/the-highlight/2020/3/18/21168504/gordon-hempton-wilderness-quiet-park-noise-pollution-zabalo-river-cofan
https://www.newsweek.com/2021/07/23/saving-worlds-last-quiet-places-1606979.html
https://www.eea.europa.eu/articles/noise-pollution-is-a-major
https://www.theguardian.com/cities/2018/mar/08/where-world-noisiest-city

Tags: