About
RESOUND

Unchosen Destiny

เบื้องหลัง ‘5th Round สังเวียนมวยรอง’ ของ ‘ระวี’ ผู้กำกับที่เชื่อว่าตัวร้ายไม่ใช่คู่ชกบนเวที

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘5th Round สังเวียนมวยรอง’ งานกำกับชิ้นแรกของ ท็อป- ระวี พิริยะพงศ์ศักดิ์ ที่อยากตั้งคำถามกับระบบ ได้รู้ว่าชีวิตคนควบคุมไม่ได้ และการไม่มีตัวเลือกของคน สู่สถานะมวยรองเมื่อหนังเข้าฉาย

ระหว่างถอดเทปเพื่อนำมาเขียนเป็นบทความนี้ เสียงแวดล้อมรอบข้าง ณ ออฟฟิศ BrandThink ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนก็นับว่าชัดเจนกว่าเทปไหนๆ เพราะนอกจากเสียงพูดคุยแล้ว ยังประกอบไปด้วยเสียงของฟ้าที่กระหึ่มร้องอยู่เป็นระยะ เหมือนรู้คิวว่าเรื่องที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ไม่ได้สดใสดั่งฟ้าหลังฝน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สิ้นหวังดั่งฟ้ามืดยามพายุถล่ม ที่แน่ๆ แม้การสนทนานี้จะมีเสียงหัวเราะประกอบฉาก แต่กลับไม่ได้มาจากเรื่องน่าขบขัน อันที่จริงต้องเรียกว่า ‘ตลกร้าย’ ด้วยซ้ำไป

วันนั้นผมมีนัดคุยกับ ท็อป-ระวี พิริยะพงศ์ศักดิ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยรับหน้าที่ Co-Director ให้หนังเรื่อง ‘RedLife’ ที่เพิ่งเข้าฉายไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่หลักใหญ่ใจความของการมาพบปะ เพราะครั้งนี้ผมมาคุยกับท็อปในฐานะผู้กำกับหนัง Real Footage เรื่องใหม่ของ BrandThink ที่มีชื่อว่า ‘5th Round สังเวียนมวยรอง’

เล่ากันแบบย่นย่อ หนัง Real Footage เรื่องนี้ฉายภาพทั้งในและนอกสังเวียนของนักมวย 4 รุ่น ตั้งแต่วัยเด็กแรกชก จนถึงวัยโรยราใกล้ลาสังเวียน โดยมีฉากหลังเป็นเรื่องจริงของชีวิตนักมวยในวงการมวยไทยที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยมวยไทยอย่างไม่มีทางเลือก

ท็อปพูดด้วยรอยยิ้ม แต่ไม่ได้ปนด้วยความสุข เพราะถึงหลายๆ ประเด็นที่หนัง Real-Footage เรื่องนี้เล่า จะเป็นสิ่งที่พูดได้ว่า ‘ก็รู้ๆ กันอยู่’ แต่ยิ่งมองลึกเข้าไปเรื่อยๆ ได้อยู่ใกล้ขอบเวทีมากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็ค่อยๆ พบว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เขา รวมถึงเราๆ ไม่รู้เกี่ยวกับกีฬาที่ถูกต่อท้ายเป็นจุดขายด้วยคำว่า ‘Soft Power’ นี้เลย

“เวลาไปต่างประเทศ มวยไทยดังมากๆ แต่นักมวยไทยกลับไม่มีอะไรเหลือหลังจากเลิกชก มันเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามมาก” ท็อปพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

ก่อนเข้าสู่ตัวเนื้อหา ถือเป็นข้อมูลประดับการอ่าน หนึ่ง นี่คือหนังยาวเรื่องแรกที่ท็อปรับหน้าที่กำกับเต็มตัว สอง หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง ตัวแสดงจริง เจ็บปวดจริง ร้องไห้จริง แต่ผลแพ้ชนะอาจไม่ใช่ของจริงอย่างที่ตาเห็น

ข้อสุดท้าย บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ปิดบทความนี้ แล้วเข้าไปดูหนังกันก่อน เพื่ออรรถรสสำหรับทุกๆ คน หรืออาจต้องแปะป้ายไว้ก่อนว่า

‘Do not open this before watching the movie.’

สังเวียนมวยรอง

ซำเหมา เพชรประกายจันทร์

“จริงๆ มันมีการเขียนบทนะ เราไม่ได้ไปตามคลุกคลีชีวิตเขาขนาดนั้น บทจะถูกเขียนประมาณว่า เราอยากได้อะไร นักมวยแต่ละรุ่นก็จะมีพล็อตหลักเป็นของตัวเอง อย่างรุ่น 1 เราอยากเล่าเรื่องเด็กกับพ่อ รุ่น 2 เป็นช่วงที่กำลังเข้ามาในกรุงเทพฯ”

ท็อปเปรยถึงโปรเจกต์ที่เริ่มต้นด้วยความคิดของ ลักญ-เอกลักญ กรรณศรณ์ Managing Director ของ BrandThink Cinema ที่อยากให้มีหนังที่ถ่ายทอดเรื่องจริงในสังคม

หนังเรื่องนี้ถูกวางธีมเอาไว้ว่า Unchosen Destiny หรือการเลือกไม่ได้ของคนคนหนึ่ง เอาเข้าจริง ท็อปมองว่าหนังของเขาไม่ได้พูดถึงการเป็นนักมวยขนาดนั้น ไม่ได้มีฉาก Montage ชวนปลุกใจแบบ Rocky ไม่ได้มีศัตรูตัวฉกาจที่นักมวยต้องเอาชนะเพื่อขึ้น The End กลับกัน หรือไม่ก็อาจเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสำหรับท็อป นี่คือหนังที่พูดเรื่องของชีวิตคน ซึ่งมีนักมวยเป็นภาพแทนของผู้คนที่กำลังต่อสู้ในฐานะมวยรองภายใต้สังคมอันแสนกดทับ

สังเวียนมวยรอง

การต้องตื่นเช้ามาฝึกซ้อมของนักมวยอาจหมายถึงการต้องตื่นเช้ามาฟันฝ่ารถติดและฝูงชนไปทำงาน

การโดนหมัดตรงของนักมวยอาจหมายถึงการโดนโยนภาระงานกองใหญ่ให้ทำเพิ่มอย่างไม่เต็มใจ

และการล้มลงแล้วถูกนับอาจหมายถึงการต้องพยายามต่อสู้และยืนหยัดกับ KPI ในแต่ละเดือน

ดีไม่ดี นักมวยก็อาจโดนรบกวนเสาร์-อาทิตย์เหมือนพวกเราก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทางเลือก

แล้วมั่นใจได้ยังไงว่าซับเจกต์ที่ตามถ่ายจะให้เรื่องราวตามที่ต้องการ – เราถามท็อปด้วยความสงสัย

ท็อปนิ่งคิด ก่อนจะตอบว่า ด้วยระยะเวลาในการหาข้อมูลที่กินเวลาเป็นปีๆ ตามหาซับเจกต์เหมือนแคสติงนักแสดง คัดแล้วคัดอีก ถ้าเรื่องความมั่นใจ เขากล้าตอบว่าคนนี้คือดีที่สุดแล้วจากทั้งหมดที่ต้องเลือกมาให้เหลือเพียง 4 คน พร้อมพูดถึงแต่ละรุ่นคร่าวๆ เริ่มต้นด้วย ซำเหมา เพชรประกายจันทร์

สังเวียนมวยรอง

“เรารู้สึกว่าเด็กคนนี้มีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ความดูเป็นเด็กน่ารัก แต่พอขึ้นชกหรือใส่นวม เขาดูกลายเป็นอีกคนหนึ่ง และก็มีเรื่องพ่อที่เขาไม่ได้อยู่ด้วยกัน” ท็อปเล่า

ถึงแม้ว่าท็อปจะบอกว่าเขาเขียนบทขึ้นมาว่าอยากให้อะไรเป็นไปประมาณไหน แต่ด้วยกลวิธีการถ่ายทำที่เรียกว่า ‘Real Footage’ แน่นอนว่าไม่มีอะไรควบคุมได้ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ กระทั่งผลแพ้ชนะที่ทีแรก ท็อปเขียนไว้ในบทว่าแมตช์นี้อยากให้ใครชนะ อยากให้ใครแพ้ เพื่อให้การเล่าเรื่องเป็นไปตามที่เขาวาดไว้ในหัว แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่มีอะไรควบคุมได้จริงๆ

สังเวียนมวยรอง

“ถ้าพูดถึงสิ่งที่คาดหวังตอนถ่ายทำ แต่ละรุ่นผมจะเขียนเลยว่าอยากให้คนไหนชนะหรือแพ้ แล้วส่งไปรุ่นต่อไปยังไง แต่ไม่มีอันไหนตรงสักอัน ผิดหมด ยากประมาณหนึ่ง มันก็ต้อง Adapt ตาม เพราะเลือกที่จะถ่ายด้วยวิธีนี้แล้ว แต่จังหวะแรกๆ ช็อกอยู่เหมือนกัน

“อย่างไฟต์ที่ 2 ของซำเหมา เวลามีชกใหญ่ ทีมจะไปถ่ายกัน 10 กว่าคน นั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปบุรีรัมย์ ชกได้ 20 วินาที ซำเหมาโดนเตะ ร้องไห้ แต่ตอนแรกที่เขียนไว้อยากให้ซำเหมาชนะ เพื่อส่งต่อไปรุ่นต่อไปว่าชนะแล้ว กำลังพุ่งทะยานขึ้น แต่พอผลเป็นอย่างนี้ มันก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง จริงๆ มันก็เป็นเสน่ห์ของการถ่ายทำแบบนี้ ผมเลยรู้ตัวว่าเรื่องจริงมันเขียนไม่ได้ พอเป็นเรื่องจริงแม่งยิ่งทำให้สตอรีไปไกลมากขึ้น” ท็อปเล่า

สังเวียนมวยรอง

พลายเงิน ศิษย์ศรพิชัย

“มวยมีอายุการทำงานที่สั้น แต่ถ้าเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นของคนต่างจังหวัด มันก็ทำเงินได้มากกว่าอาชีพอื่นนะ ตอนที่คุยกับคุณลุงของรุ่น 2 เขาก็บอกผมตรงๆ เลยว่า ‘คุณคิดดู อยู่ที่นี่ขายวัวตัวหนึ่งได้เท่าไหร่ มวยคืออาชีพที่ให้ได้มากที่สุดแล้ว’ เพราะงั้นมันก็ต้องกลับมาตั้งคำถามกับโครงสร้างแล้วว่า ถ้าไม่ให้เขาชกมวย แล้วจะให้เขาทำอะไร

“แต่พวกเขาไม่มีสวัสดิการรองรับหลังเกษียณ จริงๆ นักมวยไม่มีเงินเดือนด้วยนะ ต้องชกถึงจะได้ตังค์ ถ้าไม่ชกก็ไม่ได้ มีแค่ที่อยู่ มีข้าวให้กิน เหมือนหมาล่าเนื้อ ถ้าไม่ออกไปล่าเนื้อก็ไม่มีแดก เศร้ามากๆ” ท็อปเล่าถึงสิ่งที่เขาเจอระหว่างถ่ายทำ

สังเวียนมวยรอง

ท็อปเริ่มเล่าถึงรุ่นที่ 2 พลายเงิน ศิษย์ศรพิชัย ซึ่งจัดว่าถ่ายทำยากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องหานักมวยต่างจังหวัดที่กำลังจะเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ รวมถึงบุคลิกของพลายเงินที่ค่อนข้างเงียบ บรรยากาศของช่วงวัยนี้จึงจะแตกต่างจากช่วงเวลาอื่นค่อนข้างมาก เพราะถ้าให้เปรียบเทียบ เขาเหมือนเด็กจบใหม่จากต่างจังหวัดที่เข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่มีปากมีเสียง ตอบรับเป็นคำว่า ‘ครับ’ เกือบทั้งหมด

เมื่อรวมกับคำพูดของท็อปแล้ว ช่วงเวลานี้คงต้องตั้งชื่อว่า ‘รากหญ้าบรรดาศักดิ์’

สังเวียนมวยรอง

เพชรดำ เพชรยินดี

รางวัลคู่มวยดุเดือดประจำปี 2565 ของเวทีราชดำเนิน ได้แก่ เพชรดำ เพชรยินดี ชกกับ ช่อฟ้า พ. แสงเทียนน้อย

สำหรับท็อปแล้ว นี่น่าจะเป็นความโชคดีที่ในหนังของเขาได้มีโอกาสจับภาพศึกที่ดุเดือดที่สุดแห่งปี และยังเป็นศึกที่เกิดข้อโต้เถียงที่สุดแห่งปีเหมือนกัน เพราะศึกนี้จบลงด้วยการ ‘เสมอ’ ทำเอาเราต้องถามท็อปต่อทันทีว่า มันเกิดอะไรขึ้นตรงนั้น

สังเวียนมวยรอง

“อันนี้ยกตัวอย่างไฟต์อื่นนะ สมมติว่าเซียนมวยแทงคนนี้ แล้วรู้สึกว่าคนนี้ชนะแน่นอน เราจะเห็นเป็นประจำเวลาเซียนมวยตะโกนบอกพี่เลี้ยงว่าไม่ต้องชกแล้ว พี่เลี้ยงก็จะบอกนักมวยต่อว่าไม่ต้องชกแล้วเหมือนกัน ซึ่งแมตช์นั้นคนน่าจะแทงเพชรดำเยอะ 10 ล้านได้ ถ้าแพ้ก็เสียกันเละเทะ ​​จริงๆ เห็นหลายครั้งมากที่เซียนมวยกดดันกรรมการ อยู่ดีๆ นักมวยคนหนึ่งแทนที่จะได้เงิน 5 แสนบาท กลับไม่ได้เฉยเลย แล้วเงิน 5 แสนสำหรับเขา มันเปลี่ยนชีวิตได้เลยนะ

สังเวียนมวยรอง

“อีกอย่างหนึ่งที่เซอร์ไพรซ์มากๆ ถ้าสังเกตกัน ในหนังจะเสมอกันเยอะมาก ตั้งแต่รุ่น 1 รุ่น 3 รุ่น 4 ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างชัดมากๆ ว่า มันไม่ใช่กีฬา ไม่น่ามีกีฬาไหนที่เสมอกันเยอะขนาดนี้ เพราะเสมอแล้ว มันไม่มีคนได้คนเสีย มันคือโมฆะ แล้วก็จะทำให้เกิดการรีแมตช์ขึ้น” ท็อปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจากมุมมองขอบเวที

สังเวียนมวยรอง

รุ่นที่ 3 เพชรดำ เพชรยินดีอะคาเดมี่ นั้นถือว่าท็อปตามถ่ายได้ถูกคน ด้วยความที่อยากให้แตกต่างจากรุ่นที่ 2 แทบจะสิ้นเชิง เพราะตัวเพชรดำมีบุคลิกที่ฉูดฉาด มีความเป็นซูเปอร์สตาร์ในตัวเอง และให้ความสำคัญกับฉากหลังอย่างค่ายเพชรยินดีที่น่าจะพูดได้ว่าเป็น เบอร์หนึ่งของประเทศในแง่เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การกีฬา แสดงให้เห็นถึงจุดสูงสุดของนักมวย

สังเวียนมวยรอง

ถ้าอย่างนั้นบนจุดสูงสุดนี้ จุดต่อไปคือตรงไหน

“เราถามเรื่องนี้เหมือนกัน ซึ่งเอาจริงๆ สำหรับนักมวย มันขับเคลื่อนด้วยเงินมากเลย สมมติว่าเขาแพ้ แล้วเขาได้เงิน เขาก็ไม่รู้ว่าจะโวยวายไปเพื่ออะไร นักมวยก็ไม่ได้มีปากมีเสียงอะไร ถ้าแพ้หรือเสมอก็ต้องไปฟิตซ้อมมาใหม่ ศักดิ์ศรีอาจจะรองลงมาจากเงิน แต่ที่แน่ๆ พวกเขามีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่ล้มมวย” ท็อปเล่าจากมุมมองของผู้ถ่ายทำ

สังเวียนมวยรอง

วันฉลอง พีเค แสนชัยมวยไทยยิม

รุ่นที่ 4 วันฉลอง พีเค แสนชัยมวยไทยยิม น่าจะเป็นคนที่เหมาะสมกับการเป็นบทส่งท้ายที่ว่าด้วย การเลือกไม่ได้ของคน เพราะเขาคือนักมวยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นถึงซูเปอร์สตาร์ แต่ทุกวันนี้ไม่สามารถเลิกชกได้ตามใจต้องการ แม้บุคลิกในเรื่องจะมีท่าทีเป็นมิตรปนตลกขบขัน แต่ท็อปบอกกับเราว่า หากมองดีๆ วันฉลองเป็นคนที่แววตาแสดงความเศร้าออกมามากกว่าทุกรุ่น

“อายุของนักมวยที่จะเลิกชกมันประมาณ 35 ปี ซึ่งวันฉลอง 37 แล้วก็ยังไม่เลิก เวลาเขาเมา เขาบอกผมตลอดเลยนะว่า ‘ผมอยากเลิกมากเลย ผมไม่ไหวแล้ว’ มันมีครั้งหนึ่งที่เขาเคยบอกว่า ‘ผมเหม็นกลิ่นน้ำมันมวย ผมได้กลิ่นน้ำมันมวยแล้วจะอ้วกแล้ว’” ท็อปเล่า

สังเวียนมวยรอง

อย่างที่บอกไปตอนต้น นักมวยไม่มีเงินเดือน เลิกชกก็ไม่มีสวัสดิการ และในระบบที่คนหาเช้ากินค่ำต้องปากกัดตีนถีบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้เรื่องการเก็บออมในวัยหลังเกษียณ ยิ่งแล้วใหญ่กับนักมวยที่ต้องเลิกทำอาชีพตั้งแต่อายุยังไม่ทันแตะ 40 ปี

“มีอยู่วันหนึ่ง สมมติเป็นวันพฤหัสฯ เวทีเดียวกันกับที่ถ่ายพี่วันฉลองเลยนะ มีคนตายคาเวที… อันนั้นทำให้รู้สึกเลยว่า ชีวิตนักมวยแม่งไม่แน่ไม่นอนสุดๆ เลย ตอนเห็นข่าวก็ขนลุก แล้ววันต่อมาผมไปเจอพี่วันฉลอง เลยคุยกับเขา เอาจริงๆ เขาดูไม่ได้สนใจขนาดนั้น ก็โทษกรรมการที่เซฟไม่ดี แล้วก็บอกว่า ‘ผมรอด ผมไม่เป็นไรหรอก’ แต่เขาไม่ได้เอามาคิดว่า เวทีเดียวกันเลยนะเว้ย ถ้ามันเกิดขึ้นตอนเราถ่าย มันคงเป็นคนละเรื่องไปเลย” ท็อปเล่าถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

สังเวียนมวยรอง

สังเวียนมวยรอง

แน่นอนว่าเมื่อเล่าถึงวงการมวย นอกจากการเป็นนักสู้ของคนแล้ว ก็ยังมีเรื่องข้างในที่ท็อปก็ต้องชั่งใจว่า ควรใส่เข้าไปในหนังดีไหม ใส่แล้วได้อะไร กับตัวซับเจกต์ที่ตามถ่ายก็เหมือนกัน ถ้าใส่เข้าไป คนดูจะเกลียดเขาไหม เขาจะกลายเป็นตัวร้ายในสายตาของคนดู แล้วไปบดบังตัวร้ายที่แท้จริงของเรื่องราวหรือเปล่า ตรงนี้ท็อปมองว่าตรงนี้ต้องยกให้เป็นเรื่องของจรรยาบรรณล้วนๆ เลย

“นักมวยไทยก็เป็นนักสู้เหมือนเราทุกคน ทุกคนที่เกิดในเมืองไทย 90% ล้วนเป็นมวยรอง เราไม่ได้มีแต้มต่อ อยากให้คนกลับมาทบทวนชีวิตว่า จริงๆ สิ่งที่เราทำอยู่ เราเลือกได้ไหม เราต้องสู้กับอะไร แล้วศัตรูจริงๆ ของเราคือใคร เลยไม่อยากให้มีใครเป็นตัวร้ายในหนัง แต่อยากให้เห็นว่าตัวร้ายจริงๆ มันคือระบบต่างหาก” ท็อปเฉลยตัวศัตรูที่นักมวยและคนดูต้องต่อสู้ด้วยในทุกๆ วัน

สังเวียนมวยรอง

สังเวียนมวยรอง

มวยรอง

คิดว่าหนังของเราจะเป็นมวยรองในวันที่ออกฉายไหม – เราถามคำถามสุดท้ายของวันนี้ วันที่คำว่า ‘หนังสารคดี’ ยังคงถูกหลบเลี่ยง

“เป็นมวยรองอยู่แล้วครับ” ท็อปหัวเราะ “เหมือนที่มีคนเคยพูดไว้มั้ง หนังทดลอง หนังอินดี้ หนังสารคดี ในประเทศไทยยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น คนอาจจะมีภาพจำเก่าๆ ว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เป็นเรื่องที่ให้ข้อมูลมากกว่าความสนุก คนส่วนใหญ่ที่เขากำเงิน 200 บาทมาโรงหนัง ก็คงไม่อยากดูอะไรที่ทำให้เครียดกว่าเดิม แต่ถ้าเป็นเรื่องนี้ ผมก็อยากทำให้มันเปลี่ยนตรงนั้น ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่านะ แต่ก็จะพยายามทำให้มันเป็นเรื่องที่สนุกได้” ท็อปพูดถึงความตั้งใจของเขา

สังเวียนมวยรอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอย่างดำเนินมาถึงตอนจบ ท็อปมองว่าจุดนี้สามารถมองได้ 2 แบบ อย่างแรกคือการไม่มีทางเลือก สุดท้ายเราก็หนีมันไม่พ้น และยังต้องอยู่กับมันต่อไป เหมือนกับคนที่พูดอยากลาออก แต่ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยหลายๆ ปัจจัย

สังเวียนมวยรอง

สังเวียนมวยรอง

อย่างที่สองคือ ‘ความหวัง’ แม้พวกเขาทุกคนจะล้มหน้าฟาดพื้น ต้องรีบลุกขึ้นมาก่อนถูกนับ 10 รีบประคองสติเพื่อออกหมัดของวันนี้ที่จะส่งผลไปถึงชีวิตในวันพรุ่งนี้ อยากเป็นแชมป์เพื่อให้ทุกคนในบ้านได้อยู่กันพร้อมหน้า อยากเป็นแชมป์เพื่อปลดหนี้ของครอบครัว อยากเป็นแชมป์… อยากกลับไปอยู่ต่างจังหวัด อยากเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ อยากให้เงินเดือนขึ้น อยากเลื่อนตำแหน่ง อยากย้ายงาน อยากกลับบ้าน อยากนอน

อยากให้ทุกคนยังสู้ต่อไป 🙂

Tags: