About
BALANCE

ทำไมเราต้อง "ไปดูของจริง"

The Whole ไขข้อข้องใจ ว่าทำไมเราต้อง “ไปดูของจริง”

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพประกอบ ANMOM Date 05-05-2021 | View 2122
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • การได้ไปดูของจริง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือทิวทัศน์ ทำให้สมองต้องทำงานหนักกว่าเห็นแค่รูป
  • กระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองเมื่อเห็นของจริงคือ รับรู้ แยกแยะและจดจำ ซึ่งการเห็นแค่รูปจะขาดขั้นตอนการแยกแยะวัตถุไป เพราะเอามือไปจับต้องไม่ได้
  • อะไรที่ได้มาง่ายก็มักจะลืมง่าย ความทรงจำจากรูปจึงลืมได้ง่ายกว่าความทรงจำจากประสบการณ์ตรง

ดูเหมือนนักจิตวิทยาจะไม่ศรัทธาเอาเสียเลยกับกล้องถ่ายรูปและการเซลฟี่ เพราะตั้งหน้าตั้งตาทำการทดลองเพื่อหักล้างว่า การสัมผัสของจริงนั้นมอบความทรงจำดื่มด่ำและฝังใจจำได้มากกว่านั่งไถไอจีดูรูปเป็นไหนๆ

3

4

ประสบการณ์แบบ The Whole

ได้ไปเยือนสตูดิโอศิลปินอายุน้อยที่สนใจในภาพจิตรกรรมอย่างเอกอุ เขาในวัย 24 ณ วันเวลาที่สนทนากันเล่าว่า ไม่เคยเข้าใจงานศิลปะจริงๆ เมื่อดูมันจากคอมพิวเตอร์ก็เข้าใจว่ามันสวยดี ซูมดูได้ แต่เมื่อได้เดินทางไปชมจิตรกรรมของจริงที่ยุโรป ก็บังเกิดความเข้าใจอีกระดับหนึ่งว่าของจริงเป็นอีกแบบ

“ทั้งเรื่องรายละเอียด สี ความลึกซึ้งบางอย่าง งานจิตรกรรมโบราณไม่ได้เขียนแบบรวดเดียวจบ แต่ใช้วิธีเขียนเคลือบทีละชั้นๆ ซ้อนไปเรื่อยๆ เมื่อแสงเดินทางผ่านรูปแล้วเดินทางกลับมาเข้าตา มันจะทะลุสีเคลือบทีละชั้นๆก่อนมาเข้าตาเรา แสงถูกหน่วงด้วยเลเยอร์ของสีทำให้ภาพดูลึกอย่างประหลาด

“เพราะวัตถุดิบบังคับให้ศิลปินโบราณต้องทำแบบนั้น ยุคนั้นสีไม่มีเนื้อ ศิลปินต้องบดสีเอาเอง ไม่มีสีจากโรงงานที่ใส่ตัวบอดี้ลงไปในหลอดสีเหมือนสีสมัยใหม่ เขาต้องเอาสีมาบดกับน้ำมัน เลยต้องทาเคลือบทีละชั้น หน่วงการรับรู้ของเราให้ช้าลง ทำให้งานมีมิติมากขึ้น พอเราเห็นงานจริงเลยตะลึงไปเลย”

งานศิลปะที่ถูกจัดวางใหม่ในพิพิธภัณฑ์ยังทำให้เขาตกตะลึงได้ขนาดนั้น ต่อเมื่อเขาได้พินิจงานศิลปะอีกระดับหนึ่ง คือได้ไปเห็นงานจิตรกรรมบางชิ้นในที่ที่มันถูกคิดมาแล้ว เช่น ในโบสถ์ ในวังเก่า ซึ่งมีงานบางชิ้นที่ยังอยู่อย่างนั้นตั้งแต่สมัยที่ศิลปินยังมีชีวิตอยู่ ศิลปินโบราณไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นจิตรกร เป็นสถาปนิก แต่ทั้งหมดร่วมมือกันทำงานบางอย่างที่มีทั้งงานจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งรวมกันเป็น the whole

“กลางตลาดเมืองมิวนิค ถนนพลุกพล่านมาก มีประตูบานหนึ่งเปิดเข้าไปเป็นโบสถ์ พอปิดประตูทุกอย่างก็เงียบ แล้ววันนั้นเป็นวันอาทิตย์ มีเสียงออร์แกน มีอัลทาร์ มีภาพเขียนบานพับตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม แสงส่องเข้ามา ผมเห็นภาพตรงหน้าแล้วรับรู้ได้ทันทีของ the whole ทั้งหมด ทั้งภาพเขียน สถาปัตยกรรม ประติมากรรม มันทำงานร่วมกันแม้กระทั่งเสียงออร์แกน ทุกอย่างถูกร้อยเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมเลยเข้าใจว่างานศิลปะไม่ได้แบ่งแยก เราต้องเข้าใจมันทั้งหมดอย่างที่มันถูกสร้างขึ้นมา”

8

หลายๆ มิติย่อมดีกว่าสองมิติ

สมองเราจดจำรูปได้ดีเท่าๆกับเห็นของจริงหรือไม่?

คำตอบคือไม่ เหตุผลว่าเพราะอะไรอยู่ที่การทดลองของทีมนักวิจัยคณะจิตวิทยาแห่ง University of Nevada วิทยาเขตรีโน

นักวิจัยจัดการทดลองให้อาสาสมัครดูสิ่งของต่างๆ 44 ชิ้นใน 3 รูปแบบ ได้แก่ สิ่งของเป็นชิ้นจริงๆจับต้องได้ รูปถ่ายสีและรูปวาดเส้นสีดำ

ผลปรากฏว่า ผู้รับการทดลองจดจำสิ่งของที่เป็นชิ้นจริง หยิบจับ สัมผัสได้มากกว่าเห็นรูป ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายสีหรือภาพวาดลายเส้นสีดำก็จำได้พอๆกัน

นักวิจัยสรุปเหตุผลที่ของจริงตราตรึงในความทรงจำได้มากกว่ารูปไว้ว่า เมื่อเรามองโลกด้วยดวงตาของเราเอง ดวงตาแต่ละข้างจะรับข้อมูลของสิ่งของแตกต่างจากมุมมองแนวนอนเล็กน้อย ส่งผลให้สมองรับรู้มิติความลึกได้

แต่เมื่อเห็นแค่รูปสองมิติ สมองขาดข้อมูลเรื่องผิวสัมผัส ระยะห่างและความลึก ทำให้สมองตีความว่ารูปเป็นของ ‘แบน’ ซึ่งไปรบกวนการแยกแยกวัตถุในระดับลึก ส่งผลให้สมองจดจำรูปนั้นๆได้ไม่ดีนัก เคยมีการทดลองในผู้ป่วยทางสมองซึ่งมี ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (Visual agnosia) ทำให้มีความบกพร่องในการรู้จำวัตถุทางตา ปรากฏว่าผู้ป่วยจดจำสิ่งของจริงๆได้ดีกว่ารูปภาพ

การเห็นสิ่งของจริงๆไปกระตุ้นสมองให้เกิดการกระทำมากกว่าแค่มองดู สมองจะอยากรู้อยากเห็นมากว่า ‘นั่นอะไรน่ะๆ’ มันให้สัมผัสอย่างไร หนักหรือเบา อยู่ห่างจากเราแค่ไหน ดังนั้นในพิพิธภัณฑ์ไปจนถึงแผงขายปลาในตลาด จึงพบเห็นป้ายที่มีข้อความว่า ‘ห้ามจับ’ ซึ่งจริงๆแล้วการเห็นอะไรแล้วคว้าหมับเลยนั้น เป็นปฏิกิริยาตามสัญชาตญาณอย่างยิ่ง พ่อแม่เลยต้องคอยห้ามลูกไม่ให้เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟหรืออย่าไปดึงหางแมวสิ ลูก (แมวอาจมีตบ)

การเห็นของจริงจึงทำให้สมองทำงานหลายขั้นตอนมากขึ้นและลึกขึ้น ทั้งต้องไปรับรู้ แยกแยะ จับ ดม ฟัง ใช้สัมผัสต่างๆ และจดจำ หรือเรียกว่าเกิดการรู้คิดโดยร่างกาย (embodied cognition)

ขณะที่การเห็นแค่รูปสองมิติ สมองจะทำงานน้อยกว่า เช่น เห็นรูปดอกทานตะวันของ Van Gogh ในกูเกิ้ลก็รับรู้แค่ว่านี่คือรูปดอกทานตะวัน แต่พอเห็นรูปเขียนจริงๆก็จะได้เห็นฝีแปรง การปาดป้ายสี หูย สมกับเป็นจิตรกรเอกของโลกจริงๆ (หรือไม่ก็อาจจะคิดในในว่า อิหยังวะ) ยิ่งถ้าเห็นดอกทานตะวันของจริงก็ยิ่งจำได้มากขึ้นไปอีกเพราะแดดเปรี้ยงตอนเที่ยงวันส่องลงมากระทบกลีบดอกจนสียิ่งเหลืองสดได้ใจ แถมผึ้งก็จะต่อยเอาด้วย เป็นประสบการณ์แบบ the whole ซึ่งไม่ต่างกันเลยกับประสบการณ์ที่ศิลปินได้ไปเห็นงานศิลปะใจกลางเมืองมิวนิค

1

อย่างไรก็ดี เวลานี้คงต้องซาบซึ้งผ่านรูปแบนๆในกูเกิ้ลกันไปก่อน เมื่อไรได้ฉีดวัคซีนโควิดแล้วค่อยไปดูของจริง – แล้วเมื่อไรล่ะ


ที่มา: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4202719/

Tags: