About
BALANCE

เมื่อการเดินทางรักษาอาการ 'ปราชญ์ยังรู้พลั้ง'

เมื่อการเดินทางรักษาอาการ ‘ปราชญ์ยังรู้พลั้ง’

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ Date 25-02-2021 | View 1066
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ความมั่นใจในตัวเองที่คิดว่ารู้มากและฉลาดหลักแหลม อาจทำให้พลาดได้แม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ควรพลาด
  • การออกเดินทางคือวิธีที่จะทำให้คนรู้มาก รู้ตัวว่าตัวเองรู้น้อย และทำให้คนรู้น้อยมีความรู้มากขึ้น
  • ข้อดีของการออกเดินทาง เป็นการพาตัวเองออกจากพื้นที่เดิมๆ จากกลุ่มคนคุ้นเคย ซึ่งอาจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความผิดพลาดหรือจุดที่เราต้องปรับปรุง แต่คือการบริหารร่างกาย จิตใจและความคิดสร้างสรรค์

หลักจิตวิทยาบอกว่า คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดมักประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินจริง ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองไม่รู้ มักประเมินตนเองต่ำ และพยายามขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว เพื่อจะได้รู้มากขึ้น บทความนี้ จึงว่าด้วยเรื่องคนที่คิดว่าตัวเองฉลาด จริงๆ แล้วก็เผลอพลาดด้วยเรื่องง่ายๆ เช่นกัน และสุดท้ายแล้ว การเดินทางจะทำให้คุณเข้าใจอะไรต่างๆ มากขึ้น

diamond

คนฉลาดมักรู้มาก ?

อาชีพนักสัมภาษณ์ทำให้ได้เจอคนหลากหลาย และครั้งหนึ่งได้พาไปเผชิญหน้ากับนักออกแบบเครื่องประดับผู้มากประสบการณ์และความสามารถคนหนึ่ง

คุณนักออกแบบเล่าว่าทำอาชีพนี้มากว่า 30 ปี เริ่มต้นจากการไปร่ำเรียนที่ GIA: Gemological Institute Of America ซึ่งเป็นสถาบันอัญมณีศาสตร์ที่ ‘เรียนยากที่สุดในโลก’ เจ้าตัวกล่าวอย่างภูมิใจ

ถามว่าเรียนยากอย่างไร คุณนักออกแบบอธิบายว่า กว่าจะเป็นนักอัญมณีศาสตร์จาก GIA ต้องเรียนโครงสร้างผลึก สารประกอบทางเคมี การใช้เครื่องมือในแล็บทุกชิ้น

ต้องสอบ Graduate Diamond หลักสูตรการวิเคราะห์และประเมินคุณภาพเพชร จากนั้นสอบ Graduate Colored Stones หลักสูตรการวิเคราะห์และประเมินคุณภาพพลอย ตามด้วยสอบ Gem Identification การวิเคราะห์อัญมณี

ต้องสอบผ่านหลักสูตรหนึ่งก่อน ถึงจะมีสิทธิ์สอบหลักสูตรต่อไปได้ หลักเกณฑ์ว่าจะสอบผ่านหรือไม่ผ่านก็ง่ายมาก คือต้องสอบให้ได้ 100% ถ้าได้ 99% ถือว่าตก

เมื่อสอบผ่าน 3 วิชานี้จึงค่อยผ่านไปสอบเป็นนักอัญมณีศาสตร์หรือ GG – Graduate Gemologist โดยจะมีประกาศนีบัตร 4 ใบเป็นหลักฐานว่าทำอาชีพนี้ได้โดยมีความรู้พื้นฐานแน่นปึ้ก 100%

สมัยเรียนทั้งรุ่นจบแค่ 11 คนและมีคนไทยคนเดียว ก็คือนักออกแบบเครื่องประดับชาวไทยรายนี้

เรื่องง่ายๆ ที่คนฉลาดพลาดได้

ด้วยความที่ในบทสัมภาษณ์มีศัพท์แสงวิชาการปนอยู่ ต้นฉบับจึงถูกส่งไปให้อ่านก่อน ไม่ช้านานคุณนักออกแบบเครื่องประดับก็ตอบกลับมายืดยาวว่าด้วยเรื่องคำว่า ‘Internally Flawless’ หรือเพชรที่มีค่าความสะอาดสูงสุด เรียกว่าไม่มีตำหนิในเนื้อเพชรเลย

คุณนักออกแบบกล่าวว่า ในวงการอัญมณีศาสตร์ที่ตนคร่ำหวอดมากว่า 30 ปีและได้ไปร่ำเรียนมาจาก GIA สถาบันอัญมณีศาสตร์ระดับโลกนั้น ไม่มีคำว่า Internally Flawless เพราะในวงการเขาเรียกกันว่า Internal Flawless อย่างที่พูดตอนให้สัมภาษณ์เท่านั้น ไปเอามาจากไหนกัน คำว่า Internally Flawless

บก.ยังเขียนว่าตำหนิอย่างรุนแรงที่ผู้เขียนผิดพลาดมากในเรื่องนี้ให้เป็นที่ขายหน้า พร้อมให้ส่งคำชี้แจงไปดับความไม่พอใจของคุณนักออกแบบโดยเร็ว

diamond

ผู้เขียนจึงส่งแหล่งข้อมูลกลับไปว่า ไปเอามาจากไหน คำว่า Internally Flawless ซึ่งก็ไปเอามาจากเว็บไซต์ของ Sotheby’s สถาบันจัดประมูลอัญมณีสำคัญๆของโลกมานับไม่ถ้วน จาก GIA สถาบันที่คุณนักออกแบบจบการศึกษามา และจาก Cambridge Dictionary พจนานุกรมของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศที่คุณนักออกแบบไปใช้ชีวิตอยู่มาหลายสิบปี ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า internally คือคำวิเศษณ์ (adverb) ส่วน internal คือคำคุณศัพท์ (adjective) เช่นเดียวกับ flawless

ตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแล้วคำวิเศษณ์มีหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์ และต้องวางไว้หน้าคำคุณศัพท์ ดังนั้นที่ถูกจึงต้องเขียนว่า Internally Flawless ไม่ใช่ Internal Flawless

ต้องใช้น้ำอดน้ำทนอย่างเหลือเชื่อขณะเขียนอธิบายตอบกลับคุณนักออกแบบและบก. ในเรื่องที่คิดว่าทั้งสองน่าจะรู้ขณะเดียวกันก็สงสัยว่า อะไรทำให้คนฉลาดไม่รู้ในเรื่องง่ายๆที่ควรรู้

ความเขลา VS ความมั่นใจ

ในปี 1995 McArthur Wheeler ชายชาวพิตส์เบิร์กวัย 45 ปี น้ำหนักตัว 123 กิโลกรัมเดินเข้าไปในธนาคารแห่งหนึ่งพร้อมด้วยปืนในมือ

เขาปล้นธนาคารหลายแห่งหลายครั้งได้สำเร็จโดยเปิดหน้าโล่งๆปล้นกลางวันแสกๆ บางครั้งถึงกับยิ้มให้กล้องวงจรปิดด้วยซ้ำ

เมื่อตำรวจตามไปจับกุมตัว แม็คอาร์เธอร์ยืนกรานว่าโจรปล้นธนาคารไม่ใช่ตน ตำรวจจึงเปิดกล้องวงจรปิดให้ดู ครั้นเห็นตัวเองในวิดีโอ แม็คอาร์เธอร์ได้แต่ตะโกนว่า เป็นไปไม่ได้! ผมเอาน้ำมะนาวทาหน้าแล้ว! ผมใช้น้ำมะนาวแล้วนี่นา!

เมื่อจนด้วยหลักฐานแจ่มแจ้งเพียงนี้ แม็คอาร์เธอร์จึงรับสารภาพและบอกว่ากล้องวงจรปิดไม่สามารถบันทึกใบหน้าของเขาได้ จึงลงมือปล้นอย่างอุกอาจไปแบบนั้น
แม็คอาร์เธอร์รู้มาว่า น้ำมะนาวคือองค์ประกอบสำคัญของหมึกล่องหน เขาจึงคิดว่า เมื่อทาหน้าด้วยน้ำมะนาว ก็จะไม่มีใครเห็นหน้าเขาได้ จึงเอาน้ำมะนามทาหน้าและไปปล้นแบงค์แบบโจ๋งครึ่ม

ข่าวนี้สร้างแรงบันดาลใจให้นักจิตวิทยา David Dunning และ Justin Kruger ซึ่งในปี 1999 ทำการศึกษาเรื่องความเขลาและความมั่นใจ ก่อนจะได้ผลสรุปที่รู้จักกันในนาม ‘The Dunning-Kruger Effect’ ที่อธิบายว่าคนที่คิดว่าตัวเองฉลาดมักประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินจริง ขณะที่คนที่คิดว่าตัวเองไม่รู้มักประเมินตนเองต่ำ และพยายามขวนขวายหาความรู้ เพื่อจะได้รู้มากขึ้น

การเดินทางสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด

วิธีการหนึ่งที่จะทำให้คนรู้มากรู้ตัวว่าตัวเองรู้น้อย และทำให้คนรู้น้อยมีความรู้มากขึ้นก็คือการออกเดินทาง ซึ่งเป็นการออกจากพื้นที่เดิมๆ รวมทั้งพาตัวไปจากกลุ่มคนอันคุ้นเคย ซึ่งอาจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความผิดพลาดหรือจุดที่เราต้องปรับปรุง การเดินทางจึงเป็นการบริหารร่างกาย จิตใจและความคิดสร้างสรรค์

การเดินทาง

Andy Lee Graham ชาวอเมริกันที่เดินทางต่อเนื่อง 22 ปี นับตั้งแต่ปี 1998 ไปเหยียบแผ่นดินต่างแดนมาแล้ว 112 ประเทศบอกว่า การเดินทางทำให้เขาดื่มน้ำและรับแบคทีเรียชนิดใหม่ๆเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งช่วยให้เขาแข็งแรงขึ้น การเดินทางจึงเป็นโพรไบโอติกส์หรือแบคทีเรียชนิดดีที่ดีที่สุดในโลก

Adam Galinsky อาจารย์ภาควิชาบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งใช้เวลายาวนานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเดินทางและความคิดสร้างสรรค์พบว่า คนที่เดินทางบ่อยๆจะเปิดกว้างทางความคิด มีมนุษยสัมพันธ์ดี ปรับตัวง่ายและรอบรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายกว่าคนที่ไม่ค่อยเดินทาง

การเดินทาง

Mark Twain ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในแวดวงวรรณกรรมโลก เขาเป็นนักเขียนผู้ออกเดินทางเป็นนิจสิน ซึ่งในหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางชื่อ The Innocents Abroad ที่เขียนถึงทริปท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนในปี 1869 ว่า “การเดินทางคือมฤตยูคร่าอคติ ความรั้นและความคิดอันคับแคบ”

หลังจากได้รับคำชี้แจงถึงที่มาของคำว่า Internally Flawless คุณนักออกแบบเครื่องประดับตอบกลับว่า ‘อ้อ งั้นหรือ’ พร้อมบอกว่าสมัยเรียนเขาใช้คำว่า Internal Flawless กัน แต่ในบทสัมภาษณ์นี้จะใช้คำว่า Internally Flawless ก็ได้ ส่วนบก.ส่งยิ้มฝืดกลับมาให้

ไม่ได้เขียนบอกสองคนนี้ไปว่า ปล. ล้างน้ำมะนาวออกจากหน้าและเดินทางบ่อยๆ ด้วย


ที่มา

  • https://www.psychologytoday.com/intl/basics/dunning-kruger-effect
  • https://www.nytimes.com/2020/05/07/learning/the-dunning-kruger-effect-why-incompetence-begets-confidence.html
  • https://campuspress.yale.edu/tribune/scientifically-proven-health-benefits-of-traveling-abroad
Tags: