About
RESOUND

Tones of Blue

Tony Myshlyaev จากนักท่องเที่ยวหลงใหลโลกใต้น้ำจนกลายเป็นช่างภาพฟรีไดฟ์คว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยม

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 24-01-2023 | View 3087
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ Tony Myshlyaev ช่างภาพใต้น้ำชาวแคนาดา เจ้าของภาพถ่ายแห่งปี 2022 จาก DeeperBlue.com กับเส้นทางการเข้าสู่วงการ Freediving ของเขา
  • เสน่ห์ของ Freediving คือความท้าทาย เพราะในการถ่ายภาพทุกครั้งจะต้องใช้ประสบการณ์ของช่างภาพเพื่อรับมือกับทั้งสภาพทะเล อากาศ และแสงที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง

หากคุณไม่ใช่คนในแวดวง Freediving คงไม่แปลกที่จะไม่รู้จักหรือได้ยินชื่อ Tony Myshlyaev มาก่อน แต่หลายคนอาจเคยได้เห็นและชื่นชอบผลงานของเขามาแล้วแบบไม่รู้ตัว กับภาพถ่ายใต้น้ำสุดสวยและน่าทึ่งทางอินสตาแกรมในชื่อ tones.of.blue

ชื่อเสียงในการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอของเขายังการันตีได้จากการร่วมงานกับนักฟรีไดฟ์คนดังทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Alexey Molchanov แชมป์โลก Freediving ที่สามารถดำได้ถึง 131 เมตร หรือ Florian Dagoury นักฟรีไดฟ์ชื่อดัง และพลอย สก็อตต์ ครูสอน Freediving หญิงคนแรกของไทย แถมล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัล Best Picture of the Year 2022 ของ DeeperBlue.com คอมมูนิตีของ Freediving, Scuba และการท่องเที่ยวดำน้ำบนโลกออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ไม่ว่าคุณจะชอบดำน้ำหรือไม่ แต่หากหลงใหลในงานอาร์ต ความคิดสร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับท้องทะเล เราอยากชวนคุณไปดำดิ่งกับความสวยงามใต้น้ำ ชมภาพถ่ายในแบบฉบับของ Tony และเรียนรู้วิธีสร้างสรรค์ไอเดียและเชื่อมกับมหาสมุทร จนกลายเป็นสุดยอดช่างภาพอย่างที่เป็นอยู่จากบทสนทนาครั้งนี้

TO 22

Tony Myshlyaev

ก่อนอื่นเลยแนะนำตัวให้เรารู้จักสักนิด

ผมเป็นช่างภาพจากแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตอนนี้เป็นช่างภาพใต้น้ำ อยู่ไทยมา 8 ปีแล้ว ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เกาะพีพีครับ

TO 23

Tony Myshlyaev

คุณเข้าสู่วงการถ่ายภาพใต้น้ำได้อย่างไร

เริ่มจากผมอยากลองดำน้ำระหว่างไปท่องเที่ยว ซึ่งตามแผนแล้วผมแค่ตั้งใจจะเทคคอร์สหลักสูตรระดับเริ่มต้นแล้วเดินทางต่อ แต่ดันตกหลุมรักการดำน้ำ จึงใช้เงินทั้งหมดที่มีไปอยู่เกาะเต่าเพื่อเรียนดำน้ำ (Scuba) อย่างจริงจัง หลังจากผ่านหลักสูตรระดับมืออาชีพแล้ว จึงซื้อเคสกันน้ำสำหรับกล้องถ่ายรูป และเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพใต้น้ำเรื่อยมา จนพัฒนามาเป็นช่างภาพ Scuba 4 ปีและ Freediving อีก 4 ปีจนถึงปัจจุบัน

TO 21

Tony Myshlyaev

อะไรทำให้คุณหันมาโฟกัสกับนักดำน้ำแบบฟรีไดฟ์

สไตล์การถ่ายภาพส่วนใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งที่ต้องถ่าย แต่การถ่ายภาพใต้น้ำเรียกร้องให้ผมต้องฟรีไดฟ์เพื่อลงไปถ่ายภาพ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และรู้สึกคุ้มค่ามากเมื่อเราทำได้ การดำน้ำยังเป็นเรื่องของสุขภาพและการพัฒนาตนเองด้วย ผมรักงานนี้

TO 13

การเป็นช่างภาพ Freediving กับ Scuba แตกต่างกันอย่างไร

ช่างภาพ Freediving ที่ไม่ต้องใช้ถังอากาศ เราเน้นถ่ายภาพบุคคลและได้เปรียบเรื่องการพูดคุยเกี่ยวกับภาพ เพราะมักต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ขณะเดียวกันสรีระของร่างกายถือว่ามีความสำคัญมากในการถ่ายภาพ Freediving ขณะที่การถ่ายภาพ Scuba จะเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตใต้น้ำอย่างปลา ปะการัง มากกว่า บางครั้งก็มีบุคคลด้วยเช่นกัน สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือช่างภาพ Scuba จะใช้เลนส์ที่ต่างกัน

TO 8

ทำไม Freediving ถึงได้รับความนิยมมาก

เพราะตอบโจทย์กับหลากหลายไลฟ์สไตล์ บางคนชอบในเชิงกีฬาและพัฒนามากขึ้น บางคนชอบถ่ายภาพเหมือนผม คนอื่นๆ อาจชอบคอมมูนิตีและเน้นการพัฒนาตัวเอง แถมยังดูเท่มากอีกด้วย

TO 10

คุณเพิ่งคว้ารางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 ของ The DeeperBlue.com รู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณมาก ปกติผมไม่ค่อยเข้าร่วมการแข่งขันเท่าไหร่ จริงๆ แล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการแข่งขันด้วย การเข้าร่วมเป็นไปโดยอัตโนมัติ โชคดีที่มีคนแชร์งานผมในช่วงต้นปี เป็นภาพที่ได้รับความนิยมสูงสุดและได้รับความสนใจอย่างมากในโลกโซเชียล ผมรู้สึกขอบคุณมากสำหรับการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ฟรี แต่ไม่รู้เลยว่าจะได้รับเลือกเป็นภาพยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 เช้าวันที่ผมได้รับแจ้งว่ารูปผมเป็นภาพที่ดีที่สุด มันเซอร์ไพรส์มาก!

TO 4

ผลงานภาพถ่ายที่ได้รางวัล Best Picture of the Year 2022

เล่าเบื้องหลังการถ่ายภาพนั้นหน่อย

รูปนี้ถ่ายที่ภูเก็ต ผมมีโอกาสเข้าไปช่วยโปรเจ็กต์การท่องเที่ยวไทย ซึ่งจัดโดยโรงแรมศรีพันวา เราถกกันถึงไอเดียการถ่ายภาพสาวๆ หลายคน แรงบันดาลใจสำหรับภาพนี้มาจากภาพถ่ายของช่างภาพเกาะเคย์แมนคนหนึ่งชื่อ Dah Legend ผมรู้ว่ามันยากมากที่จะจัดคน 4 คนในเวลาเดียวกัน แต่สาวๆ พยายามอย่างมาก และผมภูมิใจในตัวพวกเธอ งานนี้เราใช้เวลากันประมาณ 45 นาที

TO 16

คุณสื่อสารกับนางแบบใต้น้ำอย่างไร

โดยปกติจะสื่อสารกันบนผิวน้ำก่อน แล้วถึงดำลงไป มีบ้างบางครั้งที่ผมใช้สัญญาณมือเล็กๆ น้อยๆ ใต้น้ำ เพื่อจะบอกให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือขยับแขนขา ช่วงที่เราขึ้นมาหายใจก็คุยกันว่าจะปรับแก้การถ่ายอย่างไร

TO 15

ทักษะสำคัญที่สุดสำหรับการเป็นช่างภาพใต้น้ำคืออะไร

อันดับแรกต้องรู้จักการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ รู้วิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเซฟนักดำน้ำให้ปลอดภัย นี่คือทักษะที่สำคัญที่สุด ส่วนอันดับ 2 คือการเรียนรู้การถ่ายภาพบนบกให้มากที่สุด ยิ่งคุณใช้เวลาฝึกฝนบนบกมากเท่าไหร่ ก็จะถ่ายภาพใต้น้ำได้ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น อยากให้ทุกอย่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในน้ำ เพราะขณะที่ดำน้ำจะไม่มีเวลาคิด

TO 1

TO 6

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อะไรคือความท้าทายในการถ่ายภาพใต้น้ำ

ทุกๆ วันไม่สามารถคาดเดาได้ สภาพของมหาสมุทร สภาพอากาศ และแสงไม่เคยเหมือนกันเลย ต้องใช้ประสบการณ์มากในการเตรียมตัวรับมือกับทุกสภาวะและสามารถทำงานร่วมกันได้

TO 5

ประสบการณ์ไหนที่ยากจะลืมเลือนมากที่สุด

การได้ดำน้ำกับกระเบนราหู (Manta Ray) กว่า 100 ตัวที่ Hanifaru Bay ในมัลดีฟส์

TO 9

สถานที่โปรดสำหรับฟรีไดฟ์หรือการถ่ายภาพใต้น้ำ

ในไทยผมชอบดำน้ำที่เกาะพีพี ธรรมชาติและมหาสมุทรสวยงามมาก และผมไปทุกที่ที่ต้องการได้ในเวลาอันสั้น

TO 19

TO 17

อะไรทำให้สไตล์การถ่ายภาพของคุณโดดเด่น

ผมหลงใหลในแสง ผมใช้เวลาหลายปีเรียนถ่ายภาพในโรงเรียนและศึกษาด้วยตัวเอง เน้นรายละเอียดของแสงและสี รวมถึงชอบ Sci-Fi เป็นที่มาว่าทำไมภาพถ่ายใต้น้ำบางรูปถึงไม่ใช่สีน้ำเงินแต่เป็นสีเหลือง เพราะผมอยากให้รู้สึกเหมือนอยู่ในทะเลทราย

TO 18

TO 20

TO 2

ฟรีไดฟ์มีผลต่อชีวิตคุณอย่างไรบ้าง

ทุกอย่างที่ผมทำตอนนี้เกี่ยวกับ Freediving ทั้งนั้น ผมคิดว่ามันเปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง

TO 3

ถ้าไม่ได้เป็นช่างภาพ คุณเห็นตัวเองอยู่ในเส้นทางอาชีพใด

ไม่แน่ใจเลย ผมทุ่มเทมากจนไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย อาจเป็นนักดำน้ำฟรีไดฟ์มั้ง ไม่รู้สิ (หัวเราะ)

TO 12

TO 11

ในฐานะช่างภาพ คุณอยากสื่อข้อความอะไรผ่านภาพถ่ายของคุณ

ผมรักศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์และแฟนตาซี นั่นคือสิ่งที่จะอยู่ในงานของผมเสมอ เป้าหมายคือการแสดงให้ทุกคน (ทั้งที่รู้จักมหาสมุทรอยู่แล้วและที่ยังไม่เคยลงไปสัมผัสเลย) ได้เห็นว่าทะเลนั้นสวยงามแค่ไหน

TO 7

Florian Dagoury-Famous Freediver

ไม่นานนี้มีกระแสดรามาว่ากลุ่ม Freediving ทำลายแนวปะการัง คุณคิดอย่างไร

ควรมีบทลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับทุกคนที่ทำลายแนวปะการัง นักฟรีไดฟ์ตัวจริงจะไม่ทำลายปะการัง ผมไม่รู้ว่าใครต้องรับผิดชอบ แต่เชื่อว่าคนที่ทำลายปะการังคือมือใหม่ที่ไม่ได้ผ่านหลักสูตรมา คนที่พาพวกเขามาควรต้องรับผิดชอบ ผมเคยเห็นปัญหานี้กับการดำน้ำตื้นเช่นกัน และเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมากสำหรับผม อาจเป็นความคิดที่ดีหากจะมีกฎเกณฑ์สำหรับ Freediving ในไทย เหมือนกับการดำน้ำ Scuba เช่น ผู้ที่ต้องการฟรีไดฟ์จะต้องไปกับไกด์หรือครูที่ผ่านหลักสูตร และผู้นำทริปมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องปะการังเสมอ

TO 14

Ploy Scott famous Thai freediver

สุดท้ายนี้มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นเป็นนักฟรีไดฟ์หรือช่างภาพ Freediving อย่างไรบ้าง

ศึกษาเรื่องการถ่ายภาพแยกกับ Freediving ค่อยเป็นค่อยไป สนุกกับมันและหาสไตล์ตัวเองให้เจอ

 

ขอบคุณภาพประกอบ : Tony Myshlyaev

Tags: