About
DETOUR X Bangkok

Train to Thon Buri

นั่งรถไฟไปเรียนรู้ฝั่งธน สำรวจวัด ชมห้องสมุด ชุบชีวิตหนังสือ

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส Date 12-09-2022 | View 2038
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เดินทางไปกับ Library Alive ห้องสมุดมีชีวิตของ OKMD ที่ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง TK Park อุทยานการเรียนรู้ และสำนักพิมพ์มติชน พาเราเที่ยวทริปตะลอนเปิดการเรียนรู้และลงมือทำ โดยกิจกรรมมีด้วยกันถึง 7 ครั้ง
  • เราได้ไปร่วมกิจกรรมในทริปแรก ได้นั่งรถไฟ เดินสำรวจวัดราชโอรสาราม วัดเก่าแก่ที่โดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบผสมผสานระหว่างไทย-จีน อีกทั้งยังเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 3
  • เรียนรู้และแสดงฝีมือในการซ่อมหนังสือแสนรักให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทำให้เราได้เรียนรู้คุณค่า และมองเห็นสิ่งสวยงามจากการได้ลงมือทำ

เราใฝ่ฝันอยากไปทริปที่เดินทางด้วยรถไฟมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสสักที จนกระทั่งเปิดเฟซบุ๊กแล้วเลื่อนไปเจอกิจกรรม Library Alive ห้องสมุดมีชีวิต กับทริปครั้งที่ 1 กิจกรรมนั่งรถไฟไปห้องสมุด ที่จะพาทัวร์ห้องสมุด เดินสำรวจความงดงามของวัดราชโอรสาราม ปิดท้ายด้วยกิจกรรมซ่อมหนังสือแสนรัก เรารีบสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทันที เพราะความตั้งใจหลักของเรา คือเปิดประสบการณ์เพื่อเติมเต็มชีวิต

okmd 6

okmd 7

ย้อนอดีต ‘วัดจอมทอง’

ถึงจุดนัดพบหน้าสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่เวลา 7โมงเช้า แม้ฝนตกตั้งแต่เช้ามืดก็ไม่ใช่อุปสรรคเท่าไหร่ เมื่อผู้ร่วมทริปมาครบทุกคนแล้ว เรานั่งรถไฟมาลงสถานีจอมทอง ต่อด้วยเดินเท้านิดหน่อยก็ถึงวัดราชโอรสาราม

okmd 8

okmd 18

“วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในตอนแรกมีชื่อเรียกว่า ‘วัดจอมทอง’ ต้า ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แฟนพันธุ์แท้วัดไทย ไกด์พาเดินสำรวจพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับวัด  ต้าบอกว่าวัดนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดเป็นอย่างมาก ที่นี่จึงเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตรอีกด้วย

okmd 13

ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ยังทรงดำรงตำแหน่งพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระองค์ทรงเคยมาประทับที่วัดแห่งนี้ระหว่างยกทัพไปสกัดกั้นทัพพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวารที่หน้าวัดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพ อีกทั้งพระปัยยิกาของพระองค์มีนิวาสสถานอยู่ในย่านนี้ ทำให้มีพระญาติอยู่มาก พระองค์จึงทรงเกิดความผูกพัน หลังจากทรงเลิกทัพกลับพระนคร พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งหมด หลังจากบูรณะวัดเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชทานนามใหม่ให้เป็นวัดราชโอรส ซึ่งคำว่า โอรส หมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนานั่นเอง

okmd 3

ศิลปะเรอเนสซองซ์แบบสยาม

สถาปัตยกรรมและการตกแต่งของวัดราชโอรสาราม ถือว่าฉีกขนบการสร้างวัดไทยแบบดั้งเดิม ที่โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยอย่าง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เข้ามาด้วย…แต่ที่นี่ไม่มี ต้าเล่าว่า สถาปัตยกรรมของวัดได้รับอิทธิพลมาจากจีน เป็นผลพวงจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงติดต่อค้าขายกับจีนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยทรงโปรดศิลปะจีนเป็นการส่วนพระองค์ ทำให้การบูรณะวัดในครั้งนี้เน้นการตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นหลัก

okmd 4

เริ่มตั้งแต่การเลี่ยงใช้ไม้ในการสร้างโบสถ์วิหาร เพราะไม่คงทนต่อสภาพอากาศเมืองไทย และใช้เวลาก่อสร้างนานเกินไป ทรงมีรับสั่งให้สั่งทำกระจกจากจีนเพื่อใช้ประดับตกแต่งแทนการแกะสลักไม้ไทย หากเดินต่อไปจนถึงพระอุโบสถ จะเห็นการออกแบบทวารบาล ตามปรกติทวารบาลในแบบของไทยนิยมใช้ศิลาหรือหินมากกว่า แต่ทวารบาลด้านนอกของที่นี่ กลับประดับด้วยมุกรูปมังกรดั้นเมฆ ข้างๆ กันมีตุ๊กตากระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่อีก 2 ตัว ส่วนทวารบาลด้านในตกแต่งด้วยงานเซรามิกทั้งชิ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่หายากมากในยุคนั้น ซุ้มประตูเองยังเน้นลวดลายดอกไม้ ต้นไม้พันธุ์พฤกษาตามแบบของจีนมากกว่าทรงปราสาท หรือทรงบรรพแถลงตามแบบของไทย

okmd 2

okmd 17

okmd 14

 

การปฏิสังขรณ์วัดถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมในแบบ ‘พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3’ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างจากศิลปะในช่วงเวลาอื่นๆ ต้าเสริมว่าศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือเป็นยุคเรอเนสซองซ์ของสยามหรือยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการเลยล่ะ

 

ศักดิ์ศรี บุญยรักษ์โยธิน ผู้จัดการความรู้อาวุโส อุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้พูดเสริมถึงปรากฏการณ์ ‘พระราชนิยม’ ที่กลายเป็นคำเรียกยอดฮิตในช่วงรัชกาลที่ 3 ว่า “หากใครที่ได้สร้างวัดในช่วงเวลานั้น จะถือว่าเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว เท่านั้นแหละ เหล่าขุนนาง ข้าราชบริพาร รวมถึงประชาชนจึงพากันสร้าง ซ่อมแซมวัดกันเป็นจำนวนมากเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระองค์ ดังนั้นวัดส่วนมาก ในปัจจุบันที่เราเห็นกันก็มาจากรัชสมัยของพระองค์นั่นเอง”

okmd 15

ฟังตำนานรัก ‘กำไลมาศ’

เดินออกจากพระอุโบสถ ไปยังจุดพระเจดีย์ที่มีพระอัฐิของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ พระสนมเอกซึ่งเป็นรักครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 ในตอนนั้นเอง หม่อมหลวงพูนแสง (ลดาวัลย์) สูตะบุตร ได้เดินเข้ามาท่ามกลางความสนใจของทุกคน เพราะท่านคือลูกหลานจากราชสกุลลดาวัลย์ที่อยากมาเล่าตำนานรักในประวัติศาสตร์ ‘กำไลมาศ’ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับด้วยตัวเอง

“เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เป็นผู้ที่เลี้ยงดูดิฉันมาตั้งแต่ตอนดิฉันอายุ 1 ขวบ และในวันที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับถึงแก่อนิจกรรม ดิฉันก็เป็นคนที่ได้ถอดกำไลมาศออกจากมือของท่าน”

ในวันที่หม่อมราชวงศ์สดับหรือคุณป้าของท่านเข้าถวายตัวเพื่อเป็นเจ้าจอม สนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานกำไลมาศ ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้สั่งทำพิเศษเพื่อเจ้าจอมสดับโดยเฉพาะ มีคำประพันธ์ที่สลักไว้ด้านในของกำไลด้วย เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับสวมใส่มาตลอด 70 ปี ทำให้ตัวหนังสือคำประพันธ์ซึ่งเคยแจ่มชัด ถูกลบเลือนหายไป แต่ท่านก็ยังคงจำได้ขึ้นใจ

หม่อมหลวงพูนแสงจึงถือโอกาสอัญเชิญบทประพันธ์ในรัชกาลที่ 5 ที่สลักไว้รอบกำไลมาบอกเล่าให้พวกเราฟัง

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”

okmd 16

หม่อมหลวงพูนแสงเล่าต่อถึงวินาทีที่ถอดกำไลมาศนั้นออกจากข้อมือคุณป้า ซึ่งสร้างความตกใจให้ท่านอย่างมาก เพราะพระปรมาภิไธย ‘จุฬาลงกรณ์ ปร.’ ที่ท้องกำไล กลับเป็นตัวหนังสือที่เด่นชัด ไม่ได้เลือนรางอย่างที่เคยเข้าใจไว้สักนิด “ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการการพิสูจน์อีกต่อไปถึงความรักที่ทั้งสองมอบให้แก่กัน”

นับว่าเป็นเรื่องราวที่เปิดมุมมองใหม่ให้เรามาก อีกทั้งยังตรึงตราอยู่ในใจผู้ร่วมทริปอีกหลายคนด้วย การได้ฟังเรื่องราวจากหลานสาวของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เป็นโอกาสหายากและมีคุณค่ายิ่งกว่าการติดตามเรื่องราวจากหน้ากระดาษในหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นโชคดีเหลือเกิน

สำรวจห้องสมุด การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

พักกินอาหารว่างกันที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ วัดราชโอรสาราม ที่นี่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2533 และได้งบประมาณเพื่อการปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดมาตั้งแต่ปี 2559 ห้องสมุดแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นแรก มีโซนหนังสือเด็ก และโซนนิตยสารวารสาร ชั้น 2 เป็นหมวดนวนิยายแปลภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมไปถึงนวนิยายไทยอีกเพียบ ส่วนชั้น 3 เต็มไปด้วยหนังสือตำราเรียน ให้เราได้หาความรู้กันแบบจุใจ และยังมีห้องฉายภาพยนตร์อีกด้วย

okmd 11

“หนังสือทุกเล่มของที่นี่มาจากการสำรวจความสนใจของผู้ใช้ห้องสมุดและผู้คนในชุมชนละแวกนี้ เพื่อทางห้องสมุดจะได้นำหนังสือใหม่ๆ เข้ามาให้บริการคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง เรายังมีโซนแนะนำหนังสือ 10 เล่ม จากท่านชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกด้วย” ปรีดา อ่อนคง บรรณารักษ์ห้องสมุดเล่า

okmd 12

เมื่อถึงช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทุกคนก็แยกย้ายเดินไปตามโซนหนังสือเพื่อหาเล่มที่สนใจ โดยมี กอล์ฟ ณัฏฐภพ ศีระวัฒนปรีชา อาสาสมัครช่วยปฏิบัติราชการของห้องสมุดมาช่วยแนะนำหมวดหมู่อื่นๆ ไปพลางๆ

“เรามีกิจกรรมทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งสามารถติดตามได้ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก และตอนบ่ายโมงเรายังมีแอโรบิกด้วยนะ” กอล์ฟเล่า ก่อนพาเราไปดูหนังสือแนวปรัชญา หมวดนี้เขาชอบมากที่สุด บอกว่าต้องแนะนำให้ประชาชนได้รู้จัก เพราะคุ้มค่ามากหากได้ลองอ่าน

okmd 21

คืนชีวิตให้หนังสือ

มาถึงกิจกรรมที่เราตั้งหน้าตั้งตารอคอยตั้งแต่ยังไม่ก้าวเท้าออกจากบ้านเลยเชื่อไหมล่ะ… ‘กิจกรรมซ่อมหนังสือแสนรัก’ หัวใจหลักของทริปนี้ เราหยิบหนังสือแสนรักของเรา ‘เต๋าแบบหมีพูห์’ ในสภาพค่อนข้างยับเยิน มาร่วมซ่อมด้วย

เดินขึ้นไปชั้น 2 ของห้องสมุดการเรียนรู้บางบอน เจอคุณลุงวิทยากร 2 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญการซ่อมหนังสือ หนึ่งในนั้นได้เกษียณไปแล้ว หากแต่เพราะใจที่ยังรักและอยากแบ่งปัน จึงขอเป็นอาสาสมัครการสอนซ่อมหนังสือในครั้งนี้ด้วย

okmd 22

ลุงสอนซ่อมหนังสือแบบปกอ่อน ซึ่งทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด อุปกรณ์ก็ไม่เยอะจนถึงขั้นจำไม่ได้ ที่ต้องใช้คือ สว่านไฟฟ้าหรือสว่านมือ ในการเจาะรูหนังสือ ตรงนี้ลุงเน้นย้ำว่า ‘ต้องใช้สว่านเท่านั้น’ ใช้อย่างอื่นทดแทนไม่ได้ หรืออาจได้แต่เสี่ยงต่อการทำหนังสือแตกหักและใช้เวลาค่อนข้างนาน ดอกสว่านขนาดเล็กก็เพียงพอ เข็มเย็บหนังสือขนาดนิ้วครึ่ง ด้ายเย็บหนังสือ แนะนำว่าให้ใช้ธูปกับเทียนเพื่อช่วยให้ด้ายเหนียวติดกัน เวลาร้อยด้ายเข้าหนังสือต้องดึงให้แน่น ไม่เช่นนั้นเวลาเปิดหนังสือจะเห็นเส้นด้ายโผล่ออกมาระหว่างหน้ากระดาษได้ เมื่อร้อยเสร็จ ต้องมัดปมด้ายให้แน่น ส่วนค้อนมีไว้เพื่อตอกปมด้ายให้แบน กาวและแปรงทากาวใช้ทาหนาๆ ที่ขอบสันหนังสือข้างในเล่ม กระดาษเอสี่แปะทาบทับกาวให้พอดีกับขอบสันปกหนังสือข้างใน แล้วปิดปกหนังสือรอให้แห้ง แล้วใช้กรรไกรตัดกระดาษ A4 ส่วนที่ยื่นเกินออกมา เจียนเพื่อให้กระดาษพอดีกับหนังสือของเราเอง

okmd 23

okmd 20

การซ่อมหนังสือในครั้งนี้ เรามองเห็นบางสิ่งจากการได้ลงมือทำทุกๆ ขั้นตอน เราเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากคุณลุง จากเพื่อนผู้ร่วมทริป จากผู้คนรอบข้าง และจากตนเองที่พยายามซ่อมแซมหนังสือ ค่อยๆ มองสภาพเล่มที่หม่นหมองแปรเปลี่ยนไปในแบบที่มีสีสันมากขึ้น เสมือนเราได้เข้าไปเติมเต็มและคืนชีวิตชีวาให้กับหนังสือเล่มนั้นอีกครั้ง

okmd 1

okmd 5

“ในชีวิตของเรานั้น ส่วนใหญ่มักเป็นชีวิตที่รอคอยอยู่ตลอดเวลา นานๆ ครั้งจะมีสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ‘ความงามของชีวิต’ เกิดขึ้นมาได้สักครั้ง เราจึงอยากสร้างสิ่งที่เป็นความงามเชิงความรู้ผ่านกิจกรรม จึงชวนทุกคนมาร่วมกันพยายามสร้างสิ่งนั้น เราพยายามที่จะสร้างความรู้สึกอยากรู้ หรืออยากมีส่วนร่วมในความรู้ให้เกิดขึ้น เพื่อที่ทุกๆ คนจะได้ขยายความงามเชิงความรู้เหล่านั้นสู่คนอื่นๆ อย่างกว้างขวาง” โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) พูดประโยคปิดท้ายอย่างสวยงาม

okmd 19

บางสิ่งหากไม่ถูกพบ คงต้องจัดให้อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และอาจตายจากไปอย่างเงียบๆ หากแต่เมื่อใครสักคนหันไปพบเห็น เก็บเกี่ยวแล้วเผยแพร่ ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจแตกต่างไป

okmd 9

หากจะบอกว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นการคืนชีวิตและสร้างคุณค่าที่ดีให้กับห้องสมุด เราเองก็จะบอกว่า ห้องสมุดรวมถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในทริปนี้ก็ได้มอบความทรงจำที่มีคุณค่าและน่าจดจำให้แก่เราด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นทริปที่ได้ทั้งความสนุกและต่างฝ่ายต่างก็เติมเต็มให้แก่กัน


ขอบคุณภาพประกอบจาก OKMD

ทางผู้จัดยังมีกิจกรรมที่กำลังจะจัดอีก 6 ครั้งให้เข้าร่วมนะ หากใครสนใจสามารถติดตามได้ในเพจเฟซบุ๊ก OKMD

Tags: