Lamphun Think Tank
Lamphun City Lab การรวมกันเฉพาะกิจสร้าง Think Tank ลำพูน เพื่อชีวิตดี เมืองดี และน่าเที่ยว
- Lamphun City Lab เป็นการรวมตัวกันของนักคิด นักสร้างสรรค์ และสถาปนิก ที่อยากปลุกปั้นลำพูนให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา น่าอยู่ น่าเที่ยว และผู้คนมีความสุข
- ส่วนหนึ่งของการก่อตั้ง Lamphun City Lab คือ การสร้างกิจกรรมให้กับเมือง ดึงดูดให้ชาวลำพูนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560-2563 ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีอัตราคนฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดในประเทศหรือเฉลี่ย 4-5 คนต่อเดือน
ลำพูนอาจเป็นเมืองนอกสายตาและทางผ่านของนักท่องเที่ยว แต่เชื่อเถอะว่าเมืองเงียบๆ ที่ได้ชื่อว่ามีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือและมีประชากรเพียง 4 แสนกว่าคน กลับเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ดัง งานคราฟท์ชั้นครู และงานศิลป์ที่เป็นตำนานอมตะจวบจนถึงทุกวันนี้
‘ผ้าทอมือ’ ที่ว่ากันว่า งดงามที่สุดของภาคเหนือ และหญิงสาวชาวเหนือที่จะเข้าพิธีแต่งงานต้องสวมชุดผ้าทอจากลำพูนเท่านั้น การันตีได้จากชุดไทยที่ทำจาก 'ผ้าไหมยกดอกลำพูน' ซึ่งลิซ่า Blackpink สวมใส่ในมิวสิควิดิโอเพลง LALISA แบรนด์ผ้าชื่อดังอย่างนันทขว้าง ก็มีต้นกำเนิดจากที่นี่ ไหนจะตุ๊กตาแกะสลักไม้สวมชุดชาวเขา ตุ๊กตานางรำ ไปจนถึงไส้อั่วยายปี๋ ไส้อั่วเก่าแก่ระดับตำนานที่เป็นของฝากชื่อดังของลำพูน
ลำพูนมีของดีมากมายที่ซ่อนไว้อย่างเงียบๆ มีเพียงคนที่อยากรู้จักเมืองนี้เท่านั้น ถึงจะมองเห็นคุณค่าจากสิ่งที่ซ่อนอยู่ และนั่นจึงเป็นที่มาในการรวมตัวกันของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า “Lamphun City Lab” Think Tank ที่ช่วยปั้นลำพูนให้เป็นเมืองน่าอยู่ และน่าเที่ยวโดยไม่ทำลายบรรยากาศเดิมของเมือง
รวมตัวเฉพาะกิจ
Lamphun City Lab เพิ่งก่อตั้งเป็นออฟฟิศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยทีมงานทั้งหมด 3 คน คือ คุณเอก-ไชยยง รัตนอังกูร อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร WallPaper* ดร.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิก นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัย และ อัญมณี มาตยาบุญ สถาปนิกสาวชาวลำพูน ที่เพิ่งจบหมาดๆ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เป้าหมายของเราคืออยากให้ลำพูนเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองที่คนอยากมาอยู่ ใครอยากมาเที่ยวก็มา ที่สำคัญที่สุดคือ เราอยากให้คนลำพูนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนตัวผมเป็นคนที่นี่ ผมเลยเชื่อว่าถ้าคนที่นี่มีความสุข คนที่มาเที่ยวหรือคนที่มาอยู่ ก็ต้องมีความสุข” คุณเอกเล่า
“ลำพูนอาจไม่ใช่เมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนเชียงใหม่หรือน่าน แต่เราเชื่อว่า ด้วยรากฐานของความเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม มีงานศิลปะสมัยใหม่ มีศิลปินจำนวนมากอาศัยอยู่ มีงาน Handy Craft ซึ่งเป็นงานชั้นสูงของประเทศ และคนลำพูนเป็นนักสร้างสรรค์ เป็นคนกินดีอยู่ดี มีความสุข เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงให้ความสุขเหล่านี้มันแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการต้อนรับ ร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์เซอร์วิสต่างๆ ที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวที่นี่รู้สึกสนุก และอยู่อย่างมีความสุข เป็นโจทย์ที่พวกเราคิดกันและเริ่มต้นทำมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว”
ก่อนหน้าที่จะรวมตัวกันเป็น Lamphun City Lab คุณเอกเล่าว่า เป็นการทำกิจกรรมให้เมืองผ่านการสนับสนุนของ บริษัทเอกชนต่างๆ เรื่อยมา เช่น งานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรม “River Festival Lamphun” ส่วนหนึ่งของงาน River Festival ที่จัดขึ้นพร้อมกันหลายจังหวัดในช่วงเทศกาลลอยกระทง และเป็นโปรเจกต์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
“โปรเจคนี้เราทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นเยาวชนเจ้าบ้าน ทั้งหมด 4 โรงเรียน เราให้เขาช่วยกันคิด และวางแผนการจัดงาน River Festival ในแต่ละปีว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหน มีกิจกรรมคลีนอัพแม่น้ำ เก็บขยะ ช่วยกันดูแลต้นไม้ริมแม่น้ำกวง ส่วนเราก็เข้าไปเสริมเรื่องความสำคัญของแม่น้ำกับต้นไม้ที่มีต่อเมือง มีการ Light up ต้นไม้ในเวลากลางคืนให้เป็นแสงสีเสียงเพื่อให้คนเห็นว่า ต้นไม้นอกจากจะให้ประโยชน์ในเวลากลางวันแล้ว กลางคืนยังเป็นแลนด์สเคปที่สวยงามให้กับเมือง เมื่อคุณมาลอยกระทง จะดูเหมือน magical เหมือนอยู่บนสรวงสวรรค์ เป็นการเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับแหล่งที่อยู่อาศัย”
การจัดกิจกรรม River Festival Lamphun ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ อัญมณี สถาปนิกสาวชาวลำพูน ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่่งของ Lamphun City Lab จากความประทับใจในรูปแบบงาน เธอจึงหย่อนโน้ตทิ้งไว้ว่า ‘ถ้าปีหน้าทำอีก…ขอช่วยทำนะคะ’
“เหมือนกับเราทำอะไรสักอย่าง เราก็จะได้เพื่อนทั้งตำบล” คุณเอกที่นั่งข้างๆ กล่าวยิ้มๆ
“อัญเริ่มจากวาดรูปลงเพจ People of Lamphun โดยเราไปสัมภาษณ์เพื่อนๆ ว่าเขามีความฝันกับลำพูนยังไง แล้วก็เขียนลงในเพจ หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมต่างๆ ตามมา เช่น การทำเวิร์คช็อปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีทั้งเด็กๆ คนสูงอายุ นักการเมือง ข้าราชการ เพื่อนๆ มาร่วมบอกเล่าถึงความฝันที่อยากจะมีและอยากทำในลำพูน
“ส่วนปีนี้เขยิบขึ้นมาเป็นนิทรรศการ”ลำพูน เป็น_____ได้” หรือ “Possible Lamphun” และมี Lamphun City Lab เกิดขึ้นมา เราเป็นเหมือนเพื้นที่ที่ค่อยๆ สานต่อความฝันเหล่านั้น ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป” อัญมณี เล่าบ้าง
ลำพูน…เมืองเดินเท้า
Lamphun City Lab ใช้พื้นที่บนชั้น 2 ของคาเฟ่ & แกลเลอรี ‘Temple House Lamphun’ เป็นออฟฟิศ บรรยากาศภายในโปร่งโล่ง ประดับบานกระจกที่มองเห็นวิวเมืองได้ตลอดทั้งวัน คุณเอกบอกว่า เดิมทีที่นี่เคยเป็นร้านขายเครื่องเขียนและสังฆภัณฑ์ เมื่อเจ้าของเลิกกิจการ เขาจึงขอซื้อต่อโดยตั้งใจทำให้เป็นพื้นที่สำหรับคนลำพูนออกมานั่งชิล และสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไหว้วัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้าน
Temple House Lamphun ถูกรีโนเวทใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Soho House in New York’ ผ่านฝีมือของ ดร.สิงห์ อินทรชูโต “ตอนแรกเราคิดว่าจะทำยังไงให้คนสูงอายุออกจากบ้านมานั่งที่นี่ อาจเป็นที่รับแขก หรือออกมาเจอผู้คน แต่เราคิดผิด เขาไม่รู้จัก Soho House จากที่เราคิดว่าเขาจะชอบ แต่เขากลัว และไม่กล้ามา” ดร.สิงห์ เล่าถึงวิถีคนลำพูนที่เขาสัมผัสในช่วงระยะเวลา 2-3 ปี จากการลงพื้นที่มาทำงานในจังหวัดแห่งนี้หลายครั้ง
“ผมมองว่าลำพูนจะเป็นเมืองน่าเที่ยวหรือน่ามา เราต้องทำให้เป็นเมือง Walkable ที่คนเดินได้ทั้งเมือง เพราะที่นี่เหมาะมากนะ คนน้อย รถไม่เยอะ ไม่เคยมีรถติด แต่มีขบวนพาเหรด พาเหรดพระบ้าง พาเหรดนางรำบ้าง ชีวิตอยู่บนถนนเยอะ แต่บรรยากาศมันไม่น่าเดิน คนหลบแดดกันหมด เมืองก็เงียบ ทุกวันนี้ คนลำพูนมีบ้านใหญ่โต เลยอยู่ในบ้าน ไม่อยากออกมาเดิน ลำพูนจึงกลายเป็นเมืองที่ตาย คนอยู่กับตัวเองเยอะเกินไป จนกลายเป็นจังหวัดที่มีคนฆ่าตัวตายสูง เพราะมันไม่มีกิจกรรมให้ทำ เราจึงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันคน ให้คนลำพูนออกมาเอนจอยไลฟ์ และทำให้เมืองมีแม็กเน็ตหรือ Spark of Life” ดร.สิงห์ แสดงความเห็น
ลำพูน…เมืองเย็นอกเย็นใจ
ว่ากันว่า เมืองที่เงียบสงบเป็นเมืองที่ผู้คนอยากไปใช้ชีวิตพักผ่อนมากที่สุด แต่ใครจะคิดว่า อีกมุมหนึ่งของความเงียบ ส่งผลให้ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จากข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2560-2563 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 คนต่อเดือน หรือเฉลี่ย 1 คนต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมีอายุระหว่าง 21-60 ปี
“นั่นคือเหตุผลที่เราก่อตั้ง Lamphun City Lab ขึ้นมา” คุณเอกบอกเราอย่างนั้น
“จริงๆ ผมคิดว่าลำพูนมี Asset ที่ดีในแง่ของความเป็นเมืองโบราณ เรามีสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเก่าแก่กว่า 1,300 ปี มีประเพณีที่เป็นความเชื่อหรือความคิดรากเหง้ากว่าพันปี เช่น เทศกาลถวายโคมพระธาตุที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีความสงบของเมือง เป็นสามปัจจัยที่ผมเชื่อว่าจะดึงดูดผู้คนให้มาที่นี่”
“นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ ลำพูนเป็นซูเปอร์สโลว์ เนิบช้า คนจะได้สัมผัสกับความเงียบงันว่าเป็นยังไง ไม่ใช่เงียบกริบ เป็นความเงียบแต่ยังมีชีวิต ผู้คนยังทำกิจกรรม”
ดร.สิงห์ ที่นั่งฟังอยู่ เสริมว่า “เราต้องสร้างคอนเซ็ปต์ของเมืองนี้ ให้เป็นเมืองเย็นอกเย็นใจ ซึ่งเย็นอกเย็นใจก็แบ่งออกเป็นหลาย Pillars เย็นอกคือเย็นกาย หมายถึง มีต้นไม้แล้วทำให้เมืองไม่ร้อน ต้องมีอาหารที่ดี ซึ่งลำพูนเป็นแหล่งปลูกผักออแกนิกส์ที่มีคุณภาพและราคาถูก ส่วนเย็นใจเกี่ยวกับเรื่อง Mental ต้องเป็นเมืองที่คนมาแล้ว Soothing (ผ่อนคลาย) คนมาเพราะความ Slow มาเพื่อเอนจอยรายละเอียด เช่น มาเชียงใหม่สองคืน มาลำพูนอีกสองวีค เหมือนคนไปมัลดีฟส์กัน ก็ไปนอนเฉยๆ ไปเพื่อพักผ่อน
“ที่สำคัญ การพัฒนาเมืองต้องเป็นไปในแนวทางของคนที่นี่ คือ เนิบช้า ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย และผมมั่นใจว่าเราหาเมืองแบบนี้ยาก ที่ยังคงความสโลว์แบบนี้อยู่ ยังเป็นคุณย่าคุณยายนั่งทำไส้อั่วปิ้ง เพียงแต่เมืองอาจจะยังไม่สวย ยังไม่น่าเดิน และไม่มีอาชีพ ซึ่งถ้าเราแก้โจทย์เหล่านี้ได้ จะทำให้ลำพูนเป็นเมืองที่ใครๆ ก็อยากมา และจะทำให้คนมาที่นี่โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเมืองอื่นเลย” ดร.สิงห์ ทิ้งท้าย
สำหรับโปรเจกต์ปัจจุบันของ Lamphun City Lab คือ ร่วมกันหาแนวทางพัฒนาพื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเก่า เพื่อให้ชาวลำพูนใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ได้มากที่สุด โดย Lamphun City Lab ได้ระดมความคิดจากคนท้องถิ่นในลำพูน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยกันคิด ร่วมกันออกแบบ และนำเสนอไอเดียถึงความเป็นไปได้ทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
จนกว่าจะถึงวันนั้น เราเชื่อว่าลำพูนจะไม่ใช่เมืองนอกสายตาอีกต่อไป และหากใครได้มาก็ต้องตกหลุมรักในความกะทัดรัด และเสน่ห์ของเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่มีใครเหมือน
Lamphun City Lab
ตั้งอยู่บนชั้น 2 ร้าน Temple House Lamphun
102 ถ.อินทยงยศ อ.เมือง จ.ลำพูน
โทร. 06-5056-9839