

Treasure Haven
ทาวน์โฮมกล่องของเล่นใบใหญ่ของ อ้อน – ชุธีภรณ์ เต็มไปด้วย ‘ของชอบ’ ที่ไม่ใช่ ‘ของโชว์’
- เยือนทาวน์โฮมย่านลาดปลาเค้าของอ้อน – ชุธีภรณ์ รัตนรัตน์ ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ บ้านหลังแรกในชีวิตที่ตัดสินใจซื้อเพราะเลี้ยงเจ้าบีเกิลจอมซน 2 ตัว และอยากมีที่เก็บของสะสมของตัวเอง ซึ่งทุกมุมในบ้านสะท้อนไลฟ์สไตล์และเผยให้เห็นถึงตัวตนของอ้อน
“ในคืนวันศุกร์ อ้อนเลือกหนังที่อยากดูในเน็ตฟลิกซ์ เลือกแก้วใส่เครื่องดื่มที่อยากกิน แล้วนั่งแหมะบนโซฟาหนังตัวโปรดในห้องรับแขก เปิดโคมไฟข้างหน้าต่าง ปิดไฟบนเพดาน แล้วเปิดอีกดวงตรงบันไดไว้หน่อย แค่นี้ก็ดีจะตาย”
เรานึกภาพตามแล้วเผลออมยิ้มไปกับมวลความสุขจากคำตอบของอ้อน - ชุธีภรณ์ รัตนรัตน์ ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ เมื่อเราถามว่าอะไรคือความสุขของคนติดบ้าน
อ้อนใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้มา 10 ปีแล้ว แต่คำตอบยังสวีทเหมือนคู่ข้าวใหม่ปลามันที่ขอแค่มีกันและกันก็พอ
อะไรทำให้ความรู้สึกดีๆ ในบรรยากาศเดิมๆ ที่เคยคุ้นยังไม่หล่นหายไปตามกาลเวลา แม้สัจธรรมชีวิตจะส่ง 2 บีเกิลสุดท่ีรักกลับดาวหมาไปแล้ว แต่บ้านหลังเดิมนี้ก็ยังมอบความสุขให้อ้อนได้ไม่เปลี่ยนแปลง
บ้านหลังแรกในชีวิต
อ้อนเป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ เคยทำงานกับเอเจนซีทั้งในระดับโลกและระดับต้นๆ ของโลคัลเอเจนซีเมืองไทย ด้วยหน้าที่การงานกับไลฟ์สไตล์ในช่วงนั้น การอยู่คอนโดถือเป็นความลงตัวที่สุด แม้ต่อมาได้ตกปากรับ ‘ไชโย’ บีเกิลตัวแรกไว้ในความดูแล ก็ยังไม่คิดมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะอาศัยฝากเลี้ยงไว้บ้านเพื่อนสนิท แต่เมื่อ ‘โอโบ๊ะ’ บีเกิลร่วมครอกที่เคยเลี้ยงด้วยกัน จำต้องหาเจ้าของใหม่ อ้อนทำใจเห็นพี่น้องแยกจากกันไม่ได้ เลยตัดสินใจรับเลี้ยงไว้ทั้ง 2 ตัว
“เพราะมีหมาเลยอยากมีบ้าน” อ้อนหัวเราะตอบชัดถ้อยชัดคำถึงเหตุผลการมีบ้านหลังแรกในชีวิต “เลือกหมู่บ้านนี้ เพราะบ้านเพื่อนที่เคยฝากเลี้ยงหมาก็อยู่ในซอยนี้ ถัดไปอีก 7 หลัง อ้อนเคยมาอยู่ที่นี่ พอรู้ว่าบ้านหลังนี้ว่างเลยเข้ามาดู แล้วตัดสินใจซื้อเลยเพื่อให้โยโบ๊ะได้มาอยู่ด้วยกัน”
บ้านลอฟต์ทาวน์โฮมสไตล์โมเดิร์นขนาด 3 ชั้น 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ บนพื้นที่ 17 ตารางวาหลังนี้ อ้อนคงโครงสร้างเดิมไว้ ชั้นล่างเป็นห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับโต๊ะกินข้าว ถัดไปเป็นห้องแพนทรี ด้านหลังต่อเติมเป็นครัวปูนเปลือยที่พ่วงไปกับพื้นที่ซักล้าง ส่วนหน้าบ้านทำหลังคาโรงรถใช้เป็นที่วางกรงของ 2 หมาหนุ่มบ้าพลัง
ชั้น 2 เป็นห้องนอนเล็กไว้สำหรับแขกไปใครมาค้างที่บ้าน ส่วนอีกห้องเป็นห้องเก็บของที่ทุกอย่างจัดวางบนชั้นที่เจ้าตัวต่อเองกับมือทุกอัน “ประหยัดค่าบิลต์อินตู้ไปได้เพียบเลย” อ้อนแยกประเภทของอย่างเป็นระเบียบ ชั้น 3 เป็นห้องนอนใหญ่ อ้อนแบ่งโซนพื้นที่ใช้สอยได้เป็นสัดส่วนลงตัว โดยติดประตูกั้นเป็นห้องแต่งตัว
นอกจากต้องการพื้นที่ไว้เลี้ยงหมาเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องการมีบ้านแล้ว อ้อนเคยอยู่ที่นี่มาก่อนเลยช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น “โชคดีที่ได้มาอยู่ก่อนเลยได้เห็นสภาพสังคม สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านนี้ แล้วทำเลย่านนี้ก็ไปไหนมาไหนสะดวก”
ส่วนอีกเหตุผลที่แม้ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้แต่เป็นสิ่งที่ทำให้อ้อนแฮปปี้ที่สุดกับการได้อยู่หมู่บ้านนี้ก็คือการมีรถรีไซเคิลรับซื้อของเหลือใช้ในหมู่บ้าน เพราะอ้อนเป็นตัวจริงด้านการแยกขยะขั้นจริงจังสุดๆ แม้จะอยู่คนเดียวเป็นหน่วยเล็กๆ ในสังคม แต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ถึงกับมีถังแยกขยะและเครื่องย่อยอาหารเองในบ้าน นโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านจึงได้ใจอ้อนไปเต็มๆ
ตัวตนของเราในบ้านหลังนี้
การต้องการพื้นที่เลี้ยงหมาเป็นโจทย์ในการคิดมีบ้าน แล้วโจทย์ในการตกแต่งทาวน์โฮมหลังนี้ล่ะคืออะไร
“อ้อนมีของสะสมเยอะ ตอนเด็กมีซีดี มีหนังสือเยอะ ทุกอย่างใส่กล่องไว้ เคยอยู่อะพาร์ตเมนต์ อยากจะหาหนังสืออ่านสักเล่ม ต้องรื้อออกมาทั้งกล่อง เพราะเล่มที่ต้องการดันอยู่ข้างล่าง จะฟังเพลงแต่ละทีก็ต้องยกซีดีออกมาวางกองเป็นตั้งๆ พอโตมามีแผ่นเสียง กล้อง ของเล่นต่างๆ ทั้งของเล่นสมัยเด็กกับที่เก็บสะสมตอนโตอีก เลยอยากได้บ้านที่มีที่เก็บของเยอะๆ”
อ้อนตัดสินใจให้อินทีเรียร์ดีไซเนอร์เข้ามาช่วยจัดสรรพื้นที่ใช้สอยและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ลงตัวกับขนาดพื้นที่ เพราะเคยมีประสบการณ์การตกแต่งคอนโดด้วยตัวเองมาแล้ว แต่กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้ เพราะคุณภาพฝีมือช่างกลับไม่สมราคาของที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง จนต้องสั่งช่างบิวต์อินรื้อออก จากที่ตั้งใจจะบิลต์อินก็เลยกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
“เป็นบทเรียนแรกในการตกแต่งบ้าน อ้อนแก้ปัญหาด้วยการเสิร์ชหาของตามเฟซบุ๊ก หรือไม่ก็ไปเดินดูตามงานต่างๆ ก็ได้ของที่ต้องการมาในราคาถูกกว่ากันเยอะเลย”
ที่สุดอ้อนก็ได้นำของสะสมมาจัดวางกระจายตามมุมต่างๆ เป็นการเติมความสุขของตัวเองได้ทั่วบ้านสมใจ แต่ที่สะดุดตาเป็นพิเศษก็ต้องยกให้ชั้นวางของหลังโต๊ะกินข้าวที่เต็มไปด้วยของเล่นที่เห็นแล้วใจฟูสุดๆ ไปเลย กับตู้เก็บของทรงตู้โทรศัพท์แดงของอังกฤษที่อ้อนไว้เก็บสารพัดกล้องถ่ายรูปที่ใช้งานจริงได้ถึง 70%
ด้านฟังก์ชันการใช้สอยพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน ด้วยโครงสร้างบ้านแบบเดียวกันกับบ้านเพื่อนสนิทที่อ้อนเคยอยู่ จึงปรับแก้จุดพร่องของบ้านเพื่อนด้วยการเติมความต้องการของตัวเองลงไป เช่น การเพิ่มหลอดไฟในบางมุมที่แสงสว่างไม่พอ หรือการเพิ่มปลั๊กไฟให้มากขึ้น เพราะไม่ชอบใช้ปลั๊กสามตา
รวมถึงการเพิ่มพื้นที่บนผนังด้วยการติดตั้งชั้นโปร่งเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของในห้องแพนทรี ซึ่งอ้อนได้ใส่ความเป็นตัวเองที่ชื่นชอบสไตล์โมเดิร์นอินดัสเทรียล ให้ความรู้สึกดิบเท่ผ่านโซฟาหนัง โต๊ะเก้าอี้เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ไม้ และการเดินสายไฟร้อยท่อแบบให้เห็นงานระบบ รวมถึงโคมไฟเท่ๆ หลากสไตล์
มากกว่าแค่ ‘สิ่งของ’
บ้านนี้หันไปมุมไหนก็มีข้าวของเต็มไปหมด เลยนึกอยากรู้ว่า ของแบบไหนที่จะไม่ได้เห็นในบ้านนี้ เจ้าตัวตอบทันทีว่า “ของโชว์” เราอึ้งไปแวบนึงแล้วคิดในใจว่า ‘เอ๊ะ…แล้วของที่วางโชว์ตามชั้นหรือมุมต่างๆ ทั่วบ้านนี่ล่ะ’ “บ้านอ้อนไม่มีของโชว์เลยนะ มีแต่ของที่อ้อนชอบกับของที่ใช้งาน”
ขณะที่คุยกันอยู่ เราสังเกตว่าบนโต๊ะกินข้าวที่ใช้เป็นโต๊ะทำงานด้วยนั้น มีคอมพิวเตอร์เปิดอยู่หลายเครื่องจัง อ้อนยิ้มก่อนเล่าว่า “ไอบุ๊กเครื่องนี้เป็นของเก่าสมัยเรียนปริญญาโท ไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ก็ยังเสียบปลั๊กไว้ตลอด เพราะถ้าไม่เปิดไว้กลัวว่าจะเปิดติดยาก เรียกว่าเป็นการ maintain เครื่องด้วยการชาร์จไว้ไม่ให้มันพังเฉยๆ แต่ไม่ค่อยเหมาะใช้งานแล้ว ส่วนโน้ตบุ๊กอีกเครื่องเปิดไว้หาข้อมูล และเครื่องที่ทำงานเป็นหลักคืออันโน้น” อ้อนชี้ไปที่เครื่องไกลสุดจากจุดที่ยืนอยู่
แหม…ราวกับการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนเลย เพียงแต่นี่เป็นการยื้อชีวิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์!
“อันนี้ก็เช่นกัน เป็นไอโฟน 1 อ้อนยื้อมาได้หลายปีแล้วนะ (หัวเราะ) รุ่นนี้เคยเห็นในอีเบย์ขายล้านนึง ถ้ายังใช้งานได้นะ ซึ่งเครื่องของอ้อนยังเปิดได้ ดูรูปได้ แต่ว่าจะหนืดช้า เพราะไม่สามารถอัป IOS ใดๆ ได้แล้ว ถามว่าจะขายไหม ถ้าวันหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็อาจจะขาย แต่ถ้าให้ขายเพื่อให้ตัวเองรวยจังเลย มีเงินไว้ใช้ฟุ่มเฟือย ไม่เอา ยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องใช้เงินขนาดนั้น”
มีข้าวของเยอะในทุกมุมของบ้านอย่างนี้ มีวิธีจัดการเรื่องฝุ่นละอองยังไง และหาของเจอไหม “ยอมรับว่ามีฝุ่นจริงๆ แหละ อ้อนจะใช้วิธีค่อยๆ ทยอยทำความสะอาด สลับมุมกันไป ไม่ได้ชอบทำหรอกนะ แต่ไม่อยากเห็นบ้านมีฝุ่นจับมากกว่า แต่ถ้างานยุ่งไม่มีเวลาจริงๆ ก็ใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำแทน ส่วนเรื่องหาของไม่เจอ เห็นบ้านอ้อนของเยอะแบบนี้ แต่แทบไม่ต้องหาของเลย เพราะของทุกอย่างมีที่ของมัน เก็บให้เป็นหมวดหมู่จะหาง่าย และของอะไรหยิบไปใช้แล้วก็แค่เอากลับมาวางที่เดิม แค่นี้ของก็ไม่หายและไม่ต้องเสียเวลาตามหา”
เท่าที่คุยกันมา อ้อนออกตัวอยู่บ่อยครั้งว่า ของที่เห็นไม่ได้ซื้อของแพง ถ้าจะมีที่แพงก็คือโซฟาหนังในห้องนั่งเล่นเท่านั้น ที่อ้อนชอบมาก เพราะนุ่ม นั่งสบาย และเป็นหนังแท้เหมาะกับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง ไปดูที่ช้อปสตูดิโอ 124 ทุกวัน เพราะตอนนั้นออฟฟิศอยู่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่ด้วยสนนราคาสูงถึง 1 แสนบาท (เมื่อ 10 ปีก่อน) อ้อนอดใจรอจนวันนึงลดราคาเหลือ 8 หมื่น ก็รีบตัดสินใจซื้อทันที ทั้งที่ยังทำบ้านไม่เสร็จ
แต่หลายชิ้นอ้อนก็ได้ของชอบมาในราคาแสนย่อมเยา “แผ่นเสียงของพี่บ่น – อนุชิต จุรีเกษ เป็นศิลปินคนโปรด ซึ่งอ้อนไปเจอแผ่นเสียงเขาในตลาดนัดราคา 50 บาท แล้วสภาพดีมาก เห็นแล้วรีบซื้อก่อนเลย แต่ยังไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลยนะ (หัวเราะ)” จากคนไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงสักเครื่องในตอนนั้น ก็กลายเป็นอ้อนผู้มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงถึง 3 เครื่อง
“บางทีมันก็เป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ เลย ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นบ้านที่มีแก้ว 2 ใบ กับจานอีก 3 ใบ แล้วจู่ๆ ก็นึกชอบแก้วขึ้นมา แต่ก่อนกินน้ำใส่แก้วใบไหนก็ได้ แต่พออายุ 40 กว่า แหม…ถ้าได้กินกาแฟในแก้วใบนั้นนะ จะรู้สึกดีจัง หรือถ้าได้จิบนมจากแก้วใบนี้นะ มันใช่เลย แค่นั้นเลย”
บ้านคือความสุขที่สัมผัสได้
“ของทุกชิ้นในบ้านนี้ ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือถ้าเห็นแล้วไม่โอเค ไม่ชอบแล้ว จะไม่ทนอยู่กับสิ่งนั้น อ้อนจะขายในกลุ่มเฉพาะบ้าง ในเว็บ Kaidee.com บ้าง Shopee บ้าง หลายทีก็ประกาศขายในโซเชียลของหมู่บ้านนี่แหละ ของทุกชิ้นที่ซื้อมาตัดใจขายได้ทุกอย่างถ้าไม่ชอบ อ้อนเป็นคนเลือกของที่คุณภาพดี ราคาอาจจะสูงหน่อย แต่ถ้าไม่ชอบหรือไม่ใช้แล้ว เราจะขายได้ นิสัยนี้เป็นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบให้ของไม่มีประโยชน์”
ว่าแล้วก็เลยขอถามถึงของสะสมที่เก็บมาว่าได้คำนึงถึงมูลค่าในอนาคตด้วยไหม “ก็ด้วย เป็นความโชคดีว่าของที่อ้อนชอบเป็นสไตล์วินเทจ ยิ่งเก็บยิ่งมีราคา เป็นของที่มีมูลค่า ขายได้ ทุกวันนี้พอคิดอะไรได้ก็จะทำบัญชีพินัยกรรมไว้ ถ้าไม่อยู่แล้ว หลานๆ จะได้เอาไปขายได้ เพราะเขาคนละรุ่นกับเรา ก็จะไม่รู้จักและอาจไม่ได้อินเท่าเรา”
ในฐานะผู้สะสมของวินเทจ อ้อนยังเล่าถึงข้อดีของข้าวของยุคอนาล็อกว่า ต่อให้พังอย่างไรก็ยังซ่อมได้ แต่ถ้าเป็นของในยุคดิจิทัล สะดวกจริง ทันสมัยกว่า แต่ถ้าเสียขึ้นมาก็ต้องทิ้งกลายเป็นขยะอย่างเดียว จึงไม่ตรงคอนเซปต์กับอ้อนผู้รักษ์โลก “นาฬิกาที่ผนังชั้นล่างเป็นอนาล็อก จะพังหลายรอบแล้ว ส่งซ่อมก็หลายทีแล้วแต่ก็กลับมาได้ จำได้ว่าซื้อมา 3,500 ตอนนี้ขายกันอยู่หมื่นกว่า ถ้าค่าซ่อมยังครั้งละ 500 -1,000 ก็จะยังซ่อมต่อไป แต่ถ้าค่าซ่อมแตะ 3,000 ก็คงไม่ซ่อมแล้ว แต่ยังเก็บไว้เป็นพร็อพส์ได้
ถึงจะหลงใหลในเสน่ห์ความคลาสสิกข้ามยุคของข้าวของอนาล็อก แต่อ้อนก็ไม่อาจปฏิเสธเทคโนโลยียุคใหม่ที่มาพร้อมฟังก์ชันให้ใช้งานสะดวกขึ้น เลยต้องพยายามหาวิธีให้ของสองยุคใช้งานด้วยกันได้ ยกตัวอย่างโคมไฟหรือพัดลมวินเทจซึ่งเป็นของอนาล็อก อ้อนก็เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟหรือปลั๊กที่เป็น Wifi แทนหลอดไฟหรือปลั๊กปกติ เพื่อให้สามารถสั่งเปิดปิดได้จากมือถือ
จากที่เห็นยอมรับเลยว่า ข้าวของของอ้อนค่อนข้างมีสภาพดีแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของเจ้าของ “เป็นคนขี้หวงของตั้งแต่เด็ก ของเล่นที่เห็น 50% เป็นของเล่นสมัยเด็ก แต่ก็มีความย้อนแย้งในตัวเองอยู่เหมือนกัน คือหวงของนะแต่ก็อยากให้เกิดการใช้ประโยชน์ตามหน้าที่ของมันมากกว่าเก็บไว้เฉยๆ อย่างรถเด็กเล่นซื้อเพราะมันเท่ดี เป็นความชอบล้วนๆ 8 พันบาทเลยนะ แต่ลูกเพื่อนมาบ้าน เห็นแล้วอยากเล่น เต็มใจยกลงมาจากชั้นให้หลานเล่นเลย แต่ถ้าพัง แม่จ่ายนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นกันดั้มมันบอบบาง ถ้าหล่นมันประกอบกลับยาก ดูได้แตะจับได้นะ แต่ก็อยากให้ระวังกันหน่อย
“เป็นคนหวงของแต่ทำไมถึงให้ยืมได้ เพราะอ้อนเชื่อว่า ถ้าเรารักษาดูแลเขาให้ดี เขาก็จะสวยงามสภาพดีและอยู่กับเราได้นานๆ ฉะนั้น ถ้าใครเป็นคนทะนุถนอมของ และอ้อนเชื่อใจว่าจะดูแลของให้เราได้ ก็ยินดีให้ยืม อย่างเพื่อนสนิทเป็นออร์แกไนเซอร์ บางทีก็มาขอยืมของไปเป็นพร็อพส์ ให้ยืมได้ เพราะรู้ว่าเขาดูแลของให้เราได้” ผลพลอยได้จากการมีน้ำใจของอ้อน กลายเป็นได้ค่าเช่าพร็อพส์กลับคืนมา แต่ที่สำคัญกว่าเงินคือความภูมิใจในของสะสมของตัวเองที่ได้แบ่งปันคนอื่นให้ได้มีความสุขไปด้วยกัน”
คำถามสุดท้าย บ้านให้ความสุขกับอ้อนยังไงบ้าง อ้อนแชร์ความรู้สึกนั้นไว้ว่า “การได้ตื่นมาแล้วเห็นของที่เราชอบ มันเป็นความสุขนะ ยิ่งถ้าเป็นของเล่นที่เคยเล่นตอนเด็ก แค่เห็นก็พาเราย้อนวันวานกลับไป หรือมุมโต๊ะทำงานที่ใช้งานบ่อย บางทีอยู่ตรงนั้นแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยช่วงที่งานยุ่งมากๆ หรือวันไหนทำงานกลับมาเหนื่อยๆ ได้เห็นของรักของชอบของเรา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”
ขอให้ทุกคนตามหาความสุขนั้นในบ้านตัวเองให้เจอนะ
สำหรับมือใหม่อยากแต่งบ้านแต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก อ้อนฝากคำแนะนำมาว่า “ต้องรู้ก่อนว่าชอบแบบไหน มีไลฟ์สไตล์ยังไงสำคัญมาก เพราะจะทำให้ตกแต่งบ้านได้ถูกใจ แล้วเราจะอยู่บ้านนั้นอย่างมีความสุข ส่วนของชิ้นไหนที่อยากได้แต่ราคาเกินงบไป อย่าใจร้อน ให้อดใจรอช่วงโปรโมชันที่มีคูปองหรือส่วนลดให้ จะได้ของที่อยากได้ในราคาสบายกระเป๋าขึ้น”