Bar and Beyond
คุยกับ ‘ฝาเบียร์ – สุชาดา โสภาจารี’ เมื่อบาร์(ต้อง)รักษ์โลก มีจรรยาบรรณ จัดการอาหารเหลือทิ้ง
- ฝาเบียร์-สุชาดา โสภาจารี หนึ่งในทีมผู้สร้างสรรค์เครื่องดื่มจาก wasteland ผู้มีอุดมการณ์รักษ์ในสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์ประสบการณ์ดื่มในแบบยั่งยืน และจัดการวัตถุดิบอย่างเห็นคุณค่าเพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด
- วิถีรักษ์โลกถูกพูดถึงมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ ทำให้เราต้องกลับมาตระหนักถึงต้นตอของปัญหา และ Zero Waste ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้หมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราไม่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เราจะไม่มีอาหารและเครื่องดื่มที่ดีได้เลย
เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2022 วัฒนธรรมค็อกเทลได้รับความนิยมค่อนข้างสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ‘บาร์’ เปิดตัวขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก ผู้คนเริ่มหันเหไปให้ความสนใจในรสชาติและเรื่องราวที่ถูกเสิร์ฟให้พวกเขาดื่มด่ำ แต่จะมีบาร์สักกี่แห่ง บาร์เทนเดอร์สักกี่คนที่เลือกต่อยอด ‘อาหารเหลือ’ ให้กลายเป็นค็อกเทลและคราฟต์โซดารสชาติแปลกใหม่ เป็น Sustainable Bar หรือ บาร์รักษ์โลก พื้นที่แห่งการสร้างความยั่งยืนด้วยคุณค่าที่เหลืออยู่
วันนี้เราอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ฝาเบียร์-สุชาดา บาร์เทนเดอร์สาวผู้โดดเด่นทั้งแนวคิดและคาแรคเตอร์ที่ไม่เหมือนใคร ผ่านบทสนทนาที่ถ่ายทอดมุมมองและความคิดของเธอให้เราได้หลงรักในตัวผู้หญิงคนนี้มากขึ้นกว่าเดิม
• ฝาเบียร์เป็นชื่อที่คุณแม่ตั้งให้
ใช่ค่ะ เป็นชื่อที่คุณแม่ตั้งให้ เมื่อ 30 กว่าปีก่อนเค้าฮิตเล่นหมากฮอสกันมันต้องใช้ฝาจีบเล่น แล้วบ้านขายน้ำอัดลมเลยชอบมีเด็กผู้ชายแถวบ้านมาขอฝาจีบ สมัยก่อนเบียร์สิงห์เป็นฝาจีบอันแรกของไทยฝาอะไรเค้าก็เรียกฝาเบียร์ แม่เลยตั้งชื่อ ‘ฝาเบียร์’ เพราะก็คิดว่าผู้ชายจะได้มาขอไม่ต้องเลี้ยงเรานาน
• จุดเริ่มต้นบนโลกบาร์เทนเดอร์
เราเรียนไม่จบแต่เราอยากทำงาน เลยมองหาว่ามีอาชีพไหนที่ผู้หญิงสามารถทำตอนกลางคืนได้บ้าง บวกกับได้เห็นจากหนังที่ ทอม ครูซ เล่นเป็นบาร์เทนเดอร์ เราเลยคิดว่าถ้าพยายามฝึกซ้อมหาความรู้กับสิ่งนี้มากพอน่าจะทำแบบ ทอม ครูซ ได้ แต่พอได้เข้าไปทำจริงๆ ยากกว่าที่คิดมาก ตอนได้ทำบาร์ครั้งแรกภูมิใจที่เรียกตัวเองว่ามีอาชีพเป็นบาร์เทนเดอร์
แต่อยู่ไปสักพักยิ่งรู้ว่าเรารู้น้อยเหลือเกิน เวลาไปเจอคนที่เค้าเก่งๆ ก็ยิ่งหงอ 4 ปีแรกของการทำงานแทบไม่กล้าเรียกตัวเองว่าบาร์เทนเดอร์เลย เพราะ 10 ปีที่แล้วความรู้เรื่องนี้ไม่ได้บอกกันง่ายๆ เหมือนตอนนี้ ไม่ได้มีใครอยากสอนอยากแชร์มากขนาดนั้น ไม่มีโรงเรียนสอนอย่างจริงจัง ประสบการณ์กับความรู้ผิดชอบชั่วดีจึงสำคัญมาก
เราทำงานตรงนี้มา 10 ปี ผ่านมาทุกแนวทุกสไตล์ใช้ชีวิตตอนกลางคืน อยู่ในบาร์มาหลากหลายรูปแบบ
จนสุดท้ายค้นพบว่า ชอบค็อกเทลบาร์ที่เป็นซีเรียสค็อกเทลบาร์จริงๆ ด้วยความที่เขาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบ เราชอบตรงจุดนี้
• คิดยังไงกับคำว่า บาร์เทนเดอร์
อาชีพบาร์เทนเดอร์อาจดูเป็นอาชีพสีเทา แต่เราทำให้มันดีได้ด้วยการที่เรามีจรรยาบรรณ เราจะไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับคนที่เมาแล้ว โดยที่ไม่ซักถามเขาเลยว่ากินมาแล้วกี่แก้ว เพราะถ้าเขาออกจากร้านไปประสบอุบัติเหตุข้างนอกเราก็มีส่วนผิดนะ เราอยากให้เขารู้สึกปลอดภัยที่มานั่งบาร์เรา เพราะเราไม่ได้อยากได้แค่เงิน แต่อยากให้เขาได้รับประสบการณ์ในการดื่มหน้าบาร์ด้วย ถ้าคุณรู้ว่าคุณจะสั่งอะไร คุณไม่ผิดหวังจากค็อกเทลของเราแน่นอน
มันมากกว่าการบริการ เราต้องมีมุมมองที่รอบด้านเตรียมรับมือลูกค้าได้ในทุกสถานการณ์ ไหวพริบก็เป็นทักษะสำคัญ ทำให้ต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะวันหนึ่งเราเองก็อยากก้าวออกมาจากหลังเคาน์เตอร์บาร์แล้วยืนอยู่เบื้องหน้าผู้คนมากมายในฐานะของ Guest Speaker เหมือนกัน
• เริ่มมาทำ Sustainable Bar ได้ยังไง
ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราก็เป็นหนึ่งในร้านที่ได้รับผลกระทบ ช่วงนั้นบาร์ถูกสั่งปิดเปิดสลับกันเป็นว่าเล่น แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะเราได้เจอกับทีมของ ‘โบ.ลาน’ ร้านอาหารไทยโบราณ ที่กำลังมองหาพาร์ทเนอร์ร่วมทำบาร์คอนเซ็ปต์รักษ์โลก ด้วยวิธีการเลือกใช้วัตถุดิบมาครีเอทเมนูเครื่องดื่ม ส่วนที่เป็นวัตถุดิบเหลือทิ้งของเขาก็จะมีตั้งแต่ กากมะพร้าว ก้านโหระพา ก้านกะเพรา ก้านพริก ไปจนถึงเปลือกผิวถั่ว แหมือนเป็นการบ้านสำหรับเราว่า จะทำยังไงให้วัตถุดิบเหลือๆ เหล่านั้นไม่กลับเป็นขยะอีกรอบนึง
จากนั้นเราเลยรวมตัวกันเป็นคอมมูนิตี้ที่มีชื่อว่า Wasteland โดยตั้งใจร่วมกันว่า เราจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ให้เหลือทิ้งกลายเป็นขยะโดยเปล่าประโยชน์
• ความพิเศษของคราฟต์โซดาที่ทำร่วมกับทีม Wasteland
คราฟต์โซดาของเราจะพรีเซนต์แต่ละจุดที่ต่างกัน หลักๆ เป็นการช่วยป้องกันการเกิด Food Waste แล้วก็ต่อยอดสร้างมูลค่ากับให้วัตถุดิบของชุมชน ตอนนี้เรามีอยู่ 5 ตัวด้วยกันอย่าง ROSE LEMONADE เราใช้เป็นกุหลาบมอญและมะนาว เพื่อนำเสนอกลิ่นและรสชาติที่ไม่ใช้สารเคมี CACAO COOLA จะนำเสนอเรื่องของความเป็นท้องถิ่น เพราะเราใช้โกโก้จากเกษตรท้องถิ่นหลายจังหวัด MINERAL LEMONADE นำเสนอภูมิปัญญาวัฒนธรรม เพราะเรานำดินลิ่มจากภาคใต้มารังสรรค์ KOKOA ROOT BEER เน้นในเรื่องของความเป็นชุมชน เป็นการเชื่อมต่อหลายๆ แบรนด์ที่เราสามารถเชื่อมโยงวัตถุดิบไทยได้ ส่วน CHAFF COLA จะเน้นเรื่องความสร้างสรรค์ เราเลือกใช้เยื่อหุ้มกาแฟ ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของวัตถุดิบ และช่วยกันต่อยอดในเรื่องของวัตถุดิบใหม่ๆ
ที่ทำตรงนี้เพราะเราให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ผลิตสินค้าคุณภาพ แต่ไม่ได้รับการถูกไฮไลท์จากสังคมอย่างเกษตรกรท้องถิ่นเหล่านี้
• คิดว่าอะไรคือความยั่งยืนที่แท้จริง
แนวคิด (ที่ถูกต้อง) คือสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด เราต้องรู้ที่มาที่ไปของทุกอย่างที่เราใช้ หรือถ้าจะทิ้งอะไรสักอย่างเราก็ต้องรู้ที่ไปของมันว่ามันจะต้องไปที่ไหน แค่นั้นก็ดีมากๆ แล้ว
ก็เหมือนกับที่เราทำตรงนี้ เราทำเพื่อให้มันเกิดอิมแพ็ก เราไม่ได้ใช้เครื่องมือแฟนซีในการทำคราฟต์โซดา เพราะฉะนั้น ทุกคนก็สามารถทำได้ อยากให้คนมองว่าเรายังทำได้ทำไมคุณจะทำไม่ได้ คือเราอยากสร้างอิมแพ็กให้กับคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้เลย หันมาสนใจและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
• บาร์รักษ์โลกช่วยโลกได้ยังไง
บาร์ช่วยไม่ได้วันนี้หรอกมันอาศัยการทำต่อเนื่อง ในความเป็นจริงแล้วปริมาณขยะที่เราเซฟได้มันน้อยมาก เราเลยเน้นสร้างอิมแพ็กให้คนเห็นว่าเราทำอะไรยังไงได้บ้าง แทนที่จะช่วยลดขยะแค่ไม่กี่กิโลต่อวัน เราเลยให้ความสำคัญกับที่มาที่ไปของวัตถุดิบ เราอยากซัพพอร์ตด้วยการบอกเขาว่าที่เราเลือกวัตถุดิบคุณมาใช้ในบาร์เพราะว่ามันดียังไง ทำไมคุณถึงขายได้แพงกว่าคนอื่นได้ นั่นเพราะคุณผลิตมาดี สุดท้ายแล้วเมสเสจก็จะถูกส่งไปถึงต้นน้ำว่า การเลิกใช้สารเคมีเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้นะ เราคิดว่าตรงนี้แหละคืออิมแพ็กที่สามารถกระเพื่อมจากปลายน้ำไปถึงต้นน้ำได้จริงๆ
คุณฝาเบียร์ทิ้งท้ายประโยคสนทนาสำหรับวันนี้ไว้ว่า
“สุดท้ายเราก็แค่อยากให้คนเห็นผลของการใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าและเกิดขยะน้อยที่สุด จนทำให้คนอื่นทำตาม นั่นคือความสำเร็จของเรา”