About
RESOUND

คืนศิลป์

‘ญาณิศา ทองฉาย’ กับงานชุบชีวิตศิลปะและภารกิจย้อนเวลาพลิกฟื้นคืนคุณค่าให้งานศิลป์

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 25-03-2023 | View 3402
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนมาฟัง (อ่าน) เรื่องราวการชุบชีวิตงานศิลปะ จากนักอนุรักษ์งานศิลปกรรมคลื่นลูกใหม่ ยุ้ย – ญาณิศา ทองฉาย Painting Conservator / Partner แห่ง Bangkok Art Conservation Center ที่จะทำให้เราเข้าใจความเหมือนที่แตกต่างในการอนุรักษ์ระหว่าง Conservation การเสริมความแข็งแรงเพื่อช่วยยืดอายุงานศิลปะ กับ Reservation การบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ตกแต่งเพิ่มเติมให้เกิดความสวยงาม
  • นักอนุรักษ์งานศิลปกรรมไม่จำเป็นต้องจบด้านศิลปะ แต่ต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัย มีความละเอียดประณีต และต้องหมั่นศึกษาค้นคว้าความรู้ด้านการอนุรักษ์งานศิลปกรรมอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับปัญหาของชิ้นงาน และทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในแต่ละสมัย

เคยเข้าใจว่า สมการ ‘ศิลปะ’ จะสมบูรณ์ หากมีผู้สร้างและผู้ชม ทว่า ยังมีอีกคนสำคัญที่เป็นเหมือนผู้ปิดทองหลังพระ นั่นคือ ผู้รักษา หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า นักอนุรักษ์งานศิลปกรรม ซึ่งถ้าเทียบอัตราส่วนกันแล้ว ต้องยอมรับว่ากลุ่มหลังมีจำนวนน้อยกว่ามากอย่างน่าใจหาย ทั้งที่มีบทบาทสำคัญและเป็นบุคลากรที่จำเป็นสำหรับวงการศิลปะ

ส่วนเหตุผลว่าทำไม และเพราะอะไร ยุ้ย – ญาณิศา ทองฉาย Painting Conservator / Partner แห่ง Bangkok Art Conservation Center ศูนย์อนุรักษ์บำรุงรักษา ซ่อมแซม และฟื้นฟูศิลปกรรม ผลงานสะสมส่วนบุคคลและองค์กรจะมาเล่าให้ฟัง

ก่อนจะรู้จักอาชีพนักอนุรักษ์งานศิลปกรรม ไปรู้จักยุ้ยกันก่อนดีกว่า

ศิลปะในสายเลือด

ยุ้ยเติบโตมาในครอบครัวศิลปิน พ่อทำงานเขียนแบบ น้องชายเป็นจิตรกร ชีวิตเธอคลุกคลีและใกล้ชิดศิลปะมาตลอด ชนิดที่วันดีคืนดีก็ตื่นมาพบว่าประตูห้องนอนเป็นลายเทพพนม หรือฝาขวดโซดาของพ่อที่กลายเป็นสมุดวาดเขียนของเธอ

นอกจากเป็นบ้านศิลปะแล้ว ครอบครัวยุ้ยยังปลูกฝังการเข้าวัดทำบุญ เธอจึงคุ้นเคยกับวัดและพระพุทธรูปมาตั้งแต่เด็ก โดยไม่รู้ตัวเลยว่า ความรู้สึกหวงแหนในโบราณสถานและโบราณวัตถุตามประสาเด็กในวันนั้น จะปูทางสู่อาชีพนักอนุรักษ์งานศิลปกรรมให้ตัวเองในอนาคต

การเห็นคุณค่าในสิ่งของต่างๆ ของยุ้ยยังหมายรวมถึงข้าวของในบ้าน ไม่ว่ารูปถ่าย เสื้อผ้า ตุ๊กตาไม้แกะสลัก หรือหนังสือ เธอพยายามเก็บรักษาด้วยวิธีที่คิดว่าดีที่สุด แต่ต้องเผชิญกับศึกหนักคือความชื้น เพราะบ้านยุ้ยอยู่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแถมยังใกล้ชายฝั่งทะเลอีก จึงมีความชื้นสะสมอยู่ใต้ดินเยอะ นานวันเข้าจะเกิดขี้เกลือขึ้นตามกำแพงซีเมนต์ หรือแม้แต่ของเล่นของเธอกับน้องก็ไม่พ้น แต่นั่นก็เทียบไม่ได้กับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554

“เราเอางานศิลปะของพ่อกับน้องใส่ถุงดำมัดปากถุงเพื่อหนีน้ำ ผ่านไป 3 เดือนน้ำลด กลับเข้าบ้านอีกครั้ง เปิดถุงดู มีแต่ราขึ้นเต็มไปหมด ตอนนั้นเสียใจมากว่า ‘เราทำอะไรลงไปเนี่ย’”

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ยุ้ยอยากศึกษาวิธีการเก็บรักษาสิ่งของที่ถูกต้องว่าเขาทำกันอย่างไร

งานศิลปะ

ยุ้ย – ญาณิศา ทองฉาย Painting Conservator / Partner

งานศิลปะ

งานศิลปะ

Conservation 101

จังหวะดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาอนุรักษ์ศิลปกรรม ยุ้ยไม่รีรอที่จะลงทะเบียนเป็นนักศึกษารุ่นแรก เธอเล่าให้ฟังถึงความสุขสนุกตลอดสองปีที่ได้เรียน “เราอัดอั้นด้วยความอยากรู้มานานว่าจะเก็บรักษาข้าวของยังไงไม่ให้เสียหาย เลยมีคำถามเตรียมไปถามอาจารย์ตลอด และจะต้องเข้าคลาสก่อนอาจารย์มาทุกครั้ง เพราะไม่อยากพลาดสิ่งที่อาจารย์สอนแม้แต่นิดเดียว ระหว่างเรียนถ้าอาจารย์ถามว่าใครมีคำถามอะไรไหม เราต้องถามเพื่อจะได้ความรู้จากอาจารย์ให้มากที่สุด แล้วจะออกจากห้องคนสุดท้าย เพื่อได้พูดคุยกับอาจารย์ต่อ”

งานศิลปะ

ในหลักสูตรสอนตั้งแต่การศึกษาชนิดของวัสดุ สีและเทคนิคที่ศิลปินใช้สร้างสรรค์ผลงาน และการตรวจสภาพเพื่อวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งเป็นขั้นตอนการอนุรักษ์ ยุ้ยเสริมว่า “หลักการสำคัญของการทำงานอนุรักษ์คือต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมรูปภาพอย่างละเอียดและชัดเจนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่รายละเอียดของชิ้นงานและวิธีการในการอนุรักษ์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักอนุรักษ์รุ่นหลังที่มารับช่วงต่อ ได้ทราบกระบวนการอนุรักษ์ที่ผ่านมา และจะได้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และรู้ว่าต้องจัดการอย่างไรต่อไป โดยไม่ต้องเสียเวลาสืบค้นข้อมูล เพราะในอนาคตจะต้องมีคนมาซ่อมต่อจากเราแน่นอน”

งานศิลปะ

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ปัญหาที่มักพบคือรากับจุดสีน้ำตาลบนกระดาษและผ้า ทั้งยังเป็นแหล่งรวมของสัตว์และแมลง เมื่อประกอบกับอายุของชิ้นงาน วัสดุหรือเทคนิคที่ศิลปินใช้ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บชิ้นงาน ล้วนส่งผลให้เกิดการชำรุดเสียหายขึ้นได้ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ชิ้นงานเกิดความเสียหายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์​ หลักสูตรนี้จึงสอนถึงหลักการอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventive Conservation) ด้วย ซึ่งยุ้ยสนุกกับการได้นำความรู้ที่เรียนไปจัดการกับข้าวของในบ้าน

งานศิลปะ

งานศิลปะ

หมอ (ศิลปะ) ฝึกหัด

ตลอดสองปีของหลักสูตรปริญญาโท ยุ้ยเหมือนได้เจอโลกใบใหม่ ยามว่างเธอจะขลุกอยู่ตามมิวเซียมหรือแกลเลอรี่อยู่เสมอ แต่ไม่ได้ชื่นชมความงามทางศิลปะที่อยู่ตรงหน้าเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว

งานศิลปะ

“เราจะดูวัสดุที่ศิลปินใช้ ฝีแปรง รอยแยกของชั้นสี รอยแตกว่าเกิดจากอะไร รอยคราบน้ำที่เห็นมาจากแอร์ หรือเป็นการหยดจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำกันแน่นะ ทำไมสีตรงนี้ซีดกว่าตรงนั้น ทำไมขอบถึงเป็นแบบนี้ ไม่ได้เป็นการจับผิด แต่เรากำลังฝึกวิเคราะห์อาการของชิ้นงาน การเสพความงามเลยกลายเป็นเรื่องรองไปแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็ถ่ายรูปกลับมาเพื่อมาค้นคว้าหาข้อมูลต่อ ว่าสิ่งที่เราเจอเกิดจากอะไร เป็นโรคอะไร แล้วจะรักษาด้วยวิธีไหน”

งานศิลปะ

นักอนุรักษ์งานศิลปกรรมจึงทำหน้าที่ประหนึ่งหมอ ต่างกันแค่ต้องรักษา ‘ภาพป่วย’ ที่พูดหรือบอกอาการไม่ได้

งานศิลปะ

“หลายคนถามว่า นักอนุรักษ์ต้องมีคุณสมบัติอะไร หลักๆ คือต้องเป็นคนช่างสังเกต ขี้สงสัย ช่างเอ๊ะ เพราะศิลปินผู้สร้างชิ้นงานนั้นอาจล่วงลับไปแล้วในวันที่เราต้องเข้าไปเยียวยา การสืบค้นข้อมูลจึงต้องใช้ความพยายามและความละเอียดรอบคอบมากขึ้น”

งานศิลปะ

หลังเรียนจบ ยุ้ยได้รับทุนจากศูนย์กลางนานาชาติว่าด้วยการศึกษาสงวนรักษาและการบูรณะทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือ ICCROM – International Center for the Study of the Preservation and Restoration of Culture Property ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ระดับโลก ตั้งอยู่ที่อิตาลี ทำให้ได้ร่วมเวิร์กช็อปกับนักอนุรักษ์ชาวต่างชาติ และมีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้จากนักอนุรักษ์ระดับโลกหลายท่าน รวมทั้งได้ร่วมงานกับนักอนุรักษ์ชาวออสเตรีย เหล่านี้เป็นการเพิ่มเติมทั้งภาคทฤษฎีและสั่งสมประสบการณ์ภาคปฏิบัติให้เธอ

งานศิลปะ

งานศิลปะ

ประเดิม ‘ภาพป่วย’ อายุกว่าร้อยปี

แม้ยุ้ยจะมีใจรักในการอนุรักษ์งานศิลปกรรมเป็นทุนเดิม แต่การเรียนรู้ศาสตร์นี้ต้องใช้เวลาหลายปี เธอจึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการดูแลงานศิลปกรรมให้นักสะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่พักใหญ่ กระทั่งวันหนึ่ง…ผู้ป่วยรายแรกก็มาถึงเธอ

ยุ้ยได้รับมอบหมายให้ดูแลภาพพระบรมวงศานุวงศ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่อยู่ในตึกสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมัน 10 ภาพ บางส่วนเป็นผลงานของพระสรลักษณ์ลิขิต จิตรกรภาพพอร์เทรตชาวไทยคนแรก และ Carlo Rigoli จิตรกรชาวอิตาลีที่อยู่คู่ราชสำนักไทยในสมัย ร.6 แต่ละภาพมีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี ยุ้ยและทีมงานใช้เวลาอนุรักษ์ซ่อมแซมอยู่ราวสองปีครึ่งจึงเสร็จสมบูรณ์

“งานอนุรักษ์เป็นการทำงานที่ใช้เวลา เพราะเป็นงานที่ต้องประณีต เราจะร้อนวิชาไม่ได้ ศิลปกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เราต้องทำทุกขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ งานอนุรักษ์ทำงานกับกาลเวลา เมื่อผลงานดำรงอยู่ผ่านวันเวลาจนเกิดความเสื่อมสภาพแล้ว เราถึงได้เข้าไปอยู่จุดนั้น”

งานศิลปะ

งานศิลปะ

งานศิลปะ

ผู้ป่วยกลุ่มแรกผ่านพ้นไปด้วยดี เราถามถึงผู้ป่วยที่หมอศิลปะอย่างเธอรู้สึกว่าท้าทายความสามารถ ยุ้ยชี้ไปที่ตาลปัตรซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ “ส่วนตัวถนัดงานแคนวาสเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัสดุที่ศิลปินส่วนใหญ่ใช้ เลยคิดว่ามีความต้องการผู้ดูแลด้านนี้มาก แต่สำหรับตาลปัตรเล่มนี้นอกจากจะมีความสำคัญ เพราะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ 7 แล้ว ยังทำจากวัสดุหลายอย่าง ตั้งแต่ผ้าไหมที่เปราะบาง ดิ้นโลหะที่แข็งแรง และด้ามที่เป็นไม้ แม้เป็นงานที่ไม่ถนัดแต่รู้สึกสนุกและท้าทายที่จะซ่อมแซมให้ทุกอย่างได้กลับมาอยู่ด้วยกัน”

งานศิลปะ

งานศิลปะ

ยุ้ยเล่าต่ออีกว่า นอกจากตาลปัตร ยังมีพัดยศที่ทำจากผ้า มีกะไหล่เงินกะไหล่ทองและลูกปัดตกแต่งลวดลาย บางเล่มมียอดทำจากงาช้าง และผ้าหน้าโต๊ะ หรือผ้าที่ใช้ปูโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งเป็นงานปักที่มีเรื่องราวเดียวกันอยู่บนผืนผ้า ด้วยความที่เป็นของโบราณ ความยากอยู่ที่การจะเสริมความแข็งแรงให้ผืนผ้าที่เปราะบางได้อย่างไร เป็นการซ่อมแซมที่ยุ้ยรู้สึกว่าท้าทายความสามารถมาก เพราะต้องใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆ มาประกอบกัน

งานศิลปะ

ตลอด 8 ปีในวงการนักอนุรักษ์งานศิลปกรรม ยุ้ยทำด้วยความสุขและรู้สึกสนุกไม่ต่างจากตอนเรียนปริญญาโทเลย

“ตื่นเต้นตลอดกับอาการต่างๆ ของชิ้นงานที่มาถึงเรา เราได้ทำงานกับผลงานของศิลปินหลายท่าน ซึ่งใช้วัสดุแตกต่างกัน และด้วยสภาพอากาศบ้านเราที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของงานศิลปะ ในการทำงานเลยเจอสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลา นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักอนุรักษ์งานศิลปกรรมต้องเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชิ้นงาน กับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไปในแต่ละยุค”

งานศิลปะ

สุดท้ายยุ้ยย้ำว่า “หากเราเห็นคุณค่าในของสิ่งนั้น เราจะอยากหาวิธีเพื่อให้คงสภาพให้ยาวนานที่สุด นั่นแหละคือสิ่งที่นักอนุรักษ์งานศิลปกรรมทำ”

Bangkok Art Conservation Center
ศูนย์อนุรักษ์บำรุงรักษา ซ่อมแซม และฟื้นฟูศิลปกรรม ผลงานสะสมส่วนบุคคลและองค์กร
อาคารซีดับเบิลยู ห้องเลขที่ 317 ชั้น 3
90 ถ.รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
โทร.06-5665-9629
Bangkok Art Conservation Center

Tags: