Hope-Handmade
Hiphandmade เสื้อผ้าสร้างคุณค่าจากงานวาดของมูลนิธิเด็กด้อยโอกาส และงานปักจากฝีมือเรือนจำ
- Hiphandmade แบรนด์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการไร้ข้อจำกัดและยูนีค สร้างสรรค์ศิลปะบนผืนผ้าที่มีเพียงลายละหนึ่งชิ้น ทุกชิ้นงานวาดด้วยมือปักด้วยใจ จากเด็กๆ ในมูลนิธิบ้านน้ำมิ้นท์ และพี่ๆ ช่างปักในเรือนจำ
- ผลิตงานผ้าต่อดีไซน์เก๋ บนแนวคิด Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์ คือนำเศษผ้าเหลือจากโรงงานเย็บผ้ามาต่อยอดผลงานผสานความสร้างสรรค์จนเป็นจุดเด่นของ Hiphandmade
สองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าก้าวเข้ามา ใครเป็นสายช้อปยกมือขึ้น! วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับแบรนด์ Hiphandmade แบรนด์ฮิปๆ สำหรับคนคนฮิปๆ ของสองสาวผู้ลุ่มหลงในเสน่ห์ของงานปักมากกว่าใคร น้อง - ปริศนา เมืองมูล และตาล - ณิชากร คำยวง
ขอเกริ่นก่อนเลยว่าสินค้าทุกชิ้นน่ารักจนเราเสียอาการ ยิ้มไม่หุบตั้งแต่เดินเข้ามาภายในร้าน ทั้งสีสันและลวดลายสดใสขนาดที่ว่า…ใครได้เห็นเป็นต้องตกหลุมรัก
นอกจากความสวยงามบนผืนผ้า ยังมีความพิเศษหลายประการซ่อนอยู่ งานหนึ่งชิ้นจะต่างทั้งลายวาด ต่างทั้งฝีมือในการปักจึงมีเพียงแบบเดียวชิ้นเดียวในโลก เพราะลวดลายบนผ้าผืนทอมาจากสองมือของเด็กๆ มูลนิธิบ้านน้ำมิ้นท์ และผ่านการบรรจงปักด้วยใจจากพี่ๆ ในเรือนจำ เกิดเป็นลายเส้นศิลปะสร้างสรรค์ ทำให้เรารู้สึกสปาร์กเหมือนว่าของชิ้นนี้เกิดมาเพื่อเป็นของเรา
คำเตือน กำกระเป๋าตังค์ไว้ให้แน่น เพราะคุณอาจโดนสินค้าน่ารักๆ เหล่านี้ตกได้!
• รักแรกพบ
น้องย้อนเล่าให้เราฟังถึงความผูกพันที่มีต่องานเย็บปักถักร้อยในวัยเด็กว่า ตั้งแต่อายุได้ 2-3 ขวบจะเห็นภาพคุณแม่ของเธอปักผ้า ทอผ้า อยู่เป็นประจำ เธอเองก็เรียนรู้เทคนิคต่างๆ มาจากคุณแม่จนซึมซับอยู่ในตัวกลายเป็นความชอบมาจนถึงทุกวันนี้
“เราเริ่มรู้สึกเบื่อกับงานประจำ ก่อนหน้าทำพยาบาลอยู่ 10 ปี ตอนนั้นเราก็ทำงานผ้าควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ได้ทำเยอะมากแค่ทำเป็นงานอดิเรก จนวันหนึ่งเรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เรารักจริงๆ มันคือ ‘งานผ้า’ เราเลยตัดสินใจออกมาทำแบรนด์เต็มตัว” ความโชคดีแรกของน้องคือครอบครัวคอยซัพพอร์ตในเส้นทางที่เธอรัก ทุกคนบอกเธอเสมอว่า “ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ไหว ยังไงก็รอด” พลังใจที่ได้รับนับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับการเริ่มต้นใหม่ในครั้งนั้น
ความโชคดีที่สองคือ เธอบังเอิญได้พบกับ ตาล หนึ่งในกำลังสำคัญที่คอยอยู่เบื้องหลังแบรนด์ Hiphandmade น้องเล่าว่า “ตอนนั้นเราอยู่ที่ร้าน มีพี่คนหนึ่งเขาเข้ามาขายงาน บอกว่ามีงานแบบนี้สนใจเอามาขายที่ร้านมั้ย ครั้งแรกที่เห็นเราชอบมาก รู้สึกเหมือนเป็นรักแรกพบเลย เพราะเราชอบงานแบบนี้อยู่แล้ว เลยตัดสินใจชวนพี่ตาลมาทำแบรนด์ด้วยกัน” ตาลเสริมว่า “เราก็รู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำงานร่วมกับน้อง เพราะเขาช่วยต่อยอดในสิ่งที่เรามีได้เยอะมากๆ” จะว่าบังเอิญก็ไม่ใช่พรหมลิขิตก็ไม่เชิง แต่นับว่าเป็นเรื่องราวที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว
จากนั้น Hiphandmade ก็มีเพื่อนร่วมเส้นทางเข้ามาเพิ่มอีกหนึ่งคน กลายเป็นแบรนด์ที่เกิดจากความตั้งใจและความหลงใหลในงานปักของทั้งน้องและตาล แม้จะเริ่มต้นจากคนไม่รู้จัก…แต่ทั้งสองมีใจรักในสิ่งเดียวกัน
• เสื้อผ้าสร้าง ‘โอกาส’
กว่าจะออกมาเป็นงานหนึ่งชิ้นนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ทุกตัวใช้ระยะเวลานานร่วมหลายเดือน เพราะต้องผ่านกระบวนการ ตัด ต่อ เย็บ วาด ปัก เรียกได้ว่างาน 1 ชิ้น : 5 ชีวิต เลยก็ว่าได้ ฉะนั้นทีมเบื้องหลังการทำตรงนี้จึงเป็นกำลังสำคัญของแบรนด์อย่างมาก
ความพิเศษที่ซ่อนอยู่ประการแรกคือ ลายเส้นสีสันบนลายผ้าของ Hiphandmade เป็นการวาดของศิลปินตัวน้อยจากมูลนิธิบ้านน้ำมิ้นท์ (สถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาส) จินตนาการของเด็กๆ ถูกส่งผ่านปลายดินสอขีดเขียนลงบนผืนผ้าเป็นลวดลายแห่งจินตนาการให้เราได้สวมใส่
“เราเริ่มทำลายแบบนี้เพราะเราเห็นจากลูกตัวเองว่าเขาเป็นคนชอบวาดรูป เลยเกิดไอเดียว่าแทนที่ลูกจะวาดใส่เศษกระดาษที่ทุกคนไม่ได้เห็นความสามารถ ทำไมเราไม่ลองเอามาทำเป็นเสื้อผ้า คนอื่นจะได้เห็นพรสวรรค์ของเด็กๆ ด้วย” ตาลพูดถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียนี้
ความพิเศษที่ซ่อนอยู่ประการที่สองคือ จากงานวาดก็ส่งงานทุกชิ้นปักโดยสองมือของช่างจากเรือนจำใน 3 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา
ทั้งสองคนมองว่า “คนส่วนใหญ่ที่ติดเรือนจำนานๆ อาจเกิดความทุกข์ใจ ถ้าเราได้ช่วยให้พวกเขามีอะไรทำ ความเครียดตรงนั้นคงหายไปหรือลดลงบ้าง อย่างน้อยก็ได้เอามาลงกับงานศิลปะตรงนี้ แล้วเขาก็ยังมีรายได้ บางคนออกมาแล้วมารับทำงานเราต่อก็มี” แต่ข้อเสียคือ กฎของเรือนจำทำให้พวกเธอไม่สามารถติดต่อกับช่างปักได้โดยตรง ถึงอย่างนั้นก็มีช่างปักคนหนึ่งที่พวกเธอจะไม่ลืม
“ถึง….จูดี้ (นามสมมติ) ช่างปักที่รู้จัก แต่ไม่เคยเห็นหน้า เป็นช่างปักที่มี signature ที่น่าจดจำที่สุด เธอสามารถเล่นสีฝ้ายปักราวกับคนเรียนศิลปะมาก่อน แถมงานปักก็เนี้ยบอย่างกับใช้เครื่องปักเลยก็ว่าได้ เธอเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งหนึ่งที่เราส่งงานให้กองช่างของเรือนจำเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะ ฝึกวิชาชีพติดตัวไว้ เราไม่เคยรู้ว่าหน้าตาของจูดี้เป็นยังไง แต่งานปักถูกส่งออกมาเมื่อไหร่ ก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือ ฝีมือของจูดี้ อาทิตย์ก่อนงานของจูดี้ถูกส่งออกมาพร้อมกับข่าวว่าเธอได้รับการปล่อยตัวแล้วหลังจากต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานถึง 20 ปี ใจหนึ่งก็ยินดีและดีใจ อีกใจหนึ่งก็เสียดายที่จะไม่ได้เห็นผลงานปักของจูดี้แล้ว ถึงอย่างนั้นก็หวังว่าความบังเอิญจะเกิดขึ้นสักครั้ง ให้เราได้พบกัน…” น้องเขียนเล่าเรื่องนี้ใน IG ของ Hiphandmand เพราะเป็นช่างปักคนสำคัญที่ผลงานปักของเขาคนนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ
• ตัวเดียวไม่ซ้ำ
จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของแบรนด์ที่แตกต่างจากที่อื่นคือ ‘การต่อผ้า’ หลายคนอาจจะมองเป็นเศษผ้า แต่เธอสร้างมูลค่าให้กับมัน น้องเลือกต่อยอดชิ้นงานด้วยการนำเศษผ้าเหลือใช้จากโรงเย็บที่อื่นๆ มาสร้างสรรค์ให้เกิดเสื้อผ้าดีไซน์เก๋บนแนวคิด Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์ แม้ต้องเพิ่มระยะเวลาและกระบวนการผลิต แต่ผลลัพธ์นำมาซึ่งความแตกต่างและความยูนีค เพิ่มความน่าสนใจให้ชิ้นงานอีกหลายเท่าตัว
“งานผ้าต่อมันใช้เวลา กระบวนการตัดเย็บค่อนข้างหลายขั้นตอน ไม่เหมือนการนำผ้าผืนใหญ่ๆ มาตัด ช่างจะต้องค่อยๆ นำผ้าที่ไม่มีรูปทรงมาตัดเป็นชิ้นรูปสี่เหลี่ยมที่มีหลายขนาด โดยจะพยายามทิ้งผ้าให้กลับไปเป็นขยะให้น้อยที่สุด กว่าจะต่อขึ้นมาเป็นผืนอาจจะดูง่าย แต่ใช้ต้นทุนเวลาค่อนข้างมาก เราไม่ได้มองว่านี้คือเศษผ้า, ราคาจึงต้องถูก แต่มันมีคุณค่ามากกว่านั้น กว่าจะได้ 1 ตัว คนตัดผ้าต้องใช้เวลา คนต่อผ้าต้องใช้ความอดทน และช่างเย็บต้องใช้ความชำนาญ ทุกอย่างมีราคาที่กระบวนการและการจัดการ” น้องอธิบายให้เข้าใจว่าทุกชิ้นงานก็มีราคาของมัน
พร้อมบอกอีกว่า “ช่างต่อของเราเขาจะจับต่อไปเรื่อยตามอารมณ์ บางครั้งการต่อมันก็มีผิดพลาดบ้างแต่เราว่ามันก็เป็นศิลปะ มันไม่เหมือนใครเพราะมันไม่สมบูรณ์ แต่คนซื้อก็ต้องอินกับงานเราด้วยนะ มันถึงโอเค”
• น่ารักแต่ไม่เพอร์เฟกต์
และเหมือนว่าหัวใจสำคัญของงานศิลปะแต่ละชิ้นของ Hiphandmade จะอยู่ในความไม่สมบูรณ์ของชิ้นงานปัจจุบัน “ศิลปะก็เหมือนกับคน มันไม่มีอะไรที่เพอร์เฟกต์ โดยเฉพาะงานผ้ามันจะมีปัญหาจุกจิกให้แก้ไข เราก็ปรับไปตามความต้องการของลูกค้าในแบบฉบับที่เราทำให้ได้ ไอเดียส่วนใหญ่เลยได้จากการแก้ไขชิ้นงาน” ตาลพูดถึงความแปลกแหวกแนวที่เกิดขึ้นกับงานชิ้นใหม่อยู่บ่อยครั้ง
น้องอธิบายเสริมว่า “เราแก้ปัญหามาเยอะ บางงานวิธีที่เราเลือกใช้แก้ปัญหา มันก็ทำให้เป็นงานชิ้นใหม่ออกมา…มันก็ดีนะ (เธอยิ้มชอบใจ) อย่างเราเคยเจอปัญหาด้ายสีตก เลยแก้ด้วยการเอาไปย้อมสีพอย้อมเสร็จสีฝ้ายกับสีผ้ามันกลืนกันไป เราเลยตัดสินใจเอาไปทำ stone washing (ผ้าฟอกหินสโตน) เส้นที่ปักมันก็เลยถูกสโตนไปด้วย มันออกมาสวยไปอีกแบบ เหมือนได้งานชิ้นใหม่ ได้ไอเดียใหม่เกิดขึ้นมาอีก” ทั้งสองจะย้ำกับเราเสมอว่า งานของพวกเธอไม่ใช่งานที่เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเธอมีใจรักในงานที่ไม่ต้องเป๊ะทุกอย่าง เพราะรู้สึกว่ามันไม่ซ้ำใคร
“เจ็บกว่าการจากลา คือลูกค้าถามว่า…แบบนี้จะมีมาอีกมั้ย ทางเราต้องขออภัยเพราะทำซ้ำให้ใหม่ยังไงก็ไม่เหมือนเดิม ถูกใจต้องอย่าลังเล” เสียงใสๆ จากเจ้าของแบรนด์ดังขึ้นกลางวงสนทนาแกมหยอกล้อพร้อมเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้ทั้งน้องและตาลยังสนุกกับการทำแบรนด์อยู่ทุกวัน นั่นก็เพราะ “มันเป็นงานที่มีสองมิตินะ เป็นงานที่สร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้เขาสร้างสรรค์ออกมา พอออกมาแล้ว มันดูไม่น่าเบื่อ ทุกงานไม่เคยซ้ำ ถึงแม้แต่ละครั้งแต่ละลายที่ออกมามันจะมีความคล้ายๆ กัน แต่คนปักคนละคนก็ทำให้ การลงสี การให้สี หรือฝีเข็มมันแตกต่างกัน แต่ละชิ้นเลยไม่เหมือนกันสักตัว บางทีลายนี้คนนี้ปักใช้สีมืดไม่สดใส แต่พอเป็นอีกคนกลับเป็นสีสด แล้วฝีเข็มมันก็ถี่สวย ซึ่งเราไม่ได้มองว่าอันไหนดีไม่ดี แต่มันเป็นความแตกต่างที่เป็นศิลปะ เราว่าเสน่ห์ของชิ้นงานมันอยู่ที่ตรงนี้”
ใครแวะแอ่วเหนือไปถึงลำพูน แล้วอยากได้เสื้อผ้าที่แตกต่างไม่ซ้ำใคร ลองแวะเวียนเข้าไปชมผลงานอาร์ตๆ ที่สตูดิโอของน้องและตาลกันได้ รับรองว่าได้ของน่ารักๆ ติดไม้ติดมือกลับไปแน่นอน
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก IG Hiphandmade
รายละเอียดเพิ่มเติม
ที่อยู่ร้าน : 69 ม.7 บ้านดอนหลวง ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 51120
Facebook : Hiphandmade
Instagram : Hiphandmade