About
DETOUR X Bangkok

วินเทจกรุงเทพฯ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Bangkok Shophouses หนังสือภาพสเก็ตช์บันทึกเรื่องราวชีวิตผู้คนหลายละแวกและย่านอาคารตึกเก่าในกรุงเทพฯ ทำให้ เวฟ สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเฟซบุ๊กเพจรีวิวหนังสือชื่อ Justread อยากออกไปเดินสำรวจตึกอาคารเก่าของกรุงเทพฯ เพื่อสัมผัสเรื่องราวอันมีเสน่ห์ในพื้นที่จริงตามที่เขาอ่าน
  • เราสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ‘เดินทางตามหนังสือ’ ที่พาผู้เข้าร่วมเดินชมย่านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นย่านวังบูรพา ย่านเจริญกรุง เสาชิงช้า ราชดำเนิน เพราะอยากรู้จักกรุงเทพฯ บ้านเกิดตัวเองให้มากขึ้น การเดินเข้าหาตึกอาคารก่าเสมือนเราได้ฟื้นคืนย่านเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และยังได้รู้ว่า ในสมัยก่อน การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯ จะตั้งตามกิจวัตรของผู้คนในย่านนั้นๆ

ไม่แน่ใจว่ามันแปลกไปไหม เราเป็นคนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เลย และไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ระหว่าง ‘เรา’ กับ ‘กรุงเทพฯ’ ให้ความรู้สึกเหินห่าง ไม่คุ้นเคย ราวกับสองคำนี้คือขั้วตรงข้ามของคำว่าสนิทชิดเชื้อ

เราว่ามันแปลกนะ…

กระทั่งเวลาเป็นใจ หน้าจอโทรศัพท์ก็ขึ้นฟีดกิจกรรม เดินตามหนังสือ Bangkok Shophouses โดย Louis Sketcher หรือ ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา ส่วนผู้จัดกิจกรรมนี้ที่พ่วงตำแหน่งไกด์พาเดินนั้นคือ เวฟ สหัสวรรษ ธนสุขสวสัดิ์ เจ้าของเพจเฟสบุ๊ครีวิวหนังสือ Juestread เขาจะนำแรงบันดาลใจที่ได้รับจากหนังสือเล่มนี้มาส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม

อาจถึงเวลาที่เราต้องผูกมิตรกับเมืองที่อยู่อาศัยของตัวเองหน่อยแล้ว วันนั้นนิ้วชี้ของเรากดลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อย

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

เวฟ สหัสวรรษ ธนสุขสวสัดิ์

จุดนับพบแรกคือ MRT สามยอด ไม่น่าเชื่อว่า นิสัยอยากทำอะไรก็ต้องรีบพุ่งไปเลยจะทำให้เรามาถึงก่อนใคร ถ้าไม่นับเวฟ ที่กำลังยืนรออยู่ก่อนแล้ว เราเดินไปหาเขาพร้อมคำถามที่สงสัย…จุดเริ่มต้นของเขาคืออะไร?

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

เวฟบอกเราว่า ก่อนหน้านี้พวกทริปเดินเที่ยวกรุงเทพฯ ไม่เคยอยู่ในสายตาเขาเลยสักนิด (เหมือนกัน) ภาพจำเมืองกรุงในหัวของเวฟ คือ เดินสยาม ดูหนัง เที่ยวห้าง กระทั่งวันหนึ่งเขาถูกชวนให้ลองมาเดินเที่ยวสอดส่องตึกเก่า ย่านเก่าเมืองกรุงดู ตอนนั้นเองมุมมองที่เคยมีต่อกรุงเทพฯ ก็เริ่มเปลี่ยนไป เวฟมาเจอหนังสือ ‘Bangkok Shophouse ตึกแถวกรุงเทพฯ และชีวิตชาวย่าน’ ถือเป็นเล่มที่เปิดโลกและมอบแง่มุมดีๆ ให้กับเขา “หนังสือเล่มนี้บอกรายละเอียดของตึกเก่า ตึกที่เคยเป็นความทรงจำดีๆ ของผู้คนแถวนี้มาก่อน เราเห็นว่ามันมีเรื่องราว พอเรามาเดินมองตึก มองชีวิตผู้คนในอีกมุมมองหนึ่งที่ต่างกันออกไป มันทำให้เราอยากศึกษาต่อ เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าค้นหา และมีเสน่ห์มากกว่าเดิมอีกนะ”

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

จากหนังสือ สู่การเดินจริง

หลังจากเสน่ห์ของกรุงเทพฯ เร้นหลบจากสายตาเวฟอยู่นาน เขาก็เริ่มศึกษา ค้นคว้าข้อมูลในหนังสืออย่างจริงจัง ก่อนจะเริ่มลงเดินจริง ด้วยการเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชนย่านนั้นๆ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้กว้างมากขึ้นด้วย เวฟเสริมว่า เพราะหนังสือที่กระตุ้นให้เขาออกเดินทางมองดูโลกกรุงเทพฯ จากเลนส์แว่นของผู้คนย่านต่างๆ ที่เขาไปพบ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ที่ผ่านมาเวฟเที่ยวศึกษาด้วยตัวคนเดียว เขาสนุกที่ได้เดิน และเมื่อเดินมากพอ เขาก็ขยับความสนใจไปสู่การอยากจัดกิจกรรมเดินตามหนังสือให้ฟิลเสมือนพาเพื่อนมาเที่ยวเล่น “การได้เที่ยวกับคนที่อินเหมือนกัน ได้พูดคุย ได้แชร์ในเรื่องเดียวกัน มันสนุกมากกว่าที่คิดนะ เราเลยจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อชวนคนที่อินมาเที่ยวกัน โดยเราจะมาเล่าข้อมูลเพิ่ม แต่ไม่ได้จริงจังขนาดนั้นนะ อารมณ์พาเพื่อนมาเที่ยวมากกว่า”

เส้นทางที่ต้องเดินเริ่มตั้งแต่ สามยอด ย่านวังบูรพา ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง ตะนาว ราชดำเนิน รวมจุดแวะเที่ยวทั้งหมดกว่า 25 ที่ วันนี้เราขอคัดบางสถานที่ที่เรามองว่าน่าสนใจมาฝากทุกๆ คนกัน

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

MRT สามยอด

เป็นหนึ่งในสถานีที่โดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรมและการตกแต่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาก เรารู้มาว่าเดิมทีพื้นที่ตรงนี้คือเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณโดยรอบเคยเป็นย่านวังบูรพาที่อัดแน่นไปด้วยโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ถือเป็นหนึ่งในย่านที่รุ่งเรืองและอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นพ่อแม่เราพอสมควร

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ในย่านนี้เองที่สถาปัตยกรรมจะมีโครงสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ MRT สามยอดที่สร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบันได้เลียนแบบโดยยึดเอารูปแบบการสร้างของยุคสมัย ร.5 มาใช้ด้วย เพื่อให้มีความกลมกลืนไปกับตึกละแวกข้างเคียง อีกสิ่งที่โดดเด่นคือการบังคับใช้สีเพียงแค่ 2 สี คือ สีเขียวกับสีเหลืองอ่อน เพราะในสมัยก่อนราคาของสีทั้งสองสีนั้นถูกที่สุดนั่นเอง จึงเป็นที่นิยมใช้ทาตึกและอาคาร ส่วนสีที่แพงที่สุดคือ สีฟ้า รองลงมาคือสีแดง

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ถนนตีทอง

ถนนตีทองเป็นถนนที่เริ่มตั้งแต่ถนนบำรุงเมือง ข้ามคลองหลอดวัดราชบพิธ มาบรรจบบริเวณแยกเฉลิมกรุง ตีทองเป็นถนนที่เคยเป็นย่านของอาชีพช่างตีทองมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นทองคำเปลว ตีให้เป็นแผ่น ต่อมาก็มีการทำเป็นทองรูปพรรณ ถนนตีทองนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอีกด้วยนะ ถ้าเดินอีกนิดหน่อยข้ามไปถนนบำรุงเมืองจะเห็นเลยว่าทั้งซ้ายและขวาเจอแต่ร้านขายสังฆภัณฑ์

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

เป็นอีกย่านที่ตึกและอาคารยังคงรูปแบบการสร้างตามสมัยรัชกาลที่ 5 แม้มีการปรับปรุง รีโนเวทบ้างในบางตึก แต่จะดูอย่างไรว่านี่คือรูปแบบอาคารของ ร.5 ง่ายๆ เลย จุดสังเกตแรก ให้มองไปที่เหนือประตูหน้าต่างและตามแนวชายคา จะเห็นช่องแสงไม้ฉลุ หรือช่องลมที่มีไว้เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเทสะดวก อย่างที่สอง มองหากันไฟ ถ้ามีการทำกำแพงกันไฟทุกๆ 2-3 ห้องตึก ก็ให้ชัวร์ไว้เลยว่านี่คือสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 5

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ร้านหนังสือเก่าย่านวังบูรพา ร้านหนังสือโอเดียนสโตร์

เราเดินมาร้านหนังสือเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เดินเข้าไปแล้วเหมือนหลุดไปอยู่ท่ามกลางโลกของกองหนังสือ เพราะที่นี่มีหนังสือเยอะมาก ไล่ตั้งแต่ หมวดความรู้ทั่วไป หมวดวิชาการ นิทาน หนังสือสอนวาดเขียนศิลป์ ไปจนถึงวรรณกรรม นิยายไทยเก่า เดินจนสุดมุมร้านจะพบคุณลุงผู้ดูแลร้านคอยช่วยแนะนำหนังสือต่างๆ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ถามถึงที่มาของชื่อร้านหนังสือโอเดียนสโตร์ ลุงเล่าให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า สมัยก่อนตรงวงเวียนโอเดียน มีโรงภาพยนตร์โอเดียนตั้งอยู่ เป็นโรงหนังที่ฮิตมาก ร้านหนังสือแห่งนี้ก็อยู่ติดกัน เลยตั้งชื่อให้เหมือนโรงหนัง ผู้คนที่มารอดูหนังส่วนใหญ่ก็จะแวะเวียนกันเข้ามาดูหนังสือในร้านกันอย่างไม่ขาดสาย แต่พอเวลาผ่านไป ลูกค้าเข้ามาดูหนัง ดูหนังสือน้อยลง กระทั่งโรงหนังปิดตัวลง เพราะยุคสมัยและเรื่องของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ร้านหนังสือไทยพากันปิดตัวไปตามๆ กัน ร้านหนังสือโอเดียนสโตร์จึงย้ายออกจากบริเวณนั้นมาตั้งอยู่ในซอยแทน

พูดคุยกับลุงสักพัก ลุงก็พูดกับเราว่า สมัยนี้หนังสือกลายเป็นสิ่งของที่เข้าถึงยาก กลายเป็นของไม่จำเป็น เพราะเราต่างอยู่ในยุคเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงเกินเหตุ แม้กระทั่งราคาอาหารต่อมื้อก็สูงตามๆ กัน “ร้านของเราที่อยู่ได้เพราะตึก อาคารที่นี่เป็นของเราเอง หนังสือก็เป็นของเราเอง” สำหรับคนที่อยู่กับหนังสือมาตลอด การเห็นร้านหนังสือทยอยปิดตัวมักเป็นเรื่องที่น่าใจหายเสมอ ลุงบอกเราอีกว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับหนังสือบ้าง เพราะขนาดร้านศึกษาภัณฑ์ที่เป็นของรัฐเองก็ยังปิดตัว

 

ในเรื่องเศร้าก็ยังมีเรื่องดี เพราะเดี๋ยวนี้คนชอบสะสมหนังสือเก่ามากขึ้น กระทั่งคนรุ่นใหม่ที่ชอบอ่าน ก็เริ่มหันมาตามเก็บซื้อหนังสือเก่าหายากกันด้วย ส่งผลดีต่อร้านหนังสือไม่น้อยเลยทีเดียว คุณป้าที่ดูแลร้านอีกคนเล่าให้ฟังว่า

“ร้านของเราตีพิมพ์หนังสือเก่าขายเอง เล่มละ 5 บาท 10 บาท เราก็เอาไปที่งานสัปดาห์หนังสือด้วย หนังสือเก่าของเราไม่ใช่มือสองนะ เป็นมือหนึ่งสภาพดีแค่ตีพิมพ์มานานแล้ว โห (น้ำเสียงดีใจสุดๆ) คนที่เขาอยู่ในวงการหาหนังสือเก่าไปขายต่อ ก็พากันมาซื้อหนังสือจากร้านเราเพียบเลย ก่อนที่พวกเขาจะเอาไปขายต่อตามกลุ่มหนังสือในเฟซบุ๊กบ้าง หรือที่อื่นบ้าง”

ก่อนเดินออกจากร้าน เราหันกลับไปชูสองนิ้วให้คุณลุงและคุณป้า “สู้ๆ นะคะ ขอให้มีลูกค้าอีกเยอะๆ คราวหลัง หนูจะมาอีก” พวกเขาหัวเราะ ให้พรกลับ แล้วยกมือบ๊ายบายเรา เป็นการบอกลาที่ต่างคนต่างประทับใจ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

เสาชิงช้า

นี่คือเรื่องที่เราเซอร์ไพรส์มาก เสาชิงช้าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเป็นศูนย์กลางของพระนคร แต่จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่เสาชิงช้าคู่แรกที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่เป็นคู่ที่สร้างเลียนแบบมาอีกที เพราะของจริงนั้นพังไปแล้วตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เสาชิงช้าคู่ปัจจุบันได้สร้างใหม่โดยกรมศิลปากร ที่สามารถถอดรายละเอียดเดิมออกมาได้ครบทุกเม็ด!! โดยใช้ไม้สักทองต้นใหญ่ในการก่อสร้าง

เสาชิงช้าเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย หรือโล้ชิงช้า ตามความเชื่อของพราหมณ์ตั้งแต่อดีต แต่เนื่องจากรูปแบบพิธีมีความหวาดเสียวเสี่ยงอันตรายเกินไป และผู้คนได้รับความบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้งทำให้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ซอยหลังโบสถ์พราหมณ์

ตรงที่เรายืนอยู่เรียกว่า ซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ จะสังเกตว่าชื่อซอยมีคำว่า ‘พราหมณ์’ เราขอย้อนกลับเข้าสู่อดีต ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานพื้นที่บริเวณนี้ให้พราหมณ์สามารถประกอบพิธีตรียัมปวายที่เสาชิงช้า รวมถึงให้เป็นที่พักอยู่อาศัย อีกทั้งยังสร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อใช้ในพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวายเช่นกัน และการสร้างโบสถ์ครั้งนี้เอง ทำให้คนที่นับถือพราหมณ์พากันมาอาศัยอยู่ที่นี่ กระทั่งกลายเป็นชุมชุนโบสถ์พราหมณ์ และภายหลังมีการสร้างตรอกซอยและถนนเพิ่ม ได้แก่ ตรอกโบสถ์พราหมณ์ และซอยหลังโบสถ์พราหมณ์นั่นเอง

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

สี่แยกสำราญราษฏร์

เป็นเส้นที่ต่อจากถนนบำรุงเมือง ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นเหมือนประตูวังก่อนออกเขตนอกเมือง เขาเลยเรียกว่า ‘ประตูผี’ เพราะมักถูกใช้ให้เป็นเส้นทางในการเคลื่อนย้ายศพออกจากเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ วิธีการจัดการศพสำหรับคนในราชวัง ขุนนาง พระมหากษัตริย์ จะฝังในวัด ส่วนคนสามัญชนทั่วไป ศพจะถูกเคลื่อนย้าย นำมาเผาที่วัดสระเกศหรือภูเขาทอง

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ปัจจุบันที่นี่เรียกว่า สี่แยกสำราญราษฏร์ กลายเป็นที่ท่องเที่ยว และเป็นแหล่วงรวมร้านอาหาร ร้านของกินมากมาย หนึ่งในนั้นคือร้านดังอย่าง ร้านผัดไทยทิพย์สมัย หรือ ร้านเจ๊ไฝ ไปทีไร ลูกค้าก็ล้นร้านทุกที

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า

หนึ่งในสถานที่ๆ โชว์รูปทรงบ้านได้น่าสนใจ เดินเข้าไปดูใกล้ๆ พบว่าคาเฟ่แห่งนี้ เดิมทีเป็นบ้านไม้เก่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สิ่งที่ทำให้บ้านขนมปังขิงสามารถเดึงดูดสายตาคนที่เดินผ่านเข้ามาคือ ลวดลายไม้ที่ประทับอยู่รอบตัวบ้าน แท้จริงแล้ว บ้านหลังนี้ตกแต่งในรูปแบบ Gingerbread หรือตามรูปทรงเรือนขนมปังขิง จุดสังเกตหลักๆ คือ ลายไม้ฉลุลายตามเชิงชายหรือช่องลมที่มีรูปทรงคล้ายขนมปังขิง ขนมอบของชาวต่างชาตินั่นเอง ที่เสริมให้คาเฟ่หลังนี้ความแตกต่างจากบ้านหลังปกติทั่วไป

เรื่องราวราชดำเนิน

ถนนราชดำเนินนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน อิงจากการสร้างถนนในสมัยก่อน ได้แก่ ส่วนใน กลาง และส่วนนอก เส้นที่เรากำลังยืนอยู่นี้เรียกว่า ถนนราชดำเนินกลาง เป็นเส้นที่ใหญ่ที่สุด กินพื้นที่ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มาจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา ในการสร้างถนนราชดำเนินสมัยก่อน เขาจะใช้ช้างพลายมงคลเดินเหยียบถนนให้เป็นพื้นที่เรียบ ก่อนที่สร้างเป็นถนนราชดำเนินเพื่อเป็นสัญลักษณ์ชูความสง่างามของบ้านเมือง และยังเป็นสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรต้องการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ราชดำเนินใหม่ เพื่อใช้พื้นที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของการเอื้อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน จะเห็นได้ว่า ตึกอาคารที่ห้อมล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น รูปแบบโครงสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมเน้นไปที่รูปทรงเหลี่ยม เหตุเพราะต้องการทำให้ตึกอาคารทั้งหมดถูกทำให้มีลักษณะการใช้งานในรูปแบบออฟฟิศ 100% โดยจะไม่มีร้านอาหาร หรือสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับออฟฟิศอยู่ตรงนี้เด็ดขาด

การปรับพื้นที่ให้กลายเป็นที่ทำงานจ๋าๆ มีส่วนต่อการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์คนไทยให้ต่างไปจากเดิมด้วย เรื่องนี้เล่ากันแบบปากต่อปาก เราไม่แน่ใจว่าจริงไหม แต่เรื่องมีอยู่ว่า การทำงานวันธรรมดาแบบหลายชั่วโมง เพื่อเก็บเงินไปเที่ยวในวันหยุดทีเดียว เป็นธรรมเนียมที่รับมาจากวัฒนธรรมฝรั่งและเริ่มแพร่หลายในหมู่คนไทยช่วงรัชกาลที่ 7

ปัจจุบันตึกอาคารเหล่านี้ถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่ร้าง บางอาคารถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือสำนักงานราชการ แต่ส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่ของคนไร้บ้านแล้ว

บ้านยาหอม

บ้านหลังนี้ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยตระกูลหมอยา 5 แผ่นดิน หรือ ตระกูลบุญยะรัตเวชที่เปิดกิจการปรุงยาการแพทย์ไทยในชื่อ ‘ยาหอมสุคนธโอสถตราม้า’ ปัจจุบันบ้านยาหอมขยายกิจการกว้างขึ้นด้วยการเปิดคาเฟ่ที่มีเครื่องดื่มและอาหารโดยใช้สมุนไพรสูตรเฉพาะของตระกูล และยังต่อยอดความรู้ด้านยาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Zantiis แบรนด์น้ำหอมและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอโรมาเทอราปี Sukonta แบรนด์สุคนธะ เน้นผลิตภัณฑ์อย่างโรลออน บาล์ม สเปรย์จากสมุนไพรหลายชนิด นอกจากนี้ ยังเปิดบ้านยาหอมซานทิส นวดเพื่อสุขภาพอีกด้วย เรียกว่ากินอิ่มแล้วต่อด้วยเข้านวดยืดเส้นยืดสาย สบายๆ ผ่อนคลายกันไปเลย

World At The Corner

บ้านไม้หลังเก่าอายุมากกว่า 100 ปี ย่านเสาชิงช้าติดกับคาเฟ่บ้านขนมปังขิง ร้านหนังสือร้านนี้ได้รับการแปลงโฉมด้วยการทาสีใหม่ทับลงไป แต่ยังคงโครงสร้างเอกลักษณ์เดิม ภายในร้านขายหนังสือภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด สิ่งที่ทำให้ร้านนี้มีความโดดเด่นกว่าร้านหนังสือทั่วไปคือ เจ้าของร้านเดินทางไปต่างประเทศเพื่อคัดเลือกหนังสือมาวางขายเอง บางเล่มก็เป็นหนังสือหายากมากๆ ด้วย อีกเสน่ห์ของร้านนี้ที่เราชอบมากๆ คือทางร้านแบ่งหมวดจัดวางหนังสือเป็นทวีปๆ เปิดเพียงอาทิตย์ละ 3 วัน วันศุกร์ – วันอาทิตย์ (10:00 – 17:00 น.) ถ้าใครอยากมาเยี่ยมชมต้องดูวันให้ดีนะ

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเฟื่องนคร

รูปแบบโครงสร้างตึกปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 เวฟเล่าให้ฟังว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงแห่งความรุ่งเรืองทางการค้า ตึกแห่งนี้จึงเลียนแบบงานสถาปัตยกรรมของกรีก-โรมันช่วงที่ผ่านการบูรณะแล้วในช่วงเรเนซองส์ เวฟบอกเราว่า ศิลปะแบบนี้สามารถเรียกเป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิกได้ สังเกตได้จากสถาปัตยกรรมงานประดับที่อยู่ข้างบนหลังคา มองเห็นสัญลักษณ์คล้ายไม้คฑา จริงๆ แล้วคือรูปงูที่เลียนแบบมาจากสัญลักษณ์ของเทพเมอคิวรี่ เทพแห่งการค้าขายและความมั่งคั่งตามความเชื่อกรีก-โรมัน เลยทำให้เป็นไม้คฑาเพื่อสื่อความหมายถึงพื้นที่ธนาคารแห่งนี้

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

ระหว่างเดินทางกลับไปยังจุดนับพบแรก หรือ MRT สามยอด เราบังเอิญได้พบกับ Bangkok Sketchers Groups ชมรมที่รวมคนรักการวาดภาพสเก็ตช์ไว้มากที่สุดอีกกลุ่ม กลุ่มนี้มีผู้คนหลากหลายอายุ พอเราเข้าไปพูดคุยก็พบว่า พวกเขามักจะจัดกิจกรรมพากันมาเดินสเก็ตช์ภาพตามที่ต่างๆร อบกรุงเทพฯ และบางทีอาจมีออกต่างจังหวัดด้วย คนที่มาร่วมวาดก็มีหลากหลายรุ่นหลากหลายอาชีพ ด้วยความที่เราเองก็ชอบวาดชอบระบายแต่ไม่เก่งนัก เลยถามไปว่า จำเป็นต้องมีประสบการณ์ไหม หนึ่งในสมาชิกของชมรมบอกกับเราว่า วาดไม่เป็นก็เข้ามาลองดูได้ เดี๋ยวก็มีคนสอน หรือจะมานั่งพูดคุยก็ได้ หลายคนแทบจะหาดินสอกับกระดาษเพื่อยื่นให้วาดไปด้วยกัน จนเราต้องเบรกก่อนแล้วบอกว่า “ตอนนี้มาร่วมกิจกรรมเดินตามหนังสืออยู่ค่ะ แต่ทริปวาดครั้งหน้า หนูกับเพื่อนขอมาด้วยนะคะ”

ก่อนจากกัน ชายหนุ่มคนหนึ่งที่นั่งสเก็ตช์ภาพอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มที่เราพูดคุยด้วย บอกว่า “การมานั่งสเก็ตช์ตามที่ต่างๆ ช่วยทำให้เราเห็นมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม และมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่กลายมาเป็นความสุขของเราเองได้ดีมาก”

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

เดินกลับมาที่ MRT สามยอดในคราวนี้ต้องจบกิจกรรมแล้ว ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเดินเที่ยวชมย่านเก่าในกรุงเทพฯ ทำให้พวกเขาเข้าใจเบื้องหลังความเป็นมาของพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้สนุกต่อการเดินเที่ยวชมมากขึ้นอีกด้วย

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

“คุณลองตั้งคำถามไปกับการเที่ยวดูสิ ไม่ว่าจะวันนั้นๆ คุณไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม แค่คุณเริ่มตั้งคำถามว่า เออ ทำไมต้องชื่อนั้นชื่อนี้ มันจะเปลี่ยนมุมมองการเที่ยวของคุณไปตลอดกาล มันไม่ใช่แค่การเดินซื้อของอยู่เรื่อยๆ แต่มันคือการมองหา เที่ยว แล้วตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เราจะอินและมองเห็นมุมมองใหม่ๆในทุกๆ ก้าวจริงๆ” เวฟบอก

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

สำหรับเรา แม้การมาเดินตามย่านต่างๆ ครั้งนี้ อาจเป็นเพียงแค่เสี้ยวอันน้อยนิดของกรุงเทพฯ  แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อการทำความรู้จักกรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ เหมือนมิตรภาพที่ดีต้องใช้เวลา และการจะเข้าใจอะไรได้อย่างถ่องแท้ ต้องใช้ใจมองอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ก่อนจบบทความนี้ เราชอบคำพูดของเวฟมาก คิดว่าถ้าปิดท้ายด้วยวลีนี้มันจะต้องคูลมากแน่ๆ

“หนังสือเปรียบเสมือนใบเบิกทาง เมื่อคุณไม่มีโอกาสได้ไปที่นั้นๆ อย่างน้อยหนังสือจะช่วยเป็นไกด์ให้คุณมองหารายละเอียดต่างๆ มองเห็นโลกกว้าง เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจก่อนพร้อมก้าวออกเดินทางจริง มันเป็นเหมือนตั๋วที่คุณถือไว้ แต่ยังไม่ใช้นะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีโอกาสได้ใช้ มันจะคุ้มค่ามากๆ”

ชวนทอดน่องท่องกรุงจากหนังสือ รื้อเรื่องราวตึกเก่าเล่ามุมวินเทจกรุงเทพฯ

สำหรับใครที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ สามารถติดตามเฟซบุ๊กเพจ JUST READ  เพราะเวฟไม่ได้มาชวนไปเดินเที่ยวอย่างเดียวแน่นอน และถ้าใครมาสายหนอนหนังสือ ยิ่งต้องติดตาม เพราะข่าวสาร กิจกรรม งานหนังสือต่างๆ เวฟจะอัพเดทตลอด แอบขอเมนชั่นนิดๆ ว่า ‘หนังสือในสวน’ ที่เพิ่งมีก็เป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่เวฟร่วมกับทีมงานฝ่ายต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้นมานั่นเอง

Tags: