About
TRENDS

ถึงเวลาเติบโตของ 'อีสาน' (ep.2)

ถึงเวลาเติบโตของ ‘อีสาน’ (ep.2): จากอีคำแก้วมันเป็นงูสู่การท่องเที่ยวมูเตลูสุดมัน!

เรื่อง พ่อใหญ่ก้อนคำ ภาพประกอบ ANMOM Date 12-04-2022 | View 2054
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เคยมีการประเมินว่ามูลค่าของพุทธพาณิชย์นั้นสูงกว่า 40,000 ล้านบาท เดาว่าการคาดการณ์นี้ยังไม่รวมประเภทการดูดวง ทำเสน่ห์ และจำหน่ายของขลังที่ไม่ได้ออกจากวัด หากหน่วยงานของภาครัฐหรือภาคประชาสังคมจัดการความเชื่อให้เป็นการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ จะสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างมหาศาล
  • เมื่อก่อนเคยเชื่อว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่เชื่อในเรื่องงมงาย จนกระทั่งเห็นว่าตอนนี้วัยรุ่นหันมามูเตลูแบบสู้ตาย ไหว้เทพทุกศาสนา ตามหาความหวังในวันที่โลกและการเมืองไทยไม่มีความน่าเชื่อถือพอให้วางใจ
  • สินค้าที่เกี่ยวกับความเชื่อ ไม่เพียงแต่มีเรื่องราวอันน่าสนใจ แต่สะท้อนถึงที่มาของภาคอีสานในฐานะอู่อารยธรรมซึ่งมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ 5,000 ปีที่แล้ว เก่าและแก่พอที่จะสืบย้อนไปถึงรากเหง้าของความเชื่อต่าง ๆ ในพื้นที่

“เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ” เคยได้ยินบ่? ประโยคนี้จากหนังใหญ่เรื่องดังสมัยก่อนที่เล่าเรื่องปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในแม่น้ำโขง ในขณะที่ชาวอีสาน ‘ส่วนใหญ่’ เชื่อว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พญานาคจริง ๆ คนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่นิยมความเชื่อแบบ ‘สมัยใหม่’ มองว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมาหลอกมนุษย์ด้วยกันเอง เถียงกันไปก็ไม่จบเพราะหัวข้อของการพูดคุยกันตั้งอยู่บนเรื่อง ‘ความเชื่อ’

ความเชื่อนี่น่าสนใจหลาย อันที่จริงความเชื่อเรื่องพญานาคนี้ไม่ได้อยู่แค่ในภาคอีสานเท่านั้นนะ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เรื่อยไปจนถึงประเทศลาว กัมพูชา และจีนก็เชื่อว่ามีอยู่จริง แต่อาจจะมีเรื่องเล่า และรูปร่างหน้าตาขององค์พญานาคที่ต่างกัน แต่อีสานเป็นเหยื่อของประเด็นความงมงายเสมอ เวลาชาวบ้านเจอรอยพญานาค คนกรุงเทพเอาไปออกสะเก็ดข่าว หัวเราะปนดูแคลนว่า เอ้อ ไอ้คนอีสานนี่มันโง่แท้ แต่ก็ลืมไปว่าตัวเองไหว้พระ ไหว้เทพจีน ไหว้เทพแขก ดูฤกษ์วันดีอะไรกันเต็มไปหมด เจ้าว่า จังซี่มันสิงมงายบ่?

SAN 4

 

ฟังก์ชั่นของการพิสูจน์นี่ มันหักหน้าคนอีสานได้ดีเด้ แบบว่า ยิงบั้งไฟปุ้งขึ้นไปฝนต้องตกเลยสิถ้าแน่จริง ถ้าไม่ตกแปลว่าไม่มีอยู่จริง แล้วชาวบ้านตาดำๆ ก็เป็นพวกล้าหลัง ต้องใช้ความรู้เข้ามาช่วย เหมือนอะไรละนี่ เหมือนยุคล่าอาณานิคมที่อังกฤษกะฝรั่งเศสบอกกับประเทศที่ตัวเองจะไปยึดไหม หรือว่าเหมือนตอนที่สยามจะยึดภาคเหนือกับภาคอีสานดีละ ลืมไปแล้วมั้งว่าความเชื่อเหล่านี้มันมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ เวลาที่คนมาพูดแบบนี้อีกลองถามกลับไปสิว่า “ฮู้จักแอ่งสกลนครบ่” กะว่า “ฮู้จักบ้านเชียงบ่” รับประกันว่าส่วนใหญ่ส่ายหัวกันงึกงัก นี่แหละแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่เก่าแก่ของประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี เรื่องผีฟ้าพญาแถนมันก็เป็นเทพองค์เดียวกับที่คนกรุงเทพไว้นั่นละ แค่เรียกกันคนละชื่อ อันนี้ฮู้บ่? มา ๆ ขอสวมวิญญาณเป็นอีคำแก้วเล่าเรื่องความงมงายของอีสานจักเทื่อ

ไหว้ผีบอก NO แต่เช่าพระเครื่อง OK

เมื่อก่อนดูละครช่อง 7 เรื่อง ‘ปอบผีฟ้า’ แล้วกลั๊วกลัว ขึ้นชื่อว่าผีนี่จะกลัวไว้ก่อนเพราะเป็นสิ่งไม่ดี นั่นละ โครงสร้างทางความคิดมันเจ๊งตั้งแต่ตรงนี้ คำว่า ‘ผี’ ในภาษาอีสาน ตรงกับคำว่า ‘เทพเทวดา’ ในภาษาไทย เพราะจริง ๆ แล้ว ‘ผีฟ้า’ นี่ไม่ใช่ผีอย่างที่คนไทยเข้าใจ แต่เป็นหมอรักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ เวลาจะรักษาก็ต้องมาพร้อมหมอแคน คนนึงร้องรำไป อีกคนก็เป่าแคนไป แคนนี่เขาว่าเป็นเครื่องมือส่งสารไปถึงสวรรค์ คือการถ่ายทอดคำร้องเป็นทำนองเพื่อเจรจากับเทวดาข้างบน คอนเซ็ปต์เดียวกับเวลาที่คนจีนจุดธูปนั่นละ ทีนี้ ตามประวัติศาสตร์บอกว่า แคนเป็นเครื่องดนตรีที่มีความเก่าแก่มาก มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี และเคยเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรมก่อนที่จะกลายมาเป็นเครื่องดนตรีในปัจจุบัน สำหรับผีฟ้ามีชื่อเรียกเพราะ ๆ ว่า ‘พญาแถน’ คนโบราณเชื่อว่าเราสื่อสารกับเทวดาได้นะ เวลาฝนแล้งก็เลยต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกเทวดาข้างบนว่า “โอ้ย แล้งแล้วน้อ ขอฝนหน่อยแน!”

SAN 1

การฟ้อนรำพร้อมเครื่องดนตรีและภาษาที่ไม่คุ้นหูดูเป็นการแสดงพื้นบ้านหรือไม่ก็ความน่ากลัวสำหรับคนไทย มากกว่าจะรับรู้ในฐานะประเพณีหรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หนังเรื่อง “ร่างทรง” ก็ตอกย้ำความน่ากลัวในเรื่องนี้แถมผลักความลึกลับของภาคอีสานให้ไปไกลสุดขอบจนเกือบจะกลายเป็นหนังตลกไปซะแล้ว ขณะเดียวกัน การเต้นระบำบูชาเทพในศาสนาฮินดู การจุดประทัดโป้งโป้งบูชาเทพเด็ก หรือเทมเปิ้วเซ็นเตอร์ที่รวมความศักดิ์สิทธิ์จากทุกแห่งไว้ในวัดเดียว ดูน่าจะเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพ “เข้าใจได้ง่ายกว่า” ยังไม่ได้บอกว่าชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อยก็มีความพยายามในการทำความเข้าใจ ขณะที่ความเชื่อในภาคอีสานนี่ ตั้งว่างมงายเอาไว้ก่อน จริงไม่จริงค่อยไปว่ากัน

ถ้าไม่ดัดจริตกันเกินไปละก็ วัดเจดีย์น่าจะทำให้เงินให้จังหวัดนครศรีธรรมราชสะพัดมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งเที่ยวบิน ที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ล้วนได้อานิสงส์จากการเดินทางไปมูเตลู เช่นเดียวกับถ้ำนาคา ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอีสานตอนบนได้อย่างมากทีเดียวเชียว เรามีสิ่งเหล่านี้อยู่โดยไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากกรุงเทพ อย่าให้เว้าหลาย เม็ดเงินจากการเช่าพระ และทำบุญต่าง ๆ ในวัดน่าจะเป็นอีกส่วนที่ช่วยกระตุ้นจีดีพีของประเทศ แค่ไม่เคยมีตัวเลขออกมาอย่างแน่นอนจากหลวงว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ เพราะวัดพวกนี้ไม่ต้องเสียภาษี เลยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายรับ (หรือลับ?) ของตัวเองอย่างเป็นทางการ

กรุงเทพไม่เคยยอมรับว่าพุทธพาณิชย์ และไสยศาสตร์เป็นธุรกิจขนาดใหญ่อันมีเครือข่ายกว้างไกลทั้งในและต่างประเทศ การดูดวงหนึ่งครั้งเริ่มต้นเบา ๆ ที่ 99 บาท เรื่อยไปจนถึงครั้งละ 20,000 บาทก็มี พระเครื่ององค์ละล้าน ยันต์ผืนละหลายร้อย แพ็คเกจทัวร์ตามรอยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่บริษัทนำเที่ยวทำกันเองซึ่งส่วนกลางอาจจะเสียประโยชน์ตรงนี้ไป ทำไมล่ะ เราขายความเชื่อกันไม่ได้หรือยังไง แค่ศาสนาพุทธที่นับถือกันอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่แบบดั้งเดิมเพราะมีพลวัตมาตามกาลเวลา ทำไมประเทศไทยถึงจะ Normalize ผีสางเทวดาให้เป็นเรื่องธรรมดาบ้างไม่ได้ เหมือนที่ไม่เคยยอมรับว่าพัทยาเติบโตได้เพราะธุรกิจค้ากามและผับบาร์ ภาวนาให้กรุงเทพเลิกดัดจริตแล้วทุกอย่างน่าจะดีขึ้นจ้า เว้ามาแล้วสูน!

SAN 5

เพราะการเมืองไม่ดี เลยมีคนมูมากขึ้น

เคยมีการประเมินว่ามูลค่าของพุทธพาณิชย์นั้นสูงกว่า 40,000 ล้านบาท (อ่านว่า สี่-หมื่น-ล้าน-บาท) เดาว่าการคาดการณ์นี้ยังไม่รวมประเภทการดูดวง ทำเสน่ห์ และจำหน่ายของขลังที่ไม่ได้ออกจากวัด เพราะดูไม่ค่อยจะอยู่ในลู่ทางของความเป็น “พุทธศาสนา” สักเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นนะที่กระแสมูเตลูกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลายบทความในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาก็มีการลงบทความวิเคราะห์ว่าทำไมคนหนุ่มสาวสมัยนี้ถึงกลับไปเชื่อ “เรื่องงมงาย” อีกครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะเชื่อในความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า ข้อสรุปซึ่งหลายที่พูดตรงกัน และคิดว่าน่าจะตรงกับเมืองไทยด้วยก็คือโลกของเราตอนนี้ไม่มีความแน่นอน พอโควิดมาทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คนจนก็จนลง ซึ่งคนจนนี้คิดเป็นส่วนมากของประเทศเรานะ คนรุ่นใหม่ก็ไม่กล้าเสี่ยงมากเพราะกลัวจะเสียเงินและเสียเวลา การมูเตลูก็เลยกลายเป็นวิธีเดียวกับการพบจิตแพทย์ หรือโทรหาเพื่อนสนิทเพื่อขอกำลังใจ บวกกับประทานโชคลาภมาด้วยก็ได้ (ถ้ามี) แต่อย่างหนึ่งที่เห็นว่าแตกต่างไปจากเมื่อก่อนคือ เวลาพวกเขาไปมู ก็จะทำอย่างมีสติ ทำด้วยความเคารพ ไม่ต้องขู่ให้กลัวแล้วค่อยทำ แบบนั้นคนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสนใจแล้ว

ผู้ใด๋เคยแวะเข้าไปในกลุ่มมหาวิทยาลัยและการมูเตลูของแต่ละสถาบันก็จะรู้เลยว่า เด็กสมัยนี้อินกับเรื่องสิ่งที่มองไม่เห็นมาก ๆ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า ตั้งแต่พวกเขาเริ่มเป็นวัยรุ่นจนเรียนจบมหาวิทยาลัย ช่วงหนึ่งของชีวิตอยู่ใต้บรรยากาศการเมืองที่ไม่ดี แถมมีโรคระบาดโผล่มาอีก เมื่อหันหน้าไปพึ่งใครไม่ได้ก็เลยลองพึ่งความเชื่อดูสักหน่อย ไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไร อย่างน้อยก็บูชาหรือดูดวงไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเนาะ ประกอบกับนิสัยใช้เงินของคนรุ่นใหม่ที่อยากได้อะไรก็จ่ายเลย พวกเขาทุ่มเทกับการลงทุนทางจิตวิญญาณในครั้งนี้มาก ที่ถ้ำนาคาได้รับความนิยมก็เพราะแรงศรัทธาจากคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ พวกเขายังมีแรงแต่งตัวสวยไปเดินขึ้นเขา สักการะปู่อือลือเพื่อขอความเมตตา และคิดว่าได้เที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติไปพร้อมกันเลย

SAN 3

มีคนถามว่า ทำไมภาคอีสานถึงเป็นแหล่งของการมูเตลูขนาดใหญ่ของเมืองไทย วิธีอธิบายประเด็นนี้มีหลายมิติอยู่ อย่างแรกเคยอธิบายไปครั้งที่แล้วว่า อีสานนี่เป็นท้องถิ่นที่ถูกลืม ทางรถไฟสู่ภาคอีสานสายแรกก็สุดแค่ที่โคราช หลังจากนั้นสยามก็ต่อไปเส้นเหนือเพื่อปราบกบฎแพร่กับน่าน พอประเทศเริ่มพัฒนา ภาคใต้กับภาคเหนือก็ถูกรับรู้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ความเจริญยังเข้าไม่ถึงภาคอีสานยังไง ความเชื่ออันแรงกล้าก็ยังคงอยู่ในภาคอีสานอย่างนั้น คำอธิบายต่อมาคืออีสานมีความเชื่อหลากหลายที่สลับซับซ้อน และผูกพันกับชีวิตประจำวัน ทั้งการไหว้ผีตาแฮกก่อนทำนา การไหว้ผีปู่ผีย่าในประเพณีเดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน งานบุญเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับความบันเทิงซึ่งเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของคนอีสานที่ชอบความรื่นเริงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งความเชื่อในเรื่องพลังงานที่ยังคงวนเวียนอยู่ในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ จอมปลวก และผืนดิน ความเชื่อแบบนี้คล้ายกับที่คนรุ่นใหม่ในภูเก็ตยังคงเชื่อเรื่องการเป็นม้าทรงในเทศกาลกินผัก เพียงแต่ว่าอีสานกินพื้นที่ใหญ่กว่า และความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติก็กระจายไปทั่วภูมิภาคอย่างเข้มแข็ง

นี่ละเป็นประดิษฐกรรมอย่างแท้จริงที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างเอาไว้และส่งต่อมาเรื่อย ๆ คนที่เดินทางไปมูในอีสานบ่อย ๆ จะรู้ว่าภูมิภาคนี้รวบรวมความเชื่อไว้อย่างหลากหลาย ทั้งสายพระ สายพญานาค สายมนต์ดำ และสายเทพองค์อื่น ๆ ซึ่งมีให้เลือกบูชาอย่างหลากหลาย อีสานสามารถทำให้ตัวเองเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีสินค้าพร้อมขายทันทีในทุกจังหวัด ความกว้างของพื้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถทอดอารมณ์ไปตามทาง สอดส่องมองดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละจังหวัด ทำความเข้าใจว่าการบูชาสิ่งที่มองไม่เห็นไม่ใช่ความงมงายตามนิยามของคนกรุงเทพ แต่เหมือนที่คนไทยตื่นมาไหว้พระที่บ้านตอนเช้า

เราเชื่อว่าชีวิตตัวเองมีสิ่งเหนือธรรมชาติปกปักรักษาเพื่อให้ผ่านแต่ละวันไปได้อย่างปลอดภัย หรือมีไว้เพื่อร้องขอความช่วยเหลือในเวลาที่จำเป็น เพราะก่อนที่ศาสนาพุทธสายเถรวาทจะเข้ามาเผยแพร่คำสอนในดินแดนนี้ อย่าลืมว่าศาสนาผีก็เคยยิ่งใหญ่ และเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรม และวัฒนธรรมโบราณมาก่อนตั้งนานแล้ว

SAN 2

การจัดการความเชื่อ และการสร้างมูลค่าเพื่อการท่องเที่ยว

“แล้วคนไม่เชื่อไปเที่ยวได้มั้ย” คำถามนี้ตอบได้สนุกมาก อย่างที่บอกไปแล้วว่า “เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ” โชคดีของภาคอีสานที่ไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงเวทย์มนต์เป็นของตัวเอง ฉะนั้นอยากทำอะไรก็ทำ ตราบใดที่ยังไม่ได้ไปหลบหลู่ความเชื่อของคนทั่วไป คำว่าหลบหลู่นี่ ก็น่าสนใจ บางคนว่า ไม่เชื่อต้องลบหลู่ จะได้รู้ไปเลยว่ามีจริงหรือไม่จริง สมมติว่า เราไปเที่ยวที่วัดน้ำใสที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อในศานาพุทธ เราก็คงไม่เอามือลงไปล้างในบ่อน้ำบริสุทธิ์ที่สงวนไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ตักดื่ม หรือสมมติเราไปเที่ยวโบสถ์โนเทรอดามในฝรั่งเศส เราก็คงไม่เข้าไปตะโกนในโบสถ์ว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง หรือพวกที่เชื่อในพระเจ้าคือคนโง่ เราไม่ทำเพราะอะไร เพราะเรา “เคารพ” สถานที่และสิทธิ์ในการนับถือของแต่ละคน แต่ทำไมความคิดเหล่านี้ถึงปรับใช้ในภาคอีสานได้ยากล่ะ บางคนยังมีอคติอยากจะท้าทาย อยากจะเปิดโปง อยากจะหักหน้าชาวอีสานให้รู้กันไปเลยตลอดเวลา ทำไมถึงไม่มองว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการท่องเที่ยวได้

ไม่ว่าคุณจะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุพนมหรือไม่ โบราณสถานแห่งนี้มีอายุมากกว่า 1,500 ปี เก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัยที่คนกรุงเทพเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมไทย

ไม่ว่าคุณจะเชื่อในพญานาคหรือถ้ำนาคาหรือไม่ แต่หินบริเวณนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า “Sun Crack” ซึ่งไม่ได้หาดูได้ทั่วไปในจังหวัดอื่น

ไม่ว่าคุณจะเชื่อเรื่องเล่าที่คำชะโนดหรือไม่ แต่สถานที่แห่งนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นเกาะที่ลอยอยู่บนน้ำ และเป็นเพียงไม่กี่ที่ซึ่งมีต้นชะโนดสูงเป็นสิบเมตรให้เราได้ศึกษา

ไม่ว่าคุณจะเชื่อความศักดิ์สิทธ์ของหลวงปู่มั่นหรือไม่ การเดินทางขึ้นไปเทือกเขาภูพานทำให้เรามองเห็นทัศนียภาพอันสวยงาม และมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกด้วย

SAN 6

เพราะความเชื่อ ตำนาน และผู้คน สามารถร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกันได้ ปราสาทหินพิมายเป็นสถาปัตยกรรมเขมรเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่ได้หันหน้าไปทางนครวัด ไม่เหมือนปราสาทพนมรุ้ง หรือปราสาทเมืองต่ำ ถ้าคุณรู้สึกว่าการไปเที่ยววัด หรือแหล่งศักดิ์สิทธิ์ในภาคอีสานมันน่าเบื่อเกินไป ก็อาจจะพลาดการหาคำตอบเพื่อประกอบจิ๊กซอว์ของเรื่องราวอันน่าสนใจนี้ก็ได้

อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่าอีสานเป็นภาคที่ใหญ่คักใหญ่แน! เที่ยวครั้งเดียวยังไงก็ไม่หมดถ้าไม่ได้มีเวลาเป็นเดือน ฉะนั้นท้องถิ่นหรือคนในพื้นที่ที่อยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวต้องเริ่มต้นจาก “การจัดการ” ที่ดี คือ 1) รู้ว่าเรามีสินค้าอะไร 2) รู้ว่าคนกำลังมองหาสินค้าประเภทไหน 3) รู้วิธีเพิ่มมูลค่าของสินค้าตัวเอง 4) รู้วิธีประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง และมีความสม่ำเสมอ 5) มีแผนการฟื้นฟู และรักษาอย่างยั่งยืน – “ถ้ำนาคา” เป็นหนึ่งในโมเดลอันน่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ แต่ก็ยังคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการจัดการที่ไม่ค่อยดีนักในบางครั้ง ปัญหาอาจอยู่ตรงที่ผู้ประกอบการพยายามกระตุ้นการขายโดยไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพตัวเอง หรือยังมีระบบจัดการที่ไม่ดีพอเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การวางแผนพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวแบบมูเตลูยังสามารถขยายขนาดไปได้ทั่วทั้งจังหวัด หรือร่วมมือกับจังหวัดอื่น เช่น ตามรอยความหลากหลายทางศาสนาที่มุกดาหาร หรือ ตามรอยพญานาค 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งตรงนี้ควรมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งสายมูเตลู และคนที่สนใจในเรื่องอื่น การสร้างมัคคุเทศก์วัยรุ่นก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการสื่อสาร เพราะคนเที่ยวจะไม่รู้สึกว่าตัวเองงมงายหรือหัวโบราณเกินไป เมื่อคนรุ่นเดียวกันพากันเที่ยว พวกเขาจะมีภาษาในการสื่อสารที่เข้าใจกันได้มากกว่า

ฉะนั้นอย่าอายที่จะผลักดันการท่องเที่ยวจากความเชื่อพื้นบ้าน ขนาดคนเที่ยวเขายังไม่อายที่จะบอกว่าไปมูมาแล้วทุกที่ ยังมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ความ “ลึกลับ” เหล่านี้อีกมาก อยู่ที่ว่าแต่ละชุมชนจะขุดค้นเรื่องราวอันน่าสนใจขึ้นมาได้มากเพียงไร

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเจริญ และการพัฒนาลุกลามมาจนถึงหน้าบ้านแล้ว สมบัติอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมอาจจะถูกฝังกลบไปตลอดกาลก็ได้ อย่าหาว่าข่อยบ่เตือนเจ้าเด้อ

(ชวนอ่าน ถึงเวลาเติบโตของ ‘อีสาน’ ep.1)


อ้างอิง:
https://www.youtube.com/watch?v=831Yt50dqJ
https://www.youtube.com/watch?v=poG5unJdJ4
https://www.youtube.com/watch?v=nrNQxw6cPY
https://www.silpa-mag.com/history/article_11148
https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2330466
https://www.independent.co.uk/voices/horoscopes-astronomy-star-sign-millennials-coronavirus-b915565.html
https://www.theguardian.com/global/2018/mar/11/star-gazing-why-millennials-are-turning-to-astrology

Tags: