About
DETOUR X Tokyo

ที่สุดแห่งโตเกียวโอลิมปิก 2020

ทัวร์ทิพย์กับ 10 ที่สุดแห่งโตเกียว 2020

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพประกอบ ANMOM Date 17-07-2021 | View 1667
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  •  การจัดโอลิมปิกจะจัดขึ้นทุก 4 ปี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงานปี 2020 ถูกเลื่อนมาจัดในปีนี้แทน โดยยังคงใช้ชื่อมหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่นี้ว่า “โตเกียว 2020”
  • น่าจะเป็นครั้งแรกของโลกที่ต้องบันทึกถึงความเป็นที่สุดของ “โตเกียว 2020” นอกจากจะต้อง “ลุ้นที่สุด” ว่าจะมีการจัดงานขึ้นหรือไม่ในวันที่ 23 ก.ค. – 8 ส.ค ยังเป็นโอลิมปิกที่มี “เอกลักษณ์ที่สุด”, “ว้าวที่สุด”, “รักษ์โลกที่สุด” และ “ร้อนที่สุด” อีกด้วย
  • โอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบสแกนใบหน้า เพื่อความรวดเร็วในการเข้าสนามและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม อีกทั้งยังเข้ากับวิถี New Normal ลดการสัมผัสให้มากที่สุดตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่จางหาย

โตเกียว 2020...คุณเห็นถูกแล้วและเราไม่ได้เขียนผิด เพราะปกติมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติรายการนี้จะจัดทุกๆ 4 ปี ซึ่งตามตารางปฏิทินการรอคอยต้องสิ้นสุดไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงถูกเลื่อนมาแข่งขันกันในปีนี้ ระหว่างวันที่ 23 ก.ค. – 8 ส.ค. โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ยังคงให้ใช้ชื่อเรียกว่า “โตเกียว 2020” เหมือนเดิม

8

นอกเหนือจากความตื่นเต้นในเกมการแข่งขันของเหล่านักกีฬาจาก 206 ประเทศใน 33 ชนิดกีฬาแล้ว โตเกียวเกมส์ ภายใต้ธีม “ทันสมัยแต่ยั่งยืน” ยังมีความน่าสนใจอีกหลากหลายเรื่องราวที่พร้อมจะสร้างความแตกต่างมากกว่าแค่มาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในยุคโควิด-19 และนี่คือที่สุดของโตเกียว 2020 ที่เปลวไฟในกระถางคบเพลิงใหญ่กำลังจะลุกโชติช่วงอีกครั้ง…

7

เอกลักษณ์ที่สุด

หลังรัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนตัวสถาปนิกจาก ซาฮา ฮาดิด นักออกแบบชื่อดังสายเลือดอังกฤษ-อิรัก มาใช้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับแปลนเดิม เคนโกะ คุมะ ได้สร้างเอกลักษณ์ให้กับสนามกีฬาแห่งชาติโฉมใหม่ของโตเกียว ด้วยการออกแบบผสมผสานเทคนิคด้านสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นและล้ำสมัย พร้อมโครงตาข่ายไม้อันโดดเด่น ตามสไตล์ของเขาที่มีงานไม้ทรงแปลกตาเป็นซิกเนเจอร์ โดยมีการใช้ไม้สนและซีดาร์กว่า 70,000 ลูกบาศก์ฟุตจาก 47 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 157 พันล้านเยน (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท)

สนามขนาดความจุ 68,000 ที่นั่งบนพื้นที่เดิมของสนามกีฬาแห่งชาติหลังเก่าที่เคยจัดโอลิมปิก 1964 ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสไตล์ ซึ่งนอกจากการเน้นความลาดชันของอัฒจันทร์ทั้งสามชั้นเพื่อให้ผู้ชมชั้นบนรู้สึกใกล้ชิดกับเกมมากขึ้นแล้ว ยังออกแบบโครงสร้างชายคาหลายชั้นเหมือนกับเจดีย์ญี่ปุ่นดั้งเดิม เพื่อให้ลมพัดผ่านไปทั่วสนาม พร้อมความรู้สึกสดชื่นเขียวชอุ่มด้วยพื้นที่สีเขียวของต้นไม้รายล้อมอยู่นอกอาคารแต่ละชั้น แตกต่างไปจากสนามกีฬาหลายแห่ง โดยสนามแห่งนี้จะใช้ในพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน รวมถึงการชิงชัยในประเภทกรีฑาและฟุตบอล

9

ว้าวที่สุด

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สเก็ตบอร์ดถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิก ทว่าสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากกลับไม่ใช่อีเวนต์แข่งขัน แต่เป็นสนาม Ariake Urban Sports Park สังเวียนโชว์ลีลาโผดโผนของสเก็ตบอร์ดและจักรยาน BMX ที่ออกแบบโดยผู้คร่ำหวอดในวงการมาเกือบ 20 ปี ทำมาแล้วทั่วโลกอย่าง California Skateparks โดยมีเป้าหมายสร้างสนามที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยมีมาในการแข่งสเก็ตบอร์ด

Joe Ciagila ซีอีโอของ California Skateparks บอกว่า การออกแบบสนามแข่งสเก็ตบอร์ดที่ดีนั้นคือการเลียนแบบสภาพแวดล้อมของถนนในเมือง ผสมผสานระหว่างพื้นผิวเรียบกับราวที่ยกสูงหรือขั้นบันได เพื่อให้ผู้เล่นได้โชว์ทักษะความความสามารถผ่านความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็ม สะท้อนแหล่งของการเล่นสเก็ตบอร์ดดั้งเดิมที่เกิดขึ้นตามสระว่ายน้ำ คู คลอง ท่อระบายน้ำ หรือในห้างสรรพสินค้า ขณะที่ Jaxon Statzell ดีไซเนอร์ที่ได้รับมอบหมายงานนี้บอกว่าเขาเก็บครบทุกรายละเอียด เพื่อออกมาเป็นสนามที่เหมาะกับนักกีฬามากที่สุด ตอบโจทย์การถ่ายทอด และส่งต่อให้ชุมชมได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่หลังจบการแข่งขัน ไม่เหมือนกับสนามกีฬาลู่ลานที่เพียงมีจุดเริ่มต้น ลู่วิ่ง และเส้นชัย เพราะนักสเก็ตบอร์ดสามารถไปได้ทุกที่และทำทุกอย่างที่อยากทำ ซึ่งหลังจากเผยแปลนออกมา ก็เรียกความว้าวได้มากทีเดียว

5

ล้ำสมัยที่สุด

ธีมทันสมัยและยั่งยืนของโตเกียวเกมส์ไม่ได้ตั้งมาแบบเล่นๆ แต่บริษัทเทคโนโลยีในญี่ปุ่นจะใช้โอกาสนี้โชว์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของพวกเขา ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาจะได้เห็นหุ่นยนต์หลายตัวคอยทำหน้าที่ให้คำแนะนำและปฏิบัติงานต่างๆ เช่น นำทางผู้ชมไปยังที่นั่ง ให้ข้อมูลการแข่งขัน ขนสัมภาระหรืออุปกรณ์กีฬา เป็นต้น ตามรายงานจะมีเจ้าโรบ็อทประมาณ 8-10 ประเภทคอยช่วยให้อำนวยความสะดวกและแต่งแต้มสีสันความแปลกใหม่

นอกจากหุ่นยนต์แล้ว นี่จะเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่ใช้ระบบสแกนใบหน้า เพื่อความรวดเร็วในการเข้าสนามและความปลอดภัยของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมที่ได้รับเชิญ เข้ากับวิถี New Normal ลดการสัมผัสให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงแค่นั้น เจ้าภาพยังนำรถยนต์ไร้คนขับเกือบ 100 คันมาวิ่งให้บริการในเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เพื่อปูทางสู่การวางรากฐานระบบขนส่งสาธารณะรุ่นต่อไป สำหรับการลดความสูญเสียบนท้องถนนและหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด

6

รักษ์โลกที่สุด

13 ปีที่แล้วจีนเคยสร้างมาตรฐานพิธีเปิดการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่อลังการมาแล้ว ครั้งนี้ญี่ปุ่นหวังจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาอย่างยั่งยืนบ้าง เมื่อเหรียญรางวัลกว่า 5,000 เหรียญที่จะมอบให้กับนักกีฬาตลอดกว่า 2 สัปดาห์ของการแข่งขันนั้นทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูปดิจิทัล ที่บริจาคโดยชาวญี่ปุ่นมากกว่า 78 ตัน ส่วนเตียงนอนของนักกีฬาทำจากกระดาษลังและแผ่นรองนอนทำจากพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้หลังจบงาน

ไม่เพียงแค่นั้นเจ้าภาพโอลิมปิกยังวางแผนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการแข่งขัน ด้วยมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งในขั้นตอนการเตรียมงานและการแข่งขันจริง โดยคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยมลพิษได้เกือบ 7.2 แสนตันผ่านการกระทำครั้งนี้

น่ารักที่สุด

ต้องยกให้เจ้า มิไรโตะวะ (MIRAITOWA) มาสคอตประจำการแข่งขันที่นอกจากจะออกแบบมาน่ารักในสไตล์ญี่ปุ่นแล้ว ยังได้ชื่อนี้มาจากการโหวตของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมด 16,769 โรงเรียน ซึ่งมาจากการผนวกคำว่า มิไร (อนาคต) และ เอเอ็น (นิจนิรันดร์) เข้าด้วยกันเพื่อสื่อความหมายว่าขอให้โตเกียว 2020 ทำให้หัวใจของทุกคนในโลกพองโตไปด้วยอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวัง ว่ากันว่าเจ้ามิไรโตะวะนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมกับนวัตกรรม ที่มีพลังพิเศษในการเคลื่อนที่ไปไหนก็ได้โดยทันทีติดตัวมาด้วย

cr: www.eastasiaforum.org

ลุ้นที่สุด

หลังสร้างความฮือฮาในริโอเกมส์ 2016 จากวิดีโอพรีเซนต์ที่ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแปลงร่างเป็นซูเปอร์มาริโอ เพื่อรีบเดินทางจากโตเกียวผ่านประตูไปที่ไหนก็ได้ของโดเรมอนไปโผล่กลางสนามในพิธีปิดเพื่อรับช่วงต่อแล้ว ญี่ปุ่นถูกจับตามองและคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าภาพครั้งต่อไป แต่ถึงตอนนี้เหลือเวลานับถอยหลังอีกไม่กี่วันแล้ว คอกีฬาทั่วโลกยังต้องลุ้นกันว่าไฟในกระถางคบเพลิงที่โตเกียวจะถูกจุดขึ้นและลุกโชติช่วงได้จนจบได้หรือไม่

2

วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เป็นเหตุให้อาเบะ และไอโอซี ประกาศเลื่อนกีฬาโอลิมปิก 2020 มาจัดในปีนี้แทน แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมา สถานการณ์ยังไม่มีวี่แววจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น มิหนำซ้ำยังเกิดกระแสคัดค้านจากชาวปลาดิบ มีการออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ยกเลิกการแข่งขัน โดยผลสำรวจความคิดเห็นเกิน 80% ต้องการให้ยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก่อน แม้แต่หนังสือพิมพ์ชั้นนำอย่าง Asahi Shimbun ที่เป็นพาร์ตเนอร์อย่างเป็นทางการของการแข่งขัน ก็ออกมาเรียกร้องผ่านบทบรรณาธิการให้ยกเลิก เนื่องจากประเทศยังเผชิญกับการแพร่ระบาด ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 4 โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.-22 ส.ค.

ร้อนที่สุด

ปกติช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศร้อนจัดและมีความชื้นอยู่แล้ว เห็นได้จากในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค.ปี 2019 มีสถิติผู้เสียชีวิตถึง 57 รายและนำส่งโรงพยาบาลมากกว่า 18,000 รายเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับภาวะอากาศร้อน และด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยที่คาดไว้ประมาณ 35 องศาเซลเซียส และค่าความแปรปรวนของความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 60-80% ของปีนี้ ส่งผลให้โตเกียวเกมส์เตรียมเป็นโอลิมปิกครั้งที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ อันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการโชว์ฟอร์มและการทำลายสถิติของนักกีฬา นอกเหนือจากข้อจำกัดในการฝึกซ้อมระหว่างเกิดโรคระบาด โดยเบื้องต้นไอโอซีดำเนินการหลายอย่างเพื่อรับมือ เช่น การแข่งขันวิ่งระยะยาวจะแข่งในช่วงเย็น ส่วนเกมรักบี้รอบเช้าจะจบก่อนเที่ยง ขณะที่การแข่งเดินและวิ่งมาราธอนจะย้ายจากโตเกียวไปที่ซัปโปโร

เงียบที่สุด

เหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ยังถูกบดบังด้วยการให้ความสำคัญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความคืบหน้าของวัคซีน จนหลายคนแทบไม่รู้เลยว่ามหกรรมกีฬาที่ทุกคนกำลังรอคอยมานาน 5 ปีกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว แถมจะเป็นการแข่งขันท่ามกลางบรรยากาศเงียบเหงามากที่สุดครั้งหนึ่งอีกด้วย หลังล่าสุดออแกไนเซอร์ออกมาประกาศว่า จะไม่มีการเปิดให้เข้าชมการแข่งขันในสนามที่โตเกียวและสามจังหวัดใกล้เคียงอย่าง คานางาวะ ชิบะ และไซตามะ เนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเวลานั้น ส่วนพื้นที่อื่นเปิดให้เฉพาะคนในประเทศเข้าชมได้ในสัดส่วนไม่เกิน 50% ของความจุ

4

ดราม่าที่สุด

กลายเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกโซเชียลไม่น้อย สำหรับกรณีของ ลอเรล ฮับบาร์ด นักยกน้ำหนักจากนิวซีแลนด์ ที่จะเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกของโลกเข้าร่วมชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ หลังผ่านคุณสมบัติการเป็นนักกีฬาหญิงโดยการทดสอบฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรน (ฮอร์โมนเพศชาย) อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์อย่างน้อย 12 เดือนก่อนการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้ จอมพลังวัย 43 ปีเคยลงแข่งในรุ่นมากกว่า 105 กิโลกรัมชาย กระทั่งประกาศตัวเป็นผู้หญิงและตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศในปี 2013 พร้อมกลับมาเดินหน้าล่าความสำเร็จในยกน้ำหนักประเภทหญิง และคว้าเหรียญเงินชิงแชมป์โลก 2017 ที่สหรับ และเหรียญทองโอเชียเนียและคอมมอนเวลธ์ แชมเปียนชิพส์ ในปี 2017และ 2019 โดยฝ่ายไม่เห็นด้วยบอกว่า ไม่แฟร์กับนักกีฬาหญิงโดยกำเนิด เพราะเธอได้เปรียบด้านสรีระที่เป็นเพศชายมาก่อน และอาจหมายถึงการเสียโอกาสในการเปลี่ยนชีวิตของใครบางคน ส่วนฝ่ายสนับสนุนมองว่า การแปลงเพศทำให้ได้เปรียบของเธอลดลงอย่างมาก

1

น่าจับตาที่สุด

เป็นอีกครั้งที่นักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วยความหวังลุ้นเหรียญทองกลับมา จากการมีตัวแทนทีมชาติผ่านคัดเลือกเข้าร่วมชิงชัยทั้งหมด 42 คนใน 14 ชนิดกีฬา โดยความหวังสูงสุดในการลุ้นเหรียญทองกลับมาคงหนีไม่พ้น เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดรุ่น 49 กก.หญิง ในฐานะมือ 1 ของโลกกับเส้นทางการล่าฝันในโอลิมปิกครั้งที่สองของตัวเองหลังจากครั้งที่แล้วอกหักได้เพียงเหรียญทองแดง ซึ่งเป็นรายการเดียวที่เธอยังไม่ได้สัมผัสแชมป์ ด้วยความสามารถและประสบการณ์ตอนนี้บอกเลยว่าโอกาสที่เธอจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นจอมเตะไทยคนแรกที่กวาดแชมป์ระดับเมเจอร์ครบทุกรายนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมเลย

อีกคนที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน คือ บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย แบดมินตันคู่ผสมมือ 2 ของโลกที่นับวันยิ่งเล่นยิ่งดีและเพิ่งสร้างประวัติศาสตร์กวาด 3 แชมป์ใน 3 สัปดาห์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยนี่จะเป็นโอลิมปิกครั้งที่สองของทั้งคู่พร้อมเป้าหมายคว้าเหรียญกลับมาฝากชาวไทยให้ได้

ที่มา
https://www.geeksforgeeks.org/use-of-technology-in-tokyo-olympics-2021/
https://blog.turkishairlines.com/en/what-you-need-to-know-about-2021-tokyo-olympics-2/
https://edition.cnn.com/2020/03/12/world/2020-tokyo-summer-olympics-fast-facts/index.html

Tags: