About
CRAFTYARD

Folkcharm

Folkcharm ฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติสไตล์ร่วมสมัย ทุกขั้นตอนทำด้วยใจของชุมชน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Folkcharm แบรนด์เสื้อผ้าไทยที่นำศาสตร์ฝ้ายเข็นมือมาใช้ เจ้าของแบรนด์คือ ลูกแก้ว – ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ โคะดากะ ทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แม้จะมาในสไตล์มินิมัล ใส่สบาย เรียบง่าย ซักดูแลง่าย เนื้อผ้าไม่หด แต่เรื่องของกระบวนการนั้นละเอียดถี่ยิบ เริ่มตั้งแต่ปลูกฝ้ายเอง การเข็นมือ ทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ และตัดเย็บเองกับมือ คราฟต์ของจริงในทุกขั้นตอน

Folkcharm แบรนด์ผ้าฝ้ายเข็นมือหรือฝ้ายทอมือเองทุกชิ้นตามวิถีชุมชนท้องถิ่น “เราต้องการให้เสื้อผ้าของเราเชื่อมโยงเรื่องเล่าระหว่างชุมชน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผู้ที่สวมใส่ให้เกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าตัวนั้นๆ” ลูกแก้ว - ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ โคะดากะ ผู้สร้างแบรนด์ย้ำจุดยืนสำคัญที่ทำให้แบรนด์เดินทางมาไกลจนทุกวันนี้

เข้าปีที่ 8 แล้วจากต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ลูกแก้วลองผิดลองถูกหรือบางทีก็ทดลองมากเกินกำลัง แต่ทุกครั้งที่เธอลงมือทำ เธอทำด้วย Passion ที่อยากให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าผ้าเข็นมือของไทย

Folkcharm

ลูกแก้ว – ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ โคะดากะ

จุดประกาย

ลูกแก้วชื่นชอบผ้าไทย ชอบการแต่งตัว แต่ไม่ได้สนใจอยากทำเสื้อผ้ามาตั้งแต่แรก การทำ Folkcharm มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำงานในองค์กรด้านพัฒนาสังคม ชุมชนและการประสานงานระหว่างประเทศ และช่วงที่เธอทำวิจัย เรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิงที่ทำงานที่บ้าน เน้นทำงานที่ต้องลงพื้นที่ในชุมชน พาให้เธอมองเห็นภาพชีวิตของกลุ่มชาวบ้านที่แม้จะอายุมากแล้ว แต่สิ่งที่พบเจอได้ยากในปัจจุบันคือความสามารถในการทอผ้าได้สวย ละเอียดมาก ทว่าเมื่อนำไปขายกลับได้ราคาน้อยกว่าที่ควร ปัญหาก็คือ ชาวบ้านไม่รู้ว่าฝ้ายทอมือสามารถต่อยอดเป็นงานที่มีความร่วมสมัยและสร้างราคาได้มากกว่านี้

Folkcharm

“เราเลยเข้าไปทำเพราะอินด้านพัฒนาชุมชนมาก เราอยากให้การตั้งราคาของเขาสมเหตุสมผลกับการทำงานและสกิลของเขาให้มากกว่านี้” ลูกแก้วเสริมอีกว่า ช่วงที่เธอทำงานในองค์กรเพื่อสังคม แม้เป็นสิ่งที่สนใจแต่กลับรู้สึกว่า ที่ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเธอ ช่วงนั้นเธอรู้จักกับคนที่ทำงานด้านนี้พอดี จึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วมาลองทำแบรนด์ช่วยเหลือชุมชน

Folkcharm จึงเป็นแบรนด์ธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์ ‘ฝ้ายเข็นมือและการทอผ้า’ ภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชน ยังรวมถึงการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะและความเชี่ยวชาญ เพราะลูกแก้วต้องการให้แบรนด์ของเธอมีความเป็นธรรมและเกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเธอ ชาวบ้านในชุมชน และลูกค้า

Folkcharm ยังเป็นแบรนด์ที่รักษ์โลก เน้นวัตถุดิบตามท้องถิ่น ทุกกระบวนการผลิตเน้นวิถีแบบดั้งเดิมและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ตามอย่างที่ป้ายโลโก้แบรนด์ได้ระบุไว้ ‘Ethical Nature Local’ หรือคือสิ่งที่ลูกแก้วต้องการเชื่อมโยงเรื่องราวระหว่างชุมชน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนในเมืองนั่นเอง

Folkcharm

Folkcharm

ลงมือ

Folkcharm ทำงานร่วมกับชาวบ้านกว่า 30 คน จากหลากหลายชุมชน และจากกลุ่มเกษตรกรปลูกฝ้ายในจังหวัดเลย การทำงานส่วนใหญ่ทำที่บ้าน และทำเป็นข่ายเครือโดยมีลูกแก้วเป็นคนกลางเข้ามาดูแลกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน เธอเดินไปหยิบเสื้อฝ้ายให้เราสัมผัสเนื้อผ้าที่นุ่มนิ่ม ก่อนเริ่มเล่ากระบวนการผลิตในแบบฉบับของ Folkcharm ให้ฟัง

Folkcharm

เป็นที่รู้กันว่าการปลูกฝ้ายใช้น้ำในปริมาณที่เยอะมาก ทางแบรนด์เลยพลิกข้อดีของฤดูฝนให้เป็นโอกาส ด้วยการปลูกฝ้ายเฉพาะฤดูนั้น ปลูกตามวิถีธรรมชาติ ปลอดสารเคมี และเก็บฝ้ายหลังหมดฤดู ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ปุยฝ้ายที่เก็บได้จะเข้าสู่การทำฝ้ายเข็นมือหรือการปั่นปุยฝ้ายด้วยมือให้เป็นเส้น กินเวลามากกว่า 2 วัน และต้องอาศัยความชำนาญมากพอสมควร

Folkcharm

ฝ้ายเข็นมือเป็นขั้นตอนที่ถือเป็นจุดเด่นของแบรนด์เลยนะ เพราะการปั่นฝ้ายในเครื่องจักรโรงงาน เส้นฝ้ายที่ได้จะมีระยะห่างที่สม่ำเสมอ แต่มีน้ำหนักมากกว่า กลับกัน เส้นของฝ้ายเข็นมือจะไม่สม่ำเสมอกัน เมื่อนำฝ้ายเข็นมือมาทอมือ ใช้เวลา 2-3 เดือนถึงจะได้ผ้าฝ้ายหนึ่งม้วน ซึ่งข้อดีก็คือ ทำให้ได้ลายผ้าที่มีเอกลักษณ์ และได้เนื้อผ้าที่มีความหนา-บางแตกต่างกัน และแม้เนื้อผ้าจะหนาเพียงใดก็ระบายความร้อนได้ดี เนื้อผ้านิ่มไม่หด เบาสบายมากกว่าผ้าทอในโรงงาน นี่ล่ะที่ทำให้ฝ้ายปั่นมือเป็นงานทำมือที่มีเสน่ห์เอามากๆ

เสื้อผ้าทุกชิ้นย้อมด้วยสีที่มาจากพืชพรรณธรรมชาติ “สมมติว่าลูกค้าที่เคยมาซื้อเสื้อผ้าสีนี้กับเรา เขากลับมาซื้ออีกครั้งแต่ขอสีแบบนี้อีกได้ไหม เราก็ต้องบอกเขาว่า มันมีนะแต่ไม่เข้มก็อ่อนกว่านิดหน่อย มันจะไม่เป๊ะเหมือนตัวเดิมๆ”

Folkcharm

“เสร็จแล้วเราจะนำไปให้ช่างตัดเย็บที่ประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ ตัดเย็บ หนึ่งคนต่อหนึ่งตัว การออกแบบเสื้อผ้าของเราจะมีความเป็น Human Center เราวางแผนการออกแบบมาตั้งแต่ต้น อย่างทรงที่เหมาะกับลูกค้า หรือเนื้อผ้าหนา-บางแต่ละผืนเหมาะกับการตัดเย็บแบบไหน ส่วนลายผ้า เราจะออกแบบร่วมกันกับกลุ่มแม่ๆ ตัวเราเองก็ไปเรียนต่อด้านการออกแบบเพื่อที่จะได้ออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์เราเองด้วย” ส่วนเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บ จะนำมาต่อยอดเป็นสินค้าชิ้นอื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัย พวงกุญแจ กระเป๋าสตางค์ และนอกจากนี้ทางแบรนด์ยังให้ความสำคัญกับการใช้อุปกรณ์ที่เป็นมิตรโดยไม่ไปทำลายธรรมชาติให้มากที่สุดอีกด้วย

Folkcharm

การเดินทางครั้งใหม่

“เอาจริงตอนที่เริ่มทำแบรนด์ เราไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลยนะ” เธอเล่าไป แล้วก็รินชายอดฝ้าย จากไร่เจ๊ยอให้เราชิมไป เราที่เข้าใจว่าฝ้ายนิยมใช้ทำเสื้อผ้า ก็เพิ่งจะรู้เดี๋ยวนี้เองว่าเอามาทำชาได้เช่นกัน ลูกแก้วหัวเราะก่อนพาเข้าสู่ช่วงแรกที่เริ่มทำแบรนด์ อันที่จริงเธอไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ซึ่งทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการตัดสินใจอยู่บ่อยครั้ง

“เชื่อไหมว่าเราตั้งราคาผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น เอาเสื้อผ้าไปขายครั้งแรก เราขายดีมาก ขายหมดด้วย (หัวเราะ) มารู้ตอนหลังว่าตัวเองขายถูกมาก เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าฝ้ายเข็นมือเขาขายกันตัวละเท่าไหร่ กลับบ้านมาคือขาดทุนเลย หรือช่วงแรกๆ เรารับซื้อผ้าจากทุกคนและทุกครั้งเลยนะ เราไปด้วยใจที่อยากพัฒนามากกว่าไง เท่านั้นล่ะ ผ้าเยอะมาก! เราจ่ายไปแล้วกว่าสามสี่แสนบาท รู้สึกว่ามันไม่ใช่ล่ะ ธุรกิจเราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น มันก็เลยต้องเรียนรู้ใหม่หมด ปรับตัวจากการลงมือทำแล้วปรึกษาเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจบ้าง ไม่งั้นไม่รอดเลย”

Folkcharm

การทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนก็ต้องปรับเช่นกัน ช่วงแรกๆ กลุ่มแม่ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังเธอไม่รู้เรื่อง เสมือนเธอและพวกเขาคุยกันคนละภาษาเลย “เพราะเราพูดเร็วมาก เพิ่งมารู้คราวหลังว่า แม่ๆ ฟังเราไม่ทัน (หัวเราะ)” ชาวบ้านส่วนใหญ่อายุมากแล้ว ลูกแก้วเป็นคนเมืองกรุงที่อายุน้อยกว่ามาก หน้าที่ของเธอจึงต้องทำความเข้าใจชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นโดยที่ทั้งเธอและเขาต่างไม่เอาเปรียบกัน

Folkcharm

จากประสบการณ์ตั้งต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ความตั้งใจส่งเสริมคุณค่าวิถีพื้นถิ่นของไทยให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างร่วมสมัย ทำให้เธอได้มองเห็นความยากและคุณค่าของงานคราฟต์มากขึ้นเรื่อยๆ เธอยังตระหนักถึงภาพรวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาเชิงสังคม และพยายามทำความเข้าใจในมุมมองของลูกค้า

Folkcharm จึงต้องการเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรกับโลก และที่สำคัญคือการมอบความโปร่งใส ไล่ตั้งแต่การเล่าเรื่องให้เห็นภาพเบื้องหลังการผลิต ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการทำงานได้ในทุกกระบวน ตลอดจนการรับรู้ว่า เสื้อผ้าตัวนี้ใครเป็นคนเย็บตัด ใครเป็นคนเข็นมือ ทำให้ Folkcharm เป็นที่กล่าวถึงกันว่า เป็นแบรนด์ที่พยายามเล่าเรื่องราวเพื่อเชื่อมโยง วิถีพื้นถิ่นชุมชน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ผ่านเสื้อผ้าแต่ละชิ้นจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคนั่นเอง

Folkcharm

ก่อนจบบทสนทนาเราถามทิ้งท้ายว่าวัตถุประสงค์ของแบรนด์ในวันนี้ต่างไปจากเดิมไหม

“ในตอนนี้เราเห็นกระบวนการทั้งหมดแล้ว เห็นคนทำเสื้อผ้าแล้ว ทุกอย่างอยู่ตัวแล้ว ตอนนี้เราแค่ทำสิ่งที่เราทำอยู่ให้เข้มข้นขึ้น สื่อสารออกไปให้ดีขึ้น คนใส่ได้มองย้อนกลับไปเห็นทั้งกระบวนการผลิตรวมถึงมองเห็นการใช้ชีวิตของผู้ใส่เองว่า เราอาจจะไม่ใช่ใส่แล้วจบ แต่มันยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมแฝงอยู่นะ เราอยากให้เสื้อผ้าของเราอินสปายเขาว่า งานนี้มันมีคุณค่าแบบนั้นแบบนี้นะ เป็น Meaningful Process ที่เราอยากอินสปายผู้คนให้มากที่สุด”

Folkcharm

ถ้าอยากอุดหนุนแบรนด์ฝ้ายทอจากฝีมือคนไทยแนวคิดดี ส่งเสริมกลุ่มแม่ๆ ในชุมชนอย่าง Folkcharm ก็สามารถเข้าชมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของแบรนด์เลย รับรอง สวย เก๋แน่นอน

Folkcharm Studio : 19 แยก หัวหมาก บางกะปิ 10 ซอย รามคำแหง 60 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
เบอร์โทร : 064-229-6414
Facebook Page : Folkcharm
เว็บไซต์ : folkcharm

Tags: