

Ocean Artistry
U-Talay Studio งานคราฟต์น่ารักจากขยะทะเล โดยศิลปินจิ๋วบนเกาะสุกร จ.ตรัง
- ออย-รุ่งกานต์ ศรีเพชร ศิลปินสาวตั้ง ‘อยู่ทะเลสตูดิโอ’ (U-Talay Studio) เพื่อใช้ศิลปะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและจัดการขยะทะเล บนเกาะสุกร จ.ตรัง เธอสอนศิลปะและชวนเด็กและเยาวชนกว่า 20 คน ช่วยกันเปลี่ยนขยะทะเลเป็นงานคราฟต์น่ารักๆ จนกลายเป็นสินค้ายอดนิยม เด็กๆ ได้ความภูมิใจและชุมชนได้พัฒนาอย่างยั่งยืน
ขอปลอมตัวเป็นปลาสายลับบุกเกาะสุกร จ.ตรัง พูดคุยกับ U-Talay Studio สตูดิโอสร้างสรรค์งานคราฟต์จากขยะทะเล พาชมผลงานสวยๆ ที่สร้างขึ้นจากสองมือของศิลปินตัวจิ๋ว และสำรวจเรื่องราวเบื้องหลังผลงานแต่ละชิ้นกัน
จากหัวใจสู่ชายหาด
‘อยู่ทะเลสตูดิโอ’ (U-Talay Studio) ก่อร่างจากไอเดียของ ออย-รุ่งกานต์ ศรีเพชร ศิลปินผู้ร่ำเรียนจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนกระทั่งย้ายกลับมาสู่เกาะสุกรเพื่อมาดูแลธุรกิจครอบครัว หลังจากอยู่มาได้ 3 ปี ออยเห็นปัญหาบนเกาะอยู่ 2 สิ่ง คือปัญหาบุคลากรและปัญหาขยะทะเล
เกาะสุกรเป็นเกาะเล็กๆ ที่คนอายุ 20-40 ปี ส่วนใหญ่นิยมออกจากเกาะไปทำงานที่อื่นกันหมด จึงขาดแคลนกำลังคนในช่วงวัยพัฒนา ออยเล็งเห็นว่าถ้าอยากให้ชุมชนพัฒนาต่อได้ บุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ เลยโฟกัสไปที่ ‘เยาวชน’ ซึ่งมีประมาณ 300 คน และปัญหาขยะทะเลที่ทุกชุมชนชายฝั่งทะเลต่างต้องเคยเผชิญ ออยจึงจับสองปัญหานี้มาเชื่อมโยงกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกาะสุกร
ศิลปะจากขยะทะเล
ออยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้ชุมชนบนเกาะสุกรเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ ‘ขยะทะเล’ ที่มีอยู่มากมายบนเกาะ มาแปรรูปเปลี่ยนสภาพ เพนต์สีใส่ไอเดียให้กลายเป็นงานคราฟต์ที่น่ารักมาก
“เริ่มแรกออยสอนศิลปะเบื้องต้นให้เด็กๆ แล้วก็สอนให้เขาเห็นคุณค่าของขยะหรือวัตถุดิบบนชายหาด มีอะไรบ้างที่เราหยิบขึ้นมาแล้วช่วยเพิ่มมูลค่าให้ได้ เช่น พลาสติกต้องเก็บและคัดแยกยังไง ไม้ลอยทะเลเอามาทำอะไรได้บ้าง” จากตอนแรกมีเด็กๆ อยู่ทะเลเพียง 4-5 คน สู่ปัจจุบันมีเด็กอยู่ทะเลรวมทั้งสิ้นเกือบ 20 คน เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 8 ขวบไปจนถึง 25 ปี
“ออยอยากโฟกัสเรื่องการปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้กลายเป็นศิลปินตัวอย่าง เพื่อเผยแพร่เรื่องการเก็บขยะมาแปรรูปให้เป็นงานคราฟต์เชิงสร้างสรรค์ ถ้าเด็กอยู่ทะเลเพิ่มจาก 20 เป็น 100 คน กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับหลายชุมชนชายฝั่งมากขึ้น”
สมบัติจากท้องทะเลที่ใครๆ ก็หลงรัก
“เวลาเด็กอยู่ทะเลเดินไปตามชายหาดเพื่อค้นหาวัตถุดิบ เขาก็จะจินตนาการต่อยอดไปอีกว่า ขยะเหล่านี้สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นอะไรได้อีกบ้างนะ ส่วนวัตถุดิบหลักที่ใช้สร้างผลงานคือ ‘ไม้’ นำมาดัดแปลงเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นคอลเลกชันสินค้าประติมากรรมลอยตัว พวงกุญแจ สิ่งของตกแต่งบ้าน ขณะที่ ‘ขยะประมง’ ไม่ว่าจะอวน ทุ่นลอยน้ำ ไซดักปลา นำมาทำเป็นกระเป๋าเย็บติดกับผ้าปาเต๊ะ บางส่วนก็นำไปประกอบชิ้นงานประติมากรรม
สินค้าของอยู่ทะเลสตูดิโอแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดของที่ระลึก มีพวงกุญแจ ที่แขวนกุญแจรูปบ้าน หมวดเครื่องประดับ เป็นการนำ Sea Glass เอามาดัดแปลงเป็นต่างหูหรือสร้อยคอ ออยเสริมเพิ่มเติมว่า คนจีนนิยมซื้อกำไลข้อมือจากลูกตุ้มถ่วงสายตกปลามาก เพราะมีความเชื่อเรื่องการค้าขาย และหมวดของแต่งบ้าน งานประติมากรรมลอยตัว พวกรูปปลาแปลกที่ทำจากไม้เรือ สามารถนำไปวางประดับบ้าน หรือแขวนโชว์บนฝาผนังก็ย่อมได้
ศิลปินจิ๋ว…เมล็ดพันธุ์แห่งความภูมิใจ
“ตอนแรกออยคอยละลายพฤติกรรมของเด็กๆ โดยบอกว่างานของเขาไปไกลถึงต่างประเทศเลยนะ ขายได้ราคาด้วย และลูกค้าชอบอีกต่างหาก ทีนี้พอออยสร้างจิตสำนึกให้เด็กๆ ภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง พอเขามีสองสิ่งนี้ โตไปเขาจะทำได้ทุกอย่างเลย”
สุดท้ายเราให้ออยพูดถึงสินค้าขายดีประจำอยู่ทะเลสตูดิโอ ออยยกคอลเลกชัน ‘ปลาแปลก’ ของตกแต่งบ้านขึ้นมา มันคือปลารูปทรงต่างๆ มีอ้าปากบ้าง บางตัวมีฟัน เพนต์สีตามใจเด็กๆ ซึ่งเวลาลงขายสินค้า ออยก็จะระบุด้วยว่า ผลงานชิ้นนี้ ศิลปินคนไหนเป็นคนทำ เพราะบางทีลูกค้าตามสนับสนุนและสะสมคอลเลกชันจากศิลปินคนโปรดอยู่
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครอยากสนับสนุนศิลปินตัวจิ๋วสามารถอุดหนุนได้ที่ บ้านข้างวัด จ.เชียงใหม่, ไอคอนสยาม หรือทักอินบอกซ์ U-Talay Studio โดยตรงได้เลย มาสนับสนุนผลงานที่สร้างสรรค์จากสองมือของเด็กๆ กัน
ขอบคุณภาพ : U-Talay Studio
สามารถติดตามงานคราฟต์สุดน่ารักจาก U-Talay Studio ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/profile.php?id=61567215572488
Instagram: https://www.instagram.com/u_Talay_studio