About
CRAFTYARD

Floral Memoir

สร้างตัวตนผ่านความน่ารักของดอกไม้แห้ง งานแฮนด์เมดชิ้นเดียวในโลกกับ ‘Herbaria Studio’

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Herbaria Studio สตูดิโอศิลปะ & เวิร์กช้อป Herbarium ที่ตั้งใจสื่อสารว่าดอกไม้ไทยและสมุนไพรใกล้ตัวนั้นน่ารักกว่าที่คิด ผ่านการทำเวิร์กช้อปทับดอกไม้แห้ง เทคนิคที่ดัดแปลงมาจากการเตรียมตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้งในการทำงานวิจัย เพื่อนำมาสร้างสรรค์ต่อเป็นกรอบรูปดอกไม้แห้ง กลายเป็นงานแฮนด์เมดชิ้นเดียวในโลก

เฟื่องฟ้า กล้วยไม้ บานไม่รู้โรย สุพรรณิการ์ หญ้าดอกขาว ต้นกก ตำแยแมว บางชนิดคุ้นหู บางชนิดเคยเห็นแต่ไม่รู้จักชื่อ และบางชนิดก็ไม่รู้จักเลย บรรดาดอกไม้และพืชพันธุ์ของไทยถูกลืมเลือนไปจากความเข้าใจ แต่ถ้าพูดถึงฟอร์เก็ตมีน็อต เดซี่ ทิวลิป คาร์เนชั่น ลิลี่ ทุกคนอ๋อ นึกภาพออกทันที

Herbaria Studio สตูดิโอทำงานศิลปะ & เวิร์กช้อป Herbarium จากดอกไม้และพืชพันธุ์ที่จะพาทุกคนเข้าไปทักทายความน่ารักของดอกไม้ไทยและพืชสมุนไพรใกล้ตัว ด้วยการเก็บความน่ารักมา ‘ทับ’ และ ‘ทำ’ กรอบดอกไม้แห้งในรูปแบบแผงอัดพันธุ์ไม้ (Herbarium Press Kit)

เราคุ้นภาพการทำตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง (Herbarium) ผ่านการเก็บรักษาไว้ในขวดน้ำมัน สำหรับ Herbaria Studio นำเสนอเทคนิคการทับดอกไม้แห้งที่ดัดแปลงมาจากการเตรียมตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้งในการทำงานวิจัย เพื่อนำมาสร้างสรรค์ต่อเป็นกรอบรูปดอกไม้แห้ง หรือใครอยากเก็บดอกไม้แห้งในรูปแบบโปสต์การ์ด เรซิ่น สามารถนำไปปรับใช้เข้ากับศาสตร์ศิลปะอื่นๆ ตามความชื่นชอบของตัวเองได้เลย ที่นี่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว!

“เตยแค่อยากสื่อสารออกไปว่า พวกต้นไม้หรือดอกไม้ในประเทศเรา มีความน่ารักในแบบของมันนะ สามารถหยิบจับพวกเขาเข้าไปผสมผสานกับงานศิลปะได้เลย” เตย-เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร เจ้าของ Herbaria Studio พูดด้วยรอยยิ้ม

Herbaria Studio

Science Communicator

“Herbaria Studio เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำพันธุ์ไม้แห้ง เตยเน้นสอนเทคนิคการทับดอกไม้สด กับสอนจัดกรอบรูปดอกไม้แห้ง ในระหว่างร่วมกิจกรรมเวิร์กช้อป เตยก็คอยให้ความรู้เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ เลยจะดีใจมากๆ ถ้าศิลปินไทยหยิบดอกไม้ไทยไปสร้างสรรค์ในผลงานของเขา”

เตยเติบโตมาจากขอนแก่น ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในที่นั่น จนกระทั่งไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนั้นเตยถึงได้รู้ว่าตัวเองโหยหาต้นไม้และดอกไม้มากขนาดไหน

Herbaria Studio

Herbaria Studio

Herbaria Studio

“พอเตยเจอพวกวัชพืชตามข้างทางจะดีใจมาก (หัวเราะ) ก็จะเก็บมาทับไว้ ระยะหลังเริ่มมาทำเป็นไดอารี คอยบันทึกความทรงจำเรื่องของพันธุ์ไม้มากขึ้น มีทั้งแบบสเกตช์และหนังสือทำมือเล่มเล็กๆ”

ดอกไม้แห้งหลากหลายสีสันละลานตาอยู่บนหน้าหนังสือของเตย เราเปิดดูสมุดสเกตช์ที่มาจากการเฝ้าสังเกตพันธุ์ไม้ ไม่ว่าจะวัชพืชต้นเล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่อาจหลุดรอดสายตาไปได้ และเตยยังชี้ให้เราดูกรอบรูปบนหัวเตียง ใครจะไปคิดว่าพอวัชพืชข้างทางมาอยู่รวมกันแล้ว จะน่ารักขนาดนี้!

Herbaria Studio

จากเด็กตัวเล็กผู้หลงใหลในดอกไม้จนมาสู่การเป็นนักวิจัย อาจารย์ประจำ และเภสัชกรที่อยู่ในสายงานพฤกษศาสตร์และพืชสมุนไพรมากว่า 15 ปี เตยจึงนำเทคนิคการทำ Herbarium ที่เคยใช้ในการทำงานวิจัย มาประยุกต์ให้เข้ากับศิลปะ โดยตัดขั้นตอนยุ่งยากออกไปนิดหน่อย ไม่ต้องใช้ตู้อบเหมือนที่เคยทำในงานวิจัย จากนั้นนำมาทับจนแห้งแล้วต่อยอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ

“เหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ” เราเอ่ย

“ใช่ๆ เตยอยู่จุดเชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ ในมุมมองของวงการวิชาการเขาจะมองว่า เตยคือคนติสต์ ส่วนเพื่อนศิลปินจะมองว่าทำไมเตยเนิร์ดจัง (หัวเราะ) เตยรู้สึกตัวเองไม่เข้ากับใครเลย”

Herbaria Studio

เตยเล่าเสริมปมความไม่มั่นใจในงานศิลปะของตัวเอง ประสบการณ์ร่วมที่เราเข้าใจเป็นอย่างดี ย้อนกลับไปในวัยเด็กช่วงชีวิตแห่งการค้นหาตัวเอง เราไม่มีทางรู้ว่าทำทุกอย่างออกมาได้ดีไหม ไม่มีผลลัพธ์ที่เห็นเป็นประจักษ์ ในตอนนั้นโลกของพวกเรายังแคบ มีเพียงแค่เกรดและคำพูดจากผู้คนรอบข้างเท่านั้น ที่ส่งผลกระทบต่อการค้นหาความชื่นชอบของเรา

“เธอไม่มีหัวด้านนี้” คือคำพูดคุณครูวิชาศิลปะที่เคยหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความไม่มั่นใจไว้ในหัวใจของเตย เมล็ดพันธุ์นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเธอทันที แต่เมื่อเติบโตขึ้น ช่วงเวลาแห่งการเลือกเส้นทางชีวิตมาถึง คำพูดนี้กลับมาวนรอบความคิดอีกครั้ง เตยเริ่มเคลือบแคลงกับงานศิลปะ มันคาใจมาตลอด ถึอย่างนั้นเตยก็ยังชื่นชอบงานศิลปะ แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเองว่า เธอไม่มีทางสร้างสรรค์งานศิลปะได้หรอก

Herbaria Studio

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เตยเริ่มต่อสู้กับความกลัวในจิตใจตัวเอง เริ่มต้นจากการเข้าร่วมคลาสเรียนภาพวาดวิทยาศาสตร์ เตยย้อนกลับไปเล่าเรื่องในคลาสให้ฟังด้วยรอยยิ้ม ในคลาสเรียนนั้นเธอเป็นเพียงแค่นักวิทยาศาสตร์ผู้อยากวาดภาพเฉยๆ ขณะที่คนในคลาสส่วนใหญ่คือศิลปินที่อยากฝึกทักษะวาดภาพวิทยาศาสตร์ คำศัพท์ทางเทคนิคเกี่ยวกับศิลปะต่างๆ ไหลเวียนวนอยู่ในคลาส แม้ตอนแรกเตยจะไม่เข้าใจ จนเวลาผ่านไปสักพักก็ค้นพบว่าเธอเองก็ทำได้

Herbaria Studio

หลังจากนั้นเตยเริ่มซื้อสมุดสเกตช์มาวาดภาพ แต่เมล็ดพันธุ์ในใจเตยยังไม่เคยจางหายไปไหน ถึงจะหลงลืมไปได้แต่ก็แค่ชั่วคราว ทว่า เมื่อเตยลองหยิบดินสอมาเริ่มร่างภาพ ความกลัวว่าภาพที่ออกมาต้องไม่สวยแน่เลย ยังกัดกินหัวใจเตย

“เตยนั่งมองสมุดสเกตช์อยู่ 2 อาทิตย์ เหมือนกับเตยสู้ระหว่างความกลัวของตัวเองอยู่ กับใจของเตยที่อยากลองวาดภาพดู จนผ่านไปสักพัก เตยก็มานั่งคิดว่า สมุดสเกตช์เล่มนี้เตยไม่ได้จะไปโชว์ใครอยู่แล้ว วาดไม่สวยก็ไม่เป็นไรหรอกมั้ง อีกอย่างก็เพิ่งจะหัดวาดเอง ไม่ใช่ศิลปินสักหน่อย” หลังจากนั้นเตยก็เริ่มวาดภาพ พอเดินทางไปไหนก็จะหยิบสมุดสเกตช์พร้อมสีติดตัวไปด้วย

Herbaria Studio

เตยอนุญาตให้เราเปิดสมุดสเกตช์ดู เธอไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในการวาดภาพ บางทีก็วาดบรรยากาศในร้านคาเฟ่ที่ชอบไปนั่ง เมนูอาหาร ต้นไม้ ดอกไม้ วาดภาพสิ่งรอบตัว สิ่งที่เจอแล้วชอบ บางหน้าทดลองระบายสี ขณะที่บางหน้านำดอกไม้แห้งมาแปะไว้ บางทีก็เขียนบรรยายความรู้สึกลงไปด้วย เป็นเสมือนสมุดบันทึกที่ผสมผสานการวาดภาพไว้ด้วยกัน ไม่ได้กดดันตัวเองที่ต้องวาดภาพตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยจนไม่วาดอะไรเลย

“ถึงวันนี้วาดภาพไม่สวยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเตยวาดทุกวัน ภาพท้ายเล่มต้องสวยกว่าหน้าแรกแน่นอน”

Herbaria Studio

แม้ Herbaria Studio เป็นสตูดิโอสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ และเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมเวิร์กช้อป แต่เตยก็โอบรับทั้งผู้ที่สนใจอยากสร้างสรรค์งานศิลปะ คนอยากทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งศิลปินที่อยากรู้จักดอกไม้ไทย รวมไปถึงสอนขั้นตอนการทำพันธุ์ไม้แห้ง เตยยังคงยืนยันกับเราว่า ยังไม่มั่นใจในสกิลศิลปะของตัวเองขนาดนั้น แต่เตยมีวัตถุดิบเป็นความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อยู่ในมือ จึงอยากสื่อสารออกไปว่า ดอกไม้ไทยและพืชสมุนไพรใกล้ตัว มันน่ารักขนาดไหน สามารถเอาไปอยู่ในงานของทุกคนได้ และเธอยินดีที่จะช่วยแนะนำต้นไม้ การแยกประเภท รวมไปถึงเรื่องเทคนิคต่างๆ

“การมาอยู่ตรงนี้ เตยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นศิลปินเลยนะ รู้สึกเหมือนเป็น Science Communicator มากกว่า บางครั้งความรู้ทางวิชาการมันเข้าไม่ถึงสำหรับคนทั่วไป อาจจะดูเนิร์ดเกินไป ส่วนศิลปะบางครั้ง ก็อาจจะอาร์ตเกินไปจนคนเข้าไม่ถึง เตยก็เลยนำศิลปะมาเป็นเครื่องมือ ใช้เล่าเรื่องวิชาการให้ง่ายขึ้น”

Herbaria Studio

เตยเสริมต่อว่า Herbaria Studio เน้นสอนหลักการ และใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อง่าย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกหาซื้อเองต่อได้แม้จบคลาสแล้ว รวมถึงถ้าใครมีคำถาม หรือต้องการปรึกษาเพิ่มเติมก็ทักมาได้เลย ที่นี่ไม่ได้หวงห้าม แถมยังส่งเสริมให้นำองค์ความรู้ที่เรียนไปต่อยอดในงานศิลปะของตัวเอง หรือใครอยากจะประยุกต์จากสิ่งที่เรียนไปทำสินค้าขาย เตยก็ยินดีมากๆ เช่นกัน และถ้าใครอยากรู้เนื้อหาด้านไหนเป็นพิเศษก็บอกได้เลย รับรองว่าในคลาสจะให้ความรู้แบบจัดหนักจัดเต็มแน่นอน

Herbaria Studio

Herbaria Studio

Joyful Flowers

นอกจากการสอนเวิร์กช้อป The Joy of Herbarium เก็บรักษาดอกไม้ในรูปแบบ Dry Pressed Flowers เรียนรู้ทั้งขั้นตอนการทับดอกไม้แห้งและการทำกรอบดอกไม้แห้ง ที่เปิดเป็นประจำทุกเดือนแล้ว เตยยังเคยพา Herbaria Studio ไปโลดแล่นใน Bangkok Illustration Fair (BKKIF) และค้นพบว่า ศิลปินไทยวาดรูปสวยมาก แต่ทำไมถึงนิยมวาดแค่ดอกไม้เมืองนอกกันนะ ทำไมถึงไม่เป็นเฟื่องฟ้า ทองอุไร เข็ม ชมพูพันธุ์ทิพย์ที่เราคุ้นตา หรือดอกไม้ทั่วบ้านที่เรารู้จัก

Herbaria Studio

“ศิลปินเขาไม่รู้จะวาดต้นอะไร เขาอาจจะไม่รู้จักต้นไม้ท้องถิ่น เตยก็มานั่งคิดต่อ ด้วยความที่เตยชอบพันธุ์ไม้ไทยอยู่แล้ว บวกกับเราอยู่ในวงการพฤกษศาสตร์และพืชสมุนไพรมานานกว่า 15 ปี งั้นเวิร์กช้อปจะสอนทับดอกไม้เป็นหลักแล้วกัน ถ้าศิลปินนำเทคนิควิธีทับดอกไม้แบบที่เตยสอนมาปรับใช้ เตยเชื่อว่าเขาสามารถนำไปต่อยอดเป็นงานศิลปะแขนงอื่นที่เขาถนัดต่อไปได้อีก และอาจจะสวยกว่างานที่เตยทำด้วย แล้วในคลาสก็มีสอดแทรกเรื่องพฤกษศาสตร์ไว้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ไม้รอบตัว”

เตยหยิบกรอบรูปบนหัวเตียงมาโชว์ด้วยรอยยิ้ม มันคือกรอบรูปที่ทำมาจากวัชพืชรอบบ้าน เธอพาเราทักทายวัชพืช ไม่น่าเชื่อว่าหญ้าที่เราเคยเห็นตามข้างทางจะมีชื่อเรียกเยอะแยะขนาดนี้ ทั้งหญ้าไข่เหา หญ้าตีนกา หญ้าแห้วหมู รูปร่างคุ้นตาแต่ไม่คุ้นชื่ออยู่เต็มไปหมด ถ้าเจอข้างนอก เรามองผิวเผินคงมองไม่เห็นความแตกต่างขนาดนี้ แต่เมื่อวัชพืชต้นเล็กๆ มาอยู่รวมกัน ถึงได้เห็นความน่ารักของพวกมันชัดเจนขึ้น

Herbaria Studio

“ตอนไปออกงาน BKKIF คำถามที่เจอตลอดคือดอกไม้ไหนมีความหมายว่าอะไรบ้าง คือสำหรับเตยนะ เรื่องความหมายของดอกไม้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมตะวันตกด้วย เช่น กุหลาบแดงแสดงถึงความรัก ไอริสแสดงถึงความหวัง เบญจมาศเกี่ยวข้องกับความตายและการไว้ทุกข์ แต่ของไทยเราไม่ได้มีนิยามความหมายดอกไม้แบบนั้น อาจจะมีบ้างที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่นดอกบัว

“เตยคิดว่าดอกไม้น่ารักตามแบบของมันอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องใส่เรื่องราวเข้าไปทีหลัง เตยอยากให้คนโฟกัสลักษณะของดอกไม้ที่ชอบ กับความตั้งใจของคนที่มอบให้มากกว่า”

Herbaria Studio

ทุกคนรู้ไหมว่า ประเทศไทยไม่มีใบโคลเวอร์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าคุณเคยเห็นต้นที่ดูคล้ายกันในประเทศเรา โปรดสร้างความเข้าใจนั้นใหม่ มันคือต้นส้มกบ!

‘Botanical Neighborhood’ ซีนเล่มแรกของ Herbaria Studio รวบรวมทั้งภาพถ่ายและภาพงานเฮอบาเรียมของต้นไม้ ดอกไม้ วัชพืชเพื่อนบ้านรอบตัวเรา และข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ที่เตยสอดแทรกไว้แบบสนุกสนาน คอยให้ความรู้เหมือนกับที่ตอนนี้เราแยกส้มกบกับใบโคลเวอร์ออกแล้วนะ

Herbaria Studio

เป็นซีนเล่มเล็กๆ แต่อัดแน่นด้วยความน่าสนใจ เตยมัดรวมเหล่าต้นไม้ที่หลายคนน่าจะสับสนจนเคยเรียกผิดกันไปบ้าง การแยกต้อยติ่งกับต้อยติ่งฝรั่ง เมล็ดต้อยติ่งตัวไหนจะเป๊าะแป๊ะกันนะ บางหน้าก็เป็นต้นไม้ที่เตยเจอข้างทางแล้วเก็บกลับมาทับ หรือบางหน้าก็เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับหญ้า เอามาเทียบกันให้เห็นชัดๆ เลยว่าหญ้าแถวบ้านเรามันมีกี่ชนิด มีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง

“มันไม่ใช่แค่ดอกไม้ไทยที่น่ารักนะ พวกวัชพืชบ้านๆ ก็สวยมากเหมือนกัน เอาจริง ตอนนี้เตยเหมือนกำลังเผยแพร่ลัทธิก้มๆ เงยๆ พาชี้จุดเก็บพาเด็ดหญ้าตามสนามเลย (หัวเราะ)”

Herbaria Studio

แรงบันดาลใจอีกหนึ่งสิ่งของ Botanical Neighborhood มันก่อสร้างมาจากการที่เตยซื้อหนังสือเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ มาทดลองเกตช์ภาพตามความสนใจส่วนตัว โดยเฉพาะ The Botanical City หนังสือจากสวนพฤกษศาสตร์ Kew ประเทศอังกฤษ เล่าถึงพืชป่าของลอนดอนในรูปแบบวินเทจ ข้างในมีเนื้อหาและภาพประกอบชวนอ่าน เตยรับแรงบันดาลใจจากเล่มนี้ จนอยากสร้างสรรค์ให้มี The Botanical City ฉบับกรุงเทพฯ

Herbaria Studio

ฟังเตยพูดเรื่องดอกไม้มาเยอะแล้ว แล้วดอกไม้ชนิดไหนกันนะที่เธอชอบเป็นพิเศษ

เตยนั่งนึกไปสักพัก แล้วตอบแบบจริงใจคือชอบหลายชนิดมาก แต่ถ้าให้เลือกแบบไวๆ เธอขอยก ‘ดอกผักชีล้อม’ เป็นคำตอบ ดอกสีขาวขนาดเล็กรูปทรงช่อซี่ร่ม มีดอกย่อยเล็กๆ ซ้อนกันอยู่ ชอบมากถึงขนาดที่เอาดอกผักชีล้อมของจริงมาให้ช่างทำเล็บติดใส่เล็บเจล ทำเอาช่างทำเล็บถึงกับชื่นชมความสร้างสรรค์และความน่ารักของ ‘โคกกระออม’ ก็ทำเอาเตยหวั่นไหวจนต้องยกมาพูดถึงหน่อย ขั้วเมล็ดเป็นทรงรูปหัวใจ ผลพองๆ กลมๆ ถึงจะเป็นวัชพืชแต่น่ารักจนมัดหัวใจเธออยู่หมัด

Herbaria Studio

ทั้งดอกไม้ในเวิร์กช้อปและดอกไม้ที่เตยชอบ ล้วนเป็นดอกไม้ วัชพืช และสมุนไพรรายล้อมรอบกายเรา ยอมรับว่าในตอนแรกเราไม่ได้สังเกตการมีอยู่ตามข้างทางเลยด้วยซ้ำ มองข้ามความสวยงามของมันไป พอเตยหยิบจับดอกไม้ท้องถิ่นเหล่านี้ มาทับเก็บความน่ารักให้คงอยู่ต่อไปในรูปแบบดอกไม้แห้ง ทำให้เรามีโอกาสตั้งใจมองพวกมันอีกครั้ง แล้วความน่ารักของเจ้าดอกไม้พวกนี้ ก็ไม่แพ้พวกดอกไม้ยอดฮิตในปากคลองตลาดเลย

Herbaria Studio

The Beauty of Nature

“เตยทำงานด้านวิชาการได้ดี ส่วนศิลปะคือเตยชอบอยู่แล้ว แค่ไม่มั่นใจว่าจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดีไหม แต่พอมาทำ Herbaria Studio เหมือนเป็นจุดบาลานซ์ตรงกลางระหว่าง 2 อย่าง สิ่งที่เป็นหน้าที่กับสิ่งที่ชอบ”

แล้วใช้เวลานานไหมกว่าจะหาเจอ

“ก็เพิ่งหาเจอเหมือนกัน (หัวเราะ) เตยมีความไม่มั่นใจเป็นของตัวเอง แต่พอเตยมาทำตรงนี้แล้วมีคนชอบ ไปออกงานในฐานะศิลปิน แล้วมีคนมาซื้องานเพราะมันสวยจริงๆ เตยก็เริ่มมีกำลังใจทำต่อ กลายเป็นไปต่อได้ เตยกลับมาคิดว่างั้นไม่ต้องวาดรูปเก่งมากก็ได้ เอาวัตถุดิบรอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน Illustration ก็ได้ ตอนนี้ Herbaria Studio เหมือนพื้นที่ฮีลใจ และคอยให้กำลังใจตัวเองด้วย แต่ก็ยังเปิดมาไม่ถึงปีเลย ต้องพัฒนาอีกเยอะ”

Herbaria Studio

เวิร์กช้อปของ Herbaria Studio อบอุ่นหัวใจมาก ถึงแม้เตยสอนเทคนิคการทับดอกไม้ แต่ในเวิร์กช้อปทุกคนสามารถรังสรรค์วิธีการทับดอกไม้ตามความชื่นชอบได้เลย เราคิดว่านี่คือการเคารพวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบของเตย ไม่ตัดสินว่าทำไมต้องทับแบบนี้แบบนั้น ไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในกรอบ เพราะศิลปะสะท้อนตัวตนของเรา และนี่คือพื้นที่แสดงตัวตนผ่านการสร้างสรรค์กรอบรูปดอกไม้แห้ง งานอาร์ตแฮนด์เมดชิ้นเดียวในโลก

นอกจากคำถามความหมายของดอกไม้ อีกหนึ่งสิ่งที่เตยเจอเสมอคือ สีของดอกไม้จะอยู่แบบนี้ตลอดไปไหม แน่นอนว่าเมื่อเป็นของจากธรรมชาติ มันไม่คงอยู่ตลอดไปอยู่แล้ว เติบโต ผลิบาน และร่วงโรยตามวัฏจักรแห่งชีวิต สีสันอาจไม่สดใสตลอดไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและการเก็บรักษา บางชนิดเวลาผ่านไปเป็นเดือนถึงเริ่มเฟดกลายเป็นสีน้ำตาลบ้าง ส่วนบางชนิดอยู่ได้หลายปี แต่ถึงแม้สีจะซีดหรือจางลงไป ดอกไม้แห้งจะยังคงรูปร่างตราบเท่าที่เราเก็บรักษาให้ห่างจากความชื้นและแมลง

สุดท้ายถึงแม้ดอกไม้จะเหี่ยวแห้งและร่วงโรยลงไป แต่ดอกไม้ในหัวใจของผู้รับยังคงบานสะพรั่งอยู่ในความทรงจำตลอดไป

Herbaria Studio จัดเวิร์กช้อป ‘The Joy of Herbarium’ สอนวิธีการทำดอกไม้แห้ง และทำกรอบรูปดอกไม้แห้ง ทุกเดือน เดือนละ 2 รอบ แบ่งเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย ณ ร้านกาแฟ Lilou & Laliart Coffee ซอยอารีย์สัมพันธ์ 10 สามารถติดตามรายละเอียด และเช็กกำหนดการเวิร์กช้อปในแต่ละเดือนได้ที่ IG/FB/TikTok : Herbaria Studio

Tags: