About
DETOUR X Phang Nga

ย้อนยุคมหาลัยเหมืองแร่

จากโรงกลึงถึงซากเรือขุด ย้อนยุคมหาลัยเหมืองแร่ ผ่านของโบราณนับร้อยปีที่ไปดูได้จริง!

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพ ธงชัย เกื้อสกุล Date 28-03-2022 | View 5145
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พังงาเคยมีอดีตอันรุ่งเรืองและมั่งคั่งจากการเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองแร่ดีบุกของประเทศไทย การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่างๆล้วนมีรากฐานมาจากอุตสาหกรรมนี้
  • ปัจจุบันกิจการเหมืองแร่ปิดตัวลงไป 30-40 ปีแล้วแต่ยังคงทิ้งร่องรองความเจริญไว้อย่างชัดเจน จากพื้นที่ที่เคยเป็นเขตหวงห้ามก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เก็บรวบรวบของโบราณหายาก อายุนับ 100 ปี  จากเรือขุดแร่ที่เคยทำเงินมหาศาลเปลี่ยนเป็นบ้านของฝูงปลา

ในฐานะคนพังงาที่มีโอกาสได้ติดสอยห้อยตามพ่อไปวิ่งเล่นในบริษัทเรือขุดแร่บุญสูงที่แวดล้อมไปด้วยโรงล้าง-แยกแร่ โรงเหล็ก โรงซ่อมบำรุง ไปจนถึงชิ้นส่วนเรือเมื่อสมัยยังเด็ก ได้เห็นเครื่องมือโบราณอายุมากกว่ารุ่นพ่อ ฟังเรื่องเล่าดูการสาธิตวิธีล้างแร่จากคนเก่าแก่ในยุคนั้นก็ยังอดตื่นเต้นไม่ได้

นั่นเพราะบางอย่าง บางชิ้นเป็นของหาดูยากที่เราไม่เคยเห็นและรู้จักมาก่อน การปัดฝุ่นความทรงจำครั้งนี้จึงเหมือนได้เปิดอีกมุมมองความน่าสนใจของบ้านเกิดที่อยากชวนให้ทุกคนมาตามรอยอดีตยุคเรืองรอง

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ที่ทำการสำนักงานบริษัท เปิดให้เข้าชมเพียงอาคารเดียว

การทำเหมืองแร่ในอดีต

แร่ที่ได้จากเหมืองจะต้องผ่านโรงล้าง-แยกแร่ที่นี่

เครื่องมือโบราณเล่าขานวิถีเหมืองแร่

อาคารไม้หลังเก่าสภาพทรุดโทรมใกล้พังเต็มทีอาจแลดูไม่น่าสนใจสำหรับผู้คนที่ผ่านไปมาในตลาดปากถัก อ.กะปง นี่คืออดีตแหล่งทำเงินมหาศาลในนามบริษัทเรือขุดแร่จุติ กะปง หนึ่งในสองบริษัทเกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่ของจุติ บุญสูง อดีตผู้ประกอบการเหมืองแร่ตัวอย่าง ปี 2525 โดยมีบ้านพักรับรองหลังใหญ่บนเนินด้านในสะท้อนถึงความมั่งคั่งในยุคที่ยังไม่มีโรงแรมไว้รองรับแขก

การทำเหมืองแร่ในอดีต

คุณจุติ บุญสูง ผู้ก่อตั้งบริษัทเรือขุดแร่จุติ และบริษัทเรือขุดแร่บุญสูง

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ในยุคที่ยังไม่มีโรงแรม บ้านพักรับรองแขกคือสิ่งจำเป็น

หลาย 10 ปีก่อนบนพื้นที่ 29 ไร่แห่งนี้มีทั้งโรงล้าง-แยกแร่ โรงเหล็กสำหรับหล่อ ซ่อมบำรุง สโตร์เก็บ ก่อนจะถูกรื้อถอนไปบางส่วนเพื่อแยกชิ้นส่วนขายหลังหยุดกิจการ (แต่ไม่ได้แจ้งยกเลิก) เมื่อประมาณ 2537-38 เนื่องจากประสบปัญหาราคาแร่ในตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่อง ไม่คุ้มทุนกับการแบกภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่วนเรือขุดหยุดไปตั้งแต่ปี 2518

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ลุงนิลกับรถคู่ใจผู้ทำหน้าที่ดูแลบอกเล่าเรื่องราวในอดีตด้วยความภูมิใจ

“เมื่อก่อนในนี้มีทางรถไฟส่วนตัวสำหรับใช้ขนของจากโกดังที่บ้านปากพู่และสำหรับไปยังโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าเอง สุดทางฝั่งหนึ่งอยู่บ้านบางกุ่มกินระยะทางหลายกิโลอยู่” ลุงนิล ทิพยพัฒนกุล คนเก่าแก่ผู้ดูแลที่นี่เล่าถึงความรุ่งเรืองในอดีตพร้อมนึกเสียดายหากยังอยู่คงได้จัดเที่ยวพิเศษตามรอยยุคเหมืองแร่

การทำเหมืองแร่ในอดีต

เครื่องมือในขั้นตอนการสุ่มตัวอย่างแร่

การทำเหมืองแร่ในอดีต

รุ่นนี้ถ้าเปรียบคนก็น่าจะเป็นรุ่นทวดอายุกว่า 100 ปี

นอกจากจะได้ฟังเรื่องเล่าที่อัดแน่นไปด้วยความผูกพันตลอดชีวิตการทำงานกับบริษัทมา 60 ปีแล้ว ผู้มาเยือนจะได้ชมเครื่องมือโบราณหายาก หลายชิ้นผลิตในยุโรปอายุเป็น 100 ปี อาทิ ตราชั่งแร่ กุญแจ นาฬิกายาม เป็นต้น บางอย่างก็ถูกยืมไปใช้ในหนังเรื่องมหา’ลัย เหมืองแร่มาแล้ว เช่นเครื่องพิมพ์ดีดตัวใหญ่ที่วางอยู่กลางห้อง แถมออฟฟิศของนายฝรั่งก็ถอดแบบไปจากที่นี่

การทำเหมืองแร่ในอดีต

อุปกรณ์การทำเหมืองแร่โบราณตั้งโชว์รอผู้เยี่ยมชม

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ลุงนิลสาธิตการใช้เลียงร่อนแร่เอาหินดินทรายออก

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ลุงนิลโชว์การทำงานของแม่เหล็กไฟฟ้าดูดขี้แร่ออก

“จริงๆ เมื่อก่อนมีข้าวของเครื่องใช้มากมาย แต่เก็บไว้มากไม่ได้เพราะระวังหายกันไม่ไหวเหลือแต่อุปกรณ์ เครื่องมือโบราณหายาก ส่วนเครื่องมือล้างแร่แยกแร่นี่เป็นของส่วนตัวที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อเพราะต้องมีเป็นของตัวเอง คนที่เคยทำเหมืองในพังงาก็บอกว่าของบางอย่างไม่มีที่อื่นแล้ว” ลุงนิลในวัย 77 ปีเล่าด้วยสำเนียงใต้พลางสาธิตการใช้เครื่องแม่เหล็กไฟฟ้าดูดขี้แร่เพื่อแยกแร่สะอาดไปด้วย

การทำเหมืองแร่ในอดีต

แอมป์มิเตอร์สำหรับใช้วัดกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าส่วนตัวของบริษัท

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ตราชั่งแร่โบราณของส่วนตัวลุงนิลที่ได้รับมรดกมาจากรุ่นพ่อ

บางคนบอกว่าอยู่ในพื้นที่มา 50 ปีก็ไม่เคยได้เข้าและเห็นเครื่องมือแบบนี้มาก่อน นั่นเพราะแต่ก่อนแต่ไรมาข้างในนี้เป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่ใช่ใครจะเข้ามาได้ง่ายๆ หากไม่ได้มาติดต่อราชการ มาขายแร่หรือเป็นคนในครอบครัวพนักงาน และเพิ่งเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมเมื่อ 3 ปีก่อนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและถ่ายทอดประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้รู้และเข้าใจ

การทำเหมืองแร่ในอดีต

เพรสเซอร์วัดแรงดันน้ำสำหรับใช้ในเหมือง

“มีแต่คนบอกว่าเถ้าแก่เหมืองรวย แต่ก่อนจะรวยไม่ใช่เรื่องง่ายมีหลายขั้นตอนต้องทำให้ถูกต้อง ต้องรู้ตรงไหนทำได้ไม่ได้ ทำแล้วจะมีกำไรหรือขาดทุน”

ใครที่สนใจเข้าชมบริษัทเรือขุดแร่จุติ กะปง จะเปิดให้เข้าชมฟรีเฉพาะวันเสาร์ เวลา 15.00-18.00 น.ช่วงเปิดถนนคนเดินปากถักระหว่างเดือนต.ค.-ก.พ. แต่ช่วงนี้หยุดพักชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด หรือสอบถามข้อมูลได้ที่คุณเปิ้ล โทร.063-491-4951

การทำเหมืองแร่ในอดีต

โรงหล่อกลึงเก่าแก่ที่สุดในตะกั่วป่า

โรงกลึงกับช่างฝีมือในตำนาน

สถานะโรงหล่อกลึงเก่าแก่ที่สุดในตะกั่วป่าตั้งแต่ปี 2490 ไม่ใช่ความน่าสนใจเดียวของโรงหล่อกลึงฮัวหลุน!

ด้วยการรวมตัวกันของ 4 หุ้นส่วนเชื้อสายจีนชาวภูเก็ตในรุ่นบุกเบิกที่ตั้งใจจะรองรับกิจการเหมืองแร่แบบสูบฉีดใช้ปั๊มดูดรุ่นใหม่แบบเครื่องยนต์ อุปกรณ์ส่วนใหญ่จึงเป็นของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเจาะจากลิเวอร์พูล เครื่องเซาะจากแมนเชสเตอร์ หรือเครื่องไสที่ผลิตในอังกฤษ จึงถือเป็นโรงเหล็กที่มีเครื่องมือทันสมัยที่สุด

ขนาดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นยังต้องมาซื้ออุปกรณ์จากที่นี่!

การทำเหมืองแร่ในอดีต

เครื่องมืออายุนับ 100 ปียังคงถูกใช้งานโดยคนงานรุ่นเก๋า

“ท่าน (จอมพลสฤษดิ์) ทำเหมืองที่สะเมิงและมาซื้ออุปกรณ์จากที่นี่ เพราะหลังท่านเสียได้มีการตรวจสอบทรัพย์สิน ตำรวจสันติบาลพบใบเสร็จจากทางใต้เลยมาขอตรวจสอบปรากฏว่าที่นี่ก็มีใบเสร็จตรงกัน” สุฤทธิ์ ตันติวิบูรชัย หรือแปะเส้ง ทายาทรุ่น 2 เล่า

ปัจจุบันโรงเหล็กยังคงดำเนินกิจการภายใต้ความดูแลของแปะเส้ง ซึ่งบอกกับเราว่าจะทำไปจนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงสู้ไหว แม้งานที่เคยล้นมือจะหดหายไปพร้อมกับการทยอยปิดกิจการลงของเหมืองแร่หลังปี 2536 จากคนงานที่เคยมีมากถึง 80 คนในช่วงปี 2520 ตอนนี้เหลือเพียง 5 คนแถมรุ่นเดอะทั้งนั้น ส่วนอุปกรณ์ไม่ต้องพูดถึงหลายตัวอายุนับ 100 ปี

การทำเหมืองแร่ในอดีต

บรรยากาศการทำงานภายในโรงกลึงเก่าแก่

แต่ด้วยความเก่าแก่นี่แหละที่ทำให้แปะหวงแหนไม่อยากขายทิ้ง เพราะตั้งใจจะเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังดูถึงขั้นคิดไปถึงการส่งมอบให้รุ่นลูกรับช่วงต่อไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต หลังได้รับความสนใจจากทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชม ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วเพิ่งมีกองถ่ายจากฝรั่งเศสมาขอใช้สถานที่ถ่ายหนังและฝากของที่ระลึกไว้เป็นหอคอยที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทำอยู่ด้านหลัง

“ตอนมหาลัย เหมืองแร่มาถ่ายทำ เขาก็มาขอบันทึกเสียง เช่าอุปกรณ์ตู้เชื่อมจากสิงคโปร์ และขอให้ทำเตาเผาให้ ผมก็ซ่อมเครื่องปั่นลมโบราณให้ใช้ เป็นของรุ่นพ่อที่เมื่อก่อนเวลาไปงานกินเจที่กะทู้กับย่า จะต้องนั่งรถจากถนนระนองไป 6 กม. ต้องใช้แก๊สทำความร้อนและใช้เครื่องปั่นตัวนี้ ทีมงานเห็นแล้วขอซื้อแต่ผมไม่ขายเพราะไม่มีอีกแล้ว” แปะเส้ง ในวัย 81 ปีเล่าและตามด้วยเสียงหัวเราะที่บ่งบอกถึงความสุข

โครงสร้างคานที่เห็นเป็นเหล็กสีแดงนั้นก็มาจากซากเรือขุดแร่ที่ขายเศษเหล็กหลังเลิกกิจการ เพื่อเสริมความแข็งแรงทนทานในการใช้รอกยกอุปกรณ์หนักๆ ต้องบอกก่อนว่าที่นี่อาจไม่เหมาะกับทุกคน แต่ถ้าใครชอบความดิบๆ เรียลๆ ลองเข้ามาเยี่ยมชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-16.00 น.

การทำเหมืองแร่ในอดีต

ภาพเรือขุดแร่บุญสูงก่อนจมลงใต้ทะเล

จากเรือขุดแร่สู่บ้านของฝูงปลา

ใครที่เคยมาดำน้ำแถวเขาหลักคงเคยได้ยินชื่อเสียงของซากเรือขุดแร่บุญสูงที่จมอยู่นอกชายฝั่งห่างจากแหลมปะการัง 10 กว่ากม.กันบ้างแล้ว หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าจุดนี้คือแหล่งรวมฝูงปลาตัวน้อยใหญ่นานาชนิดอย่างน่าเหลือเชื่อ

เรือลำนี้เป็นหนึ่งใน 2 ลำสำหรับขุดแร่ในทะเลของบริษัทเรือขุดแร่บุญสูง ขนาดความยาว 50 เมตร เพิ่งซ่อมบำรุงเสร็จ 10 ล้านบาทก่อนให้เรือลากจากเกาะคอเขาเพื่อไปยังจุดหมายที่ท้ายเหมืองแต่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทางเมื่อปี 2530 โดยมีพ่อ (ของผู้เขียน) ซึ่งเป็นผู้ช่วยนายเรือฝ่ายธุรการอยู่ในเหตุการณ์ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 30-40 คนและรอดชีวิตมาได้แบบเฉียดฉิวจากการโดดลงเรือลำเลียงเป็นคนสุดท้าย

พ่อเล่าว่าตอนนั้นเวลาประมาณ 3.00 น. คนงานตะโกนบอกเรือรั่วสันนิษฐานว่าชนหินเพราะน้ำเข้าเร็วมาก ใช้ปั๊มดูด 2 ตัวก็ไม่ทันจนท่วมเครื่องจักรและต้องสละเรือก่อนจมหายลงทะเลไปในเวลา 45 นาที หลังเพิ่งซ่อมบำรุงมา 10 ล้านบาทและยังไม่ได้ขุดเลย ถ้านับอายุเรือถึงตอนนี้ก็น่าจะเกือบ 100 ปีแล้วเพราะบริษัทซื้อต่อมาจากบริษัทไซมิสทิน ซินดิเกตอีกที

เดิมทีเรือขุดแร่บุญสูงจมลงไปเป็นซากนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลในความลึกประมาณ 18-20 เมตรด้วยสภาพเกือบเหมือนเดิม ทำหน้าที่เสมือนเป็นแนวปะการังเทียม แต่หลังเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 พลังคลื่นยักษ์ได้แยกซากเรือออกเป็น 5 ส่วน ท่ามกลางฝูงปลามากมาย อาทิ ปลาเก๋า ปลากะพงเหลือง ปลาค้างคาว บาร์ราคูดา ปลาสิงห์โต ปลากระเบน ปลาไหล ทากทะเลและปลาสวยงามอื่นๆ อีกมากมาย

หากโชคดีอาจได้เจอฉลามวาฬมาโชว์ตัว แต่ด้วยจุดซากเรือจมนี้อยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนักจึงมักมีน้ำขุ่นหากโชคไม่ดีออกไปเจอเข้าพอดีก็แทบมองไม่เห็นอะไรเลยจึงทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากนัก เพราะฉะนั้นควรเช็กให้ดีก่อนออกไปลุยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางคุณศิริพจน์ ปานทอง (เบิ้ล) โทร. 091-038-5462

Tags: