About
RESOUND

ลมหายใจของเกาะทะลุ

เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผู้ต่อชีวิตให้เต่ากระและปะการังบนเกาะทะลุ

เรื่อง Nid Peacock ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 09-10-2020 | View 3489
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • รู้จักครอบครัวเจริญพักตร์ เจ้าของรีสอร์ทหนึ่งเดียวบนเกาะทะลุ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากช่างต่อเรือสู่ชาวประมง ก่อนเป็นเจ้าของรีสอร์ทหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ส่งต่อปณิธานแรงกล้ามายังลูกชายคนนี้แบบเต็มตัว
  • กว่าจะเป็นมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามในปัจจุบันนี้ แรงบันดาลใจมาจากเอกสารเกี่ยวกับระบบการจัดการทรัพยากรด้านการประมงของญี่ปุ่น ที่กลายเป็นต้นแบบโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของเกาะทะลุที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ
  • ทุกแง่มุมทั้งความคิด ความรู้สึก และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องจากการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษของผู้ชายคนนี้

ความงดงามทั้งบนบกและใต้น้ำของเกาะทะลุ ส่วนหนึ่งของวนอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม แม้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์และมอบให้มา แต่คงจะไม่อยู่รอดปลอดภัยให้เหล่าอาคันตุกะได้มาเยือนและยลเช่นนี้ หากไม่มีใครเห็นค่าและเสียสละอาสาเป็นผู้ดูแลทรัพยากรของส่วนรวมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อยากรู้จักผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้น ทั้งในฐานะลูกชายคนเล็กของเจ้าของ ‘เกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท’ รีสอร์ทหนึ่งเดียวบนเกาะทะลุรวมถึงที่ดินอีกหลายร้อยไร่บนเกาะแห่งนี้ และบทบาทการเป็นเลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ผู้ที่ชีวิตและการดูแลธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกัน

จุดเริ่มต้นสู่คนท่องเที่ยว

“จริงๆ ครอบครัวผมเป็นช่างต่อเรือมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ ต่อเรือประมงให้ชาวบ้านไปจับปลาทำมาหากินกันจนร่ำรวย ช่วงหลังก็เลยมาทำประมงเองบ้าง พอคนทำประมงเยอะขึ้นก็แย่งกันออกเรือหาปลา จับกันไม่มีวันหยุด จนปลาลดน้อยลงไปทุกที คุณพ่อ (คุณปรีดา เจริญพักตร์) มองว่าธุรกิจนี้ไม่ยั่งยืนล่ะ ก็เลยขายเรือประมงทุกลำที่มี พอดีมาเจอบ้านหลังหนึ่งที่บางสะพาน เจ้าของเดิมเป็นชาวต่างชาติมีภรรยาคนไทย เขาตั้งใจสร้างเป็นโรงแรม แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจมาบอกขาย ก็เลยซื้อแล้วมาเปิดเป็นโรงแรมเล็กๆ ชื่อ ‘สาลิกาวิลลา’ ในยุคนั้นใครจะมาประจวบฯ แล้วแวะบางสะพานก็ต้องมาพักที่เรา นั่นคือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จากนั้นเราก็ตั้งรกรากที่นี่มาตลอด”

เผ่าพิพัธ

จากนักธุรกิจสู่นักอนุรักษ์

“แรงบันดาลใจของคุณพ่อน่าจะมาจากเอกสารโครงการฟื้นฟูสหกรณ์การประมงครบวงจรของฮิโรชิมาจากหลานซึ่งไปเรียนที่นั่น อย่างที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นกินปลามากแต่ทำไมเขายังมีปลาให้จับได้ตลอด หนังสือเล่มนั้นทำให้รู้ว่าการทำประมงสมัยใหม่นั้นดูแลธรรมชาติไปด้วยได้นะ แต่พอมองมาที่บ้านเรา ชาวประมงยังจับปลาด้วยการระเบิดปลา และเรือพาณิชย์ที่ใช้อวนลากขนาดใหญ่โดยไม่เว้นพื้นที่ให้ปลาได้วางไข่ แถมยังเป็นเรื่องปกติที่ทำกัน โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่ากำลังทำให้ปะการังถูกทำลายไปด้วย แล้วพอไม่มีปะการัง ทำให้ปลาไม่มีแหล่งวางไข่และแหล่งอาหารสำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อน นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาค่อยๆ หมดหายไปจากทะเลแถบนี้ เป็นคนอื่นเจอแบบนี้อาจถอดใจไปแล้ว แต่คุณพ่อผมไม่ (หัวเราะ) ท่านดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างว่าขนาดบ้านเขาถูกระเบิดปรมาณูทำลายทั้งประเทศ แต่การจัดการที่ดี เขาฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับมาได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เอาแนวความคิดนั้นมาเป็นต้นแบบจัดการการทำประมงที่บางสะพาน”

ได้จากทะเล…ก็ต้องคืนให้ทะเล

“คุณพ่อพูดมาคำหนึ่งว่า ‘เราได้จากทะเลมาเยอะ’ ช่วงแรกท่านให้ชุมชนมีส่วนร่วม ให้ทุกคนรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของเรา ถ้าเกิดปลาหมด ไม่มีให้จับ ก็ทำมาหากินไม่ได้ ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลบ้านของเรา แล้วก็สนับสนุนให้เรือให้ค่าน้ำมันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงได้เข้ามาตรวจตราเรือประมงที่เข้ามาจับปลาบริเวณนี้ โชคดีที่ได้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2535 กรมประมงก็ประกาศให้อ่าวบางสะพานเป็นโครงการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน ภายใต้แนวคิดสิทธิประมงหน้าบ้าน ก็ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นระบบมากขึ้น ต่อมามีกฎกระทรวงออกมาให้พื้นที่ 1.5 แสนไร่ของที่นี่เป็นต้นแบบการจัดการประมงโดยชุมชนแห่งแรกของเมืองไทย ในปี 2542 นี่คือสิ่งที่คุณพ่อทำมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด”

อนุบาลเต่า

ธรรมชาติผูกพัน

“ผมเกิดและโตที่บางสะพาน ทะเลเลยเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำวัยเยาว์ของผม ตั้งแต่เด็กก็เห็นว่าคุณพ่อให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนแขกไปใครมา คุณพ่อก็พาลงเรือไปสวนมะพร้าวบนที่ดินของเราที่เกาะทะลุ ส่วนผมท่านจับใส่ห่วงยางแล้วปล่อยให้ลอยอยู่ท้ายเรือ ผมจำได้ว่าแค่ก้มหน้าลงไปในน้ำก็เห็นปะการังใต้น้ำเป็นสีๆ ทั้งสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีสันคัลเลอร์ฟูลมาก แต่ก็ไม่รู้หรอกนะว่านั่นคืออะไร รู้แค่ว่าสวยดีนะ แต่พอพายุเกย์พัดมาเมื่อปี 2532 พายุหอบเอาปะการังขึ้นมาบนบกหมด ความที่ยังเด็กก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แค่สงสัยว่ามันหายไปไหน แต่พอโตขึ้นรู้ว่าปะการังคืออะไร มีประโยชน์ยังไง คิดแล้วก็น่าใจหาย เพราะนั่นเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมได้เห็นปะการังสภาพนั้นที่เกาะทะลุ ตั้งแต่นั้นจนทุกวันนี้ก็ไม่เคยได้เห็นปะการังหลากสีแบบนั้นอีกเลย”

อะไรคือ “จุดสมดุล”

“คำตอบง่ายมากก็คือการรบกวนธรรมชาติให้น้อย แล้วก็ต้องช่วยธรรมชาติให้ได้ฟื้นฟูกลับมาด้วย เรามีบทเรียนแล้วว่าในยุคที่การท่องเที่ยวบูม คนแห่มาดำน้ำตื้นดูปะการรังกันเยอะ ส่งผลต่อทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลยังไงบ้าง เราหากินกับธรรมชาติก็ต้องเรียนรู้ที่จะรักษาเขาไว้ด้วย โครงการแรกที่ทำคือการปลูกปะการังเทียมโดยใช้ท่อพีวีซี แต่ไม่ได้ทำเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาดูนะครับ แต่อยากฟื้นฟูระบบนิเวศจากการที่ปะการังถูกทำลาย สัตว์น้ำจะได้มีแหล่งวางไข่และใช้หลบภัยได้ ทำไปทำมาเป็นผลพลอยได้มากกว่าที่มีคนสนใจและติดต่อขอเข้ามาดูเพื่อศึกษาหาความรู้ ผมมองว่าการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และคนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกคนมีจิตสำนึกว่าการมาดำน้ำต้องระวังไม่เหยียบหรือโดนปะการังให้หักเสียหาย เมื่อรักษาธรรมชาติไว้ได้ ทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราทำในฐานะเอกชนก็ทำเท่าที่ทำได้ แต่ก็ไม่ถูกกฎหมาย”

เต่าทะเล

อนุรักษ์ได้ ถูกกฎหมายด้วย

“เราเป็นเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกันเองในชุมชน อาจมีข้อจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่และบทบาทในทางปฏิบัติ ถ้าจะให้ถูกกฎหมายก็ต้องทำงานกับหน่วยงานของภาครัฐ เราเลยลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อทำงานร่วมกันปี 2551 ในโครงการฟื้นฟูปะการัง ช่วงหลังถึงเริ่มมีนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่จากภาครัฐเข้ามาช่วยฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการ รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กฎหมายที่บังคับใช้ดูแลสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว กฎหมาย เป็นต้น ส่วนผมก็รับหน้าที่เป็นเลขาฯ มูลนิธิฯ และก็ทำงานด้านนี้มาตลอดคู่กับการช่วยพี่ชาย (คุณธนภูมิ เจริญพักตร์) ดูแลรีสอร์ท”

อาจไม่เหมือนงานอื่นที่ได้เงินเดือนตอบแทน แต่ผมได้กำลังใจจากคนที่เข้ามารับรู้ มาเห็นสิ่งที่เราทำ

สวรรค์ของเต่ากระ

“เราฟื้นฟูระบบนิเวศของเกาะทะลุอยู่สิบกว่าปี ทั้งปลูกปะการังโดยใช้เทคนิครากเทียม เก็บขยะหน้าชายหาดและในทะเล แล้ววันหนึ่งในปี 2552 เราพบว่ามีแม่เต่ากระขึ้นมาทำรังวางไข่บนเกาะของเรา อย่างที่ทราบกันดีว่าเต่ากระเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตว่าจะสูญพันธุ์ เพราะลูกเต่าที่ฟักจากไข่แล้วลงทะเลเลยมีอัตรารอดถึงวัยเจริญพันธุ์ต่ำมากเพียง 1 ใน 1,000 เราเลยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของรีสอร์ทเป็นสถานอนุบาลเต่ากระ ถือว่าเราโชคดีที่พนักงานในรีสอร์ทร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดูแลจนลูกเต่าแข็งแรงพอที่จะเอาตัวรอดได้ นั่นคือขนาดตัว 25 เซ็นติเมตร เราถึงปล่อยกลับสู่ทะเล ถึงปัจจุบันเราปล่อยลูกเต่าไปหลายพันตัวแล้วครับ เลยเป็นที่มาของการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ

เกาะทะลุ, ปะการัง

ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามเมื่อปี 2556

“ถึงจะตั้งเป็นมูลนิธิฯ แล้ว ทั้งงบประมาณและเจ้าหน้าที่ก็มาจากรีสอร์ทเราเป็นหลัก มีบ้างบางครั้งที่มีหน่วยงานหรือองค์กรมอบเงินเพื่อสมทบทุนมา คุณพ่อก็ไม่ได้ให้เบิกมาใช้ ยังให้ใช้เงินจากรีสอร์ทอยู่ดี แถมยังมีการตั้งค่ายเยาวชน ให้ความรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว เพื่อปลูกจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทำเป็นโครงการชื่อ ‘กัปตันบางสะพาน ปลูกต้นกล้าอาสาสมัครรักทะเลสยาม’ ให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้จากของจริงบนเกาะทะลุ ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจมาทำข่าว ทำให้การทำงานของเราได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้น ก็มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมด้วยช่วยสนับสนุนในด้านต่างๆ”

คิดว่าผลตอบแทนจากการทำงานด้านนี้คืออะไร

“อาจไม่เหมือนงานอื่นที่ได้เงินเดือนตอบแทน แต่ผมได้กำลังใจจากคนที่เข้ามารับรู้ มาเห็นสิ่งที่เราทำ และได้โอกาสหลายอย่าง เช่น ได้รับเชิญไปดูงานหรือเข้าฝึกอบรมโครงการต่างๆ ที่ทำให้ผมได้ความรู้ต่างๆ และก็นำสิ่งที่ได้รับกลับไปบรรยายถ่ายทอดต่อให้คนอื่นอีกที แต่เป็นธรรมดาของการทำงานย่อมต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ สำหรับผมถ้าเหนื่อยก็ต้องหยุด (หัวเราะ) เดี๋ยวหายเหนื่อยแล้วค่อยทำต่อ มีแค่นั้นเอง ไม่ต้องไปเครียด สิ่งที่เป็นพลังและเป็นแรงผลักดันให้ผมยังทำงานด้านนี้ต่อมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็คือการได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ อย่างการที่ทำค่ายเยาวชน เคยมีน้องกลับมาบอกว่าแรงบันดาลใจจากค่ายนี้ทำให้เขาเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

คุณเผ่าฝากไว้ว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งและก็ไม่มีใครหนีพ้นจากสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะทรัพยากรธรรมชาติล้วนอยู่รอบตัว ฉะนั้น การดูแลสิ่งแวดล้อมเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เพียงสำรวจว่าในแต่ละวันเราได้สร้างผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด แล้วก็แค่ลงมือแก้ไข เริ่มจากตัวเราแล้วค่อยชวนคนใกล้ตัว เมื่อคนอื่นเห็นสิ่งที่เราทำว่ามีประโยชน์ แล้วก็จะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ดั่งเช่นที่คุณพ่อกับเขาทำมา ขอเพียงแค่อย่าถอดใจถอนตัวไปเสียก่อนก็พอ

สนใจมาพักผ่อนหรือร่วมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ติดตามได้ที่ เว็บไซต์ www.siammarine.or.th หรือ www.facebook.com/kohtalulovers และ www.facebook.com/kohtaluvillage

Tags: