- ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายในทุกธุรกิจ คราฟต์เบียร์ก็เช่นกัน ชวนคุยกับ บอย วัด ดา เอล ถึงเรื่องราวการล้มลุกคลุกคลานของธุรกิจบาร์คราฟต์จนก้าวสู่ยักษ์ใหญ่ในภาคใต้ที่ใครก็ล้มยากแล้วในปัจจุบัน
บอย - อรรถพล โชติดาว เป็นนักดื่มและเอาความชอบคราฟต์เบียร์เป็นตัวตั้ง เขากระโจนเข้าไปในธุรกิจบาร์ ตัดสินใจเปิด “วัด ดา เอล (What Da Ale)” บาร์คราฟต์เบียร์ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช
แต่ชีวิตหยิบยื่นข้อสอบความอึดมาให้ หรือจังหวะที่เปิดบาร์อาจไม่ราบรื่นนัก เพราะเจอวิกฤตโควิด เขาพยายามกู้สถานการณ์ด้วยการขายเบียร์แบบเททิ้งเพื่อถอนทุน พอรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในเวฟ 3 ยาวนานแรมเดือนเท่านั้น ธุรกิจของเขาขาดทุนยับ เสียหายไปหลายแสน
“เอาจริงๆ นะ เกือบเจ๊ง แต่คิดอีกที ถ้าเราเลิกทำ แล้วจะไปทำอะไรดีวะ” โควิดชกเขาแค่เซ แต่ยังไม่ล้ม เขาสู้ใหม่พร้อมกับเร่งเครื่องธุรกิจให้แรงกว่าเดิม ด้วยการขยายอาณาจักร What Da Ale ในภาคใต้ จากนครศรีธรรมราชในเมือง สู่ทุ่งสง หาดใหญ่ และตรัง รวม 4 สาขา กลายเป็นบาร์คราฟต์เบียร์ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค
ถ้าลองตีความชีวิตเขา เราว่าคงหมือนนั่งโรลเลอร์โคสเตอร์ สนุกบ้าง หวาดเสียวบ้าง กรีดร้องบ้างเป็นบางช่วง แต่ถ้าไม่ได้ “หลงรัก” คราฟต์เบียร์จริงจัง บอยคงเก็บกระเป๋ากลับบ้านโบกมือลาธุรกิจนี้ไปตั้งนานแล้วล่ะ
What Da Ale
วัด ดา เอล
เรานัดพบบอยกับ ปภาดา เพ็ชรสิทธิ์ คู่คิดคู่ชีวิตที่ What Da Ale กลางเมืองนครศรีธรรมราช กวาดตามองภายในร้านที่เต็มไปด้วยไวน์นับร้อยฉลาก มุมค็อกเทล สุราชุมชน แท็ปของคราฟต์เบียร์ และสารพัดเบียร์ในตู้แช่ รู้ทันทีว่าที่นี่พยายามตอบโจทย์ทางเลือกของนักดื่มให้มากที่สุด
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนลงทุนธุรกิจบาร์ ทั้งคู่เปิดร้านอาหารเกาหลีซึ่งเป็นร้านแรกในนครศรีธรรมราช และประสบความสำเร็จดีทีเดียว
ความเป็นนักดื่มของบอย เป็นแรงขับทำให้เขาอยากรู้จักโลกของน้ำสีอำพันที่เรียกว่า “คราฟต์เบียร์” บอยเริ่มเรียนรู้กระบวนการต้ม เข้าใจเบียร์สไตล์ รู้จักคนในวงการ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้มีร้านอาหารเกาหลีและจำหน่ายคราต์เบียร์ที่นั่น แต่ยังมีข้อจำกัด เขาจึงตัดสินใจแยกธุรกิจออกมา เปิดบาร์คราฟต์เบียร์เล็กๆ ขนาดห้องๆ เดียวในชื่อ วัด ดา เอล (What Da Ale)
“มันเหมือนคำอุทานว่า เบียร์ไรเยอะแยะ! เหมือน What Da…!” บอยอธิบายความหมายที่เขาปิ๊งคำนี้ในวินาทีแรกที่รู้จัก และหยิบคำนี้มาตั้งชื่อ
ไม่ใช่แค่เอาความคราฟต์มาแนะนำให้ชาวนครศรีธรรมราชรู้จักเท่านั้น แต่ยังเป็นความคราฟต์ที่คนใกล้ตัวบอยอย่างคุณภรรยาก็ยังไม่เข้าใจ “เบียร์อะไร ขวดสองสามร้อย!” นั่นคือสิ่งที่เธอคิดตอนแรก ในช่วงแรกที่เปิดร้านมีแค่ชาวต่างชาติที่พอจะคุ้นเคยกับเบียร์คราฟต์เป็นลูกค้า แต่กับตลาดในท้องถิ่นเมืองคอน การทำให้ทุกคนเข้าใจคงไม่ต่างจากเข็นครกขึ้นภูเขา
หากนั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ วัด ดา เอล เดินหน้าต่อไปทีละก้าว…เน้นจัดอีเวนท์เพื่อเปิดตลาด เปิดโอกาสให้ใครที่ยังไม่รู้จักได้เข้ามาลอง มาชิม สร้างนักดื่มใหม่ๆ ให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมเบียร์คราฟต์ถึงแตกต่างจากเบียร์ที่เราคุ้นเคยกัน
ทุกอย่างดูเหมือนไปได้ดีถ้าไม่มีโควิด เพิ่งเปิดตัวไม่ทันไรวิกฤตนี้ก็เดินทางมาทักทายเมืองไทยและส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวของคนหมู่มากที่โดนก่อนใครเพื่อนก็คือ ผับ บาร์ ร้านอาหาร
ช่วงไหนมาตรการรัฐผ่อนปรน เขาต้องรีบระบายเบียร์ เทขายเหมือนเททิ้งเพื่อดึงทุนคืน แต่สถานการณ์ก็แย่ลงมากกว่าเดิมเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศยาวนานถึงสามเดือน เงินหลายแสนที่ลงทุนหายวับไปกับตา ธุรกิจแทบล้ม เรายังจำได้ที่เขาบอกว่า “มันเกือบเจ๊งเลย”
ล้มแล้วลุกขึ้นได้ไม่พอ
แต่ต้องออกวิ่งสุดแรง
หลายธุรกิจที่ยืนได้หลังโควิดมักไม่ค่อยกล้าทุ่มสุดตัวอีกต่อไป ถ้าจะก้าวก็ต้องค่อยๆ ก้าวอย่างระมัดระวัง เพราะวิกฤตนี้ทำเอาเจ็บหนักกันทุกราย แต่บอยกลับคิดต่าง เขาไม่ได้ค่อยๆ ก้าวเหมือนคนอื่น แต่เขาออกแรงวิ่งเต็มกำลัง ขยายวัด ดา เอล สู่บาร์คราฟต์เต็มรูปแบบที่ไม่ได้มีเพียงเบียร์เท่านั้น หากยังมีตัวเลือกอื่นๆ ของนักดื่มอย่างสุรา ไวน์ ค็อกเทล ตามด้วยไลน์อาหารแบบจัดเต็ม
ฝันของเขายังคงอยู่ แต่โลกจริงในธุรกิจก็ทำให้เขาไม่ประมาท การเดินตามฝันโดยไม่เข้าใจโลกจริงเลยคือสิ่งที่บอยย้ำว่า…อย่าทำ “เป็นสิ่งที่เราชอบก็จริง แต่ตัวเลขมันต้องไปได้ด้วย ต้องควบคู่กันไป ตัวเลขได้ มาร์จิ้นต้องมี”
วิธีคิดของบอยเรียบง่ายมาก เมื่อเขาเป็นนักดื่ม พอมีอะไรใหม่ๆ ก็ไปลอง ลองแล้วดี ก็นำสิ่งนี้มาบอกต่อลูกค้า สร้างการรับรู้ด้วยการให้ชิมฟรี บอยเชื่อว่าเบียร์คือประสบการณ์ ยิ่งสำหรับคราฟต์เบียร์ที่ไม่ต่างจากงานศิลปะ การเปิดให้ลูกค้าได้ลองอะไรใหม่ๆ จะช่วยสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น
นี่คือสูตรข้อแรก ข้อสองคือสร้างความหลากหลายในโพรดักส์ ทุกวันนี้ วัด ดา เอล มีเบียร์แท็ปให้เลือกมากถึง 22 แท็ป เรียกว่ามากที่สุดในนครศรีธรรมราช และอาจเป็นที่สุดในภาคใต้เลยด้วยซ้ำ ในบรรดาแท็ปเหล่านี้ ก็มีซีเล็กชั่นให้เลือกตั้งแต่เบียร์แมสยันเบียร์คราฟต์ที่เป็นแรร์ไอเท็ม ไม่นับค็อกเทล สุราชุมชน ไวน์ และอื่นใด ด้วยเหตุผลแค่ว่า “ลูกค้าต้องมาจบที่เรา”
ข้อสาม คือการลงทุนกับคนหรือแมนพาวเวอร์ เมื่อวัด ดา เอล วางโพสิชันตัวเองว่าไม่ใช่ที่นั่งกินเหล้า แต่คือเซฟโซนของทุกคน เป็นที่พบปะสังสรรค์พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องคราฟต์เบียร์หรืออะไรก็ตาม บอยจำเป็นต้องลงทุนเฟ้นหาพนักงานที่มีสกิล ทักษะ และเข้าใจความคราฟต์เป็นอย่างดี คนไหนมีแววก็ส่งไปลงคอร์สเติมความรู้ หรือจัดหาคนมาทำเทรนนิ่งให้เด็กในร้าน
บอยสรุปกับเราว่า คราฟต์เบียร์คือจุดแข็งของวัด ดา เอล “เพราะเป็นสินค้าที่เรามีมากที่สุดในภาคใต้ การเลือกเบียร์แต่ละตัวเข้าร้าน เราต้องเลือกให้มันหลากหลายที่สุด และต้องอยู่กับความจริงว่ามันมีเบียร์แมสและเบียร์คราฟต์ เราก็ต้องเอามาไว้ในร้านเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า”
ที่ผ่านมา ถึงบาดเจ็บจากธุรกิจ แต่เมื่อมีจังหวะก็ต้องลุกขึ้นให้ได้ และบอยกำลังพิสูจน์ให้เราเห็น
คราฟต์เบียร์เมืองไทย
ต้องได้ไปต่อ
“ตอนนี้วงการคราฟต์เบียร์บ้านเราสนุกมากนะ คนไทยมีฝีมือมาก รสชาติพัฒนาขึ้นเยอะกว่าเมื่อก่อน มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาตลอด ผมว่าถ้ามีการแก้กฎหมายให้ทันสมัยและเข้าใจธุรกิจ วงการคราฟต์เบียร์ไทยจะดีมาก” ยิ่งกว่านั้น ทุกวันนี้สังคมของคนคราฟต์เบียร์ยังเป็นสังคมของการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเบียร์ใหม่ๆ กันอยู่ตลอด
“ถามว่าคนทำคราฟต์เบียร์ทุกวันนี้ เขาไปได้ด้วยความชอบและมันเป็นศิลปะมันไม่ได้ไปแย่งตลาดเจ้าใหญ่ๆ เลย มีแค่ 1% เองมั้ง ไม่ได้กระทบอะไรกับรายใหญ่เลย คนตัวเล็กตัวน้อยทำกันทั้งนั้น มันเป็นธุรกิจที่สร้างความครีเอทีฟให้เกิดในตลาด”
บอยมองว่าไม่มีธุรกิจไหนที่ราบรื่น เขาเองก็เช่นกัน กว่าจะเดินมาถึงวันนี้จนสยายปีกกว้างขวางในภาคใต้ได้ ก็เจ็บตัวมานับครั้งไม่ถ้วน จนต้องถอยออกมาแล้วปรับมุมมองของตัวเองใหม่ เปลี่ยนความชอบให้เป็นธุรกิจ สวมโมเดลทางการตลาดเข้าไป อ่านพฤติกรรมผู้บริโภคให้เป็น
ฝันใหญ่ของเขาไม่ใช่แค่ว่าวันหนึ่ง วัด ดา เอลจะมีโรงเบียร์ของตัวเอง แต่ไกลกว่านั้นเขาอยากเห็นเบียร์นครศรีธรรมราช เบียร์คีรีวง หรือใดๆ ก็ตามที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และเบียร์กลายเป็นสินค้าที่ระลึกทุกคนมาแล้วต้องซื้อ เกิดการจ้างงานและเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น
เขาเชื่อว่ามันเป็นไปได้…
7 เคล็ดวิชาธุรกิจบาร์ของ What Da Ale
- 1.จัดอีเวนท์เปิดตลาด สร้างการรับรู้ให้คนเข้าใจคราฟต์เบียร์มากขึ้น
- 2.สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้ลูกค้า
- 3.ชิมฟรี…มีชัยไปกว่าครึ่ง
- 4.ทำธุรกิจเพื่อคนทั่วไป ไม่ใช่แค่เพื่อน
- 5.ลงทุนกับ “คน” จัดเทรนนิ่งให้ความรู้เมื่อมีโอกาส
- 6.ใส่ใจในทุกรายละเอียดให้มากที่สุด
- 7.มีส่วนร่วมในการสนับสนุนวงจรเบียร์คราฟต์ในไทยให้เติบโต
ติดตาม What Da Ale ทั้ง 4 สาขา
What Da Ale เมืองนครศรีธรรมราช
What Da Ale ทุ่งสง
What Da Ale ตรัง
บ้านน้าหรอย X What Da Ale อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา