Old Buildings Must Not Die
Handigraph ตัวปั๊มลายตึกเก่าจากการแกะยางลบ คราฟต์ของคนซนๆ ที่ชอบสถาปัตยกรรม
- ค้นลิ้นชักผลงานของโอ๋-จิตตินันท์ จิตรประทักษ์ ส่องดูพัฒนาการแกะยางลบจากตัวอักษรถึงตัวตึกเก่าในไทยและต่างประเทศ เปิดหนังสือสถาปัตยกรรมบางเล่มบนชั้นหนังสือ สาธิตการแกะสลักด้วยคัตเตอร์นิดหน่อย แล้วพูดคุยถึงการทุบตึกเก่าพอหอมปากหอมคอ
ใครจะไปคิดว่าการแกะยางลบจะกลายเป็นงานอดิเรกไปได้ ยังไม่นับว่ามีผลิตภัณฑ์ยางลบสำหรับแกะโดยเฉพาะด้วยนะ
ขึ้นชื่อว่างานคราฟต์ ภาพในหัวคงฉายงานฝีมือหลากประเภทตามความคุ้นเคย น้อยคน (หรืออาจไม่มีเลย) ที่จะนึกถึงการแกะยางลบ แต่ขอบเขตของงานคราฟต์ควรถูกสงวนไว้ให้งานเฉพาะอย่างจากเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้นหรือเปล่า
โอ๋-จิตตินันท์ จิตรประทักษ์ ดึงเอาตึกเก่าดีไซน์เป็นเอกลักษณ์มาจับกับการแกะยางลบ งานคราฟต์ยุคใหม่ที่เข้าถึงง่าย ทำได้ทุกคน และหลายคนอาจจะเคยทำมาแล้วด้วยซ้ำในตอนที่ยังเป็นเด็ก
“ตอนตั้งชื่อนึกถึงคำว่า Handicraft กับ Graphic รวมกัน มันเป็นงานกราฟฟิกที่ทำด้วยมือ ก็เลยเป็นชื่อ Handigraph”
คุยไปคุยมา จากหัวข้อดีไซน์อาคารและการแกะตัวปั๊มก็ลงลึกถึงความเป็นอยู่ของผู้คนที่แฝงในสถาปัตยกรรม แล้วลงลึกกว่านั้นคือกรณีการจากไปของ ‘สกาลา’ รวมถึงการจากไปของเจ้าของผลงาน นำไปสู่หัวข้ออนุรักษ์ตึกเก่าอย่างเป็นธรรมชาติ
โอ๋ทั้งย่อส่วนอาคารมาเป็นลายปั๊มสีสวยชวนมอง ทั้งยังย่อยข้อมูลสถาปัตยกรรมมาเล่าต่อ ชวนให้มองตึกรามบ้านช่องสนุกขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเรื่องของตึกก็เหมือนการแกะยางลบ มันเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ทุกคนล้วนสัมผัสมาแล้วทั้งนั้นโดยไม่รู้ตัว
สัมผัสตึกเก่า
สมัยเด็กๆ ใครเคยแกะยางลบเล่นตอนเรียนน่าจะเข้าใจความรู้สึกมันมือนั้นได้ไม่ยาก
โอ๋บังเอิญเห็นตัวปั๊มจากยางลบของญี่ปุ่น ผลงานชิ้นเล็กๆ สะกิดต่อมบางอย่างในใจให้ลองทำบ้าง จากตัวปั๊มอย่างง่ายรูปดอกไม้ ตัวเลข ตัวอักษร ก็กลายเป็นตัวปั๊มอาคารหลากสัญชาติจากหลายยุคสมัยตามความชอบส่วนตัว งานอดิเรกนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงที่โอ๋เป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เคยตามซื้อยางลบราคาถูกจากสำเพ็งมาใช้ จนถึงวันนี้เวลาก็ล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว
“ตอนเริ่มทำเราอยากทำอาคารในไทย เราว่าไทยไม่ค่อยมีงานคราฟต์ยุคใหม่ที่แสดงความเป็นไทยขนาดนั้น” โอ๋เล่ามุมมองต่อการผสานการแกะสลักยางลบเข้ากับสถาปัตยกรรมไทยเสร็จ ก็แชร์ความรู้สึกต่อทันที “เวลาไปเที่ยวตามอาคารเก่าๆ เราจะรู้สึกถึงความพิเศษของมัน มันมีรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์ เราว่ามันสวยดี”
ฉากหน้าคือดีไซน์สวยงาม เบื้องหลังคือความเป็นอยู่ของผู้คน
โอ๋ทยอยแนะนำอาคารเก่าจากสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่พบมากในบรรดาตัวปั๊มของเธอ เริ่มจากบ้านมนังคศิลา
“ยุคนั้นมีช่างฝรั่งเข้ามาเยอะ อาคารก็ได้รับอิทธิพลจากทางฝรั่งเยอะ แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศบ้านเรา มีชายคาที่เข้ากับความเป็นอยู่ในเมืองร้อน” โอ๋ชี้ชายหลังคาของตึกให้ดูอย่างตื่นเต้น
ตึกถูกออกแบบมาเพื่อคน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน มันก็เป็นแบบนั้นเสมอมาและจะเป็นแบบนั้นตลอดไป
“สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่คนรู้สึกได้ เวลาเข้าไปในอาคารจะเกิดความคิดว่า โปร่งจัง ลมดีจัง วันที่เขาได้สัมผัสมัน เขาจะเข้าใจ”
แกะตึกเก่า
อาคารตั้งใหญ่ยัดลงไปอยู่ในก้อนยางลบได้ยังไงกันนะ
“ข้อจำกัดคือขนาดยางลบ ขนาดใหญ่ที่สุดที่หาได้คือ 10×15 เซนติเมตร เราจะพยายามไม่ให้ใหญ่เกินไป เพราะส่วนตัวมองว่าไม่น่ารัก และจะพยายามไม่ให้เล็กเกินไป เพราะถ้าเล็กเกินไปก็ตาเหลือก แกะไม่ได้” โอ๋หัวเราะเสียงดัง
ลายปั๊มถูกกำหนดด้วย 2 ขั้นตอน คือการลดทอนรายละเอียดและการบาลานซ์ช่องเปิดกับช่องทึบ
การลดทอนรายละเอียดจำเป็นเมื่อต้องลดขนาดอาคาร ถ้าแพตเทิร์นเป็นเส้นถี่ๆ ก็ลดจำนวนเส้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างระหว่างเส้น วิธีนี้จะเก็บแพตเทิร์นของตึกไว้ได้ชัดเจน และช่วยให้แกะยางลบง่ายขึ้นด้วย ส่วนมุขตรงหน้าต่างจะถูกแกะโครงโค้ง แต่ไม่แกะรายละเอียดในมุข
“ถ้าเราวาดแล้วเห็นเป็นเส้นก็แกะได้ แต่ถ้าเส้นเบียดกันจนไม่เห็นเป็นเส้นก็แกะไม่ได้”
การบาลานซ์ช่องเปิดกับช่องทึบเท่ากับการทำบาลานซ์สัดส่วนสีเข้มกับสีสว่าง โดยช่องเปิดคือส่วนที่ไม่ติดสี ปั๊มออกมาแล้วจะเกิดพื้นที่สีขาว ส่วนช่องทึบคือส่วนที่ติดสี ปั๊มแล้วทำให้เกิดลาย
โอ๋ชี้ลายปั๊มรูปวังพญาไทที่หลังคาและผนังเป็นช่องทึบ ส่วนหน้าต่างหลายบานเป็นช่องเปิด จากนั้นชี้บ้านสุริยานุวัตร เธอเลือกให้หน้าต่างเป็นช่องทึบ ส่วนผนังเป็นช่องเปิด เพราะอาคารหลังนี้มีจำนวนหน้าต่างน้อย
จากนั้นโอ๋ยกอุปกรณ์ออกมาโชว์ เริ่มจากกระดาษลอกลาย ดินสอ 3B ซึ่งเข้มพอจะขูดลายให้ติดบนก้อนยางลบ ยางลบสำหรับแกะตัวปั๊มยี่ห้อ Daiso และคัตเตอร์ที่เธอบอกว่าจับถนัดมือเหมือนจับปากกา เธอจึงไม่ใช้สิ่วขนาดเล็กสำหรับขูดยางลบแบบที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้
น่าเสียดายที่หลายคนดันมาตกม้าตายตอนปั๊ม ขนาดใหญ่กว่าตัวปั๊มทั่วไปเป็นอุปสรรคต่อการกดสีให้สม่ำเสมอ ไหนจะน้ำหนักกดที่อาจทำให้ขอบบางๆ บิดเบี้ยวได้ บางทีอาจถึงขั้นทำให้ยางลบขาด ระดับความลึกและความตื้นของการแกะยางลบจึงมีผลอย่างมาก ต้องยอมรับว่า งานอดิเรกของโอ๋ประณีตกว่าที่ตาเห็นอยู่มากโข
เวิร์กช้อปภายใต้แบรนด์ Handigraph จึงสร้างความท้าทายให้โอ๋ในฐานะผู้สอน ลวดลายของอาคารถูกลดทอนรายละเอียดลงให้เหมาะสมกับผู้เริ่มต้นแกะยางลบ
“เราอยากให้เขารู้สึกว่า ใครทำก็ได้ เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะอินกับอาคาร มันเป็นความชอบส่วนบุคคล แต่ในแง่ของสกิลที่เขาได้รับ เขาจะไปแกะยางลบเป็นอย่างอื่นก็ได้”
ส่วนโอ๋เองก็ยังคงแกะตึกเก่าต่อไปเท่าที่กำลังสายตาจะไหว (เธอว่าอย่างนั้น) งานอดิเรกนี้มอบความสุขให้กับโอ๋ มันเป็นความสุขประเภทที่ทำตอนตี 1 ได้แบบไม่ฝืน ดึกดื่นแค่ไหนก็อยากใช้เวลากับมัน
เก็บตึกเก่า
โอ๋ออกตัวว่าวาดรูปไม่เก่ง แม้เธอเรียนคณะที่ใครๆ ก็คิดว่าต้องชำนาญด้านการวาด เธอใช้แบบอาคารมาเป็นทางออกสำหรับวาดลายอาคาร เพราะคุ้นเคยกับการหาข้อมูลประเภทนี้อยู่แล้ว
“แต่ประหลาดใจที่อาคารสำคัญๆ กลับไม่มีข้อมูล บ้านบรรทมสินธุ์ยังหาข้อมูลไม่ได้เลย” โอ๋พูดถึงบ้านคู่บุญกับบ้านนรสิงห์ที่มีชื่อเสียงจากการใช้เป็นทำเนียบรัฐบาล
หัวลำโพงเอย พระที่นั่งอนันตสมาคมเอย การจะได้มาซึ่งแบบอาคารดังเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนอาคารนอกสายตานั้นตรงกันข้าม โอ๋สะท้อนการเก็บข้อมูลอาคารในไทยผ่านอุปสรรคที่เธอเจอ
หนังสือเก่าจึงเป็นเหมือนสมบัติล้ำค่า โอ๋มักซื้อเก็บไว้แม้ว่าหมึกสีซีดจาง และเธอก็มีหนังสือของสมาคมสถาปนิกสยามเป็นคลังข้อมูลหลัก
ตอนได้ข่าวว่าโรงหนังสกาลาจะไม่อยู่แล้ว รู้สึกยังไง – เราถาม
“โห มันเศร้านะ สถาปัตยกรรมอย่างนี้ไม่ยอมเก็บไว้ก็ไม่รู้จะพูดยังไงเหมือนกัน สถาปัตยกรรมบ้านเรามันดี และสิ่งเหล่านี้ทำใหม่ไม่ได้แล้ว ต่อให้มีเงิน คุณจะไปหาช่างที่ไหน”
เพดานดาวยิ่งใหญ่ของสกาลายังคงติดอยู่ในความทรงจำของผู้คน ‘ราชาโรงหนังแห่งสยาม’ นี้เป็นผลงานออกแบบของพันเอกจิระ ศิลป์กนก ผู้เสียชีวิตไปกว่าทศวรรษแล้ว
โอ๋บรรยายเสริมความเก๋าของนักออกแบบผู้นี้ โดยยกพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ประจำจังหวัดขอนแก่นเป็นตัวอย่าง เธอมีโอกาสได้สำรวจมันทุกซอกทุกมุม เพราะไปในฐานะสถาปนิกจากบริษัทที่รับงานรีโนเวตอาคารสไตล์โมเดิร์นหลังนี้
“ระบบทุกอย่างชัดเจน มันเห็นความตั้งใจของคนดีไซน์ เราช็อกมากที่เขาซ่อนรางน้ำไว้ในเสา ต้องฝังท่อไว้ในเสาโครงสร้างแล้วเทปูน เขาคิดมาละเอียดมาก ส่วนพื้นปลายยื่นออกมาเป็นพื้นลอย เสานอกรับแค่หลังคา เราไปดูแล้วตื่นเต้นมาก เออ มันพิเศษเนอะ
คนที่อยู่มานานก็บอกว่า เขาจำได้ว่าพื้นมันลอย แต่คนมาปลูกต้นไม้ล้อมมันก็เลยบัง พอรีโนเวต เราก็รื้อดินตรงนั้นออก เราอยากคงคุณค่าเดิมของอาคารไว้ให้ได้”
เมื่อมองเป็นงานออกแบบ อาคารก็ไม่ต่างจากผลงานศิลปะชื่อดังก้องโลกในพิพิธภัณฑ์ แต่ต่างกันตรงที่รูปวาดบนกำแพงถูกเก็บรักษาอย่างดี ในขณะที่อาคารสำคัญถูกทำลายทิ้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเกี่ยวกับงบบำรุงรักษาหรือเหตุผลใดก็ตาม หากมันหายไปก็ย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว
เรากวาดสายตามองคอลเลกชันลายปั๊มตึกเก่าในกรอบรูปก่อนกลับบ้าน แล้วเลือกหยิบโปสต์การ์ดที่ระลึกของโอ๋ติดมือมาด้วย เท้ายังไม่ทันก้าวออกจากสตูดิโอ ใจก็เริ่มวางแผนตามรอยอาคารสีสวยพวกนี้แล้ว
ติดตามผลงานและเกาะติดข่าวสารเวิร์กช็อปรอบถัดไปได้ทางนี้ Handigraph