- ชวนรู้จักอาชีพคนเบื้องหลังอย่าง Location Manager นักหาสถานที่ถ่ายทำ ไม่ว่าจะหนัง โฆษณา ละคร หรือซีรีส์ ต้องมีความเข้าใจในเรื่องอารมณ์และฟังก์ชั่นของสถานที่รวมถึงระบบการจัดการในกองถ่ายเบื้องต้น เพื่อให้ตอบโจทย์ภาพความคิดของผู้กำกับมากที่สุด ผ่านบทสนทนากับ ‘เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล’ Location Manager รุ่นอาวุโสที่ทำงานนี้มากว่า 20 ปี จนได้ชื่อว่า ‘เทพในการหาโล’ เจ้าของเพจ Theplocation ที่นำเสนอโลเคชั่นลับๆ กลิ่นอายวินเทจพร้อมเรื่องเล่าสั้นๆ ให้ลูกเพจได้อ่าน
- กรุงเทพฯ ในมุมมองของเขา Everywhere is location ทุกพื้นที่สามารถเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังได้หมด ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ สามารถเป็น District For Film ได้เพียงแค่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ
เรานัดพบกับชายวัยกลางคนผู้ทำอาชีพ Location Manager มานานกว่า 20 ปี ‘เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล’ เจ้าของเพจ Theplocation (เทพโลเคชั่น) เพื่อพูดคุยกันถึงอีกหนึ่งอาชีพที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก อาชีพที่ตัวคนทำเป็นเหมือนสารานุกรมเล่มหนาบรรจุข้อมูลโลเคชั่นไว้มากมาย ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญและเบื้องหลังความสำเร็จของหนังและซีรีส์หลายๆ เรื่อง
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ชายคนนี้แนะนำตัวกับลูกเพจคร่าวๆ ไปว่า “ชื่อเทพทำอาชีพ Location Manager ตั้งแต่อายุ 25 จนตอนนี้อายุ 45 ปีไม่เคยทำอาชีพอื่นและจะทำอาชีพนี้ตลอดไป” ประโยคนี้เหมือนบอกให้รู้ว่าเบื้องหลังเส้นทางอาชีพ Location Manager ของเขาน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าสถานที่แต่ละแห่งที่พบเจอ
เทพย้ำกับเราตลอดเวลาของการพูดคุยว่า “มันเป็นอาชีพที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิต”
บทสนทนาระหว่างเราค่อยๆ เปิดเปลือยประสบการณ์ ความคิด และมุมมองของเขาให้เราได้ลงลึกสู่ตัวตนของชายผู้นี้มากยิ่งขึ้น…
• เริ่มมาทำโลเคชั่นได้ยังไง
เราจบนิเทศศาสตร์สวนสุนันทา เรียนจบก็ไปฝึกงานละครเรื่อง แต่งกับงาน แล้วก็รู้ว่าตัวเองชอบงานกองถ่าย รู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้น เราชอบคุยกับคนชอบบรรยากาศในกองถ่าย พอเรียนจบก็ได้ไปทำหนังไทยเรื่องผีสามบาทวนเวียนทำงานอยู่ในกอง แล้วจับพลัดจับผลูมีรุ่นพี่ชวนไปทำโลเคชั่นที่ Matching Studio เป็นบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่ใหญ่มาก ตอนนั้นถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของเมืองไทย เราก็เลยได้เข้าไปทำอยู่ประมาณ 7 ปี แล้วบริษัทก็ปิด แต่เราได้ข้อมูลโลเคชั่นมาจากตอนทำตรงนั้น เช่น โลเคชั่นนี้มันอยู่ตรงไหน เป็นของใคร อะไรยังไง ก็เลยตัดสินใจทำฟรีแลนซ์ต่อเพราะเราเองก็ไม่เคยไปทำอย่างอื่น
• หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าคนทำโลเคชั่นคือใคร แล้วจริงๆ อาชีพนี้คือ…
โลเคชั่นเมเนเจอร์ คือคนรับจัดหาสถานที่ถ่ายทำ ไม่ว่าจะหนัง โฆษณา ละคร หรือพวกซีรีส์ เราเป็นอาชีพที่ทำงานตามโจทย์ โจทย์เขาเป็นนามธรรม เราต้องแปรนามธรรมให้เป็นรูปธรรม นี่น่าจะเป็นนิยามของการทำโลเคชั่นเลยมั้ง เพิ่งนึกคำตอบแบบนี้ออกเหมือนกัน (หัวเราะ)
สมมติเขาอยากได้ตึกแถวเก่า สองชั้น ใช้ห้องนอน ห้องนั่งเล่น เราก็ต้องไปดูแล้วว่าไอ้ตึกแนวนี้ มันต้องเป็นตึกแถวที่มันยุคเก่ารึเปล่าจะได้ใหญ่หน่อย เวลาหาเราต้องเข้าใจว่าเขาใช้ฟังก์ชั่นอะไรในโลเคชั่นบ้าง ต่อไปก็ต้องไปคุยกับเขา ติดต่อสถานที่ แล้วก็ต้องเป็นคนบริหารจัดการเป็นด้วยนะ ต้อง manage กองถ่าย คือหน้าที่เรา เราเป็นคนไปเห็นสถานที่ เราต้องดูแล้วว่า ถ้าจะมาถ่ายทำ จะจอดรถตรงไหน เข้าห้องน้ำตรงไหน กินข้าวตรงไหน เป็นเรื่องการบริหารจัดการกองถ่ายด้วย
• กว่าจะเข้ามาทำในวงการ ผ่านอะไรมาบ้าง
ตอนเริ่มทำงานกองถ่าย จำได้ว่าจนสุดๆ เลยนะ ไม่มีตังค์ เลยซื้อหัวกุ้งเสียบไม้แล้วก็ข้าวเปล่านั่งกินไปร้องไห้ไปอยู่แบบนี้สามปี คืองี้…ระบบการศึกษาบ้านเราเนี่ยมันทำให้เด็กรู้ตัวช้าว่าชอบอะไร เราเพิ่งมารู้ตัวว่าชอบอะไรตอนฝึกงานซึ่งมันช้ามาก มันต้องแลกเยอะเพื่อที่จะได้ทำงานในวงการกองถ่าย มันไม่ง่ายเลยกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้
• พอได้เข้ามาทำจริงๆ ตอนเริ่มมันยากแค่ไหน?
เราจำได้ว่าตอนเริ่มต้นทำโลเคชั่น รุ่นพี่เขาให้เราไปเฝ้าเซ็ตอยู่ที่เมืองทองสักสองอาทิตย์ได้มั้ง ไปตั้งแต่ 9 โมงถึง 5 โมงเย็นทำเป็นรูทีนแบบนี้ครึ่งเดือน (หลังจากเข้าแมชชิ่งแล้วนะ) เราก็ได้เรียนรู้พวกทักษะเบื้องต้น อย่างการดูว่ารถจอดตรงไหน ช่างจะเข้าห้องน้ำตรงไหน มีอุปสรรคอะไรยังไงบ้าง แล้วตอนได้ออกไปหาโลเคชั่น ติดต่อเองประสานงานเองก็ตอนที่เขาเลือกโลเคชั่นที่เราหา ตอนนั้นมันรู้สึกภูมิใจนะ
• ไม่เคยคิดไปทำอย่างอื่น?
คิดไหมน่ะเหรอ…คือเราทำอย่างอื่นไม่เป็นมั้ง อาจเป็นอย่างเดียวที่เราทำได้ดี พอเราทำมานานมันจะมีจุดหนึ่งที่เริ่มคิดว่าต้องหาตัวตนให้เจอ เราเคยได้ยินคนๆ หนึ่งพูดว่า ช่วงอายุ 20-30 เราจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ 30-40 เราต้องเลือกแล้วว่าเราจะเป็นอะไร หลัง 40 ไปแล้วคุณต้องเอ็กซ์เพิร์ทด้านนั้นแล้วมันถึงจะมีที่ยืนได้ แล้วเราก็ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตกว่าทุกวันนี้คนเขานึกถึงเรา เขาจะนึกถึง ‘เทพโลเคชั่น’ เขาจะไม่นึกถึงอย่างอื่น
• มีเทคนิคในการหาโลเคชั่นที่ต่างจากคนอื่นยังไง
เราว่าวีธีของแต่ละคนที่ทำโลเคชั่นไม่เหมือนกัน อย่างเทคนิคของเราคือบอกว่า เราชอบสถานที่เขาจริงๆ อยากได้มากๆ อะไรประมาณแบบนี้ ก็คือพูดหว่านล้อมเขาไปแต่ต้องอยู่ในวิสัยที่เราทำได้ด้วย
• โลไหนถ้าเขาอยากให้เราเจอ เราก็จะหาเจอ หมายถึง…
อย่างที่บอกว่า มันไม่มีหรอกหาไม่เจอ แต่เรายังไม่เจอเท่านั้นเอง มันมีแต่อยู่ที่ว่าเราจะหาเจอรึเปล่า หาเจอด้วยวิธีการไหน บางทีมันก็บังตามองไม่เห็น เหมือนแมนชั่นที่เราลงในเพจ เราไปตรงนี้สามรอบแล้ว เราไม่เห็นบ้านหลังนี้เลยเว้ย! รอบแรกผ่านไป มาอีกครั้งผ่านซอยนี้อีกก็ไม่เห็น จนมาครั้งที่สามเหมือนขับหลงเข้าไป คือไม่ได้ตั้งใจจะไปซอยนี้แต่ดันเจอ บางทีคือเหมือนมันบังตาอะ คนเราเวลาตั้งใจอะไรมากๆ มันจะมองไม่เห็น
• มีจุดที่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในสายงานนี้บ้างมั้ย
ไม่มีนะ มันจะประสบความสำเร็จเมื่อทำงานต่อชิ้นให้จบไป อย่างทำหนังจบไปเรื่อง ทำซีรีส์จบไปเรื่อง แล้วมาต่ออีกโปรเจ็กต์แล้วทำเสร็จ เรียกว่าประสบความสำเร็จเป็นเรื่องๆ มากกว่า
• มีเป้าหมายในสายอาชีพนี้มั้ย
ตอนทำก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าต้องไปถึงจุดไหน แต่รู้สึกว่าถ้าได้ทำในหนังที่เราอยากทำ มันจะรู้สึกสนุก เราจะอินไปกับมัน ตอนที่ได้รับงานใหญ่กว่าเดิม หรือโจทย์ที่ยากกว่าเดิม ก็เหมือนเราได้โตไปพร้อมๆ กับสายอาชีพนี้เหมือนกัน
• เพจ Theplocation ครบรอบ 11 ปี รู้สึกยังไงบ้าง
ยังจำได้ตอนแรกๆ คนกดไลค์ 20 คน ตอนนี้ขึ้นมาสองหมื่นกว่าแล้ว เยอะเหมือนกันนะเพจเฉพาะทางแบบนี้ แล้วเพจเราเป็นเพจออร์แกนิก เราไม่โปรโมทอะไรเลย เพราะไม่ได้จะหารายได้จากตรงนี้ โลที่เราลงในเพจคือโลที่เราไปเจอมาเลยเอามาเขียนเรื่องราวสั้นๆ เขียนตามใจตัวเองมากๆ เหมือนบันทึกความทรงจำ เพจเราเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ของคนที่ชอบเรื่องราวเหมือนกัน เราใช้วิธีคุยตอบโต้กับลูกเพจให้เขารู้สึกว่าเพจเราคุยได้ เราดีใจเวลาเห็นเขาแท็กเพื่อนมาดู บางทีเพื่อนเก่าๆ เขาก็มาเจอกันในโพสต์ มันไม่ใช่แค่เราได้เจอโลเคชั่น แต่เราทำให้เขาได้เจอกันด้วย (ยิ้ม)
• ความท้าทายของอาชีพที่เคยเจอมาตลอดการทำงาน?
ถ้าพูดถึงความท้าทาย มันอยู่ที่โจทย์ในการหาโลเคชั่นแต่ละครั้ง แล้วเราต้องหาให้ได้ภายในเดดไลน์ นี่แหละคือความท้าทาย แต่ที่ยากกว่าคือการคุยกับคน เพราะมันอยู่ที่ว่าเราคุยกับเขาได้รึเปล่า มีวิธีเจรจายังไงให้เราได้ใช้สถานที่นั้นๆ
• คิดว่าอะไรคือความเจ๋งของอาชีพนี้
มันก็เหมือนอาชีพๆ หนึ่งนะ แต่มันได้เห็นอะไรแปลกๆ เหมือนกัน ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้เห็นที่ๆ คนไม่เคยเห็น ได้ไปเจอคน ได้รู้จักคนเยอะขึ้นมากกว่า เราจะตื่นเต้นมากเวลาเราเจอโลเคชั่นที่ยังไม่เคยมีใครไปเจอ เราว่า Location Manager มันสามารถทำได้จนช่วงอายุ 50-60 ปี ถ้ายังหาสถานที่ได้อยู่เราก็ยังมีงาน เคยมีลูกเพจมาบอกเราว่า ขอบคุณที่ทำให้เขาได้เห็น ในมุมของอาชีพนี้เองเราก็คงขอบคุณที่ทำให้เราได้เห็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็น
• อะไรทำให้ยังทำตรงนี้มาตลอด?
ถ้าตอนนี้คือทำงานเพื่อเอาเงินมาดูแลครอบครัว แล้วก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบในการหารายได้ passion ในการทำงานมันไม่ได้เปลี่ยน แต่ passion การใช้ชีวิตมันเปลี่ยน แต่ก่อนเราคิดว่าก็ทำงานไปก็มีเงิน แต่ตอนนี้พอมีลูกเรารู้สึกว่า เราไม่ได้ทำงานเพื่อสนอง passion ตัวเองแล้วเราทำงานเพื่อเอางานมาเลี้ยงครอบครัว
มันมีสัจธรรมอยู่อย่าง แต่ก่อนเราคิดว่าเขาขาดเราไม่ได้เราคือส่วนสำคัญในการเป็นทีมงาน แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าครอบครัวขาดเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็จะเริ่มรู้สึกว่างานยากแค่ไหนก็ต้องทำให้ได้ มันไม่ได้เป็นความท้าทายด้านอาชีพแล้วแต่มันเป็นความท้าทายในการใช้ชีวิต เขาจ้างเรา เราต้องทำให้เต็มที่ ต้องหาให้ได้นะ เพื่อที่เขาจะได้จ้างเราต่อ มีความสุขกับการทำเพจแค่นั้น เอาจริงๆ นะถ้าเราไม่ทำเพจก็ไม่มีใครรู้จักเราหรอก
• รู้จักตัวเองมากขึ้นจากการทำอาชีพนี้?
เพิ่งได้รู้ว่าเราถ่ายรูปสถานที่สวย เพราะเรารู้ว่าเราจะขายอะไร เรารู้ว่ามุมไหนใช้ได้ มุมไหนธรรมดา มันต้องใช้ประสบการณ์เหมือนกัน แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นคนเล่าเรื่องได้จากตอนเริ่มทำเพจนี่แหละ
• ในฐานะของคนที่ทำโลเคชั่นมานาน เห็นความเปลี่ยนผ่านในกรุงเทพฯ มาพอสมควร มีมุมมองกับตรงนี้ยังไงบ้าง
เราจะบอกว่า Everywhere is location คือทุกที่เป็นที่ถ่ายหนังได้หมด (เว้ย!) คุณสามารถเอาที่ของคุณมาทำรายได้ได้หมดเลย เพราะว่ามันรองรับงานทุกรูปแบบ จริงๆ กรุงเทพเราถ่ายหนังได้แทบทุกเขต เรายังเคยคิดเลยว่า District For Film คือกรุงเทพมหานครมี 50 เขต แต่ละเขตต้องมีโลเคชั่นที่มันสามารถขายได้ ถ่ายได้
รุ่นพี่เราเขาเคยไปนิวยอร์ก เวลาไปถ่ายหนังที่นั่นเขาเหมือนจะมีสำนักงานคอยติดต่อเรื่องนี้ให้เลย สมมติว่าคุณไปดูโลเคชั่นมาแล้ว คุณเอารูปที่คุณอยากได้เนี่ยไปคุยกับเขาเลย คุณถ่ายเห็นมุมนี้ตั้งกล้องตรงนี้ คิดเท่าไหร่แล้วเขาจะส่งคนมาบริหารจัดการให้ เนี่ยเมืองไทยมันไม่มี อย่างน้อยเขตหนึ่งสำนักงานเขตควรมีแผนกที่คอยดูแลเรื่องแบบนี้ หารายได้ให้ในเขตของตัวเอง ในชุมชนตัวเองว่ามันมีอะไรอยู่บ้าง มันเป็นการสร้างรายได้อย่างเป็นระบบเลย มันทำได้จริงๆ นะ…ถ้าผู้นำดีเราจะทำได้
เทพทิ้งท้ายบทสนทนาของวันนี้ว่า “บางสถานที่ที่มันเคยอยู่แล้ววันหนึ่งมันหายไป มันน่าใจหายนะ บางอย่างมันควรอนุรักษ์ บางทีเราควรมีทางออกที่ดีกว่านี้ เพราะเวลามันหายไปจริงๆ มันไม่ได้หายไปแค่สถานที่ แต่ผู้คนที่เคยอยู่ในนั้นก็จะหายไปจากความทรงจำด้วย”
เราว่าอาชีพ Location Manager เองก็มีความยากและเสน่ห์บางอย่างซ่อนอยู่ บางสถานที่หรือบางมุมที่ใครหลายคนมองไม่เห็นแต่คนทำโลเคชั่นมองเห็น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เรื่องราวของสถานที่เหล่านั้นถูกส่งต่อ ราวกับว่าเป็นการสืบเสาะเพื่อสืบสาน(เรื่องราว) และเล่าขานให้บางอย่างคงอยู่ต่อไป